ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีทุจริตหน้าที่ในการใช้งบกลาง วงเงิน 2,051 ล้านบาท โดยพลเอกประยุทธ์ได้อนุมัติงบกลางเป็นจำนวนหลายโครงการอย่างทุจริต เพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลและพวกพ้องใกล้ชิดเข้ามากอบโกย โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ โดยประเสริฐแจกแจง 3 ข้อกล่าวหา ดังนี้
- มีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการ เข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว
- ทำผิดมติ ครม. 17 กุมภาพันธ์ 2552
- ไม่ใส่ใจข้อทักท้วงของสำนักงบประมาณ โครงการซ้ำซ้อนหน่วยงานอื่น
เป็นที่ทราบว่า การใช้จ่ายงบกลางนั้น มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีมติคณะรัฐมตรีเป็นกรอบกำหนดการใช้อำนาจและดุลยพินิจในการอนุมัติงบกลาง ประเสริฐกล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ใช้ดุลยพินิจผิดไปจากเงื่อนไขตามกฎหมายและกรอบกำหนดของมติคณะรัฐมนตรี โดยอนุมัติใช้จ่ายงบกลางขัดแย้งต่อข้อเท็จจริง ดังนี้
ปี 2563-2565 กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับการจัดสรรงบกลางและกู้เงินไปมากกว่า 30,639 ล้านบาท ประกอบด้วย
- งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564-2565 จำนวน 13 โครงการ รวม 6,194 ล้านบาท
- งบประมาณเงินกู้ยืม 2564 ตาม พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด 17 โครงการ รวม 13,021 ล้านบาท
- งบประมาณจากเงินกู้ปี 2563 ตาม พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด จำนวน 11,432 ล้านบาท
“หลายโครงการซ้ำซ้อนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ปรากฏว่าพลเอกประยุทธ์เข้าไปชี้นำให้มีโครงการเกิดขึ้น โดย ครม. อนุมัติภายในวันเดียว ขัดต่อมติ ครม. 24 พฤศจิกายน 2558 โดยการแบ่งย่อยโครงการและแบ่งงบให้ 4 มหาวิทยาลัย ดังนี้”
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 2 โครงการ จำนวน 717 ล้านบาท
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 1 โครงการ จำนวน 368 ล้านบาท
- มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 1 โครงการ 560 ล้านบาท
- มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 1 โครงการ 408 ล้านบาท
ประเสริฐเปิดเผยความไม่ชอบมาพากลจากโครงการดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น โครงการจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อครั้งประชุมคณะกรรมมาธิการการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของสภาผู้แทนฯ ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้โทรเข้ามาในที่ประชุม แจ้งว่าไม่ประสงค์ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ อีกทั้ง นายอำนวย ยศสุข นายกสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้กล่าวว่า หากใครทำโครงการดังกล่าวอาจมีโอกาสติดคุกได้
ประเสริฐกล่าวว่า โครงการดังกล่าวของมหาวิทยาลัยแม่โจ้มีพิรุธมากมาย ตั้งแต่ขั้นตอนการนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. การอนุมัติโครงการให้มหาวิทยาลัยต่างๆ นำไปทำด้วยงบประมาณที่ส่อทุจริตทุกโครงการ นอกจากผลประโยชน์ของโครงการต่างๆ จะตกถึงพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ แล้ว ประเสริฐชี้ว่า มีคนใกล้ชิดของพลเอกประยุทธ์ ตามไปติดต่อขอรับประโยชน์จากงบประมาณดังกล่าวทุกมหาวิทยาลัย
อีกโครงการคือ การทุจริตโครงการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับงบประมาณจำนวน 368 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ 1 โครงการนั้น ประเสริฐพบว่า โครงการดังกล่าวมีชื่อว่า ‘ถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านเกษตรกรรมและสมุนไพร’ ซึ่งหากไปดูในรายละเอียดการอบรมจะพบว่า เป็นการอบรมปลูกเห็ด อบรมพืชสมุนไพร และส่งเสริมการใช้สมุนไพรประกอบกับกัญชา ซึ่งไม่ใช่นวัตกรรมแต่อย่างใด
โครงการดังกล่าวได้จัดอบรมเสร็จสิ้นแล้วโดยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สถานที่คือวิทยาลัยเกษตรกรรม อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 368,054,000 บาท โดยมีรายละเอียดใช้จ่ายดังนี้
- ค่าวิทยากรภาคบรรยาย อบรม 2 วัน 4 ชั่วโมง วงเงิน 444,000 บาท
- วิทยากรภาคปฏิบัติ อบรม 2 วัน 12 ชั่วโมง วงเงิน 7,104,000 บาท
- ค่าอาหาร 4 มื้อ วงเงิน 22,200,000 บาท
- ค่าอาหารว่าง 4 มื้อ วงเงิน 5,180,000 บาท
- ค่าเอกสารประกอบการอบรม จำนวน 37,000 เล่ม วงเงิน 3,700,000 บาท
- ค่าเช่าสถานที่ 2 วัน วงเงิน 736,000 บาท
- ค่าเช่าที่พักจำนวน 37,000 ราย 18,500,000 บาท
- ค่าฝึกอบรม 17,787,000 บาท
- ค่าสนับสนุนปัจจัยการผลิต 259,000,000 บาท
- ค่าบำรุงมหาวิทยาลัย 15,000,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ (บริหารโครงการ) 18,420,700 บาท
หากดูรายละเอียดจะพบว่ามีรายละเอียดที่ไม่ชอบมาพากล ดังนี้
- ค่าวิทยากรภาคบรรยาย อบรม 2 วัน 4 ชั่วโมง พบว่า อบรมจริงเพียงแค่ 1 วัน ถูกทุจริตไป 222,000 บาท
- วิทยากรภาคปฏิบัติ อบรม 2 วัน 12 ชั่วโมง แต่อบรมจริงเพียง 4 ชั่วโมง ทุจริตเงินไป 5,920,000 บาท
- ค่าอาหาร 4 มื้อ ได้รับจริง 1 มื้อ ทุจริตเงินไป 16,650,000 บาท
- ค่าอาหาร 4 มื้อ ได้รับจริง 1 มื้อ ทุจริตเงินไป 2,405,000 บาท
- ค่าเอกสารต้องแจกทุกคน แต่กลับไม่มีการแจก ทุจริตเงินไป 3,700,000 บาท
- ค่าเช่าที่พัก แต่ไม่มีการพักจริง ทุจริตเงินไป 18,500,000 บาท
- ค่าวัสดุฝึกอบรม ไม่มีการซื้อจริง ทุจริตเงินไป 17,787,000 บาท
- ต้องสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้ผู้เข้าอบรม แต่ไม่มีการจ่ายจริง ทุจริตเงินไป 259,000,000 บาท
- ค่าบำรุงมหาวิทยาลัย ไม่มีรายละเอียดการจ่ายเงิน ทุจริตเงินไป 15,000,000 บาท
- ค่าบริหารโครงการ ไม่มีรายละเอียดการจ่ายเงิน ทุจริตเงินไป 16,420,000 บาท
รวมแล้วพบการทุจริตทั้งสิ้น 357,664,300 บาท
“การอบรมครั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมต้องเป็นเกษตรกร แต่ในความเป็นจริงมีการเกณฑ์ใครก็ได้เข้ามาอบรม ซึ่งผิดวัตถุประสงค์โครงการ อย่างที่โคราช ค่าใช้จ่ายต่อหัว 10,000 บาท ประชาชนต้องได้ปัจจัยการผลิตต่อหัว 7,000 บาท แต่สิ่งที่ได้รับจริง เพียงแค่เงิน 400 บาท กับข้าวกล่องเดียว”
หากโครงการอบรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานแล้วเสร็จ ประเสริฐมองว่า จะมีการทุจริตไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท จากงบประมาณ 368 ล้านบาท และหากคิดยอดเงินจาก 2,051 ล้านบาท ที่พลเอกประยุทธ์อนุมัติ จะประเมินได้ว่าอาจมีการทุจริตราว 1,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีบุคคลที่เกี่ยวข้องดังนี้
- พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
- นาย ส. ปากเสีย (นามสมมุติ) คนเจรจาขอเงินส่วนแบ่งกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ได้รับงบประมาณ ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน
- นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษาฯ มีส่วนรู้เห็นกับการดำเนินการทุจริตการใช้จ่ายงบกลาง ทำโครงการซ้ำซ้อนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- นายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้ประสานงานงบประมาณในโครงการต่างๆ ข้างต้น
- ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และบุคคลภายนอกซึ่งเป็นนักการเมือง รวม 4 ราย ได้แก่ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร, ดร. น (นามสมมุติ) หัวหน้าโครงการ, ดร. ส (นามสมมุติ) ผู้ร่วมโครงการ, สุกฤษณ์ วัชรมาลีกุล สมาชิกพรรคการเมืองและที่ปรึกษาโครงการ
ประเสริฐเปิดเผยเอกสารหลักฐานท้วงติงของสำนักงบประมาณที่ระบุว่า โครงการดังกล่าวมีความซ้ำซ้อนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน อีกทั้งกระบวนการอนุมติโครงการต่างๆ เป็นไปอย่างเร่งรีบภายในวันเดียว ทั้งที่มีวงเงินสูงถึง 2,051 ล้าน
มากกว่านั้น กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตามกฎหมายและ มติ ครม. ที่ต้องให้มีการแข่งขัน แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้ รมว.อุดมศึกษาฯ ทุจริตโดยการจัดสรรคนสนิท หรือให้คนสนิทในมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง ดำเนินการโดยไม่มีการแข่งขันราคาและตรวจสอบคุณสมบัติ
“เรื่องนี้รัฐมนตรีทั้งคณะต้องรับผิดชอบ เพราะร่วมกันลงมติ ครม. อนุมัติงบกลางเมื่อวันที่ 19 เมษายน ปล่อยให้เงิน 2,051 ล้าน อยู่ในมือผู้ทุจริตในวันเดียว เกิดเงินทอนโดยประมาณ 1,600 ล้านบาท”