ภาพประกอบ: Shhhh
70 ปีที่แล้ว ฟินแลนด์เริ่มต้นโครงการอาหารกลางวันให้กับเด็กทุกคนในประเทศ รัฐบาลขณะนั้นมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อสร้างมาตรฐานและคุณภาพให้ใกล้เคียงกัน และที่สำคัญต้อง ‘ฟรี’ สำหรับเด็กทุกคน อะไรดลใจให้รัฐแจกอาหารโรงเรียนฟรีกับนักเรียนในช่วงที่ประเทศตกอยู่ในภาวะลำบากยากแค้นกัน?
เส้นทางอาหารฟรีใช่ว่าจะมีพรมแดงปูทาง
ฟินแลนด์ไม่ได้เพิ่งเริ่มเห็นความสำคัญของอาหารและการเรียนรู้ในยุคที่มีโรงเรียนแบบปัจจุบัน แต่วิธีคิดที่ว่า “เด็กจะเรียนได้ดีถ้าท้องอิ่ม” นั้นมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 สมัยนั้นเด็กผู้ชายที่ไปโรงเรียนจะได้รับอาหารและอุปกรณ์การเรียนอื่นๆ เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการสนับสนุนการเรียนภาษาละติน ส่วนอาหารกลางวันที่เป็นกิจจะลักษณะนั้นเริ่มมีการพูดถึงครั้งแรกในงานประชุมโรงเรียนระดับประถมศึกษาเมื่อปี 1896 และรัฐเริ่มให้เงินสนับสนุนอาหารกลางวันมาตั้งแต่ปี 1913
จากนั้นรัฐก็เริ่มต้นเตรียมการเพื่อออกกฎหมายเกี่ยวกับโภชนาการตั้งแต่ยุค 1930s โดย National Board of Education หรือคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับโภชนาการของเด็กวัยประถมศึกษา
กระทั่งปี 1943 ฟินแลนด์จึงเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายเกี่ยวกับอาหารกลางวันฟรีสำหรับนักเรียนทุกคน
โดยนักเรียนจะต้องช่วยงานการทำอาหารและเพาะปลูกพืชผักเป็นอาหารนอกเหนือจากชั่วโมงเรียน และออกเป็นข้อกฎหมายในพระราชบัญญัติการศึกษาขั้นพื้นฐานปี 1948 ภาพความสำเร็จนี้ดูจะราบรื่นใช่ไหมคะ
ไม่ใช่เลยค่ะ…
ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1939 ฟินแลนด์ ที่แม้ว่าจะประกาศว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ก็ยังโดนสหภาพโซเวียตบุกเข้ามา จนกลายเป็นสงครามฤดูหนาวต่อเนื่องในดินแดนแถบนี้ ประเทศที่ทรัพยากรมีอย่างจำกัดจำเขี่ย แต่กลับต้องสู้รบและตกอยู่ในภาวะสงครามเป็นระยะเวลาหลายปี จนต้องลงนามในสนธิสัญญาโซเวียตปี 1947 และ 1948 เพื่อสงบศึก
ปีเดียวกันนั้นเอง โครงการอาหารกลางวันที่ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ต้นยุค 1900s ก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นผ่านการออกพระราชบัญญัติอาหารโรงเรียนที่บังคับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดการให้มีอาหารกลางวันอุ่นร้อนสำหรับนักเรียนทุกคนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยในขณะนั้นนักเรียนจะได้รับอาหารทั้งห้าวันที่ต้องมาโรงเรียน
เบื้องหลังแนวคิดนี้คือ
- เมื่อท้องอิ่ม สมองและร่างกายจะทำงานได้เต็มที่
- แม้โรงเรียนจะยังไม่ได้มีคุณภาพทัดเทียมกันทั่วประเทศ แต่อย่างน้อยอาหารกลางวันที่นักเรียนทุกคนจะได้รับอย่างทั่วถึงและเสมอภาคกันจะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาให้เกิดขึ้นในสังคมฟินแลนด์
ออกกฎหมายมาแล้ว ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรคขวากหนามใดๆ เส้นทางการทำให้เด็กๆ ทุกคนได้มีอาหารอุ่นร้อน (อย่าลืมนึกภาพความโหดร้ายของฤดูหนาวแบบฟินแลนด์ตามไป จะเข้าใจเลยว่าอาหารร้อนดีงามเพียงใดในวันหนาวเหน็บ) ถูกสุขอนามัย และครบถ้วนตามโภชนาการที่จำเป็นนั้น ไม่มีพรมแดงใดๆ ปูทาง เนื่องจากเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจในขณะนั้นดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
ในช่วงแรก อาหารโรงเรียนฟินแลนด์ก็ไม่น่าพิสมัยนัก มีแต่ซุปกับธัญพืชต้มเหมือนโจ๊กประเภทต่างๆ นักเรียนเองยังต้องเตรียมขนมปังมาจากบ้านเพื่อกินให้อิ่มท้องจริงๆ บางคนถึงขั้นเล่าว่า ซุปใสกับผักชีฝรั่งเป็นอะไรที่ไม่อร่อยเอาเสียเลย แต่ก็ยังต้องกินให้ท้องอิ่ม เมื่อถึงช่วง 1960s อาหารโรงเรียนเริ่มเพิ่มผักและอาหารแปรรูปประเภทต่างๆ เข้ามา แต่ก็ยังถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการนัก จนกระทั่งถึง 1970s จึงเริ่มมีการทำอาหารที่คำนึงถึงสุขภาพนักเรียนมากขึ้นและเพิ่มเมนูใหม่ๆ อย่างข้าวและสปาเกตตี้ให้กับนักเรียน
เด็กทุกคน ‘ต้อง’ ได้รับประทานอาหารดีและฟรี
ปัจจุบันผู้ที่ดูแลอาหารโรงเรียนยังคงเป็นเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่
พระราชบัญญัติการศึกษาขั้นพื้นฐาน (628/1998)
มาตรา 31 ข้อ 2 นักเรียนที่เข้าเรียนในการศึกษาภาคบังคับจะต้องได้รับอาหารที่เหมาะสม โดยมีผู้ดูแลในทุกๆ วันที่มาโรงเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ในภาพการจัดการศึกษาที่ใหญ่ขึ้น เป้าหมายของการศึกษาฟินแลนด์ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 3 ‘พื้นฐานของการศึกษา’ ดังนี้ คือ
การจัดการศึกษาต้องเป็นไปตามอายุและสมรรถนะของนักเรียนเพื่อส่งเสริมการเติบโตและการพัฒนาตามสุขอนามัยอันเหมาะสมตามวัยของนักเรียน
และอาหารที่ว่าต้องประกอบไปด้วย
- ผักสดหรือผ่านการปรุงแล้วกึ่งหนึ่งของปริมาณอาหารทั้งหมด
- มันฝรั่ง ข้าว หรือพาสต้าปริมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณอาหารทั้งหมด
- ปลาอย่างน้อยหนึ่งหรือสองครั้งต่อสัปดาห์ หรือเนื้อสัตว์ (หรือถั่วต่างๆ สำหรับผู้ที่เป็นมังสวิรัติ)
- นมและโยเกิร์ตประเภทต่างๆ
- น้ำเปล่า
- ขนมปัง (แถวนี้นิยมขนมปังไรย์ประเภทต่างๆ ที่หนักท้องและให้สารอาหารมากกว่า จึงแทบหาขนมปังสีขาวไม่เจอเลยค่ะ) ทาเนยหรือมาการีน และกินกับผัก
- เบอร์รี หรือผลไม้อื่นๆ
โดยแบ่งปริมาณแคลอรีที่นักเรียนควรได้รับตามช่วงอายุเอาไว้ดังต่อไปนี้
6-8 ปี 550 แคลอรี
9-12 ปี 650 แคลอรี
13-15 ปี 740 แคลอรี
16-18 ปี 860 แคลอรี
ทั้งนี้แต่ละโรงเรียนสามารถพูดคุยตกลงกันภายในโรงเรียน เช่น ปัจจุบันหลายโรงเรียนนิยมกำหนดวันรับประทานอาหารมังสวิรัติไว้หนึ่งวันต่อสัปดาห์ เพื่อให้ทุกๆ คนได้ลองกินอาหารมังสวิรัติ
อาหารทำได้มากกว่าท้องอิ่ม
ผมเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ก็ได้ แต่ผมรู้ดีว่าอาหารแบบไหนมีประโยชน์กับผม
อันสิ ลัมมิเน็น, นักกีฬาท้องถิ่น
อาหารกลางวันฟินแลนด์ถือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งสำหรับการฝึกอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะทุกคนต้องตักอาหารเอง และตักพออิ่ม ต้องประเมินตัวเอง ไม่ให้เหลือทิ้ง และไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะใดๆ ทุกคนนั่งกินข้าวตรงไหนก็ได้ในโรงอาหารเดียวกัน ไม่บังคับ แต่มีกฎเกณฑ์ร่วมกันเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่านั้น เช่น การเข้าแถว บางครั้งเมื่อรับประทานอาหารด้วยกันหลายชั้นปี เด็กโตจะสามารถเข้ามาช่วยเด็กเล็กกว่าในช่วงอาหารกลางวัน ส่งเสริมการช่วยเหลือกันนอกห้องเรียน และการเรียนรู้ทางสังคมซึ่งกันและกัน หรือโรงเรียนเองก็ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการฝึกงานในครัวโรงเรียนทั้งในสายสามัญและอาชีพ
นอกจากนี้อาหารอันหลากหลายในแต่ละวัน จะเป็นที่มาของการเรียนรู้เกี่ยวกับต้นกำเนิดและการเตรียมอาหารต่างๆ เหล่านี้สามารถนำมาใช้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ได้หมด คุณซันนา ตัลเวีย (Sanna Talvia) นักวิจัยอาวุโสจาก Turku Institute for Child and Youth of the University of Turku หรือ สถาบันเพื่อเด็กและเยาวชนเมืองตูรกุ โดยมหาวิทยาลัยตูรกุ ได้อธิบายไว้ และเธอยังเสริมว่ามีการทำวิจัยเกี่ยวกับอาหารกลางวันเด็กเป็นจำนวนมากเช่น การเปรียบเทียบวิธีการให้เด็กรับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียนแบบในฟินแลนด์ และการให้เด็กเตรียมอาหารจากบ้านมาเองแบบในประเทศนอร์เวย์ หรือแม้กระทั่งผลสัมฤทธิ์ของการจัดอาหารกลางวันให้นักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ก็เป็นงานวิจัยเช่นกัน
นอกจากโภชนาการที่เหมาะสมในอาหารกลางวัน โรงเรียนยังช่วยสอนวิชาโภชนาการทางอ้อมให้นักเรียนได้เอาติดตัวไปใช้ในอนาคต โรงอาหารจะไม่มีตู้น้ำอัดลมหรือขนมหวานบริการนักเรียน (ถ้าอยากกินต้องเดินออกไปซื้อตามร้านสะดวกซื้อเอาเอง ไกลออกไปจากโรงเรียนสักหน่อย) ของว่างหรือของหวานที่นิยมจัดให้นักเรียนคือผลไม้ต่างๆ หรือนม ทั้งหมดนี้คือการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้นักเรียนเห็นความสำคัญของอาหารที่มีประโยชน์
และเพื่อให้การทำงานเป็นไปได้อย่างสะดวกกับทุกฝ่าย National Nutrition Council หรือสภาโภชนาการแห่งชาติ จะคอยช่วยออกแบบ เฝ้าสังเกตการณ์ และพัฒนาอาหารต่างๆ ผ่านการผลิตคู่มือโภชนาการให้โรงเรียนต่างๆ นำมาปรับใช้ตามความสะดวก การออกแบบอาหารต่างๆ ยังต้องคำนึงถึงความต้องการส่วนบุคคล อาทิ การแพ้อาหารต่างๆ อาหารตามหลักศาสนา อาหารมังสวิรัติ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนทุกกลุ่ม ทั้งนี้หากมีนักเรียนที่ต้องการอาหารพิเศษที่โรงเรียนไม่สามารถทำให้ได้ เช่น อาหารที่ปรุงถูกต้องตามหลักศาสนา โรงเรียนต้องพูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อหาทางออกร่วมกัน
จัดการได้ถ้าร่วมแรงร่วมใจกัน
ปัจจุบันมีนักเรียนในฟินแลนด์เกือบ 900,000 คนใช้บริการอาหารกลางวันฟรีของรัฐบาล ราคาที่รัฐต้องจ่ายงบประมาณการจัดอาหารให้นักเรียนถือเป็นร้อยละ 8 ของงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาโดยรวมสำหรับเด็กหนึ่งคน โดยแบ่งเป็น
- ค่าวัตถุดิบประมาณ 77 เซนต์ (0.66 ยูโร หรือ 24.84 บาท) ต่อหัว
- และค่าใช้จ่ายต่อมื้อรวมค่าบุคลากรแล้วจะอยู่ที่ 2.50 ยูโร หรือ 94 บาทต่อหัว งบประมาณส่วนนี้ท้องถิ่นผู้จัดการจะต้องเป็นผู้สรรหาวัตถุดิบและบุคลากรต่างๆ โดยเปิดเผยต่อสาธารณะ และจะไม่เน้นวัตถุดิบที่ราคาถูกที่สุด แต่มุ่งเน้นที่ราคาอันสมเหตุสมผลและวัตถุดิบที่หาได้จากท้องถิ่นเป็นสำคัญก่อน ทั้งนี้เทศบาลบางแห่งอาจสรรหาบริษัทที่รับจัดอาหารเข้ามาจัดการอาหารในโรงเรียนอย่างเบ็ดเสร็จ โดยจัดทำเป็นสัญญาราย 1-3 ปีตามแต่จะตกลง
ใช่ว่างานนี้กฎหมายจะมอบหมายให้เทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการให้เกิดอาหารกลางวันฟรีแล้วจะไม่เกิดการตรวจสอบใดๆ แต่ทั้งกฎหมาย วิถีปฏิบัติ และคำแนะนำ ต่างให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการประเมินเพื่อการพัฒนา และการรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนและผู้ปกครองเกี่ยวกับอาหารของลูกหลานตนเองในโรงเรียน
ยกตัวอย่างกรณีกลุ่มโรงเรียนและสถาบันสายวิชาชีพระดับมัธยมปลายในภาคเหนือของฟินแลนด์ พวกเขาได้ทำสำรวจเกี่ยวกับอาหารเช้าและกลางวันของนักเรียนเป็นประจำ และได้รับข้อมูลว่านักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้รับประทานอาหารมาจากที่บ้าน จึงเกิดการระดมสมองเพื่อแก้ปัญหานี้ และพบว่าจากการสำรวจนั้น นักเรียนรับประทานอาหารกลางวันเหลือถึงร้อยละ 30 จึงเป็นที่มาของการลดปริมาณอาหารกลางวันลงและนำงบประมาณที่เหลือมาเติมเป็นงบประมาณอาหารเช้าที่ไม่มีค่าใช้จ่ายแก่นักเรียน อย่างไรก็ตาม นี่เป็นโครงการนำร่องและต้องรับฟังความเห็นของนักเรียนก่อนขยายผลการดำเนินงานในวงกว้างขึ้นต่อไป
ชัดเจนว่าฟินแลนด์เดินทางมาถึงทุกวันนี้ได้เพราะการประเมินตนเอง การทำวิจัยต่างๆ เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การแบ่งงานกันทำแต่ไม่ได้ทำแบบทางใครทางมันหากแต่ร่วมมือตรวจสอบซึ่งกันและกัน และที่สำคัญคือการรับฟังกันเพราะเชื่อใจกันได้ว่า ทุกภาคส่วนมีความตั้งใจจะทำให้ชีวิตทุกชีวิตของนักเรียนมีความหมายและมีคุณค่าในแบบของตัวเขาเอง
อาหารไม่ได้เป็นเพียงอะไรก็ได้ที่ใส่ลงท้องเพื่อให้ท้องอิ่ม แต่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความเท่าเทียมกันทางการศึกษาในฟินแลนด์ อาหารโรงเรียนช่วยฉายภาพความร่วมแรงร่วมใจกันจัดการศึกษาเพื่อนักเรียนโดยคำนึงถึงทุกแง่ทุกมุมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนหนึ่งคนให้สามารถเดินทางไปสู่เป้าหมายและศักยภาพที่คนคนนั้นวาดหวังเอาไว้
ทั้งหมดนี้เริ่มจากท้องที่อิ่มก่อน
อ้างอิงข้อมูลจาก:
-
‘Free School Meals’ by Kirsi Lindroos in 100 Social Innovation from Finland (edited by Ilkka Taipale)
-
School Meals in Finland by Finnish National Board of Education
-
Kouluruokailuhenkilöstö matkalla kasvattajaksi, Doctoral Dissertation of Seija Lintukangas, University of Helsinki
-
helsinki.fi
-
finland.fi
-
finland.org
-
utu.fi
-
finlex.fi