ตลอดหลายร้อยปีชื่อเสียงของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ในฐานะนักสำรวจบุกเบิกเส้นทางเดินเรือสู่ ‘โลกใหม่’ ผืนแผ่นดินทวีปอเมริกา ได้รับการยอมรับในสังคมตะวันตกว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของการเริ่มต้นก่อร่างรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชาวยุโรปลงในดินแดนดิบเถื่อนอันเป็นถิ่นฐานเดิมของชาวพื้นเมืองในอเมริกา แต่วีรกรรมของเขาก็ประกอบไปด้วยความอื้อฉาว กระทำการอันโหดร้าย ป่าเถื่อน ต่อชาวพื้นเมือง อันเป็นที่รู้กันดีในหมู่ผู้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของหลายประเทศแห่งดินแดนอเมริกาทั้งสองทวีป
หนังสือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี (Bury My Heart at Wounded Knee) ของ ดี บราวน์ (Dee Brown) (ภาคภาษาไทยตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ WAY of BOOK) ที่บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ช่วงสามสิบปีสุดท้ายของมหกรรมการสู้รบแย่งชิงดินแดนรวมทั้งการเข่นฆ่าล้างผลาญชนชาวพื้นเมืองแห่งสหรัฐอเมริกา เกริ่นนำเนื้อหาของหนังสือด้วยข้อความ
“เรื่องเริ่มต้นขึ้นโดย คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ผู้ให้ชื่อคนเหล่านั้นว่า อินดิออส ชาวยุโรปเหล่านั้นเป็นคนผิวขาว และเรียกคนเหล่านี้ด้วยสำเนียงต่างๆ … ชนเหล่านี้มีธรรมเนียมต้อนรับคนแปลกหน้าคล้ายกัน และเผ่าไตโน บนเกาะ ซาน ซัลวาดอร์ ได้ต้อนรับโคลัมบัสและคนของเขาอย่างใจกว้าง ด้วยการมอบสิ่งของและปฏิบัติต่อคนผิวขาวอย่างให้เกียรติ …”
ต่อจากนั้น ตามประวัติศาสตร์ของการค้นพบ ‘โลกใหม่’ โคลัมบัส ได้ก่อวีรกรรมเลวร้ายซึ่งเป็นการเริ่มต้นของกระบวนการทำลายและแย่งชิงทรัพยากรไปจากชนพื้นเมืองของทวีปอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น การแสวงหาทองคำเพื่อนำกลับไปยังคลังของกษัตริย์สเปน ฆ่าฟันชนเผ่า จับกุมคนลงเป็นทาส และถึงขั้นฆ่าล้างผลาญเผ่าพันธุ์มนุษย์ (mass genocide) ในหลายแห่งที่กองเรือของเขาเดินทางไปถึงทั้งสี่เที่ยว ซึ่งดำเนินต่อมาโดยผู้คนชาวยุโรปอีกนานนับหลายศตวรรษ
‘มรดก’ ตกทอดของโคลัมบัสเป็นที่ถกเถียงกันตลอดมา เขาได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางตลอดหลายศตวรรษหลังจากการตาย แต่การรับรู้ของประชาชนเปลี่ยนไปเมื่อนักวิชาการหันมาให้ความสำคัญต่อแง่ลบในประวัติชีวิตของเขา เช่นการกดขี่ชนพื้นเมืองในการแสวงหาทองคำและการปราบปรามอย่างโหดร้ายต่อชนเผ่าไตโน ซึ่งนำไปสู่การใกล้สูญพันธุ์ เช่นเดียวกับข้อกล่าวหาเรื่องการปกครองแบบเผด็จการต่ออาณานิคมของสเปน บนหมู่เกาะแคริบเบียนและชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้
กระนั้น สถานที่สำคัญและสถาบันหลายแห่งในซีกโลกตะวันตกก็ยังยกชื่อของโคลัมบัสขึ้นเป็นมงคลนาม รวมถึงชื่อประเทศสาธารณรัฐโคลอมเบีย (Republic of Colombia) และในสหรัฐอเมริกานาม ‘โคลัมบัส’ ‘โคลัมเบีย’ ‘โคลัมเบียน’ หรือ ‘โคลัมไบน์’ (Columbus, Columbia, Columbian, Columbine) ก็ยังถูกใช้เป็นสมญาแสดงถึงตัวตนของ ‘นักสำรวจผู้ค้นพบอเมริกา’ หรือดินแดนสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยุคก่อตั้งอันประกอบด้วย 13 เขตอาณานิคมซึ่งต่อมากลายเป็นมลรัฐ เช่นที่ปัจจุบันปรากฏเป็นชื่อสถานที่และสถาบันหลายแห่ง ทั้งที่โคลัมบัสไม่เคยย่างเท้าก้าวลงสัมผัสผืนแผ่นดินใหญ่แห่งทวีปอเมริกาเหนือเลยแม้แต่ครั้งเดียว (ชาวพื้นเมืองอยู่ในทวีปอเมริกามา 14,000 ปี โดยตลอด และนักสำรวจชาวไวกิ้ง ชาวนอร์เวย์ บางกลุ่มเคยเดินทางถึงดินแดนอเมริกาก่อนหน้านั้นแล้ว)
ในสหรัฐอเมริกา ประมาณกว่า 500 ปีหลังจากที่เขา ‘ค้นพบ’ โลกใหม่และก่อวีรกรรมอันเป็นคุณมหาศาลแก่ผู้อพยพชาวยุโรปผิวขาว คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส แม้จะมีชื่อเสียงด่างพร้อยแล้วก็ยังอุตส่าห์ได้รับเกียรติโดยทางการจัดให้มีวันที่ระลึกเป็นวันหยุดงานแห่งรัฐ ‘วันโคลัมบัส’ (Columbus Day) คือวันจันทร์ที่สองของทุกเดือนตุลาคม ขณะที่นักประวัติศาสตร์ยังคงขุดคุ้ยชีวิตของโคลัมบัส ยกขึ้นมาโต้เถียงกันอย่างต่อเนื่องอยู่เนืองๆ สำหรับบางกลุ่ม ว่ากันว่าอย่างน้อยเพื่อเป็นเกียรติแก่นักสำรวจที่สืบสานมรดกวัฒนธรรมชาวอิตาลี หรือในฐานะวีรบุรุษ
บันทึกประวัติศาสตร์หลายแหล่งแสดงให้เห็นว่า ‘มรดก’ อันอื้อฉาวของโคลัมบัสกลายมาเป็นหัวข้อความขัดแย้งซึ่งทับทวีขึ้นทุกวัน ในสหรัฐอเมริกามีการแสดงออกด้วยการประท้วงระหว่างขบวนพาเหรด ‘วันโคลัมบัส’ หลายครั้ง โดยเฉพาะจากผู้สืบเชื้อสายของชาวพื้นเมืองดั้งเดิม และยังมีความพยายามของบางฝ่ายที่จะกำจัดชื่อเขาออกจากหลักสูตรในห้องเรียน มีเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อวันหยุดของรัฐบาลกลางตามมา ทั้งหมดเริ่มต้นเมื่อปี 1992 กลุ่มเคลื่อนไหวในเมืองหลายสิบแห่งและอีกหลายรัฐได้ประกาศให้วันหยุดดังกล่าวได้ชื่อใหม่ว่าเป็น ‘วันชนพื้นเมือง’ (Indigenous Peoples’ Day) ซึ่งเป็นวันหยุดเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์และการมีส่วนร่วมของชาวพื้นเมืองอเมริกัน แทนที่จะเป็นวันฉลองนักบุกเบิกจอมโหดเช่นโคลัมบัส
แรงกระเพื่อมหลังจากการตายของ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวดำโดยฝีมือตำรวจผิวขาว ที่เมืองมินนีอาโปลิส รัฐมินนีโซตา ซึ่งได้จุดชนวนความไม่พอใจของพลเมืองแอฟริกันอเมริกันจำนวนมาก เกิดการชุมนุมประท้วง ก่อจลาจล ปล้นร้านค้า วางเพลิง ในหลายเมือง ทั่วประเทศ เนื่องจากความรู้สึกรวมหมู่ของกลุ่มผู้คนที่ถูกเหยียดหยันมานาน ล่าสุดก็ลุกลามไปสู่ความพยายามทำลายล้างอนุสาวรีย์ที่ระลึกของคนในประวัติศาสตร์อเมริกัน ซึ่งมีทั้งวีรบุรุษของชาวภาคใต้ในสงครามกลางเมืองที่ขัดแย้งกันเรื่องปลดปล่อยคนงานทาสผิวดำ และอนุสาวรีย์ที่เชิดชู คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในบางชุมชน
รูปปั้นของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในอนุสรณ์สถานที่เมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งติดตั้งมาตั้งแต่ปี 1927 ถูกกลุ่มผู้ประท้วงฉุดลากลงมา หลังจากผู้คนรวมตัวกันในสวนสาธารณะใหญ่ของเมืองแล้วส่งเสียงเพลงเสียงสวดมนต์เชียร์เพื่อให้คนช่วยกันทำลายมัน ผู้ประท้วงใช้เชือกหลายเส้นฉุดตัวรูปปั้น โดยมีป้ายบอกว่า “โคลัมบัสเป็นตัวแทนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ตรึงติดกับบนรากฐานซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีรูปปั้นประดับอยู่ แล้วพ่นสีสเปรย์ทับ จากนั้นก็พยายามจุดเพลิงเผา แล้วผู้คนพากันกลิ้งตัวมันลงสู่ทะเลสาบในสวนสาธารณะตามการรายงานของหลายสำนักข่าว
รูปปั้นบรอนซ์สูง 3 เมตรของโคลัมบัส ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้าอาคารสภาแห่งรัฐ ที่เมืองเซนต์ปอล รัฐมินนีโซตา ถูกผู้ประท้วงโค่นล้มลงกองอยู่กับพื้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
อีกแห่งหนึ่ง รูปปั้นโคลัมบัส ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ถูกบั่นศีรษะขาดหายไป เช่นกัน ก่อนหน้านี้ ในปี 2004 เคยมีมือดีไปพ่นสีใส่ที่รูปปั้นนี้ด้วยคำว่า ‘ฆาตกร’ มาก่อนแล้ว นอกจากนั้นกลุ่มผู้ประท้วงยังส่งเสียงเรียกร้องให้ ‘ชำระประวัติศาสตร์’ เพื่อให้ผู้คนยุคปัจจุบันเรียนรู้ข้อเท็จจริงว่าการที่บุคคลน่าเคลือบแคลงในอดีตได้รับการยกย่องต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันดังเช่นที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตจิตใจของคนจำนวนมากมายได้ขนาดไหน