‘แรงงานข้ามชาติ’ ผู้ถูกตีตราเป็น ‘พาหะนำโรค’ กับชีวิตที่ถูกด้อยค่าในรัฐไทย

ย้อนกลับไปในช่วงแรกของการระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ดี หลังจากไม่พบเชื้อภายในประเทศต่อเนื่องเป็นเวลา 48 วัน กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศว่า การระบาดระลอกแรกผ่านพ้นไปแล้ว ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2563 แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมากลับทวีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลไทยจึงสั่งคุมเข้ม 10 จังหวัดชายแดน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคข้ามพรมแดนมายังฝั่งไทย

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 17 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้นกลับพบผู้ติดเชื้ออีกครั้งอย่างไม่มีใครคาดคิด เมื่อหญิงไทยวัย 67 ปี เจ้าของกิจการในตลาดกลางอาหารทะเล ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ถูกตรวจพบว่าได้รับเชื้อโควิด โดยไม่มีประวัติการเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครประกาศให้ตลาดกลางกุ้งเป็นพื้นที่ควบคุมโรค มีการติดตั้งรั้วลวดหนามล้อมรอบอาณาบริเวณตลาด และจัดชุดรักษาการณ์โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร คอยเฝ้าระวังไม่ให้คนเข้าและออกจากพื้นที่ควบคุม

ต่อมาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ระดมกำลังตรวจเชิงรุกในอำเภอเมืองและอำเภอข้างเคียง จนพบว่าผู้ติดเชื้อกระจายตัวเกือบทั่วทั้งจังหวัดแล้ว ในระยะเวลาเพียง 52 วัน (17 ธันวาคม-7 กุมภาพันธ์) มีผู้ติดเชื้อสะสมถึง 14,893 คน เป็นคนไทย 1,248 คน เป็นแรงงานต่างชาติ 11,659 คน นับเป็นการระบาดครั้งใหญ่ในไทย จึงมีการประกาศให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือ ‘พื้นที่สีแดง’

การระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มจากตลาดกุ้งมหาชัย ทำให้แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาถูกมองเป็น ‘พาหะนำโรค’ สังคมไทยทั้งออนไลน์และออฟไลน์พากันตื่นตูมจนเกิดกระแสเกลียดชัง จนถึงขั้นจะขับไล่ชาวเมียนมาออกไปจากประเทศ

เรื่องราวเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในงานศึกษาชื่อ ‘ชีวิต ความทุกข์ และความหวังของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในพื้นที่ควบคุมโรคโควิด-19’ ของ สรานนท์ อินทนนท์ โดยการสนับสนุนของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) ซึ่งได้ทำการเก็บข้อมูลภาคสนามจากแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร โดยพบว่า แรงงานข้ามชาติในตลาดกุ้งไม่เพียงต้องทนทุกข์จากโรคระบาด แต่ยังถูกซ้ำเติมด้วยมาตรการจัดการโรคของรัฐไทย อาทิ การล็อกดาวน์ที่กระทบต่อการจ้างงานของแรงงานโดยตรง ส่งผลต่อรายได้ การดำรงชีวิต ตลอดจนอารมณ์และความรู้สึกของพวกเขาในมิติอื่นๆ ด้วย

งานศึกษาของสรานนท์ยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า เราไม่อาจมองการระบาดของโรคในหมู่แรงงานข้ามชาติอย่างมักง่ายว่า พวกเขาเป็นตัวพาหะเพราะสกปรก แต่ต้องมองให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากรัฐไทยในฐานะผู้ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากแรงงานเหล่านี้ สรานนท์เสนอว่า สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติที่แออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ และปราศจากสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดีใดๆ เป็นกระบวนการที่ก่อตัวอย่างยาวนานไม่ต่ำกว่า 20 ปี ทั้งยังเป็น ‘ระเบิดเวลา’ ที่รอคอยตัวจุดชนวน และตัวจุดชนวนที่ว่านั้นก็คือ ‘โควิด-19’

ตลาดกุ้งมหาชัย ภาพสะท้อนความเปราะบางของแรงงานข้ามชาติ

หากจะทำความรู้จักแรงงานข้ามชาติ อาจต้องเข้าใจพัฒนาการของความต้องการแรงงานในประเทศไทยด้วย

งานวิจัยเรื่อง ‘ประวัติศาสตร์สังคมสมุทรสาคร: เส้นทางสู่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 (ธันวา-63) และผลกระทบทางวัฒนธรรม’ ของ ตรงใจ หุตางกูร อธิบายว่า สมุทรสาครเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมประมงและตลาดกลางอาหารทะเลขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ เนื่องจากเป็นทำเลทองที่มี ‘สามน้ำ’ มาบรรจบกันคือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ โดยอุตสาหกรรมประมงที่นี่เริ่มเติบโตขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา หลังมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกๆ สมุทรสาครจึงเปรียบเสมือนแหล่งผลิตวัตถุดิบสำคัญที่ป้อนสู่เมืองหลวง

อย่างไรก็ตาม การผลิตย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากแรงงานซึ่งเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนระบบ โดยเฉพาะในภาคประมง จนเกิดปรากฏการณ์คลื่นแรงงานหลั่งไหลเข้าสู่จังหวัดสมุทรสาครจำนวนมาก ในระยะแรกแรงงานภาคประมงส่วนใหญ่คือ คนอีสาน จนกระทั่งในปี 2532 เกิดภัยพิบัติจากพายุไต้ฝุ่นเกย์ ซึ่งได้คร่าชีวิตแรงงานบนเรือประมงไปเป็นจำนวนมาก จนทำให้เหล่าแรงงานอีสานหวาดกลัว ละทิ้งงานที่ต้องออกทะเลไปหางานอื่นๆ ทำ บรรดาผู้ประกอบการจึงต้องหันไปนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา และเมียนมา มาทดแทน 

ในขณะนั้น สงครามกลางเมืองของเมียนมากำลังรุนแรง เศรษฐกิจในประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำ งานที่มั่นคงและค่าตอบแทนสูงเริ่มหาได้ยาก และชีวิตผู้คนล้วนตกอยู่ในอันตราย โดยเฉพาะหากเป็นชนกลุ่มน้อยหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล การอพยพข้ามพรมแดนมาขายแรงงานในไทยจึงเป็นทางออกหนึ่งเพื่อไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าในเมียนมาประมาณ 3 เท่า แรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เลือกงาน จึงมักลงเอยด้วยงานประเภท ‘3D’ คือ งานหนัก (difficult) งานสกปรก (dirty) และงานอันตราย (dangerous) ซึ่งแรงงานไทยไม่ค่อยทำ

กล่าวเฉพาะแค่ในจังหวัดสมุทรสาคร สรานนท์เผยว่าจากข้อมูลปี 2564 มีแรงงานเมียนมาที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 200,000 กว่าคน แต่คาดกันว่ามีแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจำนวนมากกว่านั้นเสียอีก ส่วนหนึ่งเข้าประเทศผ่านระบบนายหน้า ในขณะที่บางส่วนเข้าประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดน โดยรวมแล้วคาดว่ามีแรงงานข้ามชาติเมียนมาในประเทศไทยประมาณ 500,000 คน

ตลาดกลางกุ้งมหาชัยเป็นแหล่งรวมกุ้งจากแพประมงต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยมาเลือกซื้อไปขายต่อยังตลาดสด หรือนำไปเป็นวัตถุดิบตามร้านอาหารทั่วประเทศ แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานและอาศัยบริเวณตลาดกุ้งเมื่อราว 30 กว่าปีมาแล้ว ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 2,500-3,000 คน แทบทั้งหมดทำงานรับจ้างรายวัน อาทิ งานซื้อกุ้ง ตักใส่ถัง ชั่งน้ำหนัก งานเหล่านี้ได้ค่าจ้างตายตัววันละ 400 บาท และงานแกะกุ้งซึ่งต้องชำแหละ แกะ ล้างกุ้งสดๆ ได้ค่าแรงตามปริมาณกุ้งที่แกะได้ ประมาณ 200-300 บาทต่อวัน 

งานวิจัย ‘จากเมาะตะมะถึงอ่าวไทย: ปรารถนาในใจคนพลัดถิ่น’ ของ บำเพ็ญ ไชยรักษ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เสนอว่า แรงงานส่วนใหญ่ยังยึดโยงตัวเองกับประเทศบ้านเกิดผ่านการส่งเงินกลับไปให้ญาติ พวกเขาจึงต้องทำงานหลายๆ อย่างใน 1 วัน บางคนทำงานควบ 2 กะ เพื่อให้มีรายได้มากพอ นอกจากนี้ พวกเขายังต้องประหยัดและตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตออก เช่น เช่าห้องอยู่อาศัยในราคาถูก ซึ่งบริเวณตลาดกุ้งมีอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น จำนวน 4 หลัง มีห้องพักให้เช่าประมาณกว่า 1,000 ห้อง ค่าเช่าประมาณ 1,200-1,300 บาทต่อเดือน และ 4,000-5,000 บาทต่อเดือนหากเป็นห้องขนาดใหญ่สำหรับอยู่อาศัยแบบครอบครัว ไม่รวมค่าน้ำ ค่าไฟ 

ห้องเช่าราคาถูกเช่นนี้ มีลักษณะเล็ก แคบ บางห้องไม่มีหน้าต่าง ทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก อับชื้น ส่งกลิ่นเหม็น บางตึกไม่มีห้องน้ำในตัว ต้องใช้ห้องน้ำรวม แรงงานบางส่วนเลือกเช่าห้องร่วมกัน ห้องพักที่เล็กอยู่แล้วจึงถูกแบ่งซอยให้เล็กลงอีก โดยพวกเขาแก้ปัญหาด้วยการเลือกเข้างานคนละกะ คนหนึ่งทำงานเช้า คนหนึ่งทำงานดึก เพื่อให้พื้นที่ใช้สอยในชีวิตไม่ทับซ้อนกันนัก

จะเห็นได้ว่า แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่เพียงได้รับค่าแรงราคาถูก แต่ผู้ประกอบการยังไม่ต้องจัดหาสวัสดิการในชีวิตแก่พวกเขาเฉกเช่นเดียวกับแรงงานไทย สภาพความเป็นอยู่ที่แออัดและไม่ถูกสุขอนามัยนี้เป็นเหมือนระเบิดเวลาของสารพัดปัญหาที่พร้อมจะปะทุได้ทุกเมื่อ 

แรงงานเมียนมานับเป็นคนชายขอบในสังคมไทยมาช้านาน สรานนท์อธิบายว่า เป็นเพราะการประกอบสร้างประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมไทย ซึ่งถูกถ่ายทอดและผลิตซ้ำในสื่อต่างๆ เพื่อปลุกความเกลียดชังอยู่เสมอ จนทำให้ชาวเมียนมามิได้ถูกมองในสถานะความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันในสังคมไทย ไม่มีใครใส่ใจความเป็นอยู่ของพวกเขา และมักถูกเลือกปฏิบัติอยู่เสมอ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อเกิดการระบาดในตลาดกุ้งมหาชัย ชาวเมียนมายังถูกตีตราจากสังคม (social stigma) ว่าเป็นต้นตอของการระบาดครั้งนี้ จนกระแสต่อต้านคนเมียนมาลุกลามไปทั่ว แม้ในบางพื้นที่จะยังไม่พบผู้ติดเชื้อก็ตาม

สรานนท์อธิบายว่า สิ่งที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญคือ ความทุกข์ทางสังคม (social suffering) ซึ่งเป็นความเจ็บป่วยอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างของสังคม แม้ว่าเชื้อไวรัสโควิดจะสามารถแพร่ระบาดไปยังทุกผู้คนได้โดยไม่เลือกชนชั้นหรือเชื้อชาติ แต่กลุ่มคนชายขอบในแต่ละสังคมมักได้รับผลกระทบหนักหน่วงกว่าเสมอ ยิ่งเมื่อถูกซ้ำเติมจากการตีตรา ยิ่งทำให้แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อไม่เพียงต้องทนทุกข์ทรมานทางร่างกายเท่านั้น หากยังต้องทุกข์ทางใจอันเกิดจากความรังเกียจ หวาดกลัว และหวาดระแวงจากสายตาคนอื่นๆ ในสังคมอีกด้วย

มาตรการของรัฐไทย ไม่นำไปสู่การแก้ไข แต่ยิ่งซ้ำเติม

สรานนท์ยังบรรยายให้เห็นว่า นอกจากการถูกตีตราจากสังคมแล้ว ความทุกข์ของแรงงานข้ามชาติยังถูกซ้ำเติมด้วยมาตรการจัดการโรคระบาดของรัฐ ตัวอย่างเช่นการระบาดระลอกแรกในเดือนเมษายน 2563 แม้แรงงานข้ามชาติจะไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อหรือแพร่เชื้อโดยตรง แต่การประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศก็ทำให้พวกเขาต้องตกงาน เนื่องจากผู้ประกอบการต่างๆ ทยอยหยุดกิจการ พร้อมๆ กับมาตรการสั่งปิดพรมแดน แรงงานข้ามชาติจำนวนมหาศาลจึงตกอยู่ในสภาวะไม่มีงาน แต่จะกลับบ้านก็ไม่ได้ เมื่อแรงงานขาดรายได้ หรือไม่อาจจ่ายค่าเช่าห้องได้อย่างแต่ก่อน จึงจำเป็นต้องไปอาศัยร่วมกับเครือญาติและเพื่อนฝูง นั่นจึงยิ่งทำให้เชื้อโควิดแพร่กระจายในกลุ่มผู้ใช้แรงงานอย่างรวดเร็ว 

ขณะเดียวกัน มาตรการปิดพรมแดนกลับยิ่งทำให้เกิดการลักลอบขนแรงงานอย่างผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้นโดยไม่ผ่านการตรวจคัดกรองโรคอย่างถูกต้อง สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขให้เกิดการระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในระลอกต่อมา แต่ประเด็นในเชิงโครงสร้างอย่างนโยบายรัฐ ความหละหลวม หรือการแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐจากขบวนการนี้ กลับไม่ถูกพูดถึงมากเท่าการกล่าวโทษชาวเมียนมาว่าเป็น ‘พาหะ’

หลังการพบเชื้อในตลาดกุ้ง รัฐไทยพยายามควบคุมโรคด้วยการปิดล้อมพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเล็ดลอดออกไปยังสังคมภายนอก แต่ในขณะเดียวกันนั่นหมายความว่า อิสรภาพในการเคลื่อนย้ายของเหล่าแรงงานต้องถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ควบคุมเช่นกัน เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองใช้ลวดหนามกั้นล้อมรอบตลาดในเช้าวันที่ 20 ธันวาคม โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ซึ่งทำให้พวกเขาตื่นตระหนกอย่างมาก

ถัดจากนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เข้ามาทำการตรวจหาเชื้อ เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนไปรักษาตัวต่างหากในพื้นที่อื่น มีการแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม ตามสีของสายรัดข้อมือ ได้แก่ สีขาว สำหรับคนที่ไม่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน ห้ามออกไปไหน ต้องกักตัวอยู่แต่ภายในที่พัก สีเขียว สำหรับคนที่เคยติดเชื้อและมีภูมิต้านทานแล้ว สามารถไปไหนมาไหนในบริเวณตลาดได้ และสีแดง สำหรับคนที่ตรวจพบเชื้อโควิดและกำลังรอการส่งตัวไปรักษา

อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นยังไม่มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จึงยังไม่อาจคัดแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนตลาดได้ อีกทั้งหากมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม อาจถูกคัดค้านจากคนไทยในพื้นที่ซึ่งกำลังหวาดกลัวเชื้อโรค ในระหว่างนั้นจึงมีการปรับพื้นที่ส่วนหน้าของตลาดให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะหน้า ขนาด 30 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยในตลาด 

เป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ที่แรงงานข้ามชาติหลายพันคนถูกกักกันให้อยู่ในพื้นที่ควบคุม แต่ไม่แยกกับผู้ติดเชื้อ พวกเขาจึงต้องอยู่อย่างระแวงโดยไม่รู้ว่าตนจะติดเชื้อเมื่อไหร่ 

“กลัวเรื่องติดเชื้อ กลัวว่าเชื้อมันจะลามไปทั้งหมด เพราะคนที่ติดเชื้อจะอยู่ข้างในนี้หมดเลย โดยหลักการที่เราไม่รู้ว่าใครเป็นหรือเปล่า ตรงนี้มันมีเชื้อไหม กังวลเรื่องนี้มากที่สุดเลย ตอนนี้ติดอยู่เรื่องหนึ่งก็คือเรื่องขยะ (ติดเชื้อ) ครับ ขยะข้างใน (ตลาด) อยู่นี่หมดเลย เขาบอกจะจัดการให้ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเขาจะจัดการอย่างไร”

กระทั่งวันที่ 4 มกราคม 2564 มีการตั้ง ‘ศูนย์ห่วงใยคนสมุทรสาคร’ แห่งที่ 1 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ ณ สนามกีฬากลางจังหวัด รองรับผู้ป่วย 700 เตียง จึงทำให้สามารถคัดแยกผู้ติดเชื้อไปรักษาตัวเพื่อลดการแพร่เชื้อได้

ผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลสนามส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ หรือหากมีอาการก็ไม่หนักมาก เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก แพทย์จะรักษาด้วยการจ่ายยาตามอาการ แต่หากพบว่ามีอาการหนัก เช่น ปอดอักเสบ ติดเชื้อ แพทย์จะส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลใหญ่

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามไม่ได้เผชิญแค่ความเจ็บป่วยทางกายเท่านั้น ‘แก้ว’ แรงงานข้ามชาติรายหนึ่งกล่าวว่า “เครียดค่ะ เพราะถ้าไปอยู่แบบนั้น ใครๆ ก็เครียด” เนื่องจากแรงงานทั้งหมดมีครอบครัวให้ต้องดูแล จึงกังวลว่าการแยกตัวออกมา และการขาดรายได้ในช่วงกักตัวจะทำให้ครอบครัวลำบาก 

‘โอ๋’ เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย ซึ่งเข้ามาช่วยดูแลแรงงานข้ามชาติเล่าปัญหาว่า “ตรวจเชื้อ 4 วัน กว่าจะรู้ผล พอวันที่ 5 รถโรงพยาบาลมารับ ไปพักอยู่ 5 วัน รวมเป็น 10 วัน กลับมากักตัวที่ห้องอีก 4 วัน หลังจากการกักตัว 14 วัน ก็อาจจะเจอนายจ้างบอกไม่ต้องมาทำงานอีก 15 วัน ก็แปลว่าเดือนนี้ไม่มีงานเลยทั้งเดือน”

การขาดรายได้เป็นความทุกข์ใจหลักของแรงงาน พวกเขาไม่มีเงินสำรองเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินมากนัก เงินส่วนใหญ่ถูกส่งกลับเมียนมา เนื่องจากพวกเขาไม่กล้าเก็บเงินก้อนใหญ่ไว้ในที่พัก และพวกเขาหลายคนก็เข้าไม่ถึงการทำธุรกรรมกับธนาคารในประเทศไทย การไม่มีเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจึงส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อชีวิตในด้านอื่นๆ ของแรงงานด้วย

ตลาดกุ้งถูกปิดไป 2 เดือน (เปิด 3 กุมภาพันธ์ 2564) เมื่อรั้วลวดหนามได้ถูกรื้อออก แต่ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครยังคงมีคำสั่งห้ามดำเนินกิจการค้ากุ้งใดๆ เป็นการชั่วคราว และให้ปรับปรุงอาคารที่พักในตลาดให้ถูกสุขลักษณะเสียก่อน เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค กระทั่งกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 1 มีนาคม 2564 แต่กิจการค้ากุ้งซึ่งเป็นรายได้หลักยังคงไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนช่วงก่อนการระบาด 

งานศึกษาของสรานนท์ได้ชี้ให้เห็นไม่มากก็น้อยว่า ชีวิตของแรงงานข้ามชาตินั้นห่างไกลจากมาตรฐานความปกติใดๆ โดยสิ้นเชิง พวกเขาล้วนมีชีวิตที่เปราะบาง สุ่มเสี่ยง และอยู่อย่างปราศจากสวัสดิการในชีวิต ไปจนถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

ทางออกจากความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพ

การจะพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนเปราะบางอย่างแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่รอคอยการระบาดของโรค สรานนท์เสนอว่า รัฐไทยควรวางนโยบายแก้ไขอย่างเป็นระบบ ดังนี้

นโยบายเร่งด่วน อาทิ คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ควรกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการจัดการโรคระบาด โดยประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ควบคุมโรคระบาดได้ทันท่วงที และควรต้องให้บริการทางสุขภาพแก่ผู้ติดเชื้อโดยไม่คำนึงถึงสถานภาพทางกฎหมาย ตั้งแต่การตรวจเชื้อ การรักษา และการฉีดวัคซีน พร้อมทั้งเยียวยาผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากมาตรการควบคุมโรคของรัฐ

นโยบายระยะกลาง หน่วยงานด้านสาธารณสุขควรส่งเสริมสุขภาพของแรงงานอย่างเป็นระบบมากกว่านี้ ประชาสัมพันธ์ความรู้และข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพโดยแปลเป็นภาษาต่างๆ ให้แรงงานข้ามชาติเข้าใจ มีการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ เพิ่มสิทธิการรักษาพยาบาล และลดค่าธรรมเนียมในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงมาตรฐานการบริการทางสุขภาพตามมา

ท้ายที่สุด ในระยะยาวแล้วโรคระบาดไม่ใช่เพียงปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สามารถแก้ไขด้วยมาตรการทางการแพทย์หรือบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเท่านั้น หากต้องสร้างสังคมที่ใส่ใจกัน (caring society) โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าผู้ป่วยเป็นชนชาติใด 

เพราะความเสี่ยงทางสุขภาพไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ตัวแสดงในการก่อโรคก็มิได้มีแค่เพียงไวรัส หากยังมีโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจที่ยังคงกดทับชีวิตของแรงงานข้ามชาติให้ต้องกลายเป็นผู้สุ่มเสี่ยงต่อโรคระบาด

ที่มา:

ตรงใจ หุตางกูร. ประวัติศาสตร์สังคมสมุทรสาคร: เส้นทางสู่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 (ธันวา-63) และผลกระทบทางวัฒนธรรม. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

บำเพ็ญ ไชยรักษ์. จากเมาะตะมะถึงอ่าวไทย: ปรารถนาในใจคนพลัดถิ่น. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
สรานนท์ อินทนนท์. ชีวิต ความทุกข์ และความหวังของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในพื้นที่ควบคุมโรคโควิด-19. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

สนับสนุนโดย

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

ณัฐณิชา วาณิชย์วิรุฬห์
นักเรียนประวัติศาสตร์ผู้ผันตัวมาทำกราฟิก คลั่งไคล้ประวัติศาสตร์และการ์ตูนญี่ปุ่น อยากถ่ายทอดเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ให้เข้าใจง่ายด้วยการร้อยเรียงสีสันแห่งอาร์ตเวิร์ค

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า