ขณะนี้ประเทศไทยใช้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) พ.ศ. 2555-2573 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 หรือที่เรียกกันว่า PDP 2010 revision 3 ที่ได้รับความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่กลางปี 2555 ซึ่งถูกจับตามาตลอดว่าอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้บางกลุ่มธุรกิจ ทั้งยังเปิดช่องให้เกิดการคอรัปชันเชิงนโยบายด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ล้นเกินจริงมาโดยตลอด หรือการบรรจุสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยพ่วงคำว่า ‘เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด’ (clean coal technology) เข้าไป โดยแผนล่าสุด มีสัดส่วนการผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ที่ร้อยละ 7.9 หรือ 4,400 เมกะวัตต์
นี่อาจเป็นการสร้างความชอบธรรมให้โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหน้าใหม่ที่กำลังจะผุดขึ้นเร็วๆ นี้ทั้งที่จังหวัดกระบี่และสงขลา ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ต้นทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าทั้งหมดจะรวมไว้ในบิลค่าไฟของเราเรียบร้อยแล้ว
เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด?
ความหมายของคำว่า ‘ถ่านหินสะอาด’ ไม่เคยหยุดนิ่ง เมื่อก่อนถ้าพูดถึงถ่านหินสะอาด จะหมายถึงถ่านหินที่เผาไหม้แล้วไม่มีควัน ต่างจากในปัจจุบัน ที่รับรู้ว่า ถ่านหินสะอาด คือถ่านหินที่เผาไหม้แล้วมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศน้อยที่สุด ซึ่งเป็นไปได้ด้วยเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนทั้งในขั้นก่อนและหลังการเผา
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
ถ่านหินสะอาด = ถ่านหินไร้ควัน หรือแอนทราไซต์ ซึ่งเป็นถ่านหินเกรดดีสุด นิยมใช้ในครัวเรือนปี 1987
ถ่านหินสะอาด = ถ่านหินที่ไม่ทำให้เกิดฝนกรด ลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ลดฝุ่นหลังปี 2000
ถ่านหินสะอาด = ถ่านหินที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศต่ำที่สุด (low-carbon emission coal)
หลังปี 2000 เป็นต้นมา ปริมาณการใช้ถ่านหินทั่วโลกก็ลดลงมาโดยตลอด เนื่องจากตระหนักร่วมกันแล้วว่าแม้จะเป็นพลังงานราคาย่อมเยาและยังมีปริมาณสำรองมากเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นแล้ว พบว่ามลภาวะจากถ่านหินถือเป็นตัวการอันดับต้นๆ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ต้องมีความพยายามลดมลพิษตลอดสายพานทั้ง 3 ขั้นตอน ตั้งแต่ช่วงการทำเหมือง การขนส่งและเก็บกอง ก่อนจะเข้าสู่การเผาไหม้ในโรงไฟฟ้า การจะแปลงร่างถ่านหินให้กลายเป็น ‘ถ่านหินสะอาด’ หมดจดในแบบที่เราจินตนาการอยากให้เป็นจริงๆ นั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน
ส่วนสำคัญของเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด คือกระบวนการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในช่วงก่อนเผาและหลังเผาถ่านหิน
เปิดเดินเครื่องไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมากับ Boundary Dam Integrated Carbon Capture and Storage Project โรงไฟฟ้าแห่งแรกที่ปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเต็มรูปแบบ โดยบริษัท SaskPower ในรัฐซัสแกตเชวัน (Saskatchewan) ประเทศแคนาดา
ด้วยเป้าหมายในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 1 ล้านตัน แล้วจำหน่ายต่อให้กับบริษัทน้ำมัน Cenovus Energy เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการ Enhanced Oil Recovery (EOR) ซึ่งเป็นเทคนิคการฉีดคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในบ่อน้ำมันดิบเก่าเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำมันที่จะสูบขึ้นมาได้
คำถามที่เกิดขึ้นต่อเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนคือ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะต้องอาศัยการอุดหนุนจากรัฐบาล นอกจากนี้ ยังมีราคาที่ต้องจ่าย โดยโครงการ Boundary Dam ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เนื่องจากค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ภายใน 3 ปี
เรื่องท้าทายหลังจากนี้คือ ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าจะป้องกันการรั่วไหลและปนเปื้อนของคาร์บอนไดออกไซด์ในสภาพแวดล้อมอย่างไร หลังจากเมื่อเดือนมกราคม 2011พบการปนเปื้อนคาร์บอนไดออกไซด์ในดินสูงกว่าปกติ 2-3 เท่า บริเวณรอบบ่อน้ำมัน Wayburn ซึ่งมีการใช้เทคนิค EOR ในรัฐซัสแกตเชวัน
‘สะอาดขึ้น’ ไม่ได้แปลว่า ‘สะอาด’
การรีแบรนด์พลังงานจากถ่านหินด้วยคำว่า เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด แม้จะทำให้หลายคนเคลิบเคลิ้มได้บ้าง แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร
“ยุติการขาดแคลนพลังงาน เอื้อให้เกิดการเข้าถึงการผลิตไฟฟ้าแบบโลว์คอสต์ และลดการปล่อยคาร์บอนด้วยเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด” คือคำกล่าวในโฆษณาของบริษัท Peabody Energy ผู้ประกอบการด้านถ่านหินในอังกฤษ ที่ถูกกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Nature: WWF) ยื่นร้องเรียนต่อองค์กรกำกับสื่อโฆษณาของอังกฤษ (Advertising Standards Authority: ASA) และผลการตัดสินที่ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคมคือ ข้อความดังกล่าวเข้าข่ายบิดเบือนและอาจสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชน Peabody Energy ได้รับคำสั่งให้ถอดโฆษณาดังกล่าวและให้คำมั่นว่าจะไม่กระทำผิดซ้ำอีก
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ่านหินคือแหล่งพลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศมากที่สุดกิจกรรมหนึ่ง เป็นที่ทราบดีว่าการเผาไหม้ถ่านหินเป็นสาเหตุของฝนกรดที่เกิดจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ การปนเปื้อนโลหะหนักอย่างปรอทและสารเคมีต่างๆ ทั้งยังก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนซึ่งอาศัยอยู่โดยรอบโรงไฟฟ้า
การกล่าวอ้างด้วยคำพูดสวยหรูดูจะเป็นการชุบตัวให้ถ่านหินกลับมาดูดีกว่าที่เคย แต่การที่แผนพลังงานของประเทศยังมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของแหล่งพลังงานไม่สะอาดเช่นนี้ ถือเป็นความมั่นคงทางพลังงานที่ประชาชนต้องใช้เงินภาษีแบกรับ โดยไม่มีส่วนในการตรวจสอบและร่วมตัดสินใจแบบนี้จริงๆ หรือ?
ขณะเดียวกัน แม้องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกมีความตั้งใจจะผลักดันให้ยุติการใช้พลังงานจากถ่านหินเพียงใดก็ตาม แต่ธุรกิจพลังงานไทยบางรายยังคงขยายการลงทุนและตั้งเป้าจะเป็น 1 ใน 5 ผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่แห่งทวีปเอเชีย
อ้างอิงข้อมูลจาก:
งาน Press Briefing ‘ถ่านหินสะอาดและวิกฤตโลกร้อน เส้นทางสู่ความมั่นคงพลังงานไทย?’
สรุปแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2555-2573 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
The Guardian / theguardian.com
Advertising Standards Authority / asa.org.uk
ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ สิ่งแวดเรา นิตยสาร WAY ฉบับ 81