Claude กับ Claude: เมื่อความ Impress ไม่ได้หยุดอยู่แค่รูปเขียน

บทความคราวก่อน เราเล่าไปแล้วว่า ยุค Impressionism มาจากไหน แล้วทำไมรูปถึงมีสีแตกๆ มองเป็นภาพมัวๆ ไม่ชัด แต่ศิลปะในยุค Impressionism นอกจากภาพวาดแล้ว ก็มีอีกอย่างที่แตกตัวเหมือนกัน สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่สามารถรับรู้ด้วยตา แต่รับรู้ได้ด้วยหู นั่นก็คือ! คอตตอนบัต!!!

ไม่ใช่!

เพลงค่ะ! เพลง!

เพลงในยุค Impressionism มีลักษณะเด่นอย่างนึงคือ เสียงมันจะกรุ๊งกริ๊งๆ เหมือนเวลาที่เอามือไปรูดระฆังราวแล้วมันกรุ๊งกริ๊งๆ ตามมือ หรือก็คือการที่นักแต่งเพลงหยิบคอร์ดของเพลงนั้นออกมาเล่นทีละโน้ตเรียงกัน ดังนั้นเวลาเล่นเพลงในยุค Impressionism แล้ว แทนที่จะเล่นคอร์ดหลายตัวพร้อมกันปรึ๊งเดียว เขาก็จะเล่นคอร์ดให้ไล่ๆ แตกๆ ไปแทน

ถ้าจะให้เห็นภาพ ลองเอาเพลงนี้ไปฟังค่ะ


เพลงนี้ชื่อ ‘Arabesque No.1’ โดย Claude Debussy

ถ้าฟังดีๆ เราจะสังเกตว่าคอร์ดของเพลงจะไม่เล่นพร้อมกันทีเดียว แต่จะเป็นโน้ตที่ไล่ๆๆๆ กันไปเรื่อยๆ แทน

ความตลกก็คือ ในขณะที่ฝั่งจิตรกรรมมีลุง คล็อด โมเนต์ (Claude Monet) เป็นพ่อใหญ่ในวงการ ฝั่งดนตรีเองก็มีตาลุง คล็อด เดอบุสซี (Claude Debussy) เป็นพ่อใหญ่เช่นกัน ชื่อ ‘คล็อด’ เหมือนกันเลย เดอบุสซีเองก็ชื่นชอบภาพจิตรกรรมเอาซะมาก ขนาดนักเรียนของเขา มาดามเฌราด์ เดอ รอมิญี (Gérard de Romilly) ยังเคยเอ่ยปากว่า เดอบุสซีมักจะเสียดายที่เลือกดนตรีแทนจิตรกรรมอยู่บ่อยๆ

แต่ถึงจะไม่ได้วาดภาพแบบจิตรกรก็ไม่เป็นไร เพราะในขณะที่ลุงโมเนต์แกวาดภาพด้วยสี ลุงคล็อดเองก็ ‘วาดภาพ’ ด้วยเสียงเพลงของเขา เอาล่ะ อย่าเพิ่งงงนะคะ เราจะให้ดูรูปนี้

Impressionism
Claude Monet, Houses of Parliament, 1904

ทีนี้ลองฟังเพลงนี้ค่ะ แล้วนึกภาพตามไปเรื่อยๆ

เพลงนี้ชื่อ ‘Reflets Dans L’eau’ หรือแปลเป็นไทยว่า ‘เงาสะท้อนในน้ำ’ สำหรับคนที่ขี้โกงไม่ยอมฟังจนจบ เราเฉลยให้ก็ได้ว่า สังเกตมั้ยคะ เราจะรู้สึกเหมือนมีความระยิบระยับแบบแสงที่สะท้อนในน้ำอยู่

คราวนี้เราอยากให้หลับตา ฟังเพลงไปเรื่อยๆ ทีนี้ถามตัวเองว่านึกถึงอะไรอีกบ้าง

เพลงที่ตั้งชื่อแค่ ‘เงาสะท้อนในน้ำ’ แต่กลับมีอารมณ์หลากหลายอยู่ในเพลง เรานึกถึงเงาสะท้อนอะไรบ้าง เสียงคอร์ดเมเจอร์สดใสทำให้นึกถึงวันที่ท้องฟ้าเป็นสีฟ้ามั้ย? แสงอาทิตย์สะท้อนในน้ำส่องประกายระยิบระยับเหมือนมีคนใส่ฟิลเตอร์กลิตเตอร์ อะไรอีกที่สะท้อนในน้ำ? ช่วงที่เพลงช้าเรานึกถึงผืนน้ำที่สงบนิ่ง มีแค่แสงจันทร์สะท้อนในน้ำเป็นดวงกลมๆ เบี้ยวๆ บูดๆ เพราะน้ำขยับเบาๆ ความเคลื่อนไหวบนผืนน้ำ บ่อบัวที่มีเงาบัวสีสันเขียวบ้าง ฟ้าบ้าง ชมพูบ้าง สะท้อนอยู่ หรือเรานึกถึงท้องทะเลสีครามทอดแสงอาทิตย์ตกดินสีส้มทองไกลสุดลูกหูลูกตา สุดแล้วแต่จะจินตนาการ ทั้งที่เพลงไม่มีรูปภาพอะไรเลย

ทำไมแค่เขากำหนดว่า นี่คือเงาสะท้อนในน้ำ เราถึงเห็นมากกว่าแค่ ‘เงา’ ของสิ่งเดียวที่สะท้อนในน้ำ นี่แหละ คือการสร้างจินตนาการ หรือ ‘วาดรูป’ ในหัวของผู้ฟัง

ความเหมือนกันอีกอย่างของจิตรกรรมแนว Impressionism กับบทเพลงแนวนี้ก็คือ เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ส่วนหนึ่งเราเคยเล่าไปเมื่อคราวที่แล้วว่า ศิลปินมีเวลาออกไปข้างนอก ไม่ต้องอุดอู้อยู่ในสตูดิโอ มีเวลาไปพายเรือ ปิกนิก ชมสวนเกร๋ๆ แต่ไม่ใช่แค่นั้นหรอกนะคะ อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ การขยายตัวของชนชั้นกลางหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส รวมไปถึงความเข้าที่เข้าทางของการเมืองในยุคสมัยนั้น พอชนชั้นกลางขยายตัว คนก็สามารถเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมได้มากขึ้น ความสะดวกสบายไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะชนชั้นสูง คนชนชั้นกลางที่ขยายตัว ก็เลยมีความสุขกับชีวิต มีเวลาไปเที่ยว ไปชมธรรมชาติกัน ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ต้องทำงานงกๆ อย่างเดียว ศิลปะและดนตรี จากเดิมที่มักจะแต่งเพลงเพื่อรับใช้ศาสนา บอกเล่าเรื่องราว หรือรับใช้การทหาร การเมือง ก็เปลี่ยนมาเป็นบทเพลงที่มีธีมเพื่อบรรยายธรรมชาติ หรือบรรยากาศในชีวิตประจำวันแทน

บรรยากาศเหล่านี้มันมาอยู่ในเพลงอีกอย่างไรบ้าง? งั้นจะให้ฟังอีกหลายๆ เพลงนะคะ แล้วเราจะมาเฉลยกันทีละเพลงว่าแต่ละเพลงชื่ออะไรกันบ้าง

Estampes, L. 100: No. 3, Jardin sous la Pluie

เพลงนี้ชื่อแปลได้ว่า สวนใต้สายฝนค่ะ

หรือเพลงนี้ ที่หลายคนน่าจะรู้จัก ก็คือ ‘Claire De Lune’ หรือแปลได้ว่า แสงจันทร์ค่ะ

ถ้าให้เปรียบกับรูป ก็คงนึกถึงรูปนี้ค่ะ

Impressionism
Claude Monet, A Seascape, Shipping by Moonlight, 1866

 

Nuit D’Etoiles

เพลงนี้ชื่อ คืนแห่งดวงดาว ค่ะ แล้วรู้มั้ยว่ามีรูปอะไรที่ชื่อคืนแห่งดวงดาวเช่นกัน?

วินเซนต์ แวนโกะห์ (Vincent Vangogh) ไงล่ะคะ

Impressionism
Vincent Van Gogh, Starry Night Over The Rhône, 1888

ความเหมือนกันของศิลปะและดนตรีในยุคนั้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมตะวันออกค่ะ ในยุคนั้นเป็นยุคที่วัฒนธรรมเริ่มหลั่งไหลไปมา ยุโรปยังคงเป็นเจ้าอาณานิคมในประเทศโซนแอฟริกาและเอเชียหลายประเทศ การค้าขายก็ค่อนข้างดี ญี่ปุ่นเองก็เริ่มเปิดประเทศ แล้วก็เข้าร่วม World Fair ในปารีสปีนั้น ดนตรีเองก็มีการหยิบยืมมาด้วยเหมือนกัน

เรื่องมีอยู่ว่า เดอบุสซีไปฟังการเล่นดนตรีสดของวงกาเมลัน (Gamelan) หรือวงชวาในอินโดนีเซียมา เพลงของเขาจะประมาณนี้ค่ะ

แล้วสิ่งที่เดอบุสซีได้กลับมา ก็ปรากฏในเพลงที่เขาแต่งชื่อ ‘Pagodes’ หรือแปลได้ว่า ‘เจดีย์’ (ถ้าเป็นเจไดก็จะอยู่ในสตาร์วอร์ส ขอโทษค่ะผู้อ่านทุกคน แต่ฉันอดไม่เล่นไม่ได้จริงๆ) ซึ่งถ้าฟังไปเรื่อยๆ เราจะได้ยินความคล้ายกันหลายๆ อย่างเลย

เพลงนี้ค่ะ

ถึงแม้ว่าจะแต่งเพลงที่ให้อารมณ์อิมเพรสชั่นนิสม์เหลือเกิน แต่เดอบุสซีก็ไม่เคยชอบเลยที่จะมีคนมาบอกว่าเขาเป็นนักประพันธ์เพลงแนว Impressionism เพราะการที่นักวิจารณ์ศิลปะบอกว่าเขาเป็นนักประพันธ์แนว Impressionism มันเหมือนกับว่าเขาเอาแรงบันดาลใจมาจากรูปเขียน มากกว่าธรรมชาติที่แท้จริง

แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็เป็นคนบอกเองนี่ล่ะ ว่าดนตรีของเขามีความเหมือนกับศิลปะแบบ Impressionism (เอ้า! ลุง!) สิ่งที่เดอบุสซีน่าจะเรียกตัวเองว่าเป็นนักประพันธ์แนว -ism ซะมากกว่า น่าจะเป็น symbolism ค่ะ เพราะเพลงแต่ละเพลงของเขาจะเน้นไปที่การทำให้เราเห็นสัญลักษณ์หรือรูปลักษณ์ของสิ่งที่เขาตั้งชื่อเพลง แทนการให้เรานึกถึงภาพวาดแนว Impressionism

ส่วนตัว เราคิดว่า ลุงเดอบุสซีก็คงพูดถูกที่ไม่อยากให้เอาแนวดนตรีของแกไปรวมกับ Impressionism เสียทั้งหมด เพราะรูปจิตรกรรมแบบ Impressionism เกิดจากการใช้ดวงตาในการผสมสี แต่เพลงในยุคนั้นต่างออกไปเพราะเพลงเป็นสื่อที่ต้องใช้เวลาในการฟัง ไม่ใช่มองปราดเดียวแล้วจะเห็นรูปเลย

อีกอย่างที่เราสังเกตจากการฟังเพลงพวกนี้คือ ยิ่งเราฟัง ก็ยิ่งเกิดเรื่องราวที่เราจินตนาการไปได้เรื่อยๆ ต่างจากรูปแนว Impressionism ตรงที่รูปภาพคือการจับห้วงเวลาห้วงสั้นๆ เป็นภาพที่เล่าเรื่องเหมือนดูหนังปลายปิด บอกเราตรงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เพลงเหล่านี้บอกบรรยากาศเรา และทำให้เราไปอยู่ในช่วงเวลาตรงนั้นด้วยหูของเราแทน ให้เราจินตนาการตัวเองอยู่ตรงนั้น ดังนั้น คำตอบของเพลงจึงเป็นปลายเปิด บางคนนึกถึงอย่างหนึ่ง แม้จะเป็นสถานการณ์เดียวกัน แต่ก็ทำให้คนคิดถึงเหตุการณ์ที่ต่างกันได้

อยากจะทิ้งท้ายไว้ว่า เพลงและจิตรกรรมที่ดังในยุคนี้ ทั้งคู่ก่อเกิดจากการที่ศิลปินและนักประพันธ์ขบถต่อระบบกันทั้งคู่ เพราะในขณะที่ระบบสอนว่าจะต้องวาดแบบนี้ หรือแต่งเพลงแบบนี้ ศิลปินและนักประพันธ์ในยุคนี้ เลือกที่จะทดลองทำในสิ่งที่ต่างออกไป และเชื่อในความรู้สึกหรือประสบการณ์ของตัวเอง ศิลปะเองก็คือการขบถอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะไม่มีใครอยากดูรูปหรือฟังเพลงที่เหมือนกันตลอดไปหรอกค่ะ

ป.ล. ภาพเปิดชื่อภาพว่า Camille Sitting on the Beach at Trouville เป็นภาพเมียของ คล็อด โมเนต์ ที่เลือกรูปนี้เพราะทำให้นึกถึงเพลง ‘L’Isles Joyeuse’ ของ คล็อด เดอบุสซี เพลงเกี่ยวกับเกาะแสนสุขที่เดอบุสซีแต่งตอนไปดี๊ด๊ากับเมียใหม่ที่เกาะเหมือนกัน พอคิดได้ว่ามันเมื้อนเหมือนกัน ก็เลยอยากเอามาเป็นภาพปกเฉยๆ ค่ะ

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า