ก่อนอื่นต้องขออภัยที่คอลัมน์ ‘บ้านเรือนก็สิทธิของเรา’ เว้นระยะห่างจากตอนที่แล้วมากกว่าเดือน ด้วยสาเหตุสำคัญที่ผู้อ่านย่อมทราบดี นั่นคือ วิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำให้ผมไม่ค่อยมีสมาธิจะเขียนงานต่อเนื่องจากเรื่องคนเช่าที่อยู่อาศัย และคิดว่าผู้อ่านหลายท่านก็คงอยู่ในอารมณ์เดียวกัน วิตกว่าเราจะผ่านเรื่องนี้กันไปอย่างไร ผมจึงขอพักเรื่องบ้านเรือนมาเสนอมุมมองต่อวิกฤติโควิดจากแง่มุมความเหลื่อมล้ำทางสังคม
บ่อยครั้งที่ผมอภิปรายประเด็นคนจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคม แล้วจะต้องตอบคำถามทำนองว่า ผู้รับสารที่ผมสื่อ ส่วนใหญ่น่าจะเป็นชนชั้นกลาง ทำไมเขาจึงต้องมาสนใจเรื่องคนจนหรือเรื่องความเหลื่อมล้ำด้วย ผมมักจะตอบคำถามนี้ โดยยกเอาเนื้อหาของหนังสือ ราคาของความเหลื่อมล้ำ ที่ คุณสฤณี อาชวานันทกุล แปลจากหนังสือ The Price of Inequality (2012) ของ โจเซฟ อี. สติกลิตซ์ (Joseph E. Stiglitz) มาให้คำตอบ
ประเด็นที่น่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ก็คือ การชี้ชวนให้เห็นว่า ผลกระทบของความเหลื่อมล้ำไม่ได้ตกอยู่แต่เฉพาะกับคนจนหรือคนที่เสียเปรียบเท่านั้น แต่ผลกระทบจะตกอยู่กับคนทั้งสังคม รวมถึงบรรดาคนมั่งคั่งร่ำรวยต่างก็ได้รับผลกระทบทางลบไปด้วย สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสุดขั้วอย่างในลาตินอเมริกา จะมีความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างคนจนและคนรวยสูง สถิติอาชญากรรมสูง ลองนึกถึงสถานการณ์ที่คนรวยต้องมีบอดี้การ์ดส่งลูกไปโรงเรียนเพราะกลัวลูกจะถูกจับตัวไปเรียกค่าไถ่ ต่อให้รวยแค่ไหนหากต้องมีชีวิตท่ามกลางความหวาดระแวงเช่นนี้ก็ย่อมหาความสุขได้ยาก
ในทางเศรษฐกิจ สังคมที่เหลื่อมล้ำ ความมั่งคั่งกระจุกตัวในมือคนส่วนน้อยที่ถูกเรียกว่าคนแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่คนยากจนกระจายอยู่เต็มไปหมด ก็ย่อมกลายเป็นสังคมที่ขาดแคลนผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ เศรษฐกิจย่อมไม่อาจขยายตัวได้ เมื่อคนจนมีโอกาสทางการศึกษาน้อย บริษัทที่มั่งคั่งก็ย่อมหาพนักงานที่มีความสามารถสูงได้ยาก ความเหลื่อมล้ำยังทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง ดังที่สังคมไทยประสบมาเกิน 10 ปี เพราะคนจนกับคนรวยย่อมมีทัศนคติที่แตกต่างกันอย่างมากจนแทบหาจุดร่วมไม่ได้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผมนึกถึงประเด็น ‘ราคาของความเหลื่อมล้ำ’ ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะการจะยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ผู้คนทั้งสังคมจำเป็นต้องตระหนักว่า วิกฤตินี้ไม่อาจก้าวข้ามได้แบบตัวใครตัวมัน หากแต่ต้องช่วยกันหนุนเสริมให้คนอื่นๆ ในสังคมก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปด้วยกัน มิเช่นนั้น วิกฤติก็จะหวนกลับมาทำร้ายคนที่คิดว่า ป้องกันตัวเองได้แล้ว
หรือพูดให้เห็นภาพก็คือ ต่อให้คนที่มีการงานมั่นคง เปลี่ยนมาทำงานที่บ้านได้โดยไม่ถูกลดเงินเดือนและยังมีเงินเก็บสำรองแน่นหนา สามารถอยู่บ้านนานๆ เลี่ยงที่จะพบผู้ติดเชื้อได้ แต่หากการแพร่ระบาดของโควิดขยายเป็นวงกว้าง ต่อให้เรารอดอยู่ในบ้านตามลำพังก็ย่อมหลีกเลี่ยงผลกระทบอื่นๆ ได้ยาก เช่น งบประมาณที่รัฐต้องใช้ไปอย่างมากมายกับจำนวนคนป่วยที่เพิ่มมากขึ้น จนแทบไม่เหลืองบประมาณที่จะไปใช้จ่ายด้านอื่นๆ หากวิกฤติยืดเยื้อยาวนาน เศรษฐกิจก็ไม่อาจฟื้นตัวได้ในเวลาอันสั้น สักวันหนึ่งก็ต้องกระทบกับตัวเอง และหากสังคมไทยมีผู้ติดเชื้อมาก ย่อมส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก เพราะย่อมไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเสี่ยงมาเที่ยวประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สังคมไทยอาจติดหล่มเศรษฐกิจฟุบยาวได้
ดังนั้น การช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่อ่อนแอกว่าในสถานการณ์เช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องของการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความจำเป็นถึงขั้นที่ว่า หากคุณไม่รอด ฉันก็ไม่รอดด้วย หากโรคระบาดแพร่ไปในวงกว้าง ฉันก็ต้องเดือดร้อนไปด้วย
การช่วยกันไม่ให้การแพร่ระบาดกว้างออกไป จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่การจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ เราต้องกลับมาทำความเข้าใจและช่วยเหลือคนที่เปราะบางในสถานการณ์เช่นนี้ คนที่ยังจำเป็นต้องทำงาน ต้องออกนอกบ้าน เช่น คนขับแท็กซี่ที่มีข่าวว่า เขาต้องกักตัวเองด้วยการมาเช่าโรงแรมอยู่และหยุดขับรถ แต่ทำได้ไม่กี่วันก็ต้องออกมาขับรถหารายได้ เพราะภาระค่าส่งรถ และความจำเป็นที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกระจายเชื้อและส่งผลเสียหายขยายเป็นวงกว้าง
มนุษย์ทุกคนย่อมมีพื้นฐานร่วมกัน ไม่มีใครอยากป่วย ไม่มีใครอยากตาย แต่ปัญหาปากท้องของคนที่ทำงานรายวัน ไม่มีเงินเก็บ หากหยุดงานแล้วไม่มีรายได้ ไม่มีอะไรกิน แถมไม่ใช่ตัวคนเดียว มีลูกเมียต้องเลี้ยงดู คนที่อยู่ในสถานะเช่นนี้ ไม่อาจอยู่บ้านตามคำเรียกร้องของรัฐบาลได้
ผมมีโอกาสได้คุยกับคนในชุมชนแออัดที่คลองเตย ซึ่งทำงานเป็นแรงงานขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือ สถานการณ์แพร่ระบาดทำให้สินค้าที่มาจากจีนและประเทศอื่นๆ น้อยลงมาก ทำให้พวกเขาแทบไม่มีงานขนถ่ายสินค้า พี่ชายคนหนึ่งถึงกับตั้งใจระบายความเดือดร้อนให้ผมฟังว่า บ้านเขามีกัน 3 คน โดยมีเขาเป็นคนหาเงินเลี้ยงลูกและภรรยา ตอนนี้ไม่มีงานจนไม่มีเงินจะซื้ออะไรกินแล้ว เขาเล่าอย่างไม่อายว่า ทุกวันนี้ก็อยู่โดยอาศัยญาติๆ สงสารแบ่งข้าวให้กิน แต่เขาไม่อาจบากหน้าอาศัยข้าวบ้านอื่นกินไปได้หลายวันนัก เขาจำเป็นต้องดิ้นรนทำงาน
ดังนั้น หากรัฐบาลเรียกร้องให้คน ‘อยู่บ้าน’ รัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับพร้อมกันในทันที ดังตัวอย่างของหลายประเทศ เช่น อังกฤษ แคนาดา เดนมาร์ค และสิงคโปร์ ที่มีการจ่ายเงินให้กับพนักงานลูกจ้าง ในทันทีที่รัฐบาลมีมาตรการขอร้องให้ประชาชนในประเทศนั้นๆ อยู่บ้าน แต่ในไทย รัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยที่ประชาชนยังไม่รู้ว่า วันไหนที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ เรียกได้ว่า มาตรการช่วยเหลือมาไม่ทันกับคำขอร้องแกมบังคับให้คนอื่นอยู่บ้าน
การที่จะอยู่รอดได้ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงคนที่ไม่อยู่ในสถานะและเงื่อนไขที่จะทำงานที่บ้าน และต้องร่วมกันสื่อสารถึงรัฐบาลว่า ต้องช่วยคนกลุ่มนี้โดยเร็ว ให้เขาสามารถอยู่รอดได้ โดยไม่ต้องออกมาทำงาน โอกาสของการแพร่และกระจายเชื้อ จึงจะน้อยลง รวมถึงคนที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและจะต้องกักตัว 14 วัน รัฐบาลต้องมีเงินชดเชยการขาดรายได้ให้กับผู้ที่ถูกกักตัวและไม่มีเงินเดือนประจำ หากไม่มีการชดเชย ก็จะทำให้คนจำนวนหนึ่งเลี่ยงที่จะไปพบแพทย์ เพราะพวกเขากลัวว่า หากถูกกักตัวแล้วจะขาดรายได้ในระหว่างที่ต้องกักตัว หรืออย่างน้อย ต้องให้พวกเขาเข้าถึงการตรวจฟรีโดยเร็ว ให้รู้ว่ามีเชื้อไวรัสอยู่ในตัวหรือไม่
สังคมต้องช่วยกันผลักดันว่า การทุ่มงบประมาณกับการจำกัดการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การชดเชยรายได้สำหรับผู้ที่ต้องกักตัว หรือการตรวจหาเชื้อบุคคลที่มีความเสี่ยงอย่างน้อยก็มีต้นทุนที่ ‘ถูก’ กว่าการปล่อยให้สถานการณ์ลุกลาม มิเช่นนั้นจะเข้าทำนอง ‘เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย’ และจำเป็นต้องตระหนักให้หนักแน่นว่า สถานการณ์ขณะนี้ถ้าคนเล็กคนน้อยไม่สามารถอยู่รอดได้ ยังมีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อ และแพร่กระจายเชื้อ สังคมก็ไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดในวงกว้างได้
อย่างไรก็ดี ผมตระหนักถึงเงื่อนไขที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างประเทศต่างๆ ข้างต้นที่จ่ายเงินช่วยเหลือให้กับประชาชนในประเทศของตนอย่างรวดเร็ว เพราะประเทศเหล่านั้นมีระบบฐานข้อมูลแรงงานผู้เสียภาษีค่อนข้างกว้าง กับกรณีของไทยที่มีแรงงานนอกระบบจำนวนมากและรัฐแทบไม่มีฐานข้อมูลบุคคล นอกจากตัวเลขภาพรวมจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 ที่ว่า ประเทศไทยมีแรงงานรวม 37.5 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งคือ 20.5 ล้านคน หรือ 54.3 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร คือ 11.5 ล้านคน ส่วนที่อยู่นอกภาคเกษตร เช่น การค้า การบริการ และการผลิตรวมกัน 8.9 ล้านคน การไม่มีฐานข้อมูลของแรงงานนอกระบบ ทำให้การช่วยเหลือพวกเขาให้ตรงกลุ่มเป้าหมายเป็นไปอย่างล่าช้า
ยิ่งหน่วยงานอย่างกระทรวงการคลัง ที่ใช้ระบบบิ๊กเดต้า หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI – Artificial Intelligence) มาตรวจสอบว่า ข้อมูลที่ประชาชนกรอกเข้าไปนั้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งก็พอจะมีความจำเป็นสำหรับไม่ไห้เงินรั่วไหล แต่ปัญหาก็คือ กับคนที่กระทรวงการคลังไม่เคยมีฐานข้อมูลจะใช้เวลาพิจารณานานแค่ไหน และใครจะเป็นผู้ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจว่า ใครผ่านหรือไม่ผ่าน
อารมณ์ความรู้สึกของชาวบ้านตอนนี้ต่อเงิน 5,000 บาท เหมือนการซื้อหวย เพราะกรอกไปแล้วไม่ทราบว่าจะได้หรือไม่ได้ และหากไม่ได้จะสามารถไปร้องเรียนได้ที่ไหน ผมอยากเสนอว่า ไม่ควรให้การพิจารณาให้ความช่วยเหลือทำโดยรัฐฝ่ายเดียวและปราศจากการตรวจสอบ แต่ควรให้สังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย โดยการประกาศล่วงหน้าว่า จะมีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับการช่วยเหลือ พร้อมที่อยู่ คนในพื้นที่ใกล้เคียงจะได้ตรวจสอบได้ คนที่รู้ว่าตัวเองไม่มีสิทธิ ก็จะได้ไปขอถอนรายชื่อตัวเองก่อนจะถูกตรวจสอบ ผมถามคนจนในสลัมหลายคนว่า วิธีการนี้เหมือนกับการเปิดเผยรายชื่อว่าเราจน จะรู้สึกอายหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบไปในทางเดียวกันว่า ไม่อายเลย เพราะเป็นความจริงที่ลำบาก ตกงาน ไม่ได้ฉ้อโกงเงินหลวง
อย่างไรก็ดี เมื่อโลกเผชิญกับวิกฤตการณ์ ก็จะได้รับบทเรียนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น วิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจ (Great Depression) ของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1930s ทำให้เห็นความจำเป็นของการสร้างระบบประกันสังคมขึ้นในสหรัฐอเมริกา ความเสียหายของบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้รัฐบาลหลายประเทศทำโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (public housing)
ผมจึงหวังว่า วิกฤติโควิดจะทำให้รัฐไทย และทุกภาคส่วน ร่วมกันปฏิรูประบบสวัสดิการที่เข้าถึงแรงงานนอกระบบ เนื่องจากเราต้องยอมรับแรงงานกลุ่มนี้ เป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่ชีวิตและความอยู่รอดของพวกเขามีผลต่อความเป็นไปของสังคม
แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น สำหรับสถานการณ์เฉพาะหน้านี้ คนในรัฐบาลต้องคิดอย่างเชื่อมโยงก่อนว่า จำเป็นต้องช่วยคนข้างล่าง มิเช่นนั้นสังคมไทยจะผ่านวิกฤติโควิดไปไม่ได้
หากรัฐบาลคิดไม่ได้ ผมก็คงต้องเปลี่ยนความคาดหวังใหม่เป็นว่า สังคมไทยเราจะตาสว่างตื่นรู้ไปพร้อมๆ กันกับวิกฤติคราวนี้ว่า ระบอบประยุทธ์นี้ที่อาศัยกองทัพและระบบราชการที่เทอะทะรวมศูนย์นั้น ไร้ประสิทธิภาพเพียงใด เราจำเป็นต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้ได้รัฐบาลที่ตอบสนองกับปัญหาของประชาชนได้ดีกว่านี้ รัฐบาลที่ถูกตรวจสอบได้ง่ายกว่านี้