20 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย เรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎรของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีถือครองหุ้นสื่อ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 : 0 รับพิจารณาคุณสมบัติ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีถือหุ้นสื่อ พร้อมมีมติ 8 : 1 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว
คดีนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)”
ต่อมาในวันที่ 4 กันยายน 2562 ธนาธร ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้เลิกคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ของเขา แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้องไป และในวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้ไต่สวนพยานทั้ง 10 ปากซึ่งเป็นพยานของฝ่ายผู้ถูกร้องทั้งหมด
จนกระทั่งมาสู่การอ่านคำวินิจฉัยในวันนี้ ท่ามกลางการวางกำลังเพื่อรักษาความปลอดภัยรอบศาลรัฐธรรมนูญ มาตรฐานเดียวกันกับระดับวันตัดสินคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)
วันนี้ ศาลเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 10.00 น. โดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เดินทางมาฟังคำวินิจฉัยด้วยตัวเองพร้อมกับ รวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา ในเวลา 13.30 น. ท่ามกลางผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่จำนวนมาก นอกจากนี้บีบีซีไทยได้รายงานว่า ยังมีตัวแทนจากสถานทูตเบลเยียม ตัวแทนฝ่ายการเมือง จากสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และฝ่ายการเมืองจากสถานทูตออสเตรเลีย เดินทางมาถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสังเกตการณ์คดีนี้ด้วย
14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดี ซึ่งคดีนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาสืบสวนและไต่สวนนาน 8 เดือน โดยศาลรัฐธรรมนูญมอบหมายให้ นายปัญญา อุดชาชน และ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย ในการอ่านคำวินิจฉัยสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง กกต. ยื่นคำร้องโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กรณีนี้ผู้ถูกร้องอ้างว่ากกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการยื่นคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว
ประเด็นที่สอง กรณีผู้ถูกร้องอ้างว่า วี-ลัคมีเดียไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์นั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 กรณีที่ผู้ถูกร้องอ้างว่าได้ยกเลิกกิจการไป แต่ไม่ได้มีการแจ้งยกเลิก จึงอาจกลับมาประกอบการเมื่อใดก็ได้ บริษัท วี-ลัค จึงยังมีสถานะเป็นบริษัทอยู่แม้ในวันที่รับสมัคร สส.บัญชีรายชื่อ
ในส่วนที่ผู้ถูกร้องอ้างว่าได้มีการโอนหุ้นบริษัทวี-ลัคให้ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ แล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ปรากฏตามตราสารการโอนหุ้นและมีการจ่ายค่าตอบแทนการโอนหุ้น ศาลเห็นว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้น จดทะเบียนแจ้งต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น (อบจ.5) ในระยะเวลาไม่นานเป็นปกติทุกครั้ง แต่การโอนหุ้นของผู้ถูกร้อง กลับไม่ปรากฏการจดแจ้งทะเบียนโดยเร็ว ทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญหากผู้ถูกร้องต้องการเข้าสู่การทำงานการเมือง ซึ่งผิดปกติ ส่วนกรณีอ้างว่าเนื่องจากบริษัทเลิกจ้างพนักงานไปแล้ว ไม่มีเจ้าหน้าที่บัญชี ทั้งที่การยื่นเอกสารสามารถทำได้โดยการยื่นแบบอิเล็กทรอนิกส์
ประเด็นที่สาม การจ่ายเช็คในวันที่ 8 มกราคม 2562 ซึ่งมักจะมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คผิดปกติ เงินตั้งแต่ 2 ล้านขึ้นไปหลังจากที่ลงตามเช็ค แต่การขึ้นเช็คในกรณีนี้กลับใช้เวลาถึง 128 วัน ถ้อยคำดังกล่าวขัดแย้งกับหนังสือผู้ถูกร้องที่ชี้แจงต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งที่สามารถนำเช็คไปขึ้นตามปกติ คำชี้แจงของผู้ถูกร้องไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ การโอนกลับไปมา จึงขัดกับวิสัยนักลงทุน
ส่วนกรณีนายธนาธรเดินทางกลับจากการหาเสียงในจังหวัดบุรีรัมย์ กลับมาโอนหุ้นที่บ้านเมื่อตอนเย็นวันที่ 8 มกราคม 2562 แม้จะฟังได้ว่ามาในวันดังกล่าวจริง ไม่ได้หมายความว่ามีการโอนเงินในวันดังกล่าวจริง ต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานอื่นๆ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำวินิจฉัยให้ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 23 พฤษภาคม 2562 ตามมาตรา 82 วรรค 2 และให้ถือว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562