‘ลอกเรียน’ และ ‘เลียนรู้’

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ลักษณะ ‘ความเป็นไทย’ ประการหนึ่งที่ต่างชาติไม่ได้บันทึกไว้แต่พอจะมองเห็นได้ชัดในสังคมของเราคือ ความหน้าใหญ่ใจโต นับตั้งแต่วิถีชาวบ้านที่ใส่ใจกับสารพัดงานรื่นเริงทั้งงานแต่งงานบวชที่จะกู้หนี้ยืมสินมาเท่าไรก็อย่าได้แคร์ สะท้อนมาถึงวิถีชีวิตของคนเมืองสมัยใหม่ที่ปรารถนาทำงานสบายๆ หรือไม่ก็งานอิสระเพราะดูคูลกว่างานหนักของลูกจ้างบริษัททั่วไป

งานที่เรารังเกียจนักหนาคืองานหนักที่ดูไร้ค่าไร้ราคา อย่างเช่นบริษัทผู้ผลิตสินค้าจากประเทศจีนที่ดูไร้รสนิยม เต็มไปด้วยของเลียนแบบ หาได้มีนวัตกรรมล้ำหน้าเหมือนผลิตภัณฑ์ราคาแพงจากอเมริกาและยุโรปซึ่งเป็นต้นกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์

ความคิดแบบนี้เป็นกันมากในกลุ่มคน Generation Y แต่ก็พบเห็นได้มากในคน Gen X ที่เคยดูถูกสินค้าจากเกาหลีในอดีตเพราะมองไม่เห็นว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าหน้าตาบ้านๆ อย่าง Lucky Goldstar (หรือ LG) ที่เอาแต่ผลิตสินค้าเลียนแบบญี่ปุ่นจะพัฒนาขึ้นมาครองตลาดโลกได้ และมือถือ Samsung ก็อยู่คนละชั้นกับ Nokia ชนิดที่ไล่ตามอีก 10 ปีแสงก็ยังไม่เข้าใกล้ปลายเล็บ

จาก Sony ถึง MyMy

 

รวมไปถึงรุ่น Baby-boomer ที่มองเห็นสินค้าญี่ปุ่นเป็นเพียงของคุณภาพต่ำทั้งทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ที่ดูยังไงทั้ง Sony, Panasonic, Toshiba ก็ไม่น่าจะเทียบชั้น GE, Electrolux, Nordmende ไปได้

มาถึงวันนี้ ยุคที่ญี่ปุ่น เกาหลี จีน พัฒนาเกินความเป็นสินค้าเลียนแบบคุณภาพต่ำไปไกลโข พร้อมลุยโครงการอวกาศด้วยการตั้งเป้าไปดวงจันทร์หรือดาวอังคารกันอย่างคึกคัก เพราะรู้สึกว่าภารกิจบนโลกมนุษย์มันไม่ท้าทายเพียงพอเสียแล้ว

แต่คนไทยทุกเจนเนอเรชั่นก็ยังเกลียดการเลียนแบบอยู่ไม่เสื่อมคลาย เห็นใครทำโครงการที่ดูพื้นๆ ไม่ได้ล้ำหน้าเหมือนที่เคยเห็นในสารคดีต่างประเทศเราก็จะดูถูกว่ามันง่าย มันเลียนแบบประเทศอื่นมา มันไม่ท้าทาย ฯลฯ จนเจ้าของโครงการถอดใจกันไปหมด

ดูเหมือนเราจะมองข้ามไปแล้วว่าการเลียนแบบเหล่านี้แม้มันจะดูต่ำต้อยด้อยค่า แต่มันอาจจะเป็นรากฐานให้เราต่อยอด สร้างสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นได้ในภายหลัง

ลองคิดถึง Sony ที่ในอดีตแม้จะถูกคนรุ่น Baby-boomer ตราหน้าว่าทำได้แค่เลียนแบบ โดยเฉพาะเครื่องเสียงและเครื่องเล่นเทปที่แทบไม่ได้คิดค้นอะไรขึ้นใหม่ แต่เมื่อเลียนแบบจนวิชาแก่กล้าก็รู้จักที่จะผนวกจุดเด่นของตัวเองที่ชอบเครื่องจักรกลชิ้นเล็กๆ จนย่อขนาดเครื่องเล่นเทปให้เหลือเท่าสมุดเพื่อพกพาได้กลายเป็น Walkman ขายดีไปทั่วโลก

ท่ามกลางบรรยากาศของสตาร์ทอัพและนวัตกรรมใหม่ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้รั้วมหาวิทยาลัยบ้านเราเต็มไปด้วยโครงการล้ำโลกมากมาย ซึ่งหลายๆ แห่งก็ดับฝันของเด็กรุ่นใหม่ลงเสียง่ายๆ เพราะชี้ขาดว่างานนั้นเลียนแบบคนอื่นมาทั้งๆ ที่อาจมีแง่มุมบางอย่างโดดเด่นกว่าของต้นตำรับก็ได้

เรามักสับสนระหว่าง ‘สิ่งแปลกใหม่’ กับ ‘นวัตกรรม’ หรือ Novelty กับ Innovation ซึ่งอย่างแรกเป็นการกระตุ้นความสนใจด้วยความแหวกแนวซึ่งอาจสร้างกระแสได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่อย่างหลังเป็นการคิดถึงมูลค่าเพิ่มในระยะยาวซึ่งมันอาจดูไม่เท่แต่รับประกันได้ว่ามันทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นแน่ๆ

ผู้บริหารบริษัทหนึ่งของไทยเคยเล่าให้ฟังถึงสตาร์ทอัพเล็กๆ จากประเทศเพื่อนบ้านเราที่มานำเสนอโครงการก่อนถูกปฏิเสธไปอย่างทันควัน เพราะธุรกิจที่ว่านั้นก็คือบริการเรียกรถแท็กซี่ที่ดูไม่ต่างอะไรจาก Uber ต้นตำรับจากอเมริกาเลย …นี่มันของเลียนแบบชัดๆ

หลายปีต่อมาสตาร์ทอัพเจ้านั้นก็ระดมทุนได้สำเร็จและเพิ่มบริการต่างๆ มากมายจน Uber ในบ้านเราต้องยกธงขาว แล้วสตาร์ทอัพจากหนุ่มมาเลเซียคนนั้นก็ขึ้นแท่นเป็นยูนิคอร์น คือมีมูลค่าธุรกิจเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้สำเร็จ… นั่นคือเรื่องราวของ แอนโทนี ตัน (Anthony Tan) และ โฮย หลิง ตัน (Hooi Ling Tan) แห่ง Grab Taxi ที่โดนแท็กซี่และวินมอเตอร์ไซค์บ้านเรารุมสกรัมเป็นข่าวบ่อยๆ นี่เอง

ผู้บริหารที่ปฏิเสธ Grab ไปในวันนั้นเล่าให้ฟังว่าการตัดสินใจครั้งนั้นเหมือนทิ้งเงินไปพันกว่าล้านบาท เพราะมูลค่าของ Grab ในทุกวันนี้เกิน 200,000 ล้านบาทไปเป็นที่เรียบร้อย

แน่นอนว่าการคิดค้นสิ่งใหม่ หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ด้วยตัวเองย่อมเป็นข้อได้เปรียบมหาศาล แต่บางครั้งการยอมรับความจริงว่าเรามาทีหลัง การต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แล้วอาจเป็นงานที่เราถนัดมากกว่า การมองหาสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาให้ดีขึ้นอาจดูไม่เท่ ไม่ท้าทายเหมือนที่เขาทำกันใน Silicon Valley แต่หากมันตอบโจทย์ความต้องการของเราได้ก็น่าจะเป็นก้าวแรกให้เราออกเดินทางได้สักที

อย่ามัวแต่ยืนมองดูชาวบ้านที่เขาล้มเพราะหัดเดิน หรือหัวเราะเยาะที่เขาเดินกระย่องกระแย่ง แต่ตัวเองไม่กล้าก้าวไปไหนเพราะกลัวล้ม สุดท้ายแล้วเราอาจยืนเด่นเป็นสง่าไม่มีแผลเพราะไม่เคยล้ม แต่ชาวบ้านชาวช่องแม้จะถลอกปอกเปิกแต่เขาวิ่งเข้าเส้นชัยกันไปหมดแล้ว!

Author

ปฐม อินทโรดม
ด้วยประสบการณ์บริหารบริษัทไอทีหลายแห่ง ทำให้ปฐมเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่มักแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ อยู่เสมอ แต่เนื้อแท้แล้วปฐมสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการศึกษาไม่แพ้กัน เพราะรู้ว่าโลกดิจิตอลและอนาล็อกที่มาพัวพันกันทุกวันนี้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มากมายที่น่าบันทึกเอาไว้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า