เปิดข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP คืออะไร ทำไมไทยไม่ควรเข้าร่วม?

ศูนย์วิจัยและควบคุมการบริโภคยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาฯ และ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ ‘วิเคราะห์ CPTPP หลังสหรัฐอเมริกาถอนตัว ประเทศไทยควรเข้าร่วมเป็นภาคีหรือไม่’ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา โดยมีนักวิชาการจากหลากหลายสาขาร่วมวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย และจุดที่พึงระมัดระวังสำหรับข้อตกลงดังกล่าว

ข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP
แผนที่แสดง TPP เดิม และจะกลายเป็น CPTPP เมื่อตัดสหรัฐออก

CPTPP และการถอนตัวของสหรัฐ

CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership ว่า เป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไปจาก TPP (Trans-pacific Partnership) เมื่อ TPP เดินหน้าต่อไม่ได้ อีก 11 ประเทศสมาชิกที่เหลือจึงพยายามผลักดันข้อตกลง TPP เดิมต่อโดยใช้ชื่อ CPTPP และถอดเนื้อหาบางส่วนออก

คือข้อสรุปภาพรวมโดย รองศาสตราจารย์อาชนัน เกาะไพบูลย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.อาชนันกล่าวว่า ความแตกต่างที่สำคัญของ CPTPP คือเอาประเด็นล่อแหลมอ่อนไหวต่างๆ ที่สหรัฐพยายามผลักดันใน TPP ออกจากความตกลง โดยเฉพาะประเด็นการผูกขาดข้อมูลยา (data exclusivity) และการขยายขอบเขตสินค้าที่จะมาจดสิทธิบัตรและระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรได้ถูกชะลอหรือยกเลิกใน CPTPP เพื่อให้ประเทศสมาชิกสบายใจขึ้น

ขณะเดียวกัน ในภาพรวมแล้ว การถอนตัวของสหรัฐก็ทำให้ภาพของความเป็น Mega FTA ลดลง ซึ่งหากดูจากตัวเลขกรณีมีสหรัฐอยู่ด้วยจะมี GDP 38 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP โลก แต่เมื่อสหรัฐถอนตัวออกไป ขนาด GDP ลดลงเหลือ 13.4 เปอร์เซ็นต์ จำนวนประชากรจาก 11 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ลดเหลือ 6.7 เปอร์เซ็นต์ การส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการจากเดิมมีขนาด 1 ใน 4 ของโลก ลดลงเหลือประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

และหากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า มีหรือไม่มีสหรัฐ ผลประโยชน์ที่ไทยได้ก็แทบไม่เปลี่ยนจากเดิม เพราะสหรัฐเปิดเสรีเกือบหมดแล้ว จะเปิดเพิ่มได้อีกไม่กี่สินค้าคือรถยนต์ เสื้อผ้า และอาหาร ซึ่งใน TPP เดิมก็ไม่ได้เปิดเสรีสินค้าสามชนิดนี้

รศ.อาชนันกล่าวอีกว่า ในทางกลับกัน หากไทยเข้าร่วม CPTPP ก็จะมีข้อผูกพันที่น่าจะมีนัยต่อไทย คือ

  1. ต้องลดภาษีศุลกากรในสินค้าอุตสาหกรรมทันที
  2. ห้ามมีมาตรการกีดกันสินค้า re-manufactured ในความหมายกว้างที่รวมไปถึงสินค้าซ่อมและเปลี่ยนแปลง (repair & alternative)
  3. แม้จะเอาประเด็นล่อแหลมอย่างผูกขาดข้อมูลยาออก แต่ในข้อผูกพันในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาก็ยังเป็นเรื่องที่ผูกพันไปมากกว่าที่ไทยทำกับองค์การการค้าโลก (WTO)
  4. ข้อผูกพันใน e-commerce รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและรัฐวิสาหกิจยังคงเหมือนเดิมที่มีใน TPP

“สำหรับเหตุผลที่รัฐบาลไทยแสดงท่าทีอยากเข้าร่วม CPTPP ผมอนุมานว่าน่าจะมาจากสามเหตุผลหลักๆ คือ หนึ่ง-เปิดตลาดสินค้าและบริการประเทศสมาชิก CPTPP สอง-กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดที่เปิดโอกาสให้สร้าง supply chain ระหว่างประเทศสมาชิก สาม-เข้าร่วมก่อนเพื่อมีอำนาจในการกำหนดกติกา” รศ.อาชนันกล่าว

ข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล (มูลนิธิเข้าถึงเอดส์), มงคล ด้วงเขียว (เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน), กรรณิการ์ กิจติเวชกุล (FTA Watch)

ข้อตกลงที่ทับซ้อน

รศ.อาชนันวิเคราะห์ว่า มีเจ็ดใน 11 ประเทศ CPTPP ที่ลงนาม FTA กับไทยไปแล้วคือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย บรูไน สิงค์โปร์ และเวียดนาม ดังนั้น CPTPP จึงเป็น FTA ซ้อน FTA แถมในเจ็ดประเทศนี้ก็ยังมีข้อตกลง FTA อื่นๆ ซ้อนกันอยู่อีก เช่นกับออสเตรเลียมีข้อตกลง TAFTA และ AANZFTA รวมทั้งอยู่ระหว่างเจรจา RCEP อยู่ ถ้ามี CPTPP ก็กลายเป็นข้อตกลงที่สี่ แต่ในทางปฏิบัติที่ขอใช้สิทธิกว่า 99 เปอร์เซ็นต์คือ TAFTA ส่วน AANZFTA แทบไม่ได้ใช้ ส่วนข้อตกลงกับญี่ปุ่นก็มี JTEPA  มี AJFTA และประเทศในอาเซียนก็มี FTA ระหว่างกันอีกเยอะ จึงต้องถามหาเหตุผลว่า การเซ็นข้อตกลงเพิ่มนั้นเพื่ออะไร

ในส่วนของสี่ประเทศที่ไทยไม่ได้ทำ FTA ด้วยคือ แคนาดา ชิลี เม็กซิโก และเปรู ก็มีการค้าระหว่างกันน้อยมากๆ พูดง่ายๆ คือตลาด CPTPP มีสัดส่วนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของตลาดส่งออกรวมของไทย โดยที่ 29 เปอร์เซ็นต์เป็นประเทศที่ไทยเซ็น FTA อยู่แล้ว ส่วนอีก 1 เปอร์เซ็นต์คือสี่ประเทศที่เหลือ

“แล้วถ้าไปดู FTA ที่ไทยเปิดไว้แล้ว โดยเฉลี่ยมีเพียง 1 ใน 3 ของการส่งออกไปประเทศสมาชิกที่มี FTA ที่มีการขอใช้สิทธิ อีก 70 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ใช้ ส่วนหนึ่งเพราะ FTA ไม่ได้ฟรีสมชื่อ” รศ.อาชนันกล่าว

ประเด็นต่อมาเรื่องการสร้าง supply chain ที่สามารถสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าในประเทศสมาชิกได้ เรื่องนี้คงไม่ปฏิเสธว่าอาจมีนัยต่อการตัดสินใจบ้างไม่มากก็น้อย แต่คงไม่ได้ช่วยขนาดเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ และการสร้าง supply chain ไม่ใช่แค่เรื่องต้นทุนระยะสั้นอย่างแต้มต่อภาษีเพียงปัจจัยเดียว ดูตัวอย่างจากเม็กซิโก เป็น hub สำคัญของโลกยานยนต์ แต่หลังปี 2000 เม็กซิโกเซ็น FTA กับประเทศในลาตินอเมริกาซึ่งไม่ใช่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เลย เป็นการบอกว่าการจะสร้าง supply chain ไม่ได้เกี่ยวกับเซ็นหรือไม่เซ็น FTA เลย

ยิ่งประเด็นสุดท้ายคือเข้าร่วม CPTPP ก่อนโดยหวังว่าสหรัฐจะตามเข้ามาแล้วมีบทบาทในการกำหนดว่าอเมริกาต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เรื่องนี้คงเป็นเรื่องยากที่สหรัฐจะยอมรับกติกาใหม่ที่ข้อเรียกร้องต่างๆ ของตัวเองถูกยกเลิกไป

รศ.อาชนันกล่าวต่อไปว่า สุดท้ายแล้วหากไทยต้องการเข้า CPTPP จริงๆ สิ่งที่ต้องทำคือต้องเปิดเสรีทันที จึงมีคำถามว่า

  1. ไทยพร้อมหรือยัง เช่น ภาษีศุลกากรรถยนต์ 80 เปอร์เซ็นต์ พร้อมจะลดหรือไม่ เสื้อผ้า 30 เปอร์เซ็นต์พร้อมเปิดหรือไม่ และที่สำคัญคือเป็น FTA ซ้อน FTA เช่น ออสเตรเลียเปิดให้เกือบหมดแล้ว ถ้าไปเจรจาในกรอบใหม่ต้องดูว่ามีข้อแลกเปลี่ยนอะไรเพิ่มเติมอีก
  2. สินค้า re-manufactured เป็นสินค้าที่ชุบชีวิตกลับมาใช้ใหม่ CPTPP บอกว่าห้ามกีดกัน คำถามคือ ท่าทีไทยจะเอาอย่างไร มีความชัดเจนหรือไม่ก่อนไปเจรจา
  3. เรื่องอื่นๆ ที่เป็น high-quality FTA เช่น e-commerce การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ไทยมีท่าทีชัดเจนแล้วหรือไม่ ตัวอย่างญี่ปุ่นที่เข้า CPTPP เพราะอยากใช้จังหวะนี้ในการผูกตัวเองแล้วปฏิรูป แต่ไทยมีทิศทางลักษณะนี้แล้วหรือยัง

รศ.อาชนันสรุปว่า แม้จะเอาประเด็นล่อแหลมออกไปแล้ว ประโยชน์ที่ไทยได้ยังไม่เยอะ แต่สิ่งที่เราต้องจ่าย ไม่ว่าจะเรื่องลดภาษีศุลกากรทันที เรื่องท่าทีต่อประเด็นต่างๆ เป็นสิ่งที่ต้องคิดให้ดี ถ้าอยากเข้าร่วมจริงๆ คงต้องทำการบ้านมากขึ้น เช่น จะฉวยโอกาสนี้ในการปฏิรูปหรือไม่ แค่เหตุผลว่าจะไปเปิดตลาดอย่างเดียวหรือเปิดตลาดก่อนคนอื่นมันฟังไม่ขึ้น เรื่องเหล่านี้ต้องตอบก่อนที่จะเข้าไปเป็นภาคีและเตรียมวางแผนที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับความอยากเป็นภาคีมากกว่าการวิเคราะห์บนแบบจำลองอย่างเดียว

ผลกระทบ CPTTP ต่อยาและสุขภาพ

ด้าน ดร.ชุติมา อรรคลีพันธุ์ จากกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ผลกระทบของ CPTPP ที่มีต่อระบบสุขภาพพบว่ามีอย่างน้อยแปดประเด็นคือ

  1. ภูมิปัญญาท้องถิ่น การแพทย์แผนไทย และสมุนไพร ในตัวข้อตกลง CPTPP ยังมีเรื่องอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งจะมีผลกดดันต่อ value chain ทั้งหมดหรือมีผลต่อการปรับปรุงพันธุ์พืชสมุนไพรเพื่อให้ได้สารเคมีที่ต้องการ และเมื่อมีการเข้าสู่กระบวนการวิจัยและพัฒนา ก็จะมีเรื่องการจดสิทธิบัตรมาเป็นตัวกระทบ เนื่องจาก TPP เดิมอนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรของพืชและจุลชีพได้ แต่ใน CPTPP chapter 11 มีการชะลอการบังคับใช้ ขณะที่ไทยมีจุดเด่นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพก็จะถูกจำกัดด้วยเรื่องนี้ หรือด้วยข้อจำกัดในด้านขีดความสามารถของไทยที่อาจพัฒนาหรือจดสิทธิบัตรไม่ทันกับต่างประเทศจนกระทบต่อการพัฒนายาใหม่ไปด้วย
  2. ยา วัคซีน และชีววัตถุ นโยบายไทยตอนนี้มีเรื่องนโยบายส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย ความหลากหลายทางชีวภาพ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็น่าจะได้รับผลกระทบจาก chapter 9 เนื่องจากไม่ให้มีการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี และในขั้นตอนการจดสิทธิบัตรยาหรือวัคซีนใหม่ การอนุญาตก่อนขายและการคุ้มครองผู้บริโภค แม้จะมีการชะลอในเรื่องการจดสิทธิบัตรพืชและจุลชีพ การผูกขาดข้อมูลทางยา การชดเชยอายุความคุ้มครองสิทธิบัตรจากความล่าช้าไปแล้ว แต่ใน chapter 8 ที่เกี่ยวกับมาตรการและอุปสรรคทางด้านเทคนิคต่อการค้าก็ยังมีความครอบคลุมในเชิงกระบวนการขึ้นทะเบียนยาพอสมควร

เช่นเดียวกับขั้นตอนการนำเข้าและส่งออก จะมี chapter 18 เกี่ยวกับเรื่องมาตรการ ณ จุดผ่านแดน ซึ่งจุดนี้จะเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาและวัตถุดิบที่นำเข้าในประเทศ แต่ไทยอาจได้ประโยชน์ในเชิงการลดภาษีวัตถุดิบ

จาก chapter 9 และ chapter 2 ขณะที่ในขั้นตอนการกระจาย การใช้และการเข้าถึงยา จะมี chapter 15 เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งมีผลให้ต้องเปิดเสรีให้ซัพพลายเออร์จากต่างประเทศเข้ามาโดยตรงจากเดิมที่ต้องผ่านตัวแทนภายในประเทศ

  1. เครื่องมือแพทย์ในส่วนนี้จะเกี่ยวกับสินค้า re-manufactured ซึ่งรัฐต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนว่ากับจะเอาอย่างไรกับสินค้าประเภทนี้ รวมทั้งต้องมีการเตรียมมาตรการรองรับอย่างมาก ทั้งเรื่องการติดตาม กำกับดูแล เพราะขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีระบบที่ชัดเจน
  2. เครื่องสำอางประเด็นสำคัญของ CPTPP อยู่ที่การเปิดเสรีและลดการกำกับควบคุมก่อนเข้าสู่ตลาด แปลว่าประเทศไทยต้องมีการเฝ้าระวังหรือมีมาตรการหลังออกสู่ตลาดที่เข้มแข็งออกมารองรับ
  3. อาหาร ภายใต้ CPTPP chapter 2 มีการพูดถึง modern biotech ซึ่งครอบคลุม GMO แต่นโยบายของไทยไม่รับเรื่อง GMO รวมทั้งมีประเด็นเรื่องอาหารแปรรูปโดยเฉพาะ ultra process food ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าจะมีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคและเป็นปัจจัยเสี่ยงในการดูแลโรค NCDs มากน้อยแค่ไหน
  4. ยาสูบประเด็นสำคัญคือต้องลดภาษีลง แต่ตัวภาษีนี้เป็นมาตรการสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ดังนั้นหากภาษีนำเข้าลดลงแปลว่าภาษีอื่นๆ ในประเทศต้องเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องฉลากก็จะถูกกำกับด้วย CPTPP chapter 18 เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าด้วย
  5. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เรื่องนี้มีผลกระทบคล้ายกับเรื่องยาสูบ โดยเฉพาะเรื่องฉลาก เพราะประเด็นเรื่องการจำกัดไม่ให้ใช้เครื่องหมายการค้า คำ หรือวลีที่เกี่ยวกับการแสดงคุณภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ ยังไม่ได้รับการยกเว้นใน CPTPP
  6. บริการสุขภาพแต่ละประเทศสามารถขอสงวนตลาดบริการด้านสุขภาพได้ ดังนั้นก็ขึ้นกับนโยบายของประเทศว่าจะดำเนินการอย่างไรเพราะในภาคเอกชนอาจจะมีความพร้อมที่จะเปิดเสรี sector นี้ก็ได้

โดยส่วนตัวมองว่ายังต้องมีการวิเคราะห์ในภาพรวมในลักษณะ comprehensive and high standards ร่วมกับการวิเคราะห์ราย chapter ประเด็นที่กังวลคือ policy space ของรัฐที่จะแคบลงหรือหายไปในเชิงการกำกับดูแล เช่น การควบคุมการบริโภคที่จะนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการกำหนดนโยบายตาม chapter 26 ว่าจะสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทับซ้อนกับนโยบายสาธารณะอย่างไร และสุดท้ายคือมาตรการที่เราต้องเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนการเจรจา และมาตรการชดเชยภายในประเทศกรณีเข้าร่วมแล้วมีคนได้รับผลกระทบในทางลบจะทำอย่างไร เช่น กรณีที่ยาแพงขึ้นจะให้งบประมาณกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ เป็นต้น

ดร.ชุติมากล่าว

ขณะที่ ไพศาล ลิ้มสถิตย์ จากศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงผลกระทบของ CPTPP ที่มีต่อนโยบายควบคุมยาสูบของไทยว่า แม้จะอ้างว่าไม่ใช้ข้อบทเกี่ยวกับยาสูบแต่จริงๆ ยังมีบางส่วนใช้อยู่และเป็นส่วนสำคัญด้วย คือ chapter 8 มีการเขียนว่าการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน ภาครัฐต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องนั้นเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำกฎเกณฑ์ กฎหมายหรือนโยบายต่างๆ ดังนั้นหากในอนาคตไทยจะปรับปรุงกฎหมายควบคุมยาสูบก็ต้องให้บริษัทบุหรี่เข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะด้วย ซึ่งจะขัดกับ Framework Convention on Tobacco Control (FCTC) ขององค์การอนามัยโลกที่เขียนไว้ชัดเจนว่าต้องไม่ให้อุตสาหกรรมยาสูบเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องนี้

“ผลกระทบประการต่อมาคือ กฎหมายควบคุมยาสูบฉบับปัจจุบันก็อาจถูกบริษัทยาสูบแทรกแซงในขั้นตอนการออกกฎหมายลำดับรองต่างๆ รวมทั้งผลที่จะสืบเนื่องต่อมาคือประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อพิพาทในเรื่องยาสูบมากขึ้น แม้จะมีข้อยกเว้นไม่ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (ISDS) แต่ก็อาจใช้กระบวนการอื่น เช่น ฟ้องศาลภายในประเทศก็ได้” ไพศาลกล่าว

นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่อง Corporate Social Responsibility (CSR) กฎหมายไทยเขียนว่าไม่อนุญาตให้บริษัทบุหรี่ทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์กิจกรรม CSR แต่ใน chapter 9 เขียนว่าให้รัฐมีหน้าที่ส่งเสริม CSR ของภาคธุรกิจ ซึ่งก็จะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน

ขณะที่ chapter 25 กำหนดว่าหากจะทำกฎเกณฑ์กฎหมายขึ้นมา ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ได้รับผลกระทบ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องอันตรายเพราะจะจัดทำกฎหมายที่กระทบต่อภาคธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสุขภาพแล้วต้องไปปรึกษากับบริษัทเหล้าหรือบุหรี่ ก็จะกลายเป็นเรื่องที่มีปัญหาขึ้นมา

ไพศาลกล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจก็สำคัญ ใน chapter 17 กำหนดว่ารัฐวิสาหกิจต้องไม่ได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าภาคเอกชน ดังนั้นหากเกิดกรณีการยาสูบแห่งประเทศไทยประสบภาวะขาดทุนจนต้องกู้เงินจากธนาคารของรัฐในอัตราพิเศษ หรือขอเงินอุดหนุนจากงบประมาณรัฐก็จะขัดกับ chapter นี้ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่ได้รับสิทธิพิเศษในการจำหน่ายยา เวชภัณฑ์แก่โรงพยาบาลรัฐ ก็จะขัด chapter นี้และอาจเกิดการฟ้องร้องได้

ผลกระทบของ CPTPP ต่อภาคการเกษตรกรรม

ด้าน มงคล ด้วงเขียว จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวถึงผลกระทบต่อภาคการเกษตรว่า CPTPP มีเงื่อนไขสำคัญคือ ถ้าประเทศใดเข้าร่วมเป็นสมาชิกจะต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 อย่างไม่มีข้อหลีกเลี่ยง ซึ่งที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรก็มีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ให้สอดคล้องกับ UPOV 1991 และหากเป็นไปตามนั้นจะเกิดผลกระทบคือเกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้ หากละเมิดจะมีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท

นอกจากนี้ สิ่งที่จะเกิดตามมาคือมีการขยายการผูกขาดเมล็ดพันธุ์มากขึ้น มีบริษัทพัฒนาเมล็ดพันธุ์มากขึ้น กฎหมายนี้กว้างครอบคลุมตั้งแต่ส่วนขยายพันธุ์ ผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากผลผลิตนั้นๆ อีกทั้งเป็นการเปิดช่องให้โจรสลัดชีวภาพในการใช้พันธุ์พืชท้องถิ่นโดยไม่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์

มงคลยังได้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน กับ UPOV 1991 ไว้หกประเด็นคือ

  1. พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ห้ามเฉพาะส่วนขยายพันธุ์ เช่น เมล็ด กิ่ง หน่อและส่วนอื่นๆ ที่ขยายพันธุ์ได้ แต่ UPOV 1991 ห้ามรวมไปถึงการผลิตและผลิตภัณฑ์ ไม่สามารถเอาผลผลิตไปขายหรือแปรรูปแล้วขายโดยไม่แบ่งผลกำไรแก่เจ้าของพันธุ์
  2. ระยะเวลาการคุ้มครอง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ให้เวลาคุ้มครอง 12 ปี สำหรับพันธุ์พืชที่ให้ผลหลังปลูกไม่เกินสองปี เช่นพืชล้มลุกซึ่งเป็นพืชส่วนใหญ่ที่คนไทยรับประทาน แต่ UPOV 1991 ขยายเป็น 20 ปี นักพัฒนาพันธุ์คนไทยที่อยากเอาไปพัฒนาสายพันธุ์ต่อก็ทำไม่ได้เพราะมีระยะเวลาคุ้มครองยาวนาน
  3. พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ให้สิทธิเกษตรกรเก็บส่วนขยายพันธุ์ของพืชไว้เพื่อขยายพันธุ์ต่อไปได้ แต่ UPOV 1991 ไม่สามารถทำได้ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากเจ้าของพันธุ์ทุกฤดูเพาะปลูก
  4. การนำเข้าส่งออก พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช สามารถนำเข้าส่งออกเพื่อขยายพันธุ์ได้ แต่ UPOV 1991 ทำไม่ได้ รวมถึงการนำเข้าส่งออกที่ไม่ใช่เพื่อการขยายพันธุ์ก็ต้องแบ่งผลประโยชน์ให้เจ้าของสายพันธุ์ด้วย
  5. ในสถานการณ์พิเศษ เช่น การขาดแคลนอาหาร พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เปิดช่องให้รัฐสามารถออกมาตรการเพื่อจำกัดสิทธิของเจ้าของพันธุ์ได้ แต่ UPOV 1991 ไม่มีข้อยกเว้นสิทธิใดๆ เลย
  6. พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ไม่รองรับพืชตัดต่อพันธุกรรม แต่ UPOV 1991 กำหนดให้ขอจดทะเบียนคุ้มครองพืชตัดต่อพันธุกรรมได้

“ทั้งหมดนี้คือผลกระทบต่อภาคเกษตรที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้นถ้าจะเข้าร่วม CPTPP และปฏิบัติตาม UPOV 1991 คนที่มีอำนาจต้องตัดสินใจให้รอบคอบ เปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริงไม่ใช่แค่ทำพอเป็นพิธี” มงคลกล่าว

ผลกระทบของ CPTPP ต่อทรัพย์สินทางปัญญา

ขณะที่ เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้ความเห็นว่า CPTPP มีประเด็นล่อแหลมที่ถูกชะลอเอาไว้ 20 ประเด็น ส่วนมากเป็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา แต่การชะลอไม่ใช่การยกเลิก จึงไม่มีอะไรรับประกันว่าหากสหรัฐสนใจกลับเข้าสู่การเจรจา ประเด็นที่ถูกชะลอไว้จะไม่ถูกนำกลับมาอีก

สำหรับประเด็นที่ถูกชะลอไว้และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ยังเป็นกังวลมีหลายประเด็น คือ

  1. สิ่งที่จดสิทธิบัตรได้ ใน TPP อนุญาตให้รวมถึงการใช้ใหม่ในยาเก่าหรือการรักษาใหม่ในยาเก่า เช่น ยา A รักษามะเร็งได้แล้วมาพบทีหลังว่ารักษาโรคเอดส์ได้ด้วย
  2. การขอขยายอายุสิทธิบัตรเดิม 20 ปีนับจากยื่นขอสิทธิบัตร แต่ TPP ต้องการขยายมากกว่านั้น โดยต้องขยายอายุความคุ้มครองชดเชยหากพิจารณาสิทธิบัตรล่าช้าเกินกว่าห้าปีหลังจากวันที่ยื่นคำขอ หรือล่าช้าเกินกว่าสามปีหลังจากวันที่ยื่นการตรวจสอบขั้นตอนการผลิต
  3. การขยายอายุสิทธิบัตรจากการอนุมัติให้วางตลาดล่าช้า TPP ขอให้ชดเชยความล่าช้าในการพิจารณาให้ทะเบียนยา โดยให้บวกเพิ่มอายุความคุ้มครองตามระยะเวลาที่ล่าช้า
  4. การผูกขาดข้อมูลทางยา ก็เป็นการขยายการผูกขาดอีกวิธีหนึ่ง TPP หลังสิทธิบัตรยานั้นหมดอายุแล้ว ไม่อนุญาตให้บริษัทยาชื่อสามัญมาใช้ข้อมูลยาต้นแบบในการผลิตยาซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันล่าช้า เช่น ในกลุ่มยาและเวชภัณฑ์ทั่วไปขอผูกขาดข้อมูลทางยาห้าปี หรือยาชีววัตถุขอคุ้มครองแปดปี เป็นต้น
  5. การเชื่อมโยงการขึ้นทะเบียนยากับสิทธิบัตร TPP ต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่รับขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญ หากยาต้นแบบตัวเดียวกันมีสิทธิบัตร หมายความว่าเมื่อมีบริษัทยาชื่อสามัญมาขอขึ้นทะเบียนยา อย. ทำหน้าที่ตรวจสอบด้วยว่ายานี้มีสิทธิบัตรหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่และภารกิจของ อย. แต่อย่างใด
  6. มาตรการชายแดน เช่นกรณีบริษัทยาชื่อสามัญต้องการส่งยาไปประเทศต่างๆ สิ่งที่ TPP ขยายเพิ่มขึ้นมาคือขอให้ศุลกากรยึดจับสินค้าที่อยู่ระหว่างการขนส่งเพียงเพราะต้องสงสัยว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งนี้ นอกจากเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกชะลอใน CPTPP แล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ถูกชะลอด้วย เช่น การห้ามไม่ให้เทียบเคียงราคายาเพื่อต่อรองราคาในการจัดซื้อยารวม เป็นต้น

โดยสรุปแล้วไม่มีหลักประกันว่า 20 ประเด็นที่ชะลอไว้จะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเจรจาใหม่และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาก็รุนแรงมาก จนระยะยาวส่งผลให้ราคายาแพงขึ้นจนระบบหลักประกันสุขภาพอาจแบกรับไม่ไหว ดังนั้นประเทศไทยไม่ควรเข้าร่วมในข้อตกลง CPTPP

เฉลิมศักดิ์กล่าว

การตัดสินใจด้วยระบอบประชาธิปไตย

ด้าน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มองว่า เป็นเรื่องน่าสนใจว่า มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กำลังสั่งทบทวนการเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP โดยให้เหตุผลว่า สถานการณ์เช่นนี้ ประเทศที่เศรษฐกิจมีขนาดเล็กกว่าอย่างมาเลเซียจะเสียเปรียบ แต่รัฐบาลไทยกลับประกาศนโยบายต้องเข้าร่วมให้ได้ปีนี้โดยใช้ข้อมูลที่ไม่มีความชัดเจน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์รับนโยบายมาจากรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจโดยที่ไม่ศึกษาข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้

กรรณิการ์ชี้ว่า กระทรวงพาณิชย์พยายามพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว เช่น บอกว่าประเด็นที่อ่อนไหวถูกตัดออกไปหมดแล้วทั้งที่ไม่เป็นความจริง และอ้างว่าไทยจะสามารถทำข้อยกเว้นเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกก่อนหน้า ซึ่งเป็นคำกล่าวที่เลื่อนลอย อีกทั้งยังไม่มีความแน่นอนว่าประเด็นอ่อนไหวที่ถูกตัดออกไปจะกลับมาหรือไม่หากสหรัฐเข้าร่วมเจรจา

“กระทรวงพาณิชย์ไม่พูดให้ชัดเจนว่าใน 11 ประเทศนั้น ไทยมีเอฟทีเอกับทั้งหมดเก้าประเทศแล้ว เหลือแค่เม็กซิโกและแคนาดาเท่านั้น ยิ่งไม่มีสหรัฐร่วมอยู่ด้วย ผลได้ของประเทศไทยก็ยิ่งน้อยลง ฉะนั้นการเข้าร่วม CPTPP นี้ ไทยอาจจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยนอกจากเป็นการเอาใจญี่ปุ่นเพื่อไม่ให้ความตกลงนี้ตายไปเท่านั้น” และกรรณิการ์ยังย้ำว่า

จุดยืนของ FTA Watch และภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเห็นว่าควรเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และควรทำหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเจรจาการค้าระหว่างประเทศกลับไปมีมาตรฐานและกระบวนการที่ดีดังเช่นมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ตัดกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ การทำงานวิชาการที่เป็นพื้นฐานข้อมูลในการเจรจาและการมีส่วนร่วมของฝ่ายนิติบัญญัติออกไปเกือบสิ้นเชิง

ขณะเดียวกันยังขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แสดงความกล้าหาญที่จะท้วงติงรัฐบาลในเรื่องนี้ ก่อนที่คนรุ่นต่อไปจะต้องมาตามแก้ปัญหาที่รัฐบาลอำนาจนิยมได้ทำไว้

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า