ควันหลง COP27 กับนโยบายรักษ์โลกสุดบิดเบี้ยวของรัฐบาลเผด็จการ

นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหอก จากวันนั้นจนถึงวันนี้มีประชาชนจำนวนมากที่ถูกสอดส่อง ติดตาม ปรับทัศนคติ จำกัดอิสรภาพ และจำคุก เพียงเพราะพวกเขาหรือเธอลุกขึ้นมาต่อต้านการกระทำของเหล่าทหารเฒ่าที่ไม่รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง

เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเปลี่ยนโฉมมาเป็นรัฐบาล พวกเขาก็พยายามแสร้งว่าพวกตนกำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างตั้งใจภายใต้ระบบรัฐสภา แต่ทุกคนคงเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า พรรคพลังประชารัฐและพวกพ้องทำให้ประเทศไทยถอยหลังลงคลองและล้มเหลวในแทบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สาธารณสุข การรับมือโรคระบาด การศึกษา การคมนาคม การจัดการน้ำ การจัดการภัยพิบัติ การจัดการขยะ การจัดสรรพลังงาน และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 (Conference of the Parties of the UNFCCC หรือ COP27) ณ เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ พร้อมกล่าวสุนทรพจน์อันซาบซึ้งว่าประเทศไทยพร้อมจะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมบนโลกเคียงข้างนานาประเทศ แต่ถ้ามองดูรอบตัวแล้วพิจารณาให้ดี เราจะพบว่านโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของบ้านเรามี ‘ความย้อนแย้ง’ อยู่มากมายเต็มไปหมด

ดังนั้น ผมจึงอยากชวนผู้อ่านย้อนเวลากลับไปดูว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมามีโครงการใดบ้างที่ ‘ผิดเพี้ยน’ ไปจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ แต่ ‘ระบาด’ ในยุครัฐบาลนี้ โดยเราจะนำกรอบแนวคิดเรื่อง ‘ขอบเขตของดาวเคราะห์’ (planetary boundaries) มาเป็นหลักเกณฑ์พิจารณา

เมื่อโลกเข้าใกล้ยุคล่มสลาย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2009 คณะนักวิจัยนำโดยโยฮัน ร็อกสตรอม (Johan Rockström) จากสถาบันการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงแห่งสตอกโฮล์ม (Stockholm Resilience Centre) ได้เสนอกรอบแนวคิดเรื่อง ‘ขอบเขตของดาวเคราะห์’ ซึ่งเป็นการนำทฤษฎีระบบโลก (earth system) และความสามารถในการรองรับ (earth carrying capacity) มาพิจารณาหา ‘ขีดจำกัดที่ไม่ควรก้าวข้าม’ โดยแบ่งออกเป็น 9 ข้อ แต่ละข้อมีรายละเอียดดังนี้

  1. การสูญเสียความสมบูรณ์ของชีวมณฑล (biosphere integrity) หมายถึง การทำลายถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ (habitat) และการเสื่อมสลายของระบบนิเวศ (ecosystem) ที่ทำให้อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในช่วงศตวรรษที่ผ่านมามีค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
  2. การไหลของสารชีวเคมีสู่สิ่งแวดล้อม (biochemical flows) หมายถึง การไหลทะลักของธาตุอาหารลงสู่ผืนดินและมหาสมุทร โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสจากปุ๋ยเคมีที่ทำให้แพลงก์ตอนพืชเติบโตของอย่างรวดเร็วจนออกซิเจนในแหล่งน้ำลดลง (eutrophication) แล้วเกิดเป็นเขตมรณะที่ปราศจากสิ่งมีชีวิต (dead zone)
  3. การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) หมายถึง การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) ปริมาณมหาศาลออกสู่บรรยากาศ ทำให้ปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) ทวีความรุนแรงจนกลายเป็นภาวะโลกร้อน (global warming) ส่งผลให้ภูมิอากาศทั่วโลกแปรปรวน
  4. การเปลี่ยนแปลงระบบที่ดิน (land-system change) หมายถึง การเปลี่ยนป่าธรรมชาติ (natural forest) ไปเป็นป่าปลูก (artificial forest) พื้นที่เกษตรกรรม ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และเขตเมือง ส่งผลให้ระบบนิเวศ ค่าการสะท้อนแสงอาทิตย์บนพื้นผิวโลก (albedo) และค่าการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของแผ่นดิน เปลี่ยนแปลงไป
  5. การใช้น้ำจืด (freshwater use) หมายถึง ปริมาณการใช้น้ำจืดเพื่ออุปโภคและบริโภคที่อาจทำให้การไหลของน้ำจืดบนแผ่นดิน น้ำใต้ดิน ปากแม่น้ำ และทะเล เสียสมดุล
  6. ปรากฏการณ์มหาสมุทรเป็นกรด (ocean acidification) หมายถึง การที่มหาสมุทรดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลจนความเป็นกรดของมหาสมุทรมีค่าเพิ่มขึ้น ผลคือเปลือกและกระดูกของสัตว์น้ำบางชนิดเปราะบาง สึกกร่อน หรือเติบโตอย่างผิดรูป
  7. การสูญเสียโอโซนในบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (stratospheric ozone depletion) หมายถึง การเบาบางลงของชั้นโอโซน (ozone layer) ในบรรยากาศระดับสูงที่คอยปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลกโดยการดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) ที่มาจากดวงอาทิตย์
  8. ปริมาณละอองลอยในบรรยากาศ (atmospheric aerosol loading) หมายถึง อนุภาคขนาดเล็กที่ล่องลอยอยู่ในบรรยากาศ (เช่น PM2.5) ละอองลอยเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิต รวมถึงทำให้แสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านบรรยากาศมีค่าลดลง เรียกว่า ‘ภาวะโลกมัว’ (global dimming)
  9. การปลดปล่อยสิ่งสังเคราะห์ (novel entities) หมายถึง การที่สิ่งแวดล้อมถูกปนเปื้อนด้วยสารเคมีที่ไม่เคยมีอยู่ตามธรรมชาติ และการปล่อยให้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมรุกรานระบบนิเวศโดยไม่มีการควบคุม
แผนภูมิขอบเขตของดาวเคราะห์ | photo: Steffen et al. 2015

ผลคาดการณ์ที่แสดงบนแผนภูมิขอบเขตของดาวเคราะห์เกิดจากการนำข้อมูลทั่วโลกที่เก็บรวบรวมมาตลอดครึ่งศตวรรษมาประมวลผล แล้วแบ่งความเสี่ยงออกเป็น 4 ระดับ ‘สีแดง’ หมายถึง ระดับความเสี่ยงสูง ‘สีเหลือง’ หมายถึง ระดับความเสี่ยงที่น่ากังวล ‘สีเขียว’ หมายถึง’ยังไม่มีความเสี่ยง และ ‘สีเทา’ หมายถึง ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน โดยเราจะพบว่าการสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic diversity) กับการไหลของสารชีวเคมีสู่สิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับวิกฤต การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการเปลี่ยนแปลงระบบที่ดินอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง การสูญเสียโอโซนในบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ การใช้น้ำจืด และปรากฏการณ์มหาสมุทรเป็นกรดยังอยู่ในระดับไม่น่ากังวล ส่วนการสูญเสียความหลากหลายของบทบาททางชีวภาพ (functional diversity) การปลดปล่อยสิ่งสังเคราะห์ และปริมาณละอองลอยในบรรยากาศ ยังไม่มีข้อมูลที่แน่นอน

ผลการวิเคราะห์ส่งสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนว่า ดาวเคราะห์สีฟ้าที่มีประชากรมากกว่า 8,000 ล้านชีวิตดวงนี้กำลังเดินทางเข้าสู่สมัยแอนโทรโปซีน (Anthropocene) ที่มนุษย์มีบทบาทต่อทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกอย่างแท้จริง ความหมายอีกนัยหนึ่งคือ หากมนุษย์บนโลกยังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจยังถูกเร่งให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ทรัพยากรธรรมชาติยังถูกนำมาใช้จนเกินขีดจำกัด ก๊าซเรือนกระจกยังล้นทะลักสู่บรรยากาศ ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำยังถูกทำให้เปิดกว้าง และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมยังถูกละเลย โลกของเราจะมุ่งสู่ ‘การล่มสลาย’ ในทางใดทางหนึ่ง หรืออาจพังทลายลงมาพร้อมกันในหลายทิศทาง 

สิ่งนี้เป็นการบ่งบอกว่า โลกของเราเป็นระบบ (system) ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน (complexity) และถูกถักทออยู่บนสายใยแห่งความเชื่อมโยง (connectivity) เมื่อสิ่งหนึ่งเปลี่ยนแปลงไป อีกหลายสิ่งที่ร้อยเรียงอยู่บนสายพานเดียวกันก็จะเปลี่ยนแปลงตาม

การอนุรักษ์แบบผิดๆ บนความปรารถนาดีที่นำไปสู่หายนะ

ย้อนกลับมาที่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของประเทศไทย เราทุกคนล้วนถูก ‘ระบบการศึกษา’ ปลูกฝังมานานแสนนานว่า การดูแลรักษาโลกสามารถทำได้หลายวิธี โดยครูจะเริ่มสอนเด็กประถมแยกขยะ ทิ้งขยะให้ถูกที่ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด ส่วนเด็กมัธยม ครูอาจพาไปเก็บขยะบนชายหาด หรือบุกตะลุยไปปลูกป่าและสร้างฝาย การสอนให้เด็กๆ รู้วิธีจัดการขยะ รู้คุณค่าของน้ำ และไม่ใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย ล้วนเป็นเรื่องดีครับ แต่การ ‘ปลูกป่า’ และ ‘สร้างฝาย’ กลับเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีผลเสียมากกว่าผลดี!

เมื่อพูดถึง ‘ป่า’ หลายคนอาจนึกถึงบริเวณที่มีต้นไม้มาอยู่รวมกันเยอะๆ แต่ถ้าเรานิยามคำว่า ‘ป่า’ แบบนั้น สวนสาธารณะและพื้นที่เกษตรกรรมก็คงถูกเรียกว่า ‘ป่า’ ด้วยเช่นกัน เดิมทีเมื่อนักวิทยาศาสตร์พูดคำว่า ‘ป่า’ พวกเขาจะหมายถึง ‘ป่าธรรมชาติ’ ซึ่งเกิดจากพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ มาอยู่ร่วมกันในพื้นที่หนึ่ง แล้วเกิดกระบวนการวิวัฒนาการโดยการคัดเลือกตามธรรมชาติ (evolution by natural selection) ภายใต้ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ณ ช่วงเวลานั้น ระบบนิเวศของป่าธรรมชาติจึงมีความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ที่สูงและซับซ้อน แม้ป่าจะถูกทำลายโดยการตัดโค่น แผ้วถาง หรือแผดเผาด้วยไฟ แต่หากป่าไม่ถูกบุกรุกซ้ำ ป่าจะสามารถฟื้นคืนสภาพด้วยตัวเอง เพราะภายในดินมี ‘คลังเมล็ดพันธุ์’ (seed bank) ที่ป่าดั้งเดิมโปรยทิ้งเอาไว้ กระบวนการดังกล่าวเรียกว่า ‘การเปลี่ยนแปลงแทนที่แบบทุติยภูมิ’ (secondary succession)

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงการฟื้นฟูตัวเองของสังคมพืชหลังการปะทุของภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ | photo: NASA

แต่กิจกรรม ‘ปลูกป่า’ (reforestation) ที่หน่วยงานรัฐบอกให้เราทำมาตลอดหลายสิบปีกลับเป็นการนำพืชจากภายนอกเข้าไป ‘แทนที่’ ตำแหน่งและลำดับการฟื้นฟูตัวเองของสังคมพืชดั้งเดิม เหล่าพืชเจ้าถิ่นจึงเติบโตกลับคืนมาได้ยาก ความสามารถในการรองรับทางชีวภาพก็ลดลง เสี่ยงต่อการรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น (alien species) และทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 

ไม่เพียงเท่านั้น ก่อนปลูกป่ามักจะมีการไถพรวนดินเพื่อใส่ปุ๋ย จุลินทรีย์ในดินจึงถูกรบกวนแล้วปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา อีกทั้งกระบวนการทำปุ๋ยก็ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน ดังนั้น การปลูกป่าที่ถูกต้องและเหมาะสมคือการปล่อยให้ป่าฟื้นฟูตัวเอง โดยเรามีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ป่าถูกบุกรุกซ้ำ คอยกำจัดสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น และติดตามผลทางนิเวศวิทยา เพราะวิธีนี้เราจะเสียงบประมาณน้อยมาก โดยไม่ต้องลำบากหิ้วต้นไม้ไปปลูกเลยสักต้น!

ประวิตร วงษ์สุวรรณ กำลังปลูกต้นไม้บริเวณป่าดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ | photo: รัฐบาลไทย

กิจกรรมที่อยู่ควบคู่กับการปลูกป่ามาเนิ่นนานคงหนีไม่พ้นการสร้าง ‘ฝายชะลอน้ำ’ (check dam) ที่เชื่อว่าเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่า ลดความรุนแรงของน้ำป่าไหลหลาก และสำรองน้ำให้ชาวบ้าน แต่ความจริงแล้วลำธารเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ทำหน้าที่กระจายพันธุ์ให้พืชน้ำ และถ่ายเทตะกอนที่อุดมด้วยธาตุอาหารจากป่าลงสู่แม่น้ำกับทะเล เมื่อฝายถูกสร้างกั้นขวางลำธาร สัตว์น้ำจึงถูกจำกัดอิสรภาพ ระดับน้ำที่ยกตัวสูงขึ้นอาจท่วมรากของต้นไม้จนเน่าตาย ตลิ่งอาจถูกเร่งให้เกิดการกัดเซาะ และตะกอนที่ตกทับถมตรงหน้าฝายจะทำให้ลำธารตื้นเขิน

ฝายคอนกรีตดักตะกอนและทำให้ท้องลำธารหายไป | photo: Zhiling Wei

จากข้อเท็จจริงข้างต้น ฝายจึงเป็น ‘สิ่งแปลกปลอม’ ที่ทำให้ระบบนิเวศของลำธารและป่าเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การสำรองน้ำให้ชาวบ้านในป่าจึงควรใช้วิธีอื่น เช่น ประปาภูเขา โอ่งน้ำ บ่อน้ำ หรืออาจพิจารณาทำฝายชั่วคราวเฉพาะหน้าแล้ง ไม่ควรทำฝายถาวรที่คงอยู่ตลอดทั้งปี แต่สิ่งที่แย่ที่สุดคือ ไม่กี่ปีมานี้มีฝายชนิดใหม่ที่ถูกเรียกว่า ‘ฝายมีชีวิต’ ที่ทำจากกระสอบพลาสติก ซึ่งจะผุพังกลายเป็นเศษพลาสติกขนาดเล็ก เราจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ‘ไมโครพลาสติก’ (micro-plastic) ที่แพร่กระจายไปทั่วนั้นมาจากไหน!

จิตอาสาพระราชทาน 904 กำลังสร้างฝายมีชีวิตที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส | photo: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

หากผู้อ่านรู้สึกหดหู่กับธรรมชาติที่กำลังถูกทำลาย ผมขอบอกว่าเรามาถึงเพียงครึ่งทางเท่านั้นครับ เพราะไม่ใช่แค่ลำธารในป่าที่ถูกทำลาย แต่ลำธาร คลอง และแม่น้ำที่ไหลผ่านชุมชนก็ถูกขุดแต่ง (excavation) หรือขุดลอก (dredging) แบบผิดวิธี แล้วถมตลิ่งที่เคยมีสังคมพืชริมน้ำด้วยหินกับคอนกรีตที่ไร้ชีวิต โดยอ้างว่าเป็นการป้องกันการกัดเซาะและการพังทลายของตลิ่ง ซึ่งหินกับคอนกรีตจะทำให้ธารน้ำ ‘สว่าง’ และ ‘ร้อน’ ขึ้นจนแมลงกับสัตว์น้ำลดจำนวนลง แต่ความจริงแล้วเราสามารถหา ‘จุดร่วมที่ลงตัว’ ระหว่างระบบนิเวศกับโครงสร้างทางวิศวกรรม โดยอาศัยความรู้เรื่องการออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรม (landscape architecture)

จบเรื่องแหล่งน้ำบนดินไปแล้ว ผมจะพาผู้อ่านมุดลงใต้ดินสักครู่ เพราะหน่วยงานรัฐมีนโยบาย ‘ธนาคารน้ำใต้ดิน’ (groundwater bank) ซึ่งเป็นการขุดหลุมบริเวณเหนือชั้นหินอุ้มน้ำ (aquifer) แล้วใส่หิน ท่อพีวีซี ผ้าไนลอน ขวดพลาสติก และยางรถยนต์ลงไป เพื่อทำการดักน้ำฝนที่ตกลงมาหรือดักน้ำผิวดินที่ไหลผ่านพื้นที่นั้น แต่ความจริงแล้วการเติมน้ำบาดาลจะต้องระมัดระวังสารปนเปื้อนหรือวัตถุอันตรายที่อาจไหลลงไป ดังนั้น ธนาคารน้ำใต้ดินที่มีขวดพลาสติกกับยางรถยนต์จึงไม่ต่างจาก ‘หลุมฝังขยะพิษ’ ดีๆ นี่เอง!

ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด | photo: อบต.วังจันทร์

เราจะจบทริปเรื่องหายนะทางสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่ริมทะเล เพราะเกือบสิบปีที่ผ่านมามีการระบาดของ ‘กำแพงกันคลื่น’ (seawall) บนหาดทรายเกือบทุกหัวระแหง โดยหน่วยงานรัฐอ้างว่าจำเป็นต้องทำเพื่อรับมือกับการกัดเซาะชายฝั่ง (coastal erosion) เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น (sea level rise) เพราะภาวะโลกร้อน

ความจริงแล้ว ภาวะโลกร้อนไม่ใช่สาเหตุหลักของการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย แต่เกิดจากฝายหรือเขื่อนที่ดักตะกอนเอาไว้บนแผ่นดิน การสูบน้ำบาดาลเกินพิกัด การปลูกสิ่งก่อสร้างรุกล้ำหาดทราย และการแผ้วถางสังคมพืชบนหาดทราย เพราะการกระทำเหล่านี้ทำให้สมดุลของตะกอนและความสูงของแผ่นดินริมทะเลเปลี่ยนแปลงไป 

เมื่อมี ‘กำแพงกันคลื่น’ แบบโครงสร้างแข็งที่หนักและหนาทึบมาวางทับหาดทรายอย่างถาวร พฤติกรรมของคลื่นและกระแสน้ำก็ยิ่งผิดแผกแปลกไป ตะกอนบนหาดทรายจึงถูกคลื่นลากลงสู่ทะเล หรือสะสมตัวแบบผิดที่ผิดทาง ผลลัพธ์ที่ปรากฏแก่สายตาประชาชนคือ แนวคอนกรีตสีเทาที่ถูกปกคลุมด้วยตะไคร่สีเขียว และหาดทรายที่เว้าแหว่ง แต่ดูเหมือนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอย่าง อนุพงษ์ เผ่าจินดา กับกรมโยธาธิการและผังเมืองจะยังคงนิ่งเฉย แล้วเดินหน้าป่าวประกาศ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ว่าการสร้างกำแพงกันคลื่นบนหาดทรายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดยแทบไม่เคยเหลียวแลวิธีรักษาหาดทรายแบบอื่นๆ ที่ได้ผลดีและมีราคาถูกกว่า อาทิ การกำหนดระยะถอยร่น (setback) การถ่ายเททราย (sand bypassing) และการปักรั้วไม้ (sand fence)

โครงการทำลายพื้นที่ธรรมชาติที่ผมยกตัวอย่างมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะรัฐบาลเผด็จการยังมีโครงการขนาดใหญ่อีกหลายอย่าง อาทิ การสร้างเขื่อนในป่า ขุดลอกพื้นที่ชุ่มน้ำ ผันน้ำข้ามป่า ตัดถนนผ่านป่า และระเบิดภูเขาหินปูน ส่วนพื้นที่เมืองก็มีการปลดล็อกผังเมืองและละเว้นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) ซึ่งจะทำให้การควบคุมมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า และโรงกำจัดขยะ เกิดความหละหลวมหรือตรวจสอบได้ยาก รวมถึงมีการเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษี ‘พื้นที่รกร้าง’ โดยไม่คำนึงถึง ‘จุลระบบนิเวศ’ (micro-ecosystem) ที่อาจดำรงอยู่ในบริเวณนั้น

หากพิจารณาตามกรอบแนวคิดเรื่อง ‘ขอบเขตของดาวเคราะห์’ เราจะพบว่าโครงการพัฒนาของรัฐบาลเผด็จการมีความ ‘ไม่จริงใจ’ ส่วนโครงการอนุรักษ์ธรรมชาติก็เป็น ‘การอนุรักษ์เทียม’ ที่ย้อนกลับมาทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศให้ย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเสียอีก พูดง่ายๆ คือ รัฐบาลเผด็จการแห่งดินแดนสารขัณฑ์ ‘สอบตก’ เกือบทุกด้าน แต่สิ่งที่สอบผ่านคือการคุกคามและขูดรีดประชาชน!

อ้างอิง

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า