‘ทางม้าลาย’ ในสายตา 6 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

คดีตำรวจ คฝ. ขับรถจักรยานต์บิ๊กไบค์พุ่งชน ‘หมอกระต่าย’ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ด้วยความเร็วสูง จนทำให้หมอกระต่ายเสียชีวิตในเวลาต่อมา สร้างประเด็นถกเถียงขึ้นอย่างเผ็ดร้อนในโลกออนไลน์ หลายฝ่ายต่างออกมาแสดงความเห็น รวมถึงการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา เพื่อป้องกันเหตุสะเทือนใจในอนาคต 

ประเด็นหนึ่งที่แทบทุกฝ่ายเห็นพ้องกันคือ ทางม้าลายควรเป็นจุดปลอดภัยที่คุ้มครองสิทธิและอำนวยความสะดวกในการสัญจรของคนเดินเท้า

แม้ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองคนเดินข้ามถนนบนทางม้าลายบรรจุไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อาทิ ผู้ขับขี่รถจะต้องระมัดระวัง หากมีคนเดินข้ามถนนต้องหยุดรถให้คนเดินข้ามก่อน เมื่อเห็นทางม้าลายข้างหน้า ให้ชะลอความเร็วก่อนทุกครั้ง ห้ามเร่งคันเรงหรือแซงเด็ดขาดในระยะ 30 เมตร ห้ามจอดรถทับทางม้าลาย โดยนับจากเส้นไปก่อนและหลัง 3 เมตร ฯลฯ แต่อุบัติเหตุรถชนคนข้ามถนนก็ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ

เมื่อพิจารณาว่าหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวโดยตรง ลองไปดูว่าเหล่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เห็นปัญหาอะไรบ้าง และมีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ปรับปรุงทางม้าลาย 4,000 แห่งทั่วกรุง

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล เสนอว่าต้องคืนสิทธิการข้ามถนนอย่างปลอดภัยให้คนกรุงเทพฯ 

ผู้ว่าฯ กทม. ต้องดูแลความปลอดภัย ไม่ผลักภาระให้ประชาชนอย่างเดียว โดยการปรับปรุงทางม้าลาย 4,000 กว่าแห่งทั่วกรุงเทพฯ ติดตั้งสัญญาณไฟคนข้าม ติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว ทาสีตีเส้นให้ชัด วิโรจน์เห็นว่า งบประมาณที่ใช้ทำสัญญาณไฟคนข้ามและเส้นจราจรยังคงน้อยมาก โดยเฉพาะในจุดที่คนข้ามหนาแน่น ซึ่งสามารถเพิ่มงบส่วนนี้ได้เพื่อทำให้ทางข้ามปลอดภัยจริงๆ

เมื่อเกิดอุบัติเหตุ กทม. ซึ่งเป็นเจ้าของกล้องวงจรปิด สามารถรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้ตำรวจได้โดยไม่ต้องรอเจ้าทุกข์ พร้อมทั้งประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น  กองบัญชาการตำรวจจราจร บังคับใช้ พ.ร.บ.จราจรทางบก อย่างจริงจัง กทม. ยังต้องเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกรมขนส่งทางบกและกองบังคับการตำรวจจราจร ให้การทำผิดกฎจราจรมีผลต่อเนื่องในการสอบทำใบอนุญาตขับขี่

ใช้เทคโนโลยีสังคายนาทางม้าลาย

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

‘พี่เอ้’ ในฐานะอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และอดีตนายกสภาวิศวกร เสนอว่า กทม. ต้องมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ เพื่อไต่สวนหาความจริง ถอดบทเรียน และเสนอทางแก้อุบัติเหตุที่ต้นเหตุ ไม่ใช่เพียงแค่รู้ว่าใครชน คนนั้นรับผิดชอบ

สังคายนาทางม้าลายทั่วกรุงเทพฯ โดยผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่ใครก็ได้ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และต้องบังคับใช้กฎหมายจำกัดความเร็ว โดยหน้าโรงพยาบาลและโรงเรียนต้องขับไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และในเขตชุมชนต้องไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ขณะเดียวกันต้องดึงตัวแทนประชาชนผู้ใช้ถนนเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินความปลอดภัยบนท้องถนน (Road Safety Audit) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอบรมและมีใบอนุญาตตรวจสอบถนน

อย่างไรก็ดี ต่อให้ถนนดีแค่ไหน เทคโนโลยีล้ำขนาดไหน ก็ยังไม่สู้การปลูกฝังจิตสำนึกให้เคารพกฎจราจร ซึ่งต้องรณรงค์กันตั้งแต่เด็กเล็กๆ ในโรงเรียนอนุบาลสังกัด กทม.

จับ-ปรับ ออกใบสั่งถึงบ้าน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

เพราะเคยทำงานมา 1 สมัย พล.ต.อ.อัศวิน มองปัญหาทางม้าลายว่า ที่ผ่านมา กทม. ได้แก้ไขปรับปรุงทางม้าลายที่เป็นจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุแล้ว โดยการเพิ่มสัญลักษณ์เตือน เช่น ทาสีทางม้าลายให้เด่นชัดขึ้น ตีเส้นชะลอความเร็วแบบสั่นสะเทือน รวมถึงเพิ่มปุ่มกดสัญญาณไฟคนข้ามถนนในบริเวณทางข้ามและทางแยกหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกทางข้ามเป็นจุดปลอดภัยของคนเดินถนน พร้อมทั้งมีบริการไลน์ “@อัศวินคลายทุกข์” เป็นช่องทางให้ประชาชนร้องเรียนปัญหาที่พบเจอ อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนก็ยังไม่ดีขึ้น

อดีตผู้ว่าฯ กทม. มองว่า สาเหตุหลักของอุบัติเหตุมาจากจิตสำนึกของผู้ใช้ถนน แม้ทาง กทม. จะแก้ปัญหาทางกายภาพของระบบจราจรเป็นอย่างดี เพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ตัวอย่างเช่น แยกอโศกมนตรี “แต่ก็ยังมีคนขับรถบางส่วนที่เมินเฉยสัญลักษณ์เตือนของทางม้าลาย จงใจที่จะฝ่าฝืนกฎจราจร”

การแก้ปัญหาจึงต้องขยายการจับและปรับเพื่อเปลี่ยนจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนน โดยใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้น้อยลง อาทิ ใช้กล้องวงจรปิด AI จับภาพรถที่ยังจอดทับเส้น โดยกล้องจะสแกนแผ่นป้ายเลขทะเบียนอัตโนมัติ ส่งไปยังสถานีตำรวจ แล้วจึงออกใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ส่งถึงบ้าน วิธีการนี้จะทำให้ผู้ที่ชอบฝ่าฝืนกฎจราจรเกรงกลัว

ประชาชนต้องเป็นหูเป็นตา

รสนา โตสิตระกูล

นักรณรงค์ด้านสิทธิผู้บริโภคเสนอว่า ต้องมีกฎเหล็กลงโทษนักซิ่งชนคนบนทางม้าลาย เพราะนอกจากโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนซึ่งเป็นฮาร์ดแวร์แล้ว การปกป้องผู้ชีวิตคนเดินเท้าให้ปลอดภัยต้องมีส่วนที่เป็นซอฟต์แวร์ให้รถหยุด (ย้ำว่าซอฟต์แวร์ ไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์!) เช่น ระบบตัดคะแนนเมื่อขับรถผิดกฎจราจร เมาแล้วขับ ไม่หยุดรถตรงทางม้าลาย เมื่อคะแนนถูกตัดจนเลยเกณฑ์ที่กำหนดจะถูกยึดใบขับขี่ ต้องไปสอบใหม่ 

การพัฒนาบ้านเมืองที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับรถมากกว่าคนสัญจร รสนาจึงเสนอให้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะผู้ใช้งานถนนจริงย่อมรู้ดีว่าควรแก้ปัญหาอย่างไร นอกจากนี้ ประชาชนทุกคนต้องเป็นหูเป็นตา ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ของ กทม. สามารถถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียหรือระบบส่วนกลาง เพื่อลงโทษในกรณีพบคนไม่ทำตามกฎ

กวดขันวินัยจราจร

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ผู้สมัครที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีย้ำนโยบาย ‘ปลอดภัยดี’ 1 ในแนวนโยบาย ‘กรุงเทพฯ 9 ดี’ โดยมองปัญหาอุบัติเหตุบนทางม้าลายเป็น 2 ประเด็น คือ ลักษณะทางกายภาพของทางข้าม และวินัยจราจร

ประเด็นเรื่องลักษณะทางกายภาพ เป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของ กทม. ซึ่งต้อง

ปรับปรุงทางข้ามให้มีมาตรฐานปลอดภัย เพื่อคุ้มครองสิทธิพื้นฐานในการเดินเท้าของประชาชน ตัวอย่างเช่น กำหนดจุดหยุดรถ ทาสีให้ชัดเจน เพิ่มความกว้างของทางม้าลาย ติดตั้งไฟให้สว่าง มีสัญญาณไฟกระพริบ และติดตั้งกล้องวงจรปิด

อย่างไรก็ตาม หากจะแก้ปัญหาให้ถูกจุด ชัชชาติเห็นว่า ต้องกวดขันวินัยจราจรอย่างเคร่งครัด ตาม พ.ร.บ.จราจร พ.ศ. 2522 ซึ่งให้สิทธิ์คนข้ามถนนที่ทางม้าลายอย่างชัดเจน เช่น มาตรา 70  เมื่อเห็นทางม้าลาย ให้ชะลอความเร็วก่อนทุกครั้ง พร้อมทั้งบังคับใช้กฎหมายจำกัดความเร็วในเขตเมืองอย่างจริงจัง หากใครฝ่าฝืน ต้องลงโทษสถานหนัก ตั้งแต่จับ ปรับ จำคุก และยึดใบขับขี่

ทั้งนี้ การรณรงค์เรื่องวินัยจราจรอาจเริ่มจากกลุ่มเป้าหมายก่อน ได้แก่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 80,000 คัน ไรเดอร์รับส่งอาหาร คนขับรถสาธารณะ ฯลฯ เพราะทำได้ทันที แล้วจึงขยายผลสู่กลุ่มใหญ่ขึ้นต่อไป

ใช้เทคโนโลยีตำรวจจราจร AI

ศิธา ทิวารี

ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทยเสนอว่า กทม. ต้องเป็นพ่อบ้านสำคัญในการดูแลความปลอดภัยของคนเดินเท้า จะต้องติดตั้งไฟสัญญาณคนข้าม ไฟส่องสว่าง และที่ดักชะลอความเร็วเพิ่มเติม และกำหนดความเร็วในเขตเมือง โดยเฉพาะ ตลาด ชุมชน โรงเรียน 

ใช้เทคโนโลยีตำรวจจราจรแบบ AI เข้ามาช่วยแก้ปัญหา เช่น ระบบ Bangkok Eye ซึ่งช่วยประมวลข้อมูลส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในขณะเดียวกัน ประชาชนสามารถช่วยจับตาผู้ฝ่าฝืนโดยส่งรายงานผ่านแอปฯ มีโอกาสได้รับ Bangkok Token เป็นรางวัลในการทำดีให้สังคม และเป็นส่วนลดต่อไปในบริการและร้านที่ร่วมโครงการ

กทม. ต้องสนับสนุนให้มีการจับจริง ปรับจริง ในกรณีที่มีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจราจร และเร่งรณรงค์สร้างความเข้าใจกับผู้ใช้รถใช้ถนนให้เคารพกฎจราจร โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มิใช่แค่ช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์ เนื่องจากคนเดินเท้ามีสิทธิในการเดินบนเส้นทางเหนือรถทุกชนิด

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า