หลายคนอาจเริ่มรับรู้ได้ถึงความอันตรายของการนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหารุนแรง สื่อหลายสำนักพยายามจัดการข้อมูลเหล่านั้นด้วยความระมัดระวัง รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่ทำหน้าที่สื่อผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัว ซึ่งจำเป็นต้องถอดบทเรียนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร หลังเกิดเหตุกราดยิงที่พารากอน
เราคงพูดไม่ได้เต็มปากว่าเหตุกราดยิงแต่ละครั้งมีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ และบทบาทของสื่อมีส่วนซ้ำเติมเหตุการณ์มากน้อยเพียงใด สิ่งที่พอพูดได้ก็คือควรมีการศึกษาผลกระทบของการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยจะขอยกตัวอย่างคดีสะเทือนขวัญในอเมริกาและเหตุการณ์ที่ตามมาหลังจากนั้น
จากผู้ก่อเหตุ สู่ไอคอนวัฒนธรรมป็อป
เท้าความถึงคดีดังที่มีชื่อว่า คดีกราดยิงโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ (Columbine High School Mass Shooting Case) ซึ่งเป็นเหตุการณ์สลดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดจากการกราดยิงในสมัยนั้น และยังเกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมด้วยฝีมือของเด็กมัธยมอีกด้วย เหตุเกิดที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ ลิตเติ้ลตัน เดนเวอร์ รัฐโคโลราโด (Littleton, Denver, Colorado) ในวันที่ 20 เมษายน 1999
ผู้ก่อเหตุ 2 คน วัยเพียง 17 ปี และ 18 ปี วางแผนลอบวางระเบิดโรงอาหารในโรงเรียน แต่เมื่อระเบิดไม่ทำงาน จึงหาทางลักลอบนำปืนเข้าไปในโรงเรียน ก่อนจะสังหารเพื่อนนักเรียนและบุคลากรของโรงเรียนเป็นจำนวน 13 ราย บาดเจ็บอีก 24 ราย ต่อมาทั้งสองจึงหันปากกระบอกปืนเข้าหาตัวเองและจบชีวิตลงในที่สุด นับเป็นเหตุสะเทือนขวัญที่ร้ายแรงที่สุดในสหรัฐ ณ ตอนนั้น
แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้นำไปสู่การตั้งคำถามครั้งใหญ่หลายประเด็น ทั้งแรงจูงใจของคนร้าย สภาพแวดล้อมการเติบโต การเข้าถึงแหล่งที่มาของอาวุธ การควบคุมการครอบครองปืน รวมไปถึงมาตรการความปลอดภัยของโรงเรียน แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะไม่ได้รับการใส่ใจหรืออาจเป็นเรื่องที่สังคมอเมริกันและสังคมโลกยังไม่ทันได้ตระหนักดี นั่นก็คือผลกระทบที่ตามมาจากการนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ออกไปสู่สังคม
เพราะหลังจากเกิดเหตุได้ไม่ถึง 1 ชั่วโมง สำนักข่าวหลายแห่งพากันแย่งแอร์ไทม์ที่จะได้ถ่ายทอดสดสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) สำนักข่าวฟอกซ์ (Fox) สำนักข่าวเอ็มเอสเอ็นบีซี (MSNBC) บางสำนักข่าวถึงขั้นใช้เฮลิคอปเตอร์บินรอบโรงเรียน ถ่ายทอดสดภาพเคลื่อนไหวของเหยื่อที่กำลังถูกยิง และถูกลากร่างไร้วิญญาณออกมาไว้ที่หน้าโรงเรียน นอกจากนั้นยังมีความพยายามอย่างมากที่จะนำภาพฟุตเทจจากกล้องวงจรปิดในโรงเรียนขณะเกิดเหตุออกมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับชม
แม้ในยุคปี 1999 อินเทอร์เน็ตจะไม่ได้กว้างขวางเท่าวันนี้ แต่มันแพร่กระจายไปทั่วสหรัฐและยุโรป และเชื่อหรือไม่ว่าฟุตเทจดังกล่าวยังคงหาสืบค้นได้จนถึงทุกวันนี้ นี่อาจเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของสังคมในเวลานั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา เมื่อผู้ก่อเหตุได้รับความสนใจมากเข้า ในที่สุดทั้งสองก็ได้กลายมาเป็นไอคอนของวัฒนธรรมป็อปในยุคสมัยนั้น ทั้งเป็นตัวละครที่มีคนแต่งตัวเลียนแบบหรือคอสเพลย์ในงานฮาโลวีน ในลักษณะเสื้อโค้ทคลุมยาว ใส่หมวกกลับหลัง สวมถุงมือและเสื้อกั๊กที่มีปลอกเก็บปืน บ้างก็นำไปเขียนเป็นมุกตลกในงานแสดงต่างๆ หรือถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์สวมบทเป็นฮีโร่
ตั้งแต่นั้นมามีการเก็บข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับเหตุกราดยิง 43 ครั้ง ในช่วงเวลาภายในไม่ถึง 20 ปี ทั้งในประเทศเยอรมนี ฟินแลนด์ สวีเดน และส่วนมากในสหรัฐ ซึ่งมีตัวเลขผู้เสียชีวิตมากกว่า 210 ราย บาดเจ็บอย่างต่ำ 419 ราย โดยทั้ง 43 คดีดังกล่าว คนร้ายต่างอ้างอิงถึงคดีที่โคลัมไบน์
Copycat: พฤติกรรมเลียนแบบ
เรื่องหนึ่งที่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลในคดีเหล่านี้ คือ โดยส่วนมากผู้ก่อเหตุมักจะจบชีวิตหรือถูกวิสามัญไปเสียก่อน จึงยากที่จะหาข้อมูลภายหลังก่อเหตุ ข้อมูลส่วนมากจึงเกิดจากการสืบค้นจากข้อความหรือสัญญาณที่คนร้ายได้แสดงออกก่อนจะเกิดเหตุ
นี่จึงเป็นเหตุให้นำไปสู่การศึกษาอย่างจริงจัง ถึงความเป็นไปได้ของการเลียนแบบพฤติกรรมคนร้ายหรือที่เรียกกันว่า ‘ก็อปปี้แคท (copycat)’ และการผลักดันให้เกิดความตระหนักรู้ในการนำเสนอข่าวที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้
แกรี สลัทคิน (Gary Slutkin) นักวิจัยด้านโรคติดต่อ ผู้ใช้เวลาค่อนชีวิตศึกษาความเป็นไปได้ของโรคติดต่อการเสพความรุนแรง และผู้ผลักดันให้การใช้ความรุนแรงเป็นปัญหาที่สาธารณสุขต้องจัดการ กล่าวว่า “เพราะอะไรคนที่เคยถูกทำร้ายร่างกายตอนเด็ก โตขึ้นมาก็จึงไปทำร้ายร่างกายคนอื่น ทั้งที่ก็รู้ว่ามันไม่ดีอย่างไร เพราะอะไรคนที่เผชิญกับการถูกทำร้าย จึงหันมาทำร้ายคนในครอบครัวตัวเอง มันฟังไม่สมเหตุสมผลเลย เว้นเสียแต่ว่าความรุนแรงจะสามารถติดต่อกันได้”
เช่นเดียวกันกับกรณีเกี่ยวกับเหตุฆ่าตัวตายก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อใดก็ตามที่มีข่าวนักการเมืองหรือคนมีชื่อเสียงกระทำอัตวินิบาตกรรม หลังจากนั้นสถิติเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุฆ่าตัวตายก็จะพุ่งสูงขึ้นเป็นระลอก จนทำให้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ต้องออกนโยบายชวนให้สื่อนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหารุนแรงด้วยความรอบคอบ
การศึกษาเรื่องพฤติกรรมเลียนแบบนั้นมีมานานแล้ว ตั้งแต่งานวิจัยของนักจิตวิทยาชื่อดังอย่าง อัลเบิร์ต บันดูรา (Albert Bandura) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) หัวข้อ ‘ตุ๊กตาล้มลุกโบโบ’ (Bobo Doll) ในช่วงปี 1970 ที่มีการบันทึกภาพผู้ใหญ่สองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเล่นกับตุ๊กตาอย่างรุนแรงและอีกกลุ่มเล่นกับตุ๊กตาอย่างนุ่มนวล หลังจากนั้นนำภาพไปให้เด็กสองกลุ่มชม ก่อนจะปล่อยเด็กไว้ในห้องกับตุ๊กตาโบโบตามลำพังและผลลัพธ์ก็เป็นตามคาด เด็กสองกลุ่มปฏิบัติกับตุ๊กตาไปตามข้อมูลที่ตัวเองได้รับชม กลุ่มหนึ่งชกต่อยตุ๊กตา อีกกลุ่มปฏิบัติกับตุ๊กตาอย่างนุ่มนวล
เสมือนภาษิตของอังกฤษที่ว่า “ลิงเห็น ลิงทำตาม” (Monkey see, Monkey do) ดังเช่นงานวิจัยทางด้านประสาทวิทยาที่พูดถึงเซลล์สมองนิวรอน โดยนักวิจัยชาวอิตาเลียนในยุคปี 1990 สำรวจปฏิกิริยาของเซลล์สมองที่อยู่บริเวณสมองกลีบหน้าส่วนต้น (บริเวณหน้าผาก) ของลิงกัง 2 ตัว ซึ่งเป็นสมองที่ทำหน้าที่คิด วางแผน และตัดสินใจ และพบว่าเมื่อลิงตัวหนึ่งขยับท่าทาง ลิงอีกตัวหนึ่งจะแสดงปฏิกิริยาตอบรับทางสมองเพื่อเลียนแบบพฤติกรรม จึงเรียกสิ่งนี้ว่า ‘กระจกนิวรอน’ (Mirror Neurons) และสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกับสมองของมนุษย์
โมเดลการนำเสนอข่าวความรุนแรง
สำนักพิมพ์นิตยสาร 5280 โคลัมไบน์ (5280 Magazine: Columbine) ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ท้องถิ่นในเมืองเดนเวอร์ โคโลราโด ปัจจุบันเป็นสำนักพิมพ์ออนไลน์ ได้รวบรวมงานศึกษาและวิจัยจำนวนมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อาทิ องค์กร No Notoriety ที่ก่อตั้งโดยผู้ปกครองของเหยื่อจากเหตุกราดยิง งานศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาในอาชญากร ปีเตอร์ แลงแมน (Peter Langman) หรือ ศูนย์ข้อมูลสำหรับวารสารศาสตร์และความชอกช้ำทางใจจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Dart’s Center for Jounalism & Trauma) เป็นต้น เพื่ออธิบายถึงความเชื่อมโยงของการนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหารุนแรงของสื่อกับปรากฏการณ์ภัยรุนแรงจากน้ำมือมนุษย์ ทำให้พวกเขานำเสนอโมเดลในการนำเสนอข่าวไว้ดังนี้
- จำกัดการนำเสนอชื่อของผู้ก่อเหตุให้เหลือเพียงครั้งเดียวหรือไม่นำเสนอเลย และไม่ทำให้ผู้ก่อเหตุมีพื้นที่โดดเด่นขึ้นมา ทั้งการพาดหัว การอ้างอิงคำพูด และภาพหรือคำบรรยายของผู้ก่อเหตุ
- ไม่สรุปความเรื่องแรงจูงใจของผู้ร้ายด้วยวิธีการคาดคะเน วิเคราะห์ และนำเสนอโดยไม่ผ่านความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
- ไม่จำเป็นต้องรอวันครบรอบเพื่อรำลึกเหตุการณ์หรือเพื่อเข้าไปพูดคุยกับเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย อีกทั้งการนำเสนอเรื่องการเยียวยาจะเป็นผลดีต่อชุมชนด้วย
- ส่องสำรวจสุขภาพจิตของนักข่าวผู้นำเสนอประเด็นข่าวที่มีเนื้อหารุนแรง เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นหรือการอบรมฝึกฝน เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยระมัดระวังการนำเสนอข่าวด้วย
นับแต่เหตุการณ์ที่โคลัมไบน์จนถึงปัจจุบันในปี 2023 ยังมีเหตุกราดยิงเฉพาะในพื้นที่ของโรงเรียนในสหรัฐอเมริกามากถึง 386 ครั้ง มีนักเรียนที่เผชิญกับความรุนแรงทางปืนไม่ต่ำกว่า 356,000 ราย และเฉลี่ยอายุของผู้ก่อเหตุอยู่ที่ 16 ปีเท่านั้น
จริงอยู่ว่าข้อมูลเหล่านี้คือบริบทของประเทศอเมริกาซึ่งแตกต่างจากในประเทศไทยอยู่หลายมิติ ส่วนงานศึกษาวิจัยทั้งหลายก็เพียงเพื่อช่วยอธิบายพฤติกรรมเลียนแบบของมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคมและมันคงง่ายเกินไปที่จะสรุปว่าการนำเสนอข่าวสารที่มีเนื้อหารุนแรงเหล่านี้จะเป็นต้นเหตุให้เกิดการก่อเหตุในครั้งต่อๆ มา แต่อย่างน้อยเรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การศึกษา เพื่อสร้างความระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและเพื่อไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสังคมแห่งความรุนแรงต่อไป
อ้างอิง:
- Columbine High School Shooting: Victims & Killers
- Columbine, 20 Years Later
- Contagion in Mass Killings and School Shootings
- How School Shootings Spread
- Media coverage as a risk factor in suicide
- Mirror Neurons – The Neuroscience of Leadership
- The news coverage of Columbine helped turn the tragedy into an international phenomenon
- There have been 386 school shootings since Columbine
- Violent Lineage
- Why violence is so contagious