ภาพประกอบ: Shhhh
เมื่อวันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์เดินทางมาถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ (University of Helsinki) จำนวน 32,000 คนต้องตกใจ (หากไม่ได้อ่านประกาศล่วงหน้า) เมื่อพบว่าไม่มีใครมาทำงานเลย เพราะเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
- การเรียนการสอนถูกยกเลิกหมด (หากอาจารย์คนไหนยังสอนอยู่ นักศึกษาจะได้รับแจ้งเป็นรายวิชาไป) รวมทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยเปิดแห่งมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ
- จุดบริการนักศึกษางดให้บริการทั้งหมด
- บริการการสอบออนไลน์ปิดหมดยกเว้นศูนย์อเล็กซานเดรีย (Aleksandria)
- หอสมุดแห่งชาติและห้องสมุดแห่งมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิปิดทำการ
- โรงอาหารมหาวิทยาลัย 4 ใน 9 แห่งปิดบริการ
- พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติปิดทำการ
- โรงเรียนเฮลซิงกิ นอร์มอล ลูเซียม (The Normal Lyceum of Helsinki) ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ซึ่งมีนักเรียนจำนวน 1,500 คน รวมถึงโรงเรียนวีกกิ (University of Helsinki Viikki Normal School) ปิดทำการ
ส่วนที่ยังเปิดทำการอยู่คืออนามัยประจำมหาวิทยาลัยบางส่วน สโมสรกีฬา และโรงพยาบาลสัตว์ ว่าง่ายๆ คือสวัสดิการที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพมนุษย์และสัตว์ยังเปิดให้บริการอยู่
มหา’ลัยขาลง
การนัดหยุดงานครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประเทศฟินแลนด์ที่มีอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าร่วมด้วย เป็นครั้งแรกที่อาจารย์มหาวิทยาลัยยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมนัดหยุดงานพร้อมกับพนักงานมหาวิทยาลัย โดยมีชนวนเหตุจากสภาพการทำงานที่แย่ลง เพราะทั้งผู้ช่วยและเงินเดือนต่างก็ลดลง พร้อมๆ กัน หากมองภาพใหญ่ เงินจำนวน 400 ล้านยูโรที่ลดลงจากงบประมาณการศึกษาเดิมตั้งแต่ปี 2015 นั้นแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาในฐานะสวัสดิการของประชาชนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งขัดกับสิ่งที่รัฐบาลฟินแลนด์พยายามจะนำเสนอมาตลอดว่า ‘การศึกษา’ ถือเป็นงานสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ
หยุดงานกันมโหฬารขนาดนี้ได้เหรอ
ได้!
การนัดหยุดงานเป็นสิทธิตามกฎหมายแรงงาน โดยแผนก IT จะอยู่นอกเหนือการนัดหยุดงานตามสัญญาการจ้างงานหมวด 4 มาตรา 20 เพื่อดูแลความเรียบร้อยของเครือข่ายและอุปกรณ์ IT ของมหาวิทยาลัย อันเนื่องมาจากทั้งมาตรการรักษาความปลอดภัยและการดูแลสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในห้องทดลองจำเป็นต้องใช้ระบบไฟฟ้าและ IT อยู่ นอกจากนี้ผู้ที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานจะได้รับเงินชดเชยจากการหยุดงานจำนวน 50 ยูโรต่อวัน ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมการหยุดงานโดยการถือป้ายแสดงออกทางความคิดเห็น สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ตามลิงค์ของมหาวิทยาลัย
– ส่วนหนึ่งของประกาศจากมหาวิทยาลัยตัมเปเร (University of Tampere) เพื่อเตรียมการนัดหยุดงาน 7 มีนาคมที่จะถึงนี้
และนอกเหนือจากการประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว มหาวิทยาลัยตัมเปเรยังออกแบบฟอร์มออนไลน์เพื่อให้อาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยสามารถแสดงความจำนงจะยืนถือป้าย โดยสามารถระบุสถานที่ที่ตนต้องการถือป้ายแสดงความคิดเห็น และจำนวนเวลาซึ่งแบ่งเป็นกะละหนึ่งชั่วโมงได้ โดยทำได้มากที่สุดไม่เกินสามกะ
ถือเป็นการนัดหยุดงานที่มีการจัดการอย่างจริงจังและเป็นระบบระเบียบอย่างยิ่ง
เกิดอะไรขึ้นกับมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในฟินแลนด์ (มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิก่อตั้งครั้งแรกที่เมืองตูร์กุ (Turku) ปี 1640 และตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในเมืองเฮลซิงกิเมื่อปี 1829)
Ilman rahaa ei arvostusta
ไม่มีเงินก็ไม่มีคุณค่า
ผศ.อันนา เกสกิ-ราห์โกเนน (Assistant Professor Anna Keski-Rahkonen) จากคณะแพทยศาสตร์ อธิบายว่าเธอเข้าร่วมการนัดหยุดงานครั้งนี้เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจกับสถานการณ์เรื่องเงินเดือน พวกอาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยได้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับเรื่องการปลดพนักงานประจำและพนักงานสายสนับสนุนชั่วคราว จนทำให้อาจารย์และนักวิจัยไม่สามารถทำงานที่ตัวเองควรทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ เธอกล่าวต่อว่า
“ฉันเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ แต่ตอนนี้งานของฉันรวมถึงการเอาขยะไปทิ้งด้วย”
อาจเป็นคำกล่าวที่ดูแล้งน้ำใจ แต่สิ่งที่ ผศ.อันนาพยายามบอกคือ การลดจำนวนพนักงาน และการไม่ปรับขึ้นเงินเดือนมาเป็นระยะเวลาพักใหญ่แล้วนั้น อันเป็นผลต่อเนื่องจากการตัดงบประมาณของรัฐบาลกลางที่ได้กล่าวไปข้างต้น ส่งผลโดยตรงกับการทำงานของเธอและความรู้สึกที่เธอมีต่อนายจ้างอย่างยิ่ง
สหภาพแรงงานต้องการให้เพิ่มเงินเดือนพนักงานร้อยละ 1 ในปีแรก และร้อยละ 1.1 ในปีถัดไป และเงื่อนไขนี้ต้องครอบคลุมพนักงานทุกคนตามขั้นเงินเดือนที่ทุกคนพึงได้รับ รวมถึงเงินได้ตามประสิทธิภาพการทำงาน
การที่กลุ่มนายจ้างไม่ยอมรับเงื่อนไขการขึ้นเงินเดือนนี้โดยให้เหตุผลว่าข้อเสนอไม่ได้ตรงตามเป้าหมายที่นายจ้างต้องการ ถือเป็นสถานการณ์ที่แปลกประหลาดมาก แสดงให้เห็นว่าพวกนายจ้าง
“ตบหัวพวกคนทำงานในภาคการศึกษาด้วยหัวเหล็กของรองเท้าบูท” โอลลิ ลูกไกเนน (Olli Luukkainen) ประธานกลุ่ม JUKO หรือองค์กรฝึกอบรมบุคลากรด้านการศึกษากล่าว เช่นเดียวกันกับที่ ศาสตราจารย์เมรวิ เฮลกุลา (Mervi Helkula) แห่งภาควิชาภาษาฝรั่งเศสได้กล่าวไว้ว่า
“การปลดพนักงานออกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก และเมื่อพนักงานธุรการขึ้นอยู่กับส่วนกลางงานที่ทำอยู่ก็ยากลำบากมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นการนัดหยุดงานเกิดขึ้นเพราะฉันรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยมองไม่เห็นคุณค่าของพนักงาน และพวกเราไม่มีส่วนในการตัดสินใจใดๆ พวกเขาไม่มาถามความคิดเห็นของเราเลย สำหรับพวกเรา เราต้องการได้รับการชื่นชมสนับสนุนในฐานะนักวิทยาศาสตร์ และให้ความสำคัญกับเราที่เนื้องานซึ่งรวมทั้งงานสอนและงานวิจัย (ซึ่งต้องการการสนับสนุนจากบุคลากรจากสายงานอื่นๆ) นอกจากนั้นเรายังต้องการอิสระในการทำงานอีกด้วย”
ข้อเรียกร้องเรื่องเงินนี้ยังซ่อนเรื่องของการไม่ฟังเสียงลูกจ้างเอาไว้อีกชั้นหนึ่งด้วย ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองโลก เตย์โว เตย์ไวเนน (Teivo Teivainen) แห่งมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิกล่าวว่า เขาเองไม่ได้กังวลเรื่องค่าจ้างเท่ากับเรื่องที่นายจ้างของตัวเองกำลังใช้การปกครองแบบบริษัท ถือการออกคำสั่งจากบนลงล่างเป็นใหญ่ และไม่ฟังความเห็นของพนักงาน นี่คือตัวบ่อนทำลายกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งในสังคมมหาวิทยาลัยนี้ โดยปกติทุกคนมีส่วนร่วมกันตัดสินอนาคตของตนเองมาตลอด แน่นอนว่าเหล่าอาจารย์ไม่ได้รับผลกระทบเท่ากับพนักงานมหาวิทยาลัย และผู้คนเหล่านี้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมาเป็นเวลานานนั้นควรได้รับการปกป้อง
กลุ่มอาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยมองว่าเมื่อการเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ การนัดหยุดงานเป็นเวลา 24 ชั่วโมงจึงต้องเกิดขึ้น และจะมีการเดินขบวนประท้วงต่อมาหน้าอาคารมหาวิทยาลัย กลุ่มมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยอาล์โต (Aalto), ฮังเกน (Hanken), ตัมเปเร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งตัมเปเร (Tampere University of Technology), มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งเฮลซิงกิ (University of Arts Helsinki) และมหาวิทยาลัยวาซา (Vaasa) ได้ออกแถลงการณ์เตือนว่าจะเข้าร่วมการนัดหยุดงานในวันที่ 7 มีนาคมนี้เช่นกัน
จากนั้นกลุ่มอาจารย์และพนักงานจากมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกของฟินแลนด์ อันได้แก่มหาวิทยาลัย ยูแวสกูและ (Jyväskylä), ลัปปิ (Lappi), โอวลุ (Oulu), ตูร์กุ (Turku), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งลัปเปนรันตา (Lappeenranta University of Technology) และออโบ อกาเดมี (Åbo Akademi) ออกแถลงการณ์เตือนนัดหยุดงานเช่นกันในวันที่ 14 มีนาคม ทั้งหมดนี้เพื่อกดดันให้เกิดการเจรจาที่รวดเร็วขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่น่าพอใจมากขึ้น
นอกจากนั้นสหภาพอาชีพอื่นยังสนใจเข้าร่วมนัดหยุดงานเพื่อแสดงความเห็นใจกลุ่มอาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัย หรือที่เรียกว่า sympathy strike อีกด้วย
การนัดหยุดงานครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การศึกษาฟินแลนด์ เนื่องจากแสดงถึงความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในวงการการอุดมศึกษา โดยมีตัวตั้งตัวตีเป็นมหาวิทยาลัยอันเก่าแก่เป็นเสาหลักของแผ่นดินฟินแลนด์อย่างมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ และยังทำท่าจะลุกลามใหญ่โตไปทั่วประเทศอีกด้วย
ในทางหนึ่ง การเล่าเรื่องนี้อาจเป็นเพียงข่าวคราวจากประเทศห่างไกลที่เราไม่ได้รู้จักมักจี่อะไรนัก หากแต่กระบวนการเรียกร้องนี้สะท้อนให้เห็นถึงสังคมที่ให้คุณค่ากับทุกอาชีพอย่างเท่าเทียมกันผ่านกระบวนการที่ทุกฝ่ายมีตัวแทนอย่างมีกิจจะลักษณะ และสามารถเจรจาอย่างเป็นระบบระเบียบ เมื่อเกิดความไม่ยุติธรรมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การมีตัวแทนดูแลจะเป็นผู้ดูแลเรียกร้องความยุติธรรมให้ได้ โดยแลกกับเงินค่าสมาชิกเพื่อสนับสนุนองค์กรเหล่านี้ให้ยังทำงานเป็นปากเป็นเสียงแทนคนทำงานต่อไป
ถึงแม้จะเป็นบุคลากรในสายการศึกษาก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับภาพลักษณ์ความเป็นผู้ให้ หรือการทำไปเพื่อกุศลบุญใดๆ เพราะทุกอาชีพคือมืออาชีพ เมื่อทำงานเป็นอาชีพแล้วก็ควรได้รับการยอมรับและค่าตอบแทนที่เหมาะสมเหมือนกันหมด