ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง: บัญชีหนังหมา บันทึกปรากฏการณ์ กปปส.

“ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้” 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราโชวาทข้างต้น ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม 2512 

วาทกรรม ‘ให้คนดีปกครองบ้านเมือง’ ทรงอิทธิพลต่อการเมืองไทยเรื่อยมา และพุ่งถึงขีดสุดในช่วงทศวรรษ 2550 เมื่อเกิดข้อครหาว่า ‘คนไม่ดี’ ได้เป็นรัฐบาล ปกครองบ้านเมืองด้วยความเป็นเผด็จการรัฐสภา ใช้นโยบายประชานิยมหลอกชาวบ้าน ทุจริตคอร์รัปชันแหลกลาญ ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมให้พวกพ้องตนเอง แถมยังคุกคามสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่รักของปวงชน

ร้อนถึงบรรดา ‘คนดี’ ผู้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ไม่อาจยอมทนรับสภาพการณ์เช่นนั้นได้ จึงต้องออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลคนชั่วลาออก และปฏิรูปประเทศไทยเพื่อให้คนดีได้กลับมาปกครองบ้านเมือง ขบวนการคนดีนั้นเป็นที่รู้จักในนาม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ซึ่งมี ‘ลุงกำนัน’ หรือ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวหอก

แม้กาลเวลาจะผ่านมาเกือบทศวรรษ แกนนำยุติบทบาท มวลชนสลายตัว บางส่วนกลับใจ บางส่วนไม่สนใจการเมืองอีกต่อไป แต่มรดกที่ขบวนการนกหวีดทิ้งเอาไว้ยังคงส่งผลต่อการเมืองไทยในรูปแบบ ‘ระบอบประยุทธ์’ ซึ่งถือเป็นรูปธรรมสูงสุดของการเมืองคนดี ทว่ากาลเวลาเองก็ท้าทายวาทกรรมดังกล่าวเช่นกัน หลักฐานการทุจริต การเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ความเป็นเผด็จการรัฐสภา และสารพัดข้อหาที่เคยมุ่งเป้าไปยังรัฐบาลคนเลว กลับปรากฏครบถ้วนทุกประเด็นในช่วงการบริหารของรัฐบาลคนดี

“คนดีที่เราสู้เพื่อให้เขาได้เข้ามาอยู่ในอำนาจ ก็ไม่ได้ดีอย่างที่เราคิด”

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไว้ในงานเปิดตัวหนังสือของตนที่ชื่อ ให้คนดีปกครองบ้านเมือง: การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย (2565) ช่วงบ่ายของวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 โดยมีผู้ร่วมวงเสวนา ได้แก่ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.สายชล สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานของประจักษ์มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ กปปส. ระหว่างปี 2556-2557 นอกจากเปรียบเสมือน ‘บัญชีหนังหมา’ คอยบันทึกว่า ใครทำและพูดอะไรเอาไว้ในช่วงเวลานั้น ประจักษ์ยังชำแหละอัตลักษณ์การเป็นคนดี และการเมืองแบบคุณธรรมที่พยายามป้ายสีคู่ตรงข้ามทางการเมืองให้กลายเป็น ‘คนชั่ว’ ราวกับไม่ใช่มนุษย์ และไม่อยู่ในขอบเขตของพื้นที่รับผิดชอบทางศีลธรรม

ที่มา: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 

ไม่มีใครผูกขาดความหมายของ ‘คนดี’ และ ‘ความดี’ ได้ตลอดไป

เกษียร เตชะพีระ เสนอว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 สังคมไทยเริ่มไม่ยอมรับอำนาจที่มาจากการสืบทอดทางสายเลือดแล้ว ผู้มีอำนาจจึงหันมาอ้างความชอบธรรมในนามของ ‘ความดี’ หรือก็คือความเป็นไทยกระแสหลัก ซึ่งเกษียรสรุปรวบยอดไว้ว่า

“คนไทยไม่ควรมีอำนาจเท่ากัน คนไทยบางคนควรมีอำนาจมากกว่าคนไทยคนอื่น เพียงเพราะพวกเขามีความเป็นไทยมากกว่า และเป็นคนดีมีศีลธรรมยิ่งกว่า เมืองไทยนี้ดีแล้วที่เป็นเช่นนี้”

การยึดมั่นถือมั่นในความดี แสดงออกอย่างชัดแจ้งที่สุดผ่าน กปปส. ในช่วงกลางทศวรรษ 2550 เกษียรยังเห็นว่า กปปส. สะท้อนความต่อเนื่องและมรดกทางความคิดที่หยั่งรากลึกของขบวนการอนุรักษนิยมไทยฉบับราชาชาตินิยม

“กปปส. แสดงได้อย่างสุดโต่งตามบทที่เขียนมาก่อนแล้ว เหมือนเราอ่านนิทานผีจนคุ้นเคย แล้วบัดเดี๋ยวนั้นได้เห็นผีโผล่ขึ้นจากหลุม”

แล้วอะไรคือความดี? และใครคือคนดี?

นักวิชาการบางคนอาจตีความลึกซึ้งด้วยการย้อนกลับไปอ่านพระไตรปิฎก แต่เกษียรไม่เชื่อว่า กปปส. จะ ‘อิน’ และเข้าใจหลักธรรมลึกซึ้งเช่นนั้น ในทางกลับกัน อัตลักษณ์คนดีของ กปปส. คือการอ้างอิงชุดศีลธรรมของพุทธศาสนาเพื่อนิยาม ‘พวกเรา’ (คนดี) และ ‘พวกเขา’ (คนเลว) มากกว่า

การกระทำหลายอย่างของ กปปส. เป็นสภาวะผิดปกติที่หลักการทางการเมืองและกฎหมายของระบบประชาธิปไตยไม่อนุญาต เช่น ปิดสถานที่ราชการ ใช้อาวุธสงคราม หรือขัดขวางการเลือกตั้ง หรือเรียกว่า ‘สภาวะยกเว้น’ (the state of exception) ตามแนวคิดของ จอร์จิโอ อากัมเบน (Giorgio Agamben) นักคิดชาวอิตาลี อย่างไรก็ตาม เกษียรเห็นว่า หากมองจากจุดยืนทางศีลธรรมแบบไทยๆ กปปส. กำลังทำเรื่องปกติที่สมควรทำอย่างยิ่ง เพื่อให้โลกการเมืองเบื้องต่ำกลับสู่ภาวะที่ควรจะเป็น และกลับเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่างหากที่ผิดศีลธรรมและโกงกินชาติบ้านเมือง

“กปปส. ไม่เห็นว่าสิ่งที่ตนเองทำเป็นสภาวะยกเว้นที่ผิดไปจากบรรทัดฐาน (norm) หรือผิดจากสภาวะปกติ (normal) กลับกัน มันเป็นปกติเสียยิ่งกว่าปกติ หรือ ‘อภิปกติ’ (metanorm) ด้วยซ้ำ 

“เพราะศีลธรรมของคนดีย่อมเหนือกว่า และเป็นตัวตัดสินความดี-ชั่วที่ศักดิ์สิทธิ์กว่ารัฐธรรมนูญและกติกาของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลชั่วใช้แอบอ้างปกป้องตัวเอง”

แต่เกษียรเตือนว่า การดึงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับทางโลก โดยเฉพาะโลกการเมือง นับเป็นอันตราย นำไปสู่ความคิดสุดโต่ง ไม่ประนีประนอม และต้องการแยกขาดความดี-ชั่ว ขาว-ดำ และยังสร้าง ‘พื้นที่ความรับผิดชอบทางศีลธรรม’ (universe of moral obligation) ขึ้นมา 

ภายใต้ขอบเขตนี้ มนุษย์มีพันธะทางศีลธรรมที่จะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเคารพและให้เกียรติในฐานะเพื่อนมนุษย์ ในทางกลับกัน ผู้ที่อยู่นอกพื้นที่นี้จะถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์ และใครก็ตามที่ท้าทายหรือสั่นคลอนระเบียบทางสังคม ความเชื่ออันดีงาม จะต้องเผชิญความรุนแรงทางศีลธรรม (virtuous violence) จากเหล่าคนดี เพราะเหตุนี้ “กปปส. จึงปฏิบัติกับคนที่อยู่ในพื้นที่ศีลธรรมเดียวกันเป็นอย่างดี ถึงคุณเป็นมือปืนป็อปคอร์น เขาก็พร้อมปฏิบัติอย่างมิตร”

อย่างไรก็ดี เกษียรข้อโต้แย้งประจักษ์บางประการว่า แท้จริงแล้ว ‘พวกเขา’ ไม่ได้อยู่นอกจักรวาลแห่งศีลธรรม แต่อยู่ร่วมเอกภพเดียวกันกับพวกเรา เพียงแต่พันธะทางศีลธรรมที่มีต่อพวกเราย่อมต่างจากพันธะที่มีต่อพวกเขา และเพราะอยู่ในปริมณฑลเดียวกัน การทำลายล้างคนเห็นต่างจึงเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมที่หากไม่ทำถือว่าเป็นบาป เกษียรเห็นว่า การตีความเช่นนี้จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่อง ‘ชังชาติ’ ได้ด้วย

“ถ้าเป็นชาวอบิสสิเนีย (Abyssinia) จะชังชาติไทยก็เรื่องของมึง แต่ถ้าเป็นคนไทย เราจะโกรธ ว่าทำไมมึงทำแบบนั้น การชังชาติจึงผิด และต้องถูกเล่นงานโดยผู้รักชาติ เพราะคนชังชาติอยู่ร่วมเอกภพแห่งพันธะศีลธรรมเดียวกันกับผู้รักชาติ”

เกษียรเสนอว่า วาทกรรมคนดีของ กปปส. มีพลังเป็น ‘เรื่องเล่าแม่บทเบ็ดเสร็จ’ (Totalizing Metanarrative) นั่นคือเป็นเรื่องเล่าทรงพลังที่ไม่เพียงให้ความชอบธรรมแก่คนบางจำพวก แต่ยังบังคับความหมายของวาทกรรมระดับรองอื่นๆ กดทับความหมายอื่นให้กลไกหรือเครื่องมือของมัน แม้กระทั่งความจริงความเท็จก็ถูกแปรเปลี่ยนได้ตามเรื่องเล่าแม่บทเบ็ดเสร็จนี้

ที่ผ่านมา สังคมไทยยังทนรับความหมายที่บิดพริ้ว ผิดเพี้ยน และเปลี่ยนแปลงได้เพราะการบังคับทางกฎหมายและการบังคับทางกายภาพ และความรุนแรงของรัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (อย่าง กปปส.) ซึ่งเรื่องเล่าแม่บทเบ็ดเสร็จเช่นนี้ทำให้สังคมไทยเกิดความโกลาหลทางความหมายและความล้มเหลวในการสื่อสาร คนในสังคมเดียวกันกลับไม่อาจเข้าใจความจริง ความเท็จ ความดี ความชั่ว เหมือนกันอีกแล้ว และนี่คือ ‘มรดกของนกหวีด’ ที่ไม่ได้จบในปี 2557 แต่ยังอยู่กับเราทุกวันนี้

ทว่าเรื่องเล่าแม่บทเบ็ดเสร็จไม่เคยเบ็ดเสร็จได้เต็มร้อย เกษียรมองเห็นความหวังว่า เรื่องเล่าของความดีเริ่มไม่กินใจคนรุ่นใหม่ๆ พวกเขาจะออกแสวงหาเรื่องเล่าอื่นๆ ในพื้นที่สังคมที่ซับซ้อน และย่อมมีซอกหลืบของความหมายที่กักเก็บเรื่องเล่ากระแสรองอยู่เสมอ แม้บางที่ถูกทำลาย แต่ที่ใหม่ก็ถูกสร้างขึ้นเสมอ

“ไม่มีใครสามารถผูกขาดความหมายของคำว่า ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ ได้ตลอดไปเพียงผู้เดียว”

คนดีไม่ได้ลอยลงมาจากท้องฟ้า: สำรวจบริบทอันซับซ้อนของวาทกรรมความดี

แม้เกษียรจะกล่าวชมหนังสือ ให้คนดีปกครองบ้างเมือง: การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย ของประจักษ์ ก้องกีรติ ที่สามารถหลอมรวมความเชี่ยวชาญด้านวิชาการและประสบการณ์วิจัยที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี แต่สายชล สัตยานุรักษ์ เห็นแย้งว่า ไม่จำเป็นต้องเปิดตัวหนังสือด้วยคำชม 

สายชลตั้งคำถามต่อประจักษ์อย่างแหลมคมว่า การเน้นเรื่อง ‘การเมืองคนดี’ จะช่วยให้เราเข้าใจ กปปส. (ที่มักถูกผูกโยงกับชนชั้นกลาง) ได้เพียงพอจริงหรือ แม้ขบวนการเคลื่อนไหวของ กปปส. จะเชิดชูวาทกรรมความดี แต่กระนั้น ความดีก็มีนิยามที่กว้างและหลากหลายมาก และทุกฝ่ายในสังคมการเมืองไทยต่างก็ผูกโยงกับความดีแทบทั้งสิ้น ไม่เว้นกระทั่งไอคอนฝ่ายประชาธิปไตยอย่าง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ซึ่งมองว่าการศึกษาคือวิธีการหล่อหลอมมนุษย์ให้เป็นคนดีและพลเมืองดี

“วาทกรรมคนดีเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสุเทพ เทือกสุบรรณ จากเดิมที่ไม่ค่อยดีนัก ให้กลายเป็นหัวหน้าคนดีที่สามารถนำคนดีอื่นๆ อีกเป็นแสนๆ ได้

“แต่เราต้องพิจารณาด้วยว่า กปปส. นิยามคนดีและคนชั่วอย่างไร และทำไมจึงให้ความหมายเช่นนั้น

“อาจารย์เกษียรตอบไปบ้างแล้วว่า ‘คนดี’ คือคนที่รักในความเป็นไทย แต่บริบทอะไรทำให้ต้องเน้นความดีในความหมายนี้ ศาสนามีส่วนสำคัญก็จริง แต่ยังมีความเป็นไทยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวด้วยไหม หนังสืออาจารย์ประจักษ์พูดถึงบริบทอื่นๆ น้อยเกินไป”

สายชลเสนอว่า เราอาจไม่เข้าใจการมองตัวเองเป็นคนดีของเหล่าชนชั้นกลางใน กปปส. ได้อย่างครบถ้วน หากปราศจากการพิจารณาสิ่งที่พวกเขานิยามว่าเป็น ‘ความเลว’ ตัวอย่างเช่น ทำไมพวกเขามองว่ารัฐบาลในขณะนั้นเป็น ‘คนเลว’ ข้ออ้างที่เขาใช้โจมตีนโยบายประชานิยม การคอร์รัปชัน หรือความเป็นเผด็จการรัฐสภา แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่ และมีที่มาจากฐานคิดแบบใด 

“ถ้าพิจารณาทั้งหมดนี้ เราอาจเข้าใจสิ่งที่พวกเขาทำได้มากหน่อย แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยเลยก็ตาม”

สายชลชี้ว่า หากเราไม่เข้าใจโลกทัศน์ของ กปปส. ว่ากำลังต่อต้านอะไรอยู่ เราก็อาจมองเห็นเพียง กปปส. ที่ต่อต้านฝ่ายประชาธิปไตย ขัดขวางการเลือกตั้ง และล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กปปส. จึงเลวมาก ให้อภัยไม่ได้ ไม่สมควรได้รับความเห็นอกเห็นใจ

“คำถามวิจัยของอาจารย์ประจักษ์อาจแคบไป และบีบคำตอบให้เราเข้าใจ กปปส. ในทิศทางเดียว จนลดทอนความซับซ้อนของชนชั้นกลางให้เหลือเพียงเรื่องการเมืองคนดี สุดท้ายคำตอบอาจเป็นว่า กปปส. ก็ไม่ได้เป็นคนดีจริงๆ หรอก แต่ถ้าคิดแบบนั้น ดิฉันไม่แน่ใจว่าเราเองกำลังจะทำเหมือนพวกเขาอยู่หรือเปล่า” 

สายชลเสนอว่า ระบบคิดของสังคมมนุษย์ซับซ้อนกว่านั้น ในวาทกรรมหนึ่งๆ ก็มีวาทกรรมรองๆ อีกมากที่อาจย้อนแย้งไม่ลงรอยกันได้ ตัวอย่างเช่นชนชั้นกลางกรุงเทพฯ อาจมองคนชนบทว่า ‘โง่ จน เจ็บ’ แต่ขณะเดียวกันก็มีภาพจำว่า ชีวิตในชนบทสงบสุข คนชนบทเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีวัฒนธรรมชุมชนที่ดีงาม แม้ภาพทั้งสองจะขัดแย้งกัน แต่ล้วนส่งผลให้ชนชั้นกลางต่อต้านสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า ‘ระบอบทักษิณ’ เพราะไปหลอกใช้ชาวบ้าน ซื้อเสียงชาวบ้านด้วยประชานิยม รวมถึงผลักให้คนชนบทเข้าสู่ระบบทุนนิยมสามานย์และวิถีชีวิตบริโภคนิยม จนละเลยวิถีชีวิตเดิมอันดีงาม

ในความเห็นของสายชลมองว่า การสำรวจบริบทและความซับซ้อนเหล่านี้อาจช่วยให้เราเข้าใจสังคมไทยขณะนั้นได้ดีขึ้น แทนที่จะดึงเอาบางส่วน เช่น เรื่องคนดี-คนเลว มาใช้ลอยๆ ยิ่งกว่านั้น การให้นิยามของความดีของกลุ่มคนหรือปัจเจกยังมีความกว้างและหลากหลาย แต่ทำไมบางเรื่องจึงถูกนำมาใช้และผลิตซ้ำอยู่เสมอ และบางความหมายก็ถูกลืม ปัจจัยอะไรที่เป็นเงื่อนไขให้นิยามบางอย่างถูกเลือกสรร แน่นอนว่า มันมีความต่อเนื่องทางความหมาย และมีการตอกย้ำความหมายเดิมเป็นระยะๆ ในขณะที่มีการเพิ่มเติมความหมายใหม่เข้าไปเสมอ ดังนั้นวาทกรรมคนดีจึงมีพลวัตสูงมาก เราจะเข้าใจพลังของมันได้ก็ต่อเมื่อพิจารณาบริบทที่มันถูกใช้ สายชลเห็นว่านักวิชาการจะต้องค้นคว้าเรื่องนี้กันต่อไป

“คนดีทำอะไรก็ได้” เมื่อความดีแทรกตัวในทุกอณูสังคมการเมือง

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง กล่าวถึงประเด็นน่าสนใจ 3 ประเด็น ได้แก่ หนึ่ง – รากความคิดของคนดี/ความดี สอง – การทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องของศีลธรรม และ สาม – มรดกของวาทกรรมความดี

ประเด็นแรก ความดีของคนไทยพุทธทั่วไปไม่น่ามาจากพระไตรปิฎก ไม่มีใครฟังคำพระขนาดนั้นแล้ว แต่อาจมาจากฆราวาสชื่อดังที่แปลงธรรมะมาเป็นแนวคิดทางโลกโดยผสมกับความรู้ทางตะวันตกที่ตนเรียนมา เช่น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือธานินทร์ กรัยวิเชียร หรือกระทั่งกระทรวงศึกษาธิการและสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐ

“เอกสารที่มีพลังในการอธิบายสังคมพุทธอาจไม่ใช่คัมภีร์ต้นฉบับ แต่เป็นการตีความชั้นรองๆ เพราะเชื่อมโยงกับสังคมมากกว่า”

เข็มทองเห็นว่า ความดีแบบไทยๆ ที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างสังคมแบบพีระมิด ผู้มีอำนาจอยู่บนยอด มีลำดับชั้นสูงต่ำ และมองคนไม่เท่ากัน ได้ซึมลึกในสังคมไทย พอแกนนำ กปปส. จับถูกจุดแล้วเอามาปราศรัย จึงสามารถ trigger (จุดชนวน) คนจำนวนมากให้ต้องออกมา ‘กู้ชาติ’ ในสังคมเช่นนี้ 

แม้ในพระไตรปิฎกจะต่อต้านความรุนแรง แต่ในพุทธมณฑลอื่นๆ เช่น พม่า ลังกา ก็มีกรณีเช่นว่า ฆ่าคนที่ไม่ใช่พุทธไม่บาป ความดีความเลวจึงไม่เคยมีสูตรตายตัว เมื่อมองคนไม่เท่ากัน ใครมีบารมีสูงสุดในจักรวาลแห่งศีลธรรมนั้นก็มีอำนาจชี้ขาดได้ 

ประเด็นต่อมา ทุกสิ่งที่บันทึกในหนังสือของประจักษ์ ตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้ายคือการกระทำผิดกฎหมายแทบทั้งสิ้น กล่าวได้ว่า ช่วง 6-7 เดือนที่ กปปส. ชุมนุม บ้านเมืองแทบจะไม่มีขื่อมีแป เพราะกฎหมายต้องหลีกทางให้กับศีลธรรม

เข็มทองเสนอว่า อุดมการณ์ของความดีเริ่มแทรกตัวเข้ามาชัดๆ หลังรัฐประหารปี 2549 ซึ่งต่างจากรัฐประหารครั้งก่อนๆ ที่เป็นการแย่งชิงอำนาจหรือทะเลาะกันในหมู่ผู้นำทหาร แต่รัฐประหารครั้งนั้นถูกน้อมนำด้วยความเชื่อว่าจะขจัดนักการเมืองที่คอร์รัปชันทางศีลธรรม 

แต่ปัญหาจะตามมาเมื่อเราทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องศีลธรรม (moralize) เข็มทองอธิบายว่า โดยทั่วไปกฎหมายเป็นเรื่องภววิสัย หรือ fact ล้วนๆ เช่น ผู้ใดฆ่าผู้อื่นจนถึงแก่ความตายต้องมีความผิด ไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือคนที่คุณฆ่าคือใคร แต่เมื่อปล่อยให้ศีลธรรมแทรกตัวเข้ามาในพรมแดนกฎหมาย จึงกลายเป็นว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่นจนถึงแก่ความตายต้องมีความผิด ยกเว้นคุณยืนอยู่ถูกฝั่ง

“เมื่อวาทกรรมคนดีแทรกเข้าไปในระบบกฎหมาย เราโยนหลักนิติศาสตร์ทิ้งหมดเลย โยนเกณฑ์ objective ทิ้ง แล้วใช้ subjective มาตัดสิน ว่าอะไรคือหมิ่นประมาท อะไรคือทำร้ายร่างกาย อะไรคือฆาตกรรม ต้องดูก่อนว่าทำไปเพื่อความดีหรือเปล่า

“เป็นคนดีทำอะไรก็ได้ ความดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำ แต่อยู่ที่ว่าคุณเชื่อในสิ่งที่ถูกหรือเปล่า”

ประเด็นสุดท้าย วาทกรรมความดีข้างต้นส่งมรดกทางลบแก่ฝ่ายอนุรักษนิยม เพราะเมื่อคนในจักรวาลศีลธรรมแห่งความดีทำอะไรก็ไม่ผิด ใครที่อยากทุจริต อยากเป็นมิจฉาชีพ ก็แสวงหาหนทางเข้าร่วมพื้นที่แห่งความดีนั้นเพื่อให้ลอยนวลพ้นผิด ปัจจุบันสภาพของเหล่าคนดีจึงดูไม่จืด และแทบไม่ต่างจากหุบเขาคนโฉด

“คนดีเหล่านั้นเป็นคนปากว่าตาขยิบ ในขณะที่ยังพูดถึงคุณธรรม คุณค่าที่เชื่อถือ และความเป็นไทย แต่สิ่งที่ตัวเองทำก็ขัดกับสิ่งที่พูดมาทั้งหมด แล้วมันก็มีหลักฐานชัดเจน เช่น หนังสือเล่มนี้ 

“หนังสือของอาจารย์ประจักษ์ บันทึกเหตุการณ์ร่วมสมัยอันแสนวุ่นวายและยังไม่สิ้นสุดลง ไม่ต่างจาก ‘บัญชีหนังหมา’ ที่จดจารว่า ใครพูดหรือทำอะไรเอาไว้บ้าง”

หากระบอบประชาธิปไตยลงหลักปักฐาน คนดีจะตกงาน

การชุมนุมของ กปปส. ช่วงปี 2556-2557 ถือเป็นโมเมนต์สำคัญของการเมืองไทยสมัยใหม่ที่สมควรได้รับการบันทึกไว้ เพราะหากไม่มีการเคลื่อนไหวที่ลากยาวแม้รัฐบาลจะลาออกแล้ว การขัดขวางการเลือกตั้ง และสร้างสภาวะสุญญากาศทางการเมืองของ กปปส. การรัฐประหารของ คสช. อาจเกิดขึ้นได้ยาก

แม้ กปปส. จะสลายตัวแล้ว แกนนำบางส่วนเลิกยุ่งการเมือง และผู้เข้าร่วมจำนวนมากกลับใจ แต่สำหรับประจักษ์ยังเห็นว่า ‘การเมืองคนดี’ อันเป็นมรดกทางการเมืองวัฒนธรรมที่ขบวนการนี้สร้างขึ้นและเปิดทางให้เกิด ‘ระบอบประยุทธ์’ ยังดำรงอยู่

“ผมไม่ได้ตั้งต้นจากการเมืองคนดี แต่สนใจความรุนแรงจากการขัดขวางเลือกตั้งในปี 2557 สมัยก่อนเราได้ยินข่าวนักการเมืองยิงกัน หัวคะแนนยิงกัน แต่ความรุนแรงเช่นนั้นไม่สร้างความเสียหายในวงกว้าง กระบวนการเลือกตั้งก็เดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ถูกทำลาย แต่ กปปส. เป็นปรากฏการณ์พิเศษที่เคลื่อนไหวในนามประชาชน แต่ปฏิเสธการเลือกตั้ง นอกจากตัวเองไม่เชื่อ ยังไปขัดขวางการใช้สิทธิของคนอื่น ตรงนี้คือความรุนแรงรูปแบบใหม่ที่ผมสนใจ และอยากรู้ว่าเขาอ้างความชอบธรรมอะไร

“นักวิชาการหลายคนใช้แนวคิดตะวันตกมาอธิบาย ทั้งคอนเซปต์ฟาสซิสต์ หรืออนุรักษนิยม แต่ผมว่า ไม่ช่วยให้เข้าใจเท่าไหร่ เพราะแนวร่วม กปปส. หลากหลาย มีกลุ่มที่ต้องการกระจายอำนาจ ต้องการปราบคอร์รัปชัน บางกลุ่มเข้าข่ายเสรีนิยมด้วยซ้ำ แต่ถ้าจะหาอัตลักษณ์ร่วมที่ยึดโยงขบวนการเคลื่อนไหวทั้งหมด ผมว่าการเมืองคนดีโดดเด่นที่สุดในขณะนั้น”

จากการเก็บข้อมูลผ่านคำปราศรัยบนเวทีของ กปปส. ประจักษ์พบว่า วาทกรรมคนดี/ความดีได้หยิบฉวยและเชื่อมโยงวาทกรรมอื่นๆ ในสังคมไทย เพื่อประโยชน์ของมัน อาทิ ราชาชาตินิยม พุทธแบบไทย ความไม่เสมอภาค และการมองคนไม่เท่ากัน แต่ถึงที่สุดแล้ววาทกรรมเหล่านี้ก็ไปด้วยกันกับประชาธิปไตยเสียงข้างมากไม่ได้

“เขาจะพูดกันว่า เสียงคนชนบท 15 ล้านคนที่ยัง ‘โง่ จน เจ็บ’ เป็นเสียงไม่มีคุณภาพ สู้เสียงของคนกรุงเทพฯ เพียง 300,000 คนไม่ได้ หรือคนส่วนใหญ่ยังไร้การศึกษา ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจึงควรจบปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ

“มีคำพูดว่า รักประชาธิปไตยต้องไม่ไปเลือกตั้ง มันย้อนแย้งมาก แต่ดันกลายเป็นเรื่องปกติ”

ประจักษ์เตือนว่า การเมืองเชิงศีลธรรม (moral politics) แบบนี้ค่อนข้างอันตราย เพราะเมื่อเปลี่ยนทุกสิ่งให้กลายเป็นขาว-ดำ ดี-ชั่ว ก็จะไม่เหลือพื้นที่ตรงกลางที่เปิดให้คนเห็นต่างได้เจรจา การเมืองสมัยใหม่จึงปฏิเสธการเอาศีลธรรมมาเกี่ยวข้อง และไม่สนใจว่านักการเมืองจะดีหรือชั่วอย่างไร แต่จะใช้ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ผู้นำใช้อำนาจและงบประมาณสาธารณะตามอำเภอใจ

“โดยพฤติกรรมส่วนตัว คุณอาจเป็นคนเคร่งศาสนาก็ได้ แต่เมื่อคุณมีอำนาจ คุณอาจใช้อำนาจออกนโยบายที่สร้างความเสียหายแก่สังคมหรือทำลายล้างชีวิตคนอื่นก็ได้

“คนดีที่เราสู้เพื่อให้เขาได้เข้ามาอยู่ในอำนาจ ก็ไม่ได้ดีอย่างที่เราคิด”

ดังนั้น การเมืองคนดีจึงสมควรถูกตอบโต้ด้วยการสร้างหลักการประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มีการตรวจสอบอำนาจของผู้แทนทางการเมืองอยู่เสมอ

“ผมเชื่อว่า ทุกสังคมไม่มีทางทำให้ทุกคนเห็นเหมือนกันหมดได้ อุดมการณ์มีหลายเฉด ความเชื่อมีหลายอย่าง การมีอนุรักษนิยมไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ผมสนับสนุนให้มีด้วยซ้ำ แต่อนุรักษนิยมในประเทศอื่นๆ เขายอมรับหลักการประชาธิปไตย ยอมอยู่ภายใต้กรอบของการถกเถียง คุณก็แค่เลือกพรรคการเมืองที่ตอบสนองนโยบายที่ต้องการ การเป็นอนุรักษนิยม คุณไม่จำเป็นต้องสนับสนุนการใช้ความรุนแรงเพื่อจัดการคนเห็นต่าง เพราะนั่นคืออำนาจนิยม”

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า