ภาพประกอบ: Shhhh
เคยมีเพนเฟรนด์ (Pen Friend) หรือเพนพาล (Pen Pal) ทางจดหมายกันไหมคะ? ถามคำถามนี้วัยรุ่นยุคใหม่อาจจะงงสักหน่อย แต่วัยรุ่นที่อายุอานามเลข 3 นำหน้าต้องรู้จักบริการนี้เป็นอย่างดี ในยุคสมัยที่จดหมายยังเป็นช่องทางสำคัญในการสื่อสาร อินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่มีใครนึกฝันถึง เพนเฟรนด์หรือเพื่อนทางจดหมายเห็นจะเป็นช่องทางที่ผู้เขียนเองได้พึ่งพาอาศัยใช้เป็นหน้าต่างบานใหญ่เพื่อเปิดดูโลกภายนอก และฝึกภาษาอังกฤษอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
สมัยนั้นบริการนี้ได้รับความนิยมพอสมควรด้วยความสะดวก เพียงสมัครสมาชิก เราก็จะสามารถเขียนจดหมายไปหาเพื่อนต่างแดน หรือได้รับจดหมายจากเพื่อนต่างแดน ผู้เขียนเคยได้รับจดหมายจากสหรัฐอเมริกา และฟิลิปปินส์ เล่าเรื่องราวสัพเพเหระแลกเปลี่ยนกันไปเป็นระยะเวลาหลายปีทีเดียว ถึงขนาดที่เพื่อนสาวจากอเมริกาส่งหีบเพลงมาให้เป็นของขวัญวันเกิดเพราะจำได้ว่าผู้เขียนเคยเขียนเล่าว่าชอบฟัง
และด้วยเจ้าเพนเฟรนด์หรือเพนพาลนี่แหละ ผู้เขียนเลยไม่กลัวภาษาอังกฤษ เพราะเห็นว่ามันก็สนุกดี สื่อสารไปแล้วมีคนรับ ตอบกลับ แปลว่าเขาเองก็เข้าใจสิ่งที่เราเขียนไป มันก็ทำให้อยากฝึกฝนหาศัพท์ใหม่ๆ เรื่องราวใหม่ๆ ไปคุยกับพวกเขา นอกจากนั้นยังได้ทำความรู้จักกันอีกด้วย ได้รู้ว่าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันจากอีกซีกโลกหนึ่งเขามีชีวิตประจำวันอย่างไร ชอบอะไรบ้าง
ขอย้ำว่าในยุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต เรื่องราวเหล่านี้น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับเด็กสาววัยรุ่นอย่างเรา ตั้งหน้าตั้งตารอคอยจดหมายกันทุกเดือนก็ว่าได้ ระหว่างรอก็มักซื้อหากระดาษเขียนจดหมายสวยๆ ซองน่ารักๆ มาตุนไว้เพียบ แต่พออินเทอร์เน็ตเดินทางมาพร้อมกับอายุและตัวตนของเราที่เปลี่ยนแปลงไป เพนเฟรนด์ไม่ตื่นเต้นเหมือนเคยแล้ว เพื่อนๆ ทางจดหมายของเราก็ทยอยมลายหายจากชีวิตไปทีละคนๆ
ที่เล่ามาเพราะตอนนี้เป็นครู จึงนึกขึ้นได้ว่า การสื่อสารกับเพื่อนต่างชาติมีความหมายและแรงใจในการขวนขวายหาความรู้ของตนเองมากเพียงใด จึงนึกวางแผนใช้เพนพาลเพื่อทำกิจกรรมเสริมความอยากรู้อยากเห็นด้านวัฒนธรรมและภาษาอังกฤษในห้องเรียนมันเสียเลย
ดังนั้น กิจกรรมคล้ายๆ เพนเฟรนด์จึงถูกจัดให้กับนักเรียนที่เราสอน โดยการใช้เครือข่ายเพื่อนๆ ครูในยุโรปร่วมจัดกิจกรรม culture capsule หรือกล่องสมบัติเล่าเรื่องวัฒนธรรม นักเรียนในแต่ละประเทศจะเขียนจดหมายเล่าเรื่องตัวเองและใส่ของชิ้นเล็กๆ ที่เล่าเรื่องบ้านเกิดของตัวเองลงในกล่อง และครูจากไทยแลนด์กับสเปนก็ส่งกล่องมาแลกกัน จากนั้นเด็กๆ ก็สุ่มหยิบของชิ้นที่ตัวเองอยากได้ หรือบางทีครูก็ช่วยสุ่มให้ และทำความรู้จักเพื่อนใหม่ หากใครสนใจจะติดต่อกันต่อ ทั้งอีเมล เฟซบุ๊ค และที่อยู่ก็แนบมาในจดหมายอยู่แล้ว ทำให้นักเรียนสามารถสานต่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวกันต่อไปได้เอง
ทั้งนี้ทั้งนั้นกิจกรรมนี้มีปัจจัยซึ่ควบคุมไม่ได้อยู่มาก อาทิ ความต่อเนื่องของการติดต่อสื่อสารจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งเมื่อไม่ได้จัดเป็นกระบวนการเรียนรู้ให้ต่อเนื่องแล้ว การจะวัดผลว่านักเรียนจะได้ลองกลับไปสื่อสารกับเพื่อนใหม่มากน้อยเพียงใด และก่อเกิดผลการเรียนรู้มากน้อยเพียงใดจึงเป็นเรื่องยากลำบาก กิจกรรมนี้จึงเป็นได้เพียงกิจกรรมย่อยที่ทำหน้าที่บันดาลใจเด็กๆ ให้สนใจสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ และกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
แน่นอนว่าเรามีทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม จะไปลองฝึกภาษาอังกฤษที่ไหนก็ได้ แต่อาการกล้าๆ กลัวๆ ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรต้องเกิดขึ้นแน่นอน อีกทั้งโซเชียลมีเดียเองก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์การคุยทำความรู้จักกันหรือหาเพื่อนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เราจะไปรู้ได้อย่างไรว่าใครอยากคุยกับเราไหมอย่างไรบ้าง ปัจจุบันจึงมีเว็บไซต์ที่ให้บริการลักษณะเดียวกับเพนพาลเพื่อให้บริการด้านนี้โดยเฉพาะ ใครสนใจลองเข้าไปใช้เว็บ penpalworld.com หรือ interpals.net ดูนะคะ ถือว่าเป็นเพนพาลรุ่นดิจิตอล
นอกจากนั้นความยากในการจัดกิจกรรมแบบ culture capsule คือถ้าหากครูไม่ได้มีเครือข่ายอยู่แล้ว กิจกรรมนี้ก็ถือว่าแทบจะเกิดไม่ได้ หรือถ้าไม่มีงบประมาณในการส่งพัสดุแล้ว ก็คงจัดกิจกรรมนี้ไม่ได้อีกเช่นกัน (นี่ยังไม่นับการปรับให้กิจกรรมตรงกับหลักสูตรเพื่อการประเมินต่างๆ นานา)
แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถเชื่อมโยงโรงเรียนจากสองซีกโลกเข้าไว้ด้วยกัน และพานักเรียนสองห้องมาเรียนเรื่องราวเดียวกันไปพร้อมๆ กัน หรือนักเรียนเองก็สามารถเลือกเข้ามาเรียนหัวข้อที่ตัวเองสนใจกับเพื่อนจากต่างแดนได้เช่นกัน และมันมาพร้อมกับแผนการเรียนรู้ที่ชัดเจนอีกด้วย
เชิญพบกับ Penpalschools.com ค่ะ
Penpalschools เป็น start-up ผู้ให้บริการด้านการศึกษาสัญชาติสหรัฐ โดยออกแบบแพลตฟอร์มเว็บไซต์ขึ้นมาประกอบด้วยบทเรียนออนไลน์สำหรับนักเรียนตั้งแต่ 8-18 ปี มีสมาชิกกว่า 144 ประเทศ หรือกว่า 70,000 คนแล้ว
ค่าใช้จ่ายคือ ถ้าครูจากหนึ่งโรงเรียนรวมตัวกันสมัครเข้าเว็บนี้ไม่เกินห้าคน ปีแรกจะได้ใช้ฟรี ฟรี ฟรีตลอดปีไปเลย แต่ถ้ามีครูมากกว่าห้าคนก็ต้องเหมาจ่ายในราคา 1,900 เหรียญ
แต่เดี๋ยวก่อน เว็บมีการแจกทุนสำหรับโรงเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนในประเทศที่ยากจนด้วย เมื่อจ่ายเงินแล้วจะใช้กี่คนอย่างไรก็ได้ไม่มีการจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น และถ้าจะเหมาซื้อกันเป็นตำบลอำเภอ รวมกันหลายๆ โรงเรียนก็มีส่วนลดอีก นอกจากนี้ผู้บริหารของ Penpalschools ยังวางแผนการปรับให้มีเนื้อหาที่ฟรีและส่วนที่ต้องจ่ายเงิน เพื่อให้การเข้าถึงเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น และอาจมีโครงการจ่าย 1 ให้ 1 คือเมื่อโรงเรียนใดจ่ายเงินซื้อบริการเว็บจะมอบสิทธิ์อีกหนึ่งสิทธิ์ให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้วย
วิธีการเรียนคือ ครูต้องไปสมัครสมาชิกเว็บไซต์ก่อน และลองสำรวจดูโปรเจ็คท์และคอร์สออนไลน์ต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อลองหาหัวข้อที่ตรงกับหลักสูตรและความต้องการของตัวเอง จากนั้นก็แจ้งให้นักเรียนสมัครสมาชิกเช่นกัน เมื่อนักเรียนสมัครสมาชิกไปแล้ว เว็บไซต์จะช่วยจับคู่เพื่อนๆ จากประเทศอื่นหรือโรงเรียนอื่นๆ (กลุ่มหนึ่งต้องมีนักเรียนจากอย่างน้อยสองประเทศ) เพื่อให้สามารถรวมกลุ่มกันได้ 3-4 คน ตามอายุ (ต่างกันไม่เกินสองปี) และลักษณะโปรเจ็คท์ที่ต้องการทำ ถ้าได้เพื่อนแล้วไม่เขียนตอบกันภายในเจ็ดวัน เว็บจะส่งเพื่อนใหม่มาให้ร่วมทำโปรเจ็คท์กัน โดยมีอัตราการทำโปรเจ็คท์จนจบเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 88
แค่นึกว่าจะได้ทำโปรเจ็คท์กับเพื่อนต่างประเทศก็น่าสนุกแล้ว
แต่ไม่ใช่ว่าจะรวมกลุ่มกันเฉยๆ เว็บไซต์ได้ออกแบบบทเรียนมาให้เรียนกันก่อน โดยมีทั้งวิดีโอคลิป บทความและคำถามเพื่อการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ว่าง่ายๆ คือเรียนไปพร้อมกับเพื่อนๆ บทเรียนหนึ่งใช้เวลาประมาณ 30-60 นาทีก็เสร็จเรียบร้อย และสามารถทำเมื่อไหร่ก็ได้ การแลกเปลี่ยนพูดคุยก็เหมือนสเตตัสบนเฟซบุ๊ค คือทิ้งข้อความไว้ จากนั้นเพื่อนๆ ก็มาทยอยตอบกัน
หัวข้อที่มีให้บริการนั้นหลากหลาย อาทิ โอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018, ความจริง ความคิดเห็น และข่าวปลอม (อินเทรนด์มาก), หุ่นยนต์, การเมืองอเมริกา, การนำทางและแผนที่, การร่วมรักษ์โลก, ศิลปะฝรั่งเศส เป็นต้น
เพื่อให้เห็นภาพจึงขอยกตัวอย่างบทเรียนที่เว็บไซต์ได้ให้บริการเอาไว้ บทเรียนนี้ชื่อว่า ‘The World Through My Eyes’ เหมาะกับนักเรียนอายุ 12-18 ปี มาเรียนร่วมกันเป็นเวลาหกสัปดาห์ พูดคุยกันเรื่องหนังสารคดีจากเยาวชนในประเทศโมซัมบิก ธิเบต อินเดีย และโคลัมเบีย โดยเนื้อหาแบ่งเป็นหกหัวข้อดังต่อไปนี้
สัปดาห์ที่ 1 Home is where you find it
เล่าเรื่องเด็กชายอัลซิดีส ซัวรีส (Alcides Soares) จากประเทศโมซัมบิก ซึ่งกำลังออกเดินทางไปหาพี่ชายของตัวเอง โดยเนื้อหาเน้นเรื่องราวความหมายของครอบครัว ปัญหาความยากจน และโรคเอดส์ที่เป็นปัญหาของท้องถิ่นของที่นี่
สัปดาห์ที่ 2 My country is Tibet
เรื่องราวของ นัมเกล วังชุก ตรีเชน ลายารี (Namgyal Wangchuk Trichen Lhagyari) เจ้าชายจากธิเบต ที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ครอบครัว เรื่องราวของผู้ลี้ภัย และประเด็นความขัดแย้งระหว่างธิเบตและจีน
สัปดาห์ที่ 3 Displaced not defeated
มาเรีย เซบัลลอซ ปาซ (Maria Ceballoz Paz) วัยรุ่นชาวโคลัมเบียผู้ต้องจากบ้านของตัวเองมาเป็นระยะเวลาหลายปีเนื่องมาจากผลของสงครามกลางเมือง จะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสงครามและความขัดแย้งภายในประเทศแห่งหนึ่ง รวมถึงผลที่ผู้คนในประเทศนั้นต้องพบเจอ
สัปดาห์ที่ 4 Fire in our heart
พบกับ Jayshree Janu Kharpade เด็กสาววัย 16 ปีจาก เผ่า Warli ในรัฐมหารัชตะ ประเทศอินเดีย เธอมาพร้อมกับเรื่องราวของตัวเองในฐานะแรงงานผู้อ่านหนังสือไม่ออกสู่การเป็นนักวิชาการและนักเคลื่อนไหว บทเรียนนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของโอกาสทางการศึกษาของเด็กผู้หญิงทั่วโลก
สัปดาห์ที่ 5 Poet against prejudice
ไฟซา อัลมอนเทเซอร์ (Faiza Almontaser) ผู้อพยพชาวเยเมนวัย 17 ปี จากนิวยอร์ค ผู้สูญเสียเพื่อนไปจากเหตุการณ์ความรุนแรงเกี่ยวกับเชื้อชาติ และการเลือกปฏิบัติในโรงเรียน เธอใช้ศิลปะผ่านบทกลอนเพื่อต่อเล่าเรื่องราวของตนเองและชุมชนผู้อพยพ
สัปดาห์ที่ 6 The world through our eyes
สัปดาห์นี้นักเรียนจะได้วางแผนทำงานร่วมกันโดยเลือกเรื่องที่ตนสนใจอยากรณรงค์ต่อหรืออยากแบ่งปันในชุมชนของตนเอง เพื่อเป็นผู้ที่เริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ในทุกๆ หัวข้อจะแบ่งเป็นระดับเบื้องต้น กลาง และสูง เพื่อให้ครูสามารถช่วยนักเรียนเลือกบทเรียนที่เหมาะกับตนเองได้ และคุณครูก็สามารถต่อยอดกับหลักสูตรของตนเองได้อีกด้วย
การจุดไฟความอยากรู้อยากเห็นและช่วยนักเรียนประคองถือคบไฟนั้นไปจนกว่านักเรียนจะสามารถไปถึงปลายทางได้ด้วยตนเอง ถือได้ว่าเป็นงานหลักอย่างหนึ่งของคนเป็นครู บริการลักษณะนี้อาจเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ทั้งครูและนักเรียนได้เรียนรู้และผ่านประสบการณ์ใหม่ไปพร้อมๆ กัน และเมื่อนักเรียนต้องทำงานร่วมกัน พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะเข้าอกเข้าใจผู้อื่น และสื่อสารด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกัน บนบริบทการทำงานที่เอื้อประโยชน์ให้กับทั้งความสนใจของตนเองและสังคมที่ตนเองอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นทักษะและทัศนคติอันจำเป็นสำหรับคนในทุกยุคทุกสมัยก็ว่าได้
เหนือสิ่งอื่นใด ครูยังคงต้องคอยสำรวจตรวจตราดูความเป็นไปของโลก เพื่อออกแบบบทเรียนให้เป็นไปตามเงื่อนไขของโลกปัจจุบันและอนาคต
และแม้ว่าการใช้บริการนี้อาจยังมีค่าใช้จ่ายอยู่ จึงไม่ใช่ว่าครูทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้ แต่อย่างไรเสียก็น่าลองคิดและปรับใช้แนวคิดลักษณะนี้หรือมองเห็นตัวอย่างนี้เป็นแรงบันดาลใจสร้างบทเรียนของตัวเองขึ้นมา โดยร่วมมือกับโรงเรียนในละแวกใกล้เคียงก่อน ก็อาจจะเป็นแนวทางที่ไม่เลวนัก
ติดตามได้ที่นี่เลยค่ะ penpalschools.com