“แม่ต้องดูแลลูกวง 300-400 ชีวิต จะไปเล่นคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง ยกโขยงกันไป 20 กว่าคันรถ เครื่องเสียง หางเครื่อง นักร้อง ไฟ วงดนตรี เจ้าภาพจัดจ้างแล้วก็บ่ต้องหาอิหยังอีก เรามีพร้อมทุกอย่าง”
ครึ่งค่อนปีแล้ว ที่ นกน้อย อุไรพร หัวหน้าคณะหมอลำเสียงอีสาน ต้องประคองชีวิตของตนและลูกวงอีกหลายร้อยให้มีกินมีใช้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้
โรคระบาดระลอกแรกก็ว่าหนักหนาแล้ว รายจ่ายยังคงซื่อสัตย์ แต่รายได้ที่ต้องมาเติมท้องเติมปากกลับหดหาย
“บ่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ตั้งหลักบ่ทัน แม่ก็ช็อก ฮ้องไห้ เจ้าภาพเขาก็บอกว่า – แม่ไม่ต้องมาแล้ว ยกเลิกงานแล้วนะครับ”
ในหนึ่งเดือน ‘แม่นกน้อย’ ต้องมีรายได้มาจุนเจือคณะหมอลำ เป็นตัวเลขที่สูงถึงสองล้านบาท ลูกวงที่เปรียบเสมือนลูกหลาน เพราะฟูมฟักดูแลกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด
“นึกเอาเด้อ ลูกวงแม่เกือบ 400 แต่ละคนก็ต้องเลี้ยงดูส่งเสียครอบครัว ยิ่งเป็นคนอีสาน มีครอบครัวใหญ่ เฉลี่ยแล้วลูกวงหนึ่งคนต้องดูแลครอบครัวอีกราว 4 ชีวิต ถ้าเราไม่สู้ จะมีอีกกี่ชีวิตที่ต้องลำบาก ลองคูณดูเด้อ”
ตีเป็นตัวเลขคร่าวๆ ถึง 1,600 ชีวิต ที่บ่าไหล่ของแม่นกน้อยในฐานะหัวหน้าคณะต้องแบกรับ ตลอด 46 ปีของคณะเสียงอีสาน แม่นกน้อยบอกว่า ครั้งนี้ถือว่าหนักหนาสาหัสที่สุดแล้ว
“ลูกๆ ก็จะบอกเราว่า ยังไงหนูก็ไม่ทิ้งแม่นะ ผมก็ไม่ทิ้งแม่นะ พูดตรงๆ ก็คือกอดคอกันตกงาน แม่บ่อยากใช้คำว่ากอดคอกันตายเลย เราต้องไม่ตายเด้ลูก เราต้องสู้ต่อ”
ปากยังไม่ทันได้อ้า ตายังไม่ทันได้ลืม
คล้ายว่า COVID-19 ระลอกแรกกำลังจะพัดผ่าน ทุกคนในคณะกำลังจะได้ปัดกวาดฝุ่นไรที่เกาะกรังอยู่บนชุดหางเครื่องแวววาว หนี้กองโตกำลังถึงคราวชำระสะสาง ล้อของเสียงเพลงเริ่มหมุนอีกครั้ง เพื่อโลดแล่นไปบนถนนของชีวิต
แต่ยังไม่ทันได้ลืมตาอ้าปาก โรคระบาดก็หวนกลับมา
“ช่วงก่อนการระบาดรอบสอง งานเริ่มกลับมาแล้ว เพราะช่วงปีใหม่ไปจนถึงกลางปี มันเป็นช่วงเทศกาล วันเด็ก ตรุษจีน สงกรานต์ เราก็เริ่มเตรียมตัว แต่ยังไม่ทันไร เจ้าหน้าที่ก็มากระซิบบอกแม่ว่า ‘สถานการณ์ไม่ค่อยดี แม่ต้องเตรียมตัวแล้วนะครับ’
“เขาบอกให้เตรียมตัว แต่ไม่ได้บอกให้เตรียมอะไร ทำยังไง มีนโยบายอะไรจนถึงตอนนี้”
ไม่มีในความคิดเรื่องยุบคณะหมอลำ แต่หากจะให้คาดหวังการเยียวยาจากรัฐ หรือนโยบายประคองธุรกิจในภาคบันเทิง – เธอรอจนล้มเลิกไปนานแล้ว
“จาก 300-400 คน ตอนนี้ทุกคนต้องแยกย้ายเพื่อรอวันกลับมาอยู่ด้วยกัน คนที่อยู่กับแม่เหลืออยู่ประมาณ 50 ชีวิต ช่วยกันขายขนม ขายของ ทำมาหากินเล็กๆ น้อยๆ ให้มีข้าวกิน ตอนนี้นอกจากรองาน แม่ก็กำลังรอความชัดเจนว่ารัฐบาลจะประกาศอะไรอีก แน่นอนว่าชะตาชีวิตจะต้องตกงาน เพราะรัฐบาลประกาศขยายระยะเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”
การขายบัตรคอนเสิร์ตเฉพาะกิจ ‘เพื่อความอยู่รอดของหมอลำ’ ในราคา 99-100 บาท จึงได้เริ่มขึ้น แม่นกน้อยและลูกวงที่ยังอยู่ด้วยกันขนข้าวของออกมาปัดฝุ่นอีกครั้ง แต่คราวนี้ล้อขบวนรถไม่ได้หมุนเช่นคราวก่อน เพราะเธอตั้งกล้องไลฟ์ จัดเวทีขนาดย่อม และเปล่งเสียงร้องเพลง ลำกลอน ให้แฟนคลับได้พอหายคิดถึง
“นอกจากเราต้องช่วยตัวเองให้ได้แล้ว แม่เป็นประธานภาคีหมอลำเรื่องต่อกลอนภาคอีสาน เราต้องเปิดใจช่วยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าจะทำยังไง สมมุติว่าคณะแม่ขายบัตรไลฟ์สดให้ชมผ่านออนไลน์ คณะอื่นๆ ก็มาช่วยกันโปรโมทเพื่อให้มีกระแสจะได้ขายบัตรบ้าง ถ้าคณะอื่นๆ เปิดคอนเสิร์ตหรือจัดกิจกรรมบ้าง คณะแม่หรือน้องๆ ก็ต้องช่วยกัน เราไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาเยียวยาแล้ว เพราะแม่มองแล้ว มันเป็นไปไม่ได้เลย”
ว่ากันตามตรง บัตรคอนเสิร์ตออนไลน์ก็ใช่ว่าขายได้มากนัก
“คนอีสานเป็นนักสู้เด้ลูก เป็นคนจริงใจ รักใครรักจริง เฮาต้องสู้ เพราะหมอลำไม่ใช่แค่อาชีพที่เรารักและเลี้ยงเราได้ แต่มันคือวัฒนธรรมที่เราอยากสืบทอด ต้องรักษาไว้ให้เป็นตำนานที่ยังมีชีวิต”