สะใจวิทยา: ทำไมจึงเห็นชอบกับการทำร้ายผู้เห็นต่างทางการเมือง

เรื่อง: ธัญญานันต์ คูอนุพงศ์

 

“ถ้ามีคนหนึ่งเดินอยู่ในซอยบ้านตัวเอง แล้วจู่ๆ มีกลุ่มคนเข้ามารุมทำร้าย คุณคิดว่าเรื่องนี้ยอมรับได้หรือไม่” แน่นอนว่าคงไม่มีใครยอมรับได้ เพราะมันคุกคามความปลอดภัยในการใช้ชีวิต แต่หากใส่ข้อมูลเพิ่มไปว่า “คนเหล่านี้คือเสื้อแดง” หรือ “คนเหล่านี้เรียกร้องประชาธิปไตย” ความหวาดกลัวก็เป็นความสะใจไปทันที ดังที่เราเห็นข้อความตามสื่อโซเชียลต่างๆ อยู่เสมอ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

เราพบว่านักเคลื่อนไหวทางสังคมฝั่งเสรีประชาธิปไตย ถูกลอบทำร้ายอย่างต่อเนื่อง ไล่มาตั้งแต่อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์, เอกชัย หงส์กังวาน, ฟอร์ด เส้นทางสีแดง หรือล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา นิว-สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ถูกรุมทำร้ายที่ศีรษะอย่างรุนแรง ที่บริเวณปากซอยรามอินทรา 109 จนต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล และนี่คือการถูกรุมทำร้ายครั้งที่สองภายในเวลาแค่หนึ่งเดือนเท่านั้น

และไม่ใช่แค่สิรวิชญ์ ในรอบสองเดือนที่ผ่านมามีแอคติวิสต์ทางการเมือง ถูกข่มขู่หรือทำร้ายร่างกายรวมแล้ว 7 ครั้งด้วยกัน

เมื่อดูจากข้อมูล สิ่งที่มีร่วมกันคือผู้ถูกกระทำล้วนเป็นฝั่งเรียกร้องประชาธิปไตยทั้งสิ้น และกลุ่มกองเชียร์ที่หัวเราะชอบใจกับการถูกทำร้าย โดยมากจะเป็นคนเชียร์พรรคการเมืองฝั่งจารีตนิยม/อนุรักษนิยม ที่เป็นขั้วตรงข้ามกัน เท่านั้นยังไม่พอ จากการลองสุ่มคลิกไปตามโปรไฟล์ของกองเชียร์กลุ่มที่ว่า หลายๆ คนก็แชร์เรื่องธรรมะ เสียด้วยซ้ำ นั่นทำให้เราเกิดคำถามในใจอยู่สองข้อ

หนึ่ง – ทำไมนักกิจกรรมฝั่งจารีตนิยม/อนุรักษนิยม ถึงไม่โดนลอบทำร้ายบ้าง

สอง – ทำไมกลุ่มคนที่ยึดมั่นในจารีตและศาสนาถึงมีแนวโน้มที่จะนิยมชมชอบการทำร้ายร่างกายผู้เห็นต่าง

เมื่อค้นข้อมูลด้านจิตวิทยา ก็พบคำอธิบายที่ตอบคำถามทั้งสองข้อนี้ โจนาธาน เฮดท์ (Jonathan David Haidt) นักจิตวิทยาทางสังคม อาจารย์จาก New York University กล่าวว่า ฝั่งเสรีนิยมและอนุรักษนิยมให้คุณค่ากับแนวคิดด้านจริยธรรมที่มีอยู่ด้วยกัน 5 ข้อต่างกัน แนวคิดดังกล่าวก็คือ

  1. การไม่ทำร้ายผู้อื่น (Harm/Care)
  2. ความยุติธรรม (Fairness)
  3. ความจงรักภักดีต่อกลุ่ม (Group/Loyalty)
  4. ความเคารพต่ออำนาจ (Authority/Respect)
  5. ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง (Purity/Sanctity)

ฝั่งลิเบอรัลจะให้น้ำหนัก 2 ข้อแรก ส่วนฝั่งคอนเซอร์เวทีฟจะถือว่า 3 ข้อหลังสำคัญกว่า

นั่นแปลว่าแม้ว่าฝั่งจารีตจะชื่อเรื่องศีลธรรม แต่ถ้าคนคนนั้นไม่เคารพหรือภักดีต่อกลุ่มที่เขายึดถือ พวกเขามีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการทำร้ายได้ แต่ขณะเดียวกันฝั่งลิเบอรัลที่ดูไม่แคร์ขนบ จารีต หรือเคารพใครหรือแนวคิดใดได้ง่ายๆ พร้อมฟาดฟัน ถกเถียงอย่างรุนแรง ก็มักจะไม่ยอมล้ำเส้นไปทำร้ายร่างกายใคร เช่นเดียวกับการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยของแอคติวิสต์ เพราะพวกเขาเชื่อว่าสังคม ณ ปัจจุบันไม่แฟร์

ในขณะฝั่งคอนเซอร์เวทีฟมีแนวโน้มที่จะรับได้กับความไม่แฟร์ ถ้ามันช่วยปกป้องให้ ‘ความดี’ ที่พวกเขายึดถือไม่สั่นคลอน เช่นเดียวกับการที่ฝั่งเสรีนิยมยึดมั่นในหลักการของ ‘โวลแตร์’ นักปรัชญาฝรั่งเศส เจ้าของแนวคิด “ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยเลยกับสิ่งที่ท่านพูด แต่ข้าพเจ้าขอปกป้องสิทธิ ในการพูดของท่านด้วยชีวิต” เพราะพวกเขาให้คุณค่าเรื่องความยุติธรรมที่ทุกคนควรได้รับเท่ากัน โดยไม่ตัดสินจาก ‘เขาเป็นกลุ่มเดียวกันกับเราหรือไม่?’

ยิ่งกว่านั้น เมื่อดูตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว เราพบว่าสมองของฝั่งคอนเซอร์เวทีฟ มีโครงสร้างเซลล์ที่ต่างจากสมองฝั่งลิเบอรัลอีกด้วย

สมองของฝั่งเสรีนิยมมีเนื้อที่ส่วน anterior cingulate gyrus ใหญ่กว่า ซึ่งสมองส่วนนี้มีผลต่อการเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ ที่เป็นเหตุเป็นผลต่อการตัดสินใจ ขณะที่กลุ่มจารีตนิยมจะมีเนื้อสมองส่วน right amygdala ใหญ่กว่า ซึ่งส่งผลให้พวกเขารับสารด้วย ‘อารมณ์’ โดยเฉพาะข้อมูลที่กระตุ้นต่อม ‘ความกลัว’ และหนึ่งในความกลัวที่สำคัญของมนุษย์คือ ‘กลัวความเปลี่ยนแปลง’

ความกลัวนี้จะกระตุ้นให้มนุษย์อยู่ในโหมด fight or flight หรือ ‘จะสู้หรือจะหนี’ ซึ่งประเมินจากสถานการณ์ ถ้าคิดว่ามีทางสู้ มนุษย์ก็จะพร้อมทำทุกอย่างไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหน เพื่อให้ความกลัวนี้หายไป ไม่แปลกที่ว่านักกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ไม่มีอำนาจทางสังคมหรือกฎหมายมาคุ้มครอง จะกลายเป็นเป้าของความรุนแรง ทั้งการถูกทำร้ายโดยตรง หรือการถูกเยาะเย้ยส่อเสียดจากกลุ่มคนที่แอนตี้แฟนของตัวเองได้ง่าย

จากการสแกนเซลล์สมองของกลุ่มตัวอย่าง ดร.เกล ซอลส์ (Gail Saltz) รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากวิทยาลัยการแพทย์ Weill Cornell กล่าวว่ามันมีความแม่นยำอยู่ที่ 71.6 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

การยกทฤษฎีมาแบบนี้ ไม่ได้ต้องการตัดสินว่าแนวคิดทางการเมืองแบบใดดีกว่าแบบใด แต่อยากชี้ให้เห็นความแตกต่างของคนสองกลุ่ม เพื่อที่จะสื่อสารทางการเมืองได้ตอบโจทย์มากขึ้น เพราะการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่การทำสงครามเข่นฆ่ากัน ที่ใครพิฆาตศัตรูได้มากกว่าคือผู้ชนะ แต่มันคือการประกวดที่ตัดสินด้วย ‘คะแนนเสียง’ หรือ Popular Vote คนที่ซื้อใจคนได้มากกว่าคือผู้ชนะ ไปพร้อมกับการเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรม ‘ยุติธรรม’ สมชื่อจริงๆ เพราะการทำร้ายร่างกายผู้เห็นต่างทางการเมือง เป็นสิ่งที่ผิดในทุกกรณี และมันน่าเศร้า

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

บทความ: Liberal brains are different from conservative brains, but dialogue is still possible โดย Dr. Gail Saltz

bigthink.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า