มองช่องว่างระหว่างเพศในตลาดแรงงาน ผ่านรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ 2023

ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คลอเดีย โกลดิน (Claudia Goldin) นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ได้รับการประกาศชื่อจากราชบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (Royal Swedish Academy of Sciences) ให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2023 ทำให้เธอเป็นผู้หญิงคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ และเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลเดี่ยว เพราะอีก 2 คนก่อนหน้าเธอ เป็นการรับรางวัลร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์เพศชาย 

เมื่อย้อนดูประวัติของโกลดินก็พบว่า เธอเป็นผู้หญิงแถวหน้าในโลกเศรษฐศาสตร์มาโดยตลอด กล่าวคือเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งทางวิชาการ ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้หญิงคนเดียวในจำนวนนักเศรษฐศาสตร์ 8 คน ที่ได้รับรางวัลศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์เฮนรี ลี (Henry Lee Professorship of Economics) ตั้งแต่มีการตั้งรางวัลนี้มาตั้งแต่ปี 1901 

สิ่งที่ทำให้โกลดินได้รับการยกย่องในแวดวงเศรษฐศาสตร์ระดับโลกและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เธอได้รับรางวัลโนเบลคือ การทุ่มเทศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดแรงงานเพศหญิง ซึ่งเป็นประเด็นที่เธอเกาะติดมาตลอดตั้งแต่เริ่มชีวิตการเป็นนักเศรษฐศาสตร์เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว 

ความเหลื่อมล้ำทางเพศในแวดวงเศรษฐศาสตร์

‘Quiet Revolution’ (การปฏิวัติเงียบ) เป็นคำที่เธอบัญญัติขึ้น เพื่ออธิบายพลวัตของช่องว่างระหว่างเพศในตลาดแรงงาน และการเพิ่มจำนวนของผู้หญิงที่แต่งงานแล้วในตลาดแรงงานสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1970 แม้การศึกษาของเธอจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่ม Blue Collar (คนงาน/คนใช้แรงงาน) แต่สุดท้ายการทำงานด้านวิชาการของเธอกลับส่งผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อตลาดงานในแวดวงวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ถูกผูกขาดโดยเพศชายมาตลอด ราวกับว่าแท้จริงแล้วการปฏิวัติเงียบของเธอนั้น ก็คือการปฏิวัติวงการเศรษฐศาสตร์ของเธอเอง

ที่ผ่านมาตลาดงานวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มักเป็นสาขาที่มีผู้ชายมากกว่าผู้หญิงมาโดยตลอด สถิติปัจจุบันของทั่วโลกคือมีนักเศรษฐศาสตร์ผู้หญิง 28 เปอร์เซ็นต์ของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด หากมองเฉพาะสหรัฐอเมริกาจะพบว่าตัวเลขลดลงมาถึงครึ่งหนึ่ง คือมีนักเศรษฐศาสตร์ผู้หญิงเพียง 14 เปอร์เซ็นต์ 

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์ดวาร์ดที่เธอสังกัดอยู่ นับเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจน ข้อมูลจากเว็บไซต์ของคณะในปัจจุบัน มีอาจารย์ประจำคณะ 51 คน เป็นผู้หญิงเพียง 6 คน ขณะที่ยุโรปเป็นทวีปที่มีนักเศรษฐศาสตร์ผู้หญิงต่อผู้ชายมากที่สุดในโลก โดยผลการสำรวจในปี 2008 พบว่ายุโรปทั้งทวีปมีนักเศรษศาสตร์หญิง 31.3 เปอร์เซ็นต์ 

โกลดินเคยพูดถึงสาขาวิชาของตนเองว่าเป็นสาขาวิชาที่ไม่เอื้อให้ประชากรผู้หญิงเกิด ในแต่ละปีสัดส่วนนักศึกษาหญิงต่อนักศึกษาชายที่เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย 100 อันดับแรกของอเมริกา คิดเป็นประมาณ 1:3 แต่สัดส่วนระหว่างเพศของผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแต่ละปีลดลงมาเหลือเพียง 1:1 

“เราสูญเสียนักเศรษฐศาสตร์ผู้หญิงไปตั้งแต่ต้นทาง เพราะประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์ที่นักศึกษาผู้หญิงสนใจ แตกต่างจากที่นักศึกษาชายสนใจ” โกลดินกล่าว 

ปัญหาของโลกเศรษฐศาสตร์ในสายตาโกลดินคือ มันถูกสร้างให้เป็นศาสตร์แห่งการจัดการการเงินและการบริหาร ซึ่งเป็นความสนใจของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ขณะที่ผู้หญิงจะสนใจเศรษฐศาสตร์ในมิติทางสังคม เช่น แรงงาน การศึกษา สุขภาพ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม มากกว่าการเงินและการบริหาร 

เวโรนิกา กูร์เรียริ (Veronica Guerrieri) นักเศรษฐศาสตร์หญิงแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก เห็นด้วยกับเธอในประเด็นนี้ โดยมองว่าแม้จะมีนักศึกษาหญิงสนใจด้านการเงินและการบริหาร แต่การเอาตัวรอดในกระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยก็เป็นเรื่องยาก สาเหตุสำคัญคือการมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย กูร์เรียริมองว่าปัจจัยนี้ทำให้โลกเศรษฐศาสตร์ต้องสูญเสียผู้หญิงที่มีความสามารถและสนใจงานด้านเศรษฐศาสตร์ไปเป็นจำนวนมาก

การกดทับเพศหญิงที่ฝังอยู่ในกระบวนการสร้างนักเศรษฐศาสตร์ มีอยู่ในทุกระดับ ตั้งแต่ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ไปจนถึงระดับหลังปริญญาเอก เมื่อเทียบกับสาขาอื่นในสาย STEM หรือ 4 สาขาหลักที่มีความสอดคล้องกัน คือวิทยาศาสตร์ (science) เทคโนโลยี (technology) วิศวกรรมศาสตร์ (engineering) และคณิตศาสตร์ (mathematics) จะพบว่าสายงานเศรษฐศาสตร์มีเงื่อนไขการเรียนและการทำงานวิจัยที่มากกว่าสาขาอื่น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ผู้หญิงจำเป็นต้องเลือกระหว่างครอบครัวกับการผลิตงานวิชาการ 

นักเศรษฐศาสตร์ผู้ชายสามารถมีลูกได้ในขณะไต่เต้าในสายวิชาการ เพราะมีภรรยาคอยช่วยเลี้ยงลูก แต่เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ผู้หญิงมีลูก เธออาจต้องเสียโอกาสการเติบโตทางวิชาการไปเลย อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่บีบคั้นให้นักเศรษฐศาสตร์ผู้หญิงต้องเลือกระหว่างงานกับครอบครัวได้ลดน้อยลงแล้วในปัจจุบัน โกลดินเล่าว่าในยุคสมัยที่เธอเริ่มต้นทำงานวิชาการ ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์ผู้หญิงที่เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์คนไหนกล้าตั้งท้องเลย เพราะกลัวสูญเสียโอกาสในการทำตำแหน่งรองศาสตราจารย์ แต่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายลง โดยนักเศรษฐศาสตร์ผู้หญิงเริ่มมีลูกกันมากขี้น

ผู้หญิงเปลี่ยนโลก

สิ่งที่โกลดินและนักเศรษฐศาสตร์ผู้หญิงพยายามทำเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเพศหญิงในตลาดงานวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์คือ การทำให้เห็นว่าสาขาเศรษฐศาสตร์ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องราวของตัวเลขทางการเงินและการบริหารเท่านั้น แต่ยังมีทั้งเรื่องของความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมทางสังคม เรื่องของสุขภาพ ไปจนถึงพฤติกรรมในครัวเรือน 

ลองมาดูกันว่านักเศรษฐศาสตร์ผู้หญิงที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยดังๆ ทำงานด้านใดกันบ้าง

โรหินี ปานเด (Rohini Pande) แห่งมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่มีอิทธิพลมากคนหนึ่งในวงการเศรษฐศาสตร์ ให้ความสำคัญกับงานด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง การต่อต้านทุจริต ไปจนถึงการนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ลิซ่า ดี. คุก (Lisa D. Cook) มหาวิทยาลัยมิชิแกน (Michigan State University) ทุ่มเทให้กับการพิสูจน์ให้เห็นว่า การเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐและการกีดกันทางเพศ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

โอลิเวีย มิตเชลล์ (Olivia Mitchell) มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (University of Pennsylvania) เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการวิจัยเงินบำนาญทางวิชาการสมัยใหม่ โดยพิจารณาไปถึงปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ซูซาน แอทเธย์ (Susan Athey) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ริเริ่มการศึกษาเศรษฐศาสตร์ของอินเทอร์เน็ต โดยประยุกต์ทฤษฎีการประมูลเข้ากับบริการออนไลน์ เช่น การโฆษณาที่เกี่ยวกับการค้นหา และพัฒนาสาขาเศรษฐศาสตร์เทคโนโลยีที่กำลังเติบโต 

นักเศรษฐศาสตร์หญิงเหล่านี้มีส่วนทำให้โลกเศรษฐศาสตร์มีสัดส่วนของประชากรผู้หญิงค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นจากที่เคยมีมา เสียงของนักเศรษฐศาสตร์หญิงเริ่มดังขึ้น แต่ประชากรหญิงที่เพิ่มขึ้นก็ต้องประสบกับความท้าทายเช่นกัน จัสติน โวล์ฟเฟอร์ (Justin Wolfers) นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เคยเขียนบทความเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเพศในแวดวงเศรษฐศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาเผยแพร่ใน The New York Times ในปี 2018 ระบุถึงอุปสรรคหรือความท้าทายสำคัญของนักเศรษฐศาสตร์ผู้หญิงคือ การถูกตั้งค่ามาตรฐานงานเขียนทางวิชาการสูงกว่านักเศรษฐศาสตร์ผู้ชายและเมื่อเขียนบทความร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์ชาย พวกเธอก็จะไม่ได้รับการใส่ชื่อหรือแม้กระทั่งเมื่อมีการเปิดให้แสดงความเห็น หรือแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการวิจัยทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์หญิงก็มักจะได้รับบทบาทรอง

สมาคมเศรษฐศาสตร์อเมริกัน (American Economic Association) เคยออกแถลงการณ์ประณามอคติทางเพศที่เกิดขั้นในวงการเศรษฐศาสตร์ของตนเองและออกร่างจรรยาบรรณวิชาชีพสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ขึ้นมา เพื่อควบคุมพฤติกรรมของประชากรในโลกเศรษฐศาสตร์ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังคงพบว่า “พฤติกรรมที่ไม่ได้รับการยอมรับนั้น ยังคงมีการปฏิบัติสืบต่อกันมา”

ท่ามกลางอคติทางเพศในวงการเศรษฐศาสตร์ ‘การปฏิวัติเงียบ’ ของนักเศรษฐศาสตร์ผู้หญิง ก็ทำให้โลกได้เห็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้หญิงสามารถผ่านด่านอรหันต์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญด้านเศรษฐศาสตร์ของโลกได้ เช่น เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) วัย 74 ปี ผู้หญิงคนแรกที่ครองตำแหน่งสำคัญทางการเงินการคลังของสหรัฐครบทั้ง 3 ตำแหน่ง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาว จนมาถึงการได้การรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ของโกลดิน ในวัย 77 ปี ในลักษณะของรางวัลเดี่ยวที่ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์ชายรับรางวัลร่วม 

ชัยชนะของผู้หญิงในการปฏิวัติเงียบในแวดวงเศรษฐศาสตร์ กินเวลาเนิ่นนานกว่า 50 ปี ตลอดชีวิตการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของเยลเลนและโกลดิน น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีว่า โลกของนักเศรษฐศาสตร์เริ่มเปิดกว้างและยอมรับอย่างเต็มตัวแล้วว่า เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของการเงินการคลังในวิถีเดิมที่อยู่ในกำมือของเพศชายเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกเพศทุกวัย เชื่อมโยงถึงคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในทุกมิติ และน่าจะเป็นสัญญาณที่ทำให้คาดหวังได้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ความไม่เท่าเทียมทางเพศในโลกเศรษฐศาสตร์น่าจะค่อยๆ ลดน้อยลง โลกเศรษฐศาสตร์น่าจะให้การยอมรับนักวิชาการหญิงเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่ ความหลากหลายในประเด็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ย่อมมีมากขึ้น 

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า