บทเรียนจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดในปี 2562 ซึ่งรัฐสภามีมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ภายใต้ระบบเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2554 โดยระบบการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 นั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สามารถลงมติเลือกนายกฯ ได้ กติกาดังกล่าวมาจากบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ประเทศไทยได้นายกฯ ที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน
ปัญหาของกติกาการเลือกนายกฯ ในครั้งนั้นคือ ส.ว. ที่ยกมือโหวตให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ถูกแต่งตั้งขึ้นมาภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคณะรัฐประหารในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งในครั้งนั้นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เลือก ส.ว. เพื่อให้ ส.ว. มาเลือกตนเองเป็นนายกฯ อีกรอบ ทำให้หลังการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา มีการยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากภาคประชาชนมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือที่เรียกกันว่า ‘ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ iLAW’ (อ่านเพิ่มเติม: https://50000con.ilaw.or.th) ซึ่งถูกที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติไม่รับหลักการไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563
1 ปีต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้มีการยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากภาคประชาชนอีกเป็นครั้งที่ 2 ที่เรียกกันแบบลำลองว่า ‘ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับรื้อระบอบประยุทธ์’ นำโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล และ พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution และเป็นอีกครั้งที่รัฐสภาลงมติไม่รับหลักการจากเสียงของประชาชน (อ่านเพิ่มเติม: https://resolutioncon.com)
และในระยะเวลาที่ใกล้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง ล่าสุดได้มีแคมเปญ ‘No 272’ นำโดย รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รณรงค์ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อไม่ให้อำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ (อ่านเพิ่มเติม: https://www.nosenatevote.net) โดยยื่นเรื่องผ่านทางพรรคเพื่อไทยไปเมื่อเดือนมกราคม 2565 และจะถูกนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ ในอีกไม่นาน
ความพยายามของภาคประชาชนที่ต้องการปิดทางไม่ให้ ส.ว. มีอำนาจในการเลือกนายกฯ ผ่านการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ถูกถ่ายทอดผ่านวงเสวนาหัวข้อ ‘เอาไงต่อกับมาตรา 272: หนทางข้างหน้าสู่การปิดสวิชต์ ส.ว. เลือกนายก’ โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากตัวแทนผู้เสนอร่างทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ พริษฐ์ วัชรสินธุ และณัฏฐา มหัทธนา เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
ท่าที ส.ว. ต่อร่างแก้ไขปิดสวิตช์ตนเอง
จากการฟังประสบการณ์การยื่นเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่ผ่านมา ณัฏฐา มหัทธนา กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าสุดของคณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ No 272 นั้น มีความแตกต่างจากฉบับ iLAW และ Re-Solution คือ สองร่างที่ผ่านมาเป็นการยื่นแก้ไขแบบมัดรวม แต่แคมเปญ No 272 จะเป็นการยื่นเสนอแก้ไขเพียงแค่มาตราเดียว โดยมุ่งเน้นไปที่การปิดสวิตช์ ส.ว. ไม่ให้มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ ป้องกันข้อโต้แย้งในการปัดตกจากสภาฯ เพื่อให้สนามการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยและยุติธรรมที่สุด
จากการที่คณะรณรงค์ No 272 ได้ไปพูดคุยกับ ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างไม่มีปัญหากับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ในครั้งนี้ ขณะที่เหล่า ส.ว. ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. อาจอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้
“แต่ ณ ปัจจุบัน เราไปคุยกับ ส.ว. ชุดเดิมเลย แล้วถามว่าวันนี้คิดเห็นอย่างไร มีคนตอบว่า วันนี้คิดว่าจะไปโหวตให้ จากที่เคยบอกว่าอาจจะอยู่บ้าน ไม่ไปโหวต เหตุผลเพราะมันนานเกินไปแล้ว” ณัฏฐาขยายความถึงโอกาสในการที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจผ่านมติรับหลักการ เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ เปลี่ยนทิศทางไป กระนั้นการจะทำให้ได้เสียง ส.ว. ส่วนใหญ่ก็อาจจะยังเป็นโจทย์ที่ยากอยู่ แต่ท่ามกลางบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป ภาคประชาชนจึงยังพอมีความหวัง
“ส.ว. จะมีอำนาจอยู่อีกประมาณ 2 ปี ถัดจากนี้แล้วเขาจะไปทำอะไรต่อ บางคนเขาอยากอยู่ในวงการเมืองต่อ เขาจึงอยากจะสร้างอนาคตทางการเมืองเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นการโหวตในครั้งนี้จึงมีผลกับอนาคตทางการเมืองของเขา การตัดสินใจในครั้งนี้กับ 2-3 ปีที่แล้วจึงอาจจะต่างกัน เราจึงยังมีหวังอยู่”
ระวัง 4 ข้อโต้แย้ง ไม่รับร่างแก้ไข รธน.
ในขณะที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ ได้ให้ความเห็นกับประเด็นความร่วมมือของ ส.ว. ว่า เห็นด้วยกับการยื่นเสนอแก้ไขมาตรา 272 เพียงมาตราเดียวของคณะ NO 272 เพราะอาจเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นๆ สามารถเกิดขึ้นได้ต่อไป แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ จากการพยายามยื่นเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวพันกับการปิดสวิตช์ ส.ว. ทั้งจากภาคประชาชนและพรรคการเมือง เมื่อปี 2563 พรรคเพื่อไทยเคยยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว และมี ส.ว. โหวตเห็นชอบเพียง 56 คน
แต่ในเดือนมิถุนายน 2564 ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอร่าง กลับเหลือ ส.ว. เห็นชอบเพียงแค่ 21 คน ทั้งที่เนื้อหาในร่างแก้ไขนั้นคือหลักการเดียวกันทั้งสิ้น การเปลี่ยนทิศทางของ ส.ว. จึงเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่จากการตีความส่วนตัว อาจเป็นเพราะเสียงจากนอกสภาฯ ในปี 2563 มีความตื่นตัวทางการเมืองในเรื่องรัฐธรรมนูญมากกว่าปี 2564 อยู่พอประมาณ จึงอาจเป็นเหตุให้ท่าทีของ ส.ว. เปลี่ยนไปได้ ฉะนั้นเสียงของภาคประชาชนจึงสำคัญ
อีกทั้งพริษฐ์ได้ให้ความเห็นต่อกรณีที่อาจเกิดขึ้นก่อนการโหวตรับร่างคือ การอ้างเหตุผลประชามติ ปี 2559 ที่ให้ประชาชนลงคะแนนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. … ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จากการโหวตประชามติในปีนั้นมีประชาชนเห็นชอบทั้งหมดกว่า 16 ล้านเสียง ทำให้การยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจถูกมองว่าเป็นการล้มประชามติของประชาชนหรือไม่
พริษฐ์ฝาก 4 ข้อโต้แย้งไปยังคณะรณรงค์ No 272 หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นว่า ข้อแรก การลงประชามติ ปี 2559 นั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีผู้ถูกจับกุมจากการแสดงความเห็นต่างมากมาย อีกทั้งคำถามพ่วงจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ถูกเขียนในลักษณะชี้นำ
ข้อสอง หากจะอ้างผลประชามติปี 2559 ต้องไม่ลืมว่าในการโหวตนั้นเป็นการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งประชาชนที่เห็นชอบคือเห็นชอบในหลายมาตรา รวมถึงมาตรา 256 ที่เปิดให้สามารถยกเลิก 272 ได้ หากสมาชิกสภาฯ เห็นชอบ โดยไม่ต้องทำประชามติอีกรอบ
ข้อสาม การทำประชามตินั้นทุกเสียงสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ จากตัวอย่างการเลือกตั้งในปี 2562 พรรคที่มีข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. ก็ได้เสียงจากประชาชนค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงไม่ควรยึดติดว่าผลประชามติในปี 2559 เป็นเช่นนั้นแล้วจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะความคิดประชาชนอาจเปลี่ยนไปแล้ว
ข้อสุดท้าย คือวุฒิสภาไม่ได้ใช้หลักการเคารพเสียงประชามติปี 2559 อย่างคงเส้นคงวาอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมามี ส.ว. หลายเสียงที่โหวตเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ข้อนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงอ้างประชามติไม่ได้
ไม่มีเหตุผลใดให้ ส.ว. เลือกนายกฯ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากการถูกปัดตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกล่าวถึงการร่วมมือของ ส.ว. ว่า ส.ว. ไม่อยากตัดอำนาจตนเอง และมักจะพูดว่า ส.ว. ควรมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ไม่สามารถให้เหตุผลได้ว่าควรเลือกนายกฯ ได้เพราะอะไร แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพก็มีความอับอายจากการให้อำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกตนเองเช่นกัน เห็นได้ชัดจากการที่พยายามหา ส.ส. ให้ได้ 251 เสียง แล้วค่อยให้มีการโหวตจาก ส.ว. อีกทีในการเลือกตั้งปี 2562
“เขา (ส.ว.) ไม่เคยให้เหตุผลได้ว่า ตัวเองควรมีอำนาจเลือกนายกฯ เพราะอะไร ถ้าเป็น ส.ว. ที่ไม่อยากลดอำนาจของตนเองก็มักจะพูดว่า ส.ว. ควรจะมีอำนาจในการเลือกนายกฯ แต่ถามว่าเพราะอะไร เขาก็พูดไม่ออกเหมือนกัน เราไม่เคยเห็น ส.ว. คนไหนอธิบายได้เลยว่า ทำไมตัวเองถึงควรมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ยกเว้นเหตุผลว่ามันผ่านประชามติมาแล้ว”
ทางด้านณัฏฐาได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจากคณะรณรงค์ No 272 นั้น หากพิจารณาจากมาตรา 272 คือ วรรคแรกให้อำนาจ ส.ว. ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี วรรคที่สอง สมาชิกของทั้ง 2 สภา สามารถเลือกนายกฯ คนนอกได้ หากมีกรณีที่ไม่สามารถตกลงเลือกนายกฯ ได้ แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากคณะรณรงค์ No 272 มุ่งเน้นแก้ไขในวรรคแรกเพียงอย่างเดียว โดยยังคงวรรคสองเอาไว้
การที่คณะรณรงค์เลือกที่จะคงวรรคสองไว้ ก็เพื่อเป็นการตัดข้อถกเถียงว่า หากมีกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ ส.ว. จะไม่มีส่วนในการร่วมหาทางออกกับสภาฯ ซึ่งหากเลือกนายกฯ จาก ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือนอกบัญชีรายชื่อ ก็จะกลับไปที่มาตรา 88 ที่ให้อำนาจ ส.ส. ในการโหวตเลือกนายกฯ เช่นเดิม ดังนั้นการยกเลิกวรรคหนึ่ง แต่คงวรรคสองไว้ จึงเป็นการปลดล็อกเพื่อให้รัฐสภาไปต่อได้
“การโหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้มีเพียงมาตรา 272 ยังมีมาตรา 88 ที่เป็นมาตราปกติ บอกว่าให้ ส.ส. เป็นผู้โหวตนายกฯ และมีมาตรา 159 ที่บอกว่า นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ และมีมาตรา 272 ที่เป็นแค่บทเฉพาะกาล บทเฉพาะกาลให้แค่ 5 ปี เราขอปลดแค่ตรงนี้เอง และการคงวรรคสองไว้ในรอบนี้ก็เพื่อเป็นทางออกฉุกเฉินเท่านั้น
“ถามว่าวันนี้มีเหตุผลอะไรให้ ส.ว. มาร่วมโหวตเลือกนายกฯ ถ้าหาเหตุผลไม่ได้ แสดงว่าถึงเวลาเปลี่ยนแปลงแล้ว” ณัฏฐากล่าว
แนวโน้มปิดสวิตช์ ส.ว. จากข้อเสนอของภาคประชาชน
ยิ่งชีพกล่าวว่า การเสนอแก้ไขมาตรา 272 ในครั้งนี้ เป็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในขั้นต่ำที่สุดแล้ว หากเทียบกับข้อเสนอในหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะแม้แต่ ส.ว. ยังให้เหตุผลไม่ได้ว่าเหตุใดตนเองจึงควรมีอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ ดังนั้นการอภิปรายแก้ไขมาตรา 272 ที่กำลังจะเกิดขึ้น หาก ส.ว. โหวตไม่รับ ก็จะเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง ยังไม่รวมถึงการเล่นเกมการเมืองในสภา
“สิ่งที่น่ากังวลอีกอย่างคือ ร่างแก้ไขนี้จะถูกเล่นเกมเตะถ่วงหรือเปล่า สมมติว่าเขาให้เหตุผลไม่ได้ แล้วเขาโหวตให้ผ่าน มันก็ยังจะต้องมีกระบวนการแก้ไขและประกาศใช้ ซึ่งใช้เวลานานหลายเดือน จะทันเลือกตั้งครั้งหน้าหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ ขณะที่ ส.ว. ยังมีอำนาจในการโหวตนายกฯ อยู่ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็น”
ทางด้านพริษฐ์ แสดงจุดยืนว่าต้องการให้ร่างแก้ไขมาตรา 272 ได้เข้าสู่สภาฯ โดยเร็วที่สุด ส่วนผลจะออกมาอย่างไรนั้น เชื่อว่าภาคประชาชนได้เคลื่อนไหวอย่างเต็มที่แล้ว หากผ่านสภาฯ ได้ก็จะเป็นการดีที่สุด แต่ถ้าไม่ผ่าน จะกลายเป็นว่าผู้เสนอร่างนี้ได้ใช้รัฐสภาเป็นเวทีในการสื่อสารกับประชาชน และประชาชนต่างมีความตื่นตัวในเรื่องนี้ ทำให้เชื่อว่า อำนาจ ส.ว. ยังคงอยู่แค่ในทางนิตินัย แต่ทางพฤตินัยหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ว. คงไม่กล้าใช้อำนาจของตน และหากมีพรรคการเมืองสามารถรวบรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง รวมถึงแรงกดดันจากภาคประชาชน ย่อมทำให้ ส.ว. ไม่กล้าที่จะใช้เสียงของตัวเองในการเลือกนายกฯ อีก
“แน่นอนว่าเป้าหมายที่ดีที่สุดคือให้กฎหมายผ่าน แต่ถึงแม้กฎหมายไม่ผ่าน เป้าหมายรองลงมาคือการสร้างความตื่นตัวจากเราทุกคน การแก้ไขมาตรา 272 จะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่สำคัญในกระบวนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด
“อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ ภาคประชาชนสามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นต่อ ครม. ได้ เพราะตอนนี้มี พ.ร.บ.ประชามติ ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนนอกจากยื่นกฎหมายผ่านสภาแล้ว สามารถรวมรวมรายชื่อเสนอให้ ครม. จัดทำประชามติถามประชาชนอีกรอบได้ การยื่นเสนอในช่องทางนี้ถือเป็น ‘เด็กดี’ ตามวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
“รวมถึงเป็นการย้อนถามกลับไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คุณเคยพูดว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คุณจะรับผิดชอบคำพูดคุณไหม”
ขณะที่ณัฏฐาให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมา ส.ว. เลี่ยงที่จะตอบเรื่องการแก้ ม.272 เพราะหาเหตุผลมาโต้แย้งไม่ได้ จึงเลี่ยงไปตอบในมาตราอื่นๆ แต่ครั้งนี้เป็นข้อเสนอมาตราเดียว มีทางเดียวคือต้องตอบเรื่องนี้เท่านั้น จึงเป็นการบังคับให้เลือกว่าจะพูดหรือไม่พูดเลย หากว่า ส.ว. ไม่พูด ก็จะเป็นการอภิปรายฝ่ายเดียว ซึ่งแสดงให้ประชาชนเห็นว่าตกลงเรื่องนี้ไม่มีคำตอบ
“และหาก พล.อ.ประยุทธ์ สามารถส่งสัญญาณถึง ส.ว. 250 คน โดยวิธีใดก็ตามว่าไฟเขียวให้ปลดได้ เรื่องนี้จะง่ายขึ้น อาจจะต้องจินตนาการร่วมกันว่าหากประชาชนสามารถสื่อสารกับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้โดยตรง ซึ่งเราก็คงจะบอกว่า อยากให้ท่านมั่นใจในตนเองกับสิ่งที่สะสมมาตลอด 8 ปี ถ้าคิดว่าที่ทำมาตลอดดีแล้ว ประชาชนคงไม่มีปัญหาที่จะเลือกให้ท่านอยู่ต่อไปโดยไม่ต้องอาศัยเสียงจาก ส.ว. และหากชนะการเลือกตั้งเช่นนั้นมา ก็จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้อย่างสง่างาม
“การมี ส.ว. 250 เสียงในมือ มีผลแน่ๆ กับการตัดสินใจของพรรคการเมืองขนาดกลาง เพราะเขาจะรู้ว่าไปทางนี้มันง่าย ได้เป็นรัฐบาลชัวร์ และหากถามว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อยจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือ ก็อย่าลืมว่าการสอยงูเห่ามันไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าได้เป็นรัฐบาลชัวร์แล้วจะเอา ส.ส. มาเติมอีกกี่คนก็เป็นไปได้ พรรคการเมืองทุกพรรคอยากเป็นรัฐบาลทั้งสิ้น
“สิ่งที่เราต้องทำจึงไม่ใช่การไปโจมตีว่าพรรคการเมืองไหนจะเลือกประโยชน์ฝั่งไหน เพราะมันควรจะต้องเคารพกัน แต่เราต้องทำสนามเลือกตั้งกลับสู่ภาวะปกติ และการทำให้สนามเป็นปกติได้เร็วที่สุดและง่ายที่สุดก็คือการตัดอำนาจ ส.ว.”
การเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 โดยคณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ กำลังรอต่อแถวเข้าสภาฯ ในอีกไม่ช้า ซึ่งยังคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า จะสามารถปิดสวิตช์ ส.ว. ได้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่
*หมายเหตุ: ฟังเสวนาออนไลน์ย้อนหลังได้ที่ : https://web.facebook.com/iLawClub/videos/1066373980944129