TAKEAWAYS:
-
แม้จะประกาศชัดเจนว่าจะยุติโครงการ DACA หรือ Deferred Action for Childhood Arrivals แต่ยังเหลืออีกหกดือนในการดูท่าทีของสภาคองเกรส ว่าจะออกกฎหมายมาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร หากคองเกรสไม่ดำเนินการใดๆ เท่ากับว่า เหล่านักล่าฝันกว่า 800,000 คนจะถูกปล่อยลอยแพเคว้งคว้างจริงๆ
-
บารัก โอบามา เป็นผู้ริเริ่มโครงการดังกล่าวจริง ซึ่งมีแนวคิดลักษณะเดียวกับ พ.ร.บ. DREAM (Development, Relief and Education for Alien Minors) ที่เคยถูกนำเสนอในปี 2001 แต่ไม่ได้รับการยินยอมจากสภาคองเกรส ณ เวลานั้น
-
ตลอดระยะเวลาของโครงการ DACA มีผู้ไม่ผ่านการตรวจสอบน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และโดยส่วนใหญ่ 75 เปอร์เซ็นต์ของผู้ยื่นสมัครเป็นชาวเม็กซิกัน
ภาพประกอบ: Antizeptic
หากลองมองย้อนกลับไปช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา จะพอจำได้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ เคยกล่าวไว้ว่าเขาจะฉีกโครงการ DACA ทิ้งทันทีที่เขาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และหมายมั่นไว้ว่า จะเนรเทศผู้ที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายกว่า 11 ล้านคนทั่วสหรัฐ แม้ตอนนั้นทรัมป์ยังเป็นแค่แคนดิเดต แต่ก็สามารถสร้างความหวาดกลัวให้กับเหล่าผู้อพยพเป็นที่เรียบร้อย
ภาพความสุดโต่งของทรัมป์ต่อผู้อพยพ เป็นสิ่งที่เห็นอยู่ต่อเนื่อง ทันทีที่ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เขายืนกรานที่จะสร้างกำแพงกั้นระหว่างชายแดนเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา เสนอออกกฎหมาย Travel Ban สั่งห้ามเจ็ดประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐ แม้ยังไม่เป็นรูปธรรมสักชิ้น แต่ความดื้อดึงของทรัมป์คือสิ่งที่ดูชัดเจนสุด แม้เขาประกาศว่าจะดำเนินการทุกอย่างด้วยความนุ่มนวลก็ตาม
และนี่คือความนุ่มนวลฉบับทรัมป์ เพราะวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา เขาได้แถลงต่อหน้าคองเกรสและพิมพ์ลงทวิตเตอร์ส่วนตัว (อีกแล้ว) ว่า จะยุติโครงการ DACA ถ้าคำพูดของทรัมป์เป็นจริง จะส่งผลให้เหล่านักล่าฝัน (DREAMers) ถูกลอยแพเกือบ 800,000 คน
DACA คืออะไร
DACA หรือ Deferred Action for Childhood Arrivals เป็นโครงการคุ้มครองเยาวชนวัยรุ่นซึ่งเป็นลูกหลานของผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐ ให้สามารถมีสิทธิในการทำงาน ศึกษาและอาศัยอยู่ในสหรัฐได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลโอบามาเมื่อปี 2012 ซึ่งก่อนที่พวกเขาจะได้ DACA จะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น เช่น การตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และต้องเป็นนักศึกษาอยู่หรือเรียนจบแล้วเท่านั้นจึงจะสมัครได้ หากผ่านการตรวจสอบแล้ว พวกเขาจะได้รับการคุ้มครองอยู่ในโครงการ DACA สองปี และต้องต่ออายุเรื่อยๆ โดยมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 495 ดอลลาร์
ใครคือนักล่าฝัน (DREAMers)
จำนวนคนที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองโครงการ DACA หรือที่เรียกกันว่า ‘นักล่าฝัน’ (DREAMers) จากตัวเลขที่ยืนยันแล้วมีอยู่ทั้งหมด 787,580 คน โดยคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าโครงการนี้คือ ต้องเดินทางมาสหรัฐก่อนปี 2007 ขณะมีอายุต่ำกว่า 15 ปี และต้องมีอายุไม่เกิน 31 ปี ในวันที่ 15 มิถุนายน 2012 ที่โครงการ DACA เริ่มต้น รวมถึงต้องไม่มีเอกสารยืนยันการอยู่อาศัยในสหรัฐ เป็นคนต่างด้าวหรือลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
ปัจจุบันนักล่าฝันรุ่นใหม่มีอายุตั้งแต่ 15-36 ปี ส่วนใหญ่มาจากเม็กซิโก เอกวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส และมักตั้งถิ่นฐานอยู่ใน แคลิฟอร์เนีย เท็กซัส ฟลอริดา และนิวยอร์ค
ทำไมถึงเรียกว่านักล่าฝัน (DREAMers)
จุดเริ่มต้นของนักล่าฝันมีที่มาจาก พ.ร.บ.DREAM หรือ Development, Relief and Education for Alien Minors ที่ไม่ผ่านสภาคองเกรสในปี 2001 โดยเสนอว่า ผู้ที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายตั้งแต่เด็ก สามารถมีโอกาสที่จะได้เลื่อนสถานะเป็นพลเมืองสหรัฐได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อไม่ผ่าน โอบามาจึงรื้อแผนออกมาปัดฝุ่นเขียนใหม่เป็นโครงการ DACA แทนในปี 2012
ทรัมป์ว่าอย่างไร
สัปดาห์ที่ผ่านมา ทรัมป์กล่าวกับเหล่านักล่าฝันที่แสดงความกังวลต่อสิ่งที่เขากำลังทำด้วยรอยยิ้มแบบทรัมป์ๆ ว่า
“ผมรักดรีมเมอร์ส”
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ทรัมป์จะกลับลำไม่ยกเลิกโครงการ DACA เพราะเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เขาได้ทวีตว่า
https://twitter.com/realDonaldTrump/status/905228667336499200
ในวันเดียวกัน เขายังแถลงต่อหน้าคองเกรสถึงสาเหตุที่ต้องดำเนินการเช่นนั้นว่า
“เราจะแก้ปัญหา DACA ด้วยหัวใจและความเมตตา แต่ก็ไม่ละทิ้งกระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันก็ต้องมั่นใจได้ว่าการปฏิรูปกฎหมายสำหรับผู้อพยพจะส่งผลดีต่อชาวอเมริกันที่เลือกเรา เราต้องมีหัวใจและความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ว่างงานชาวอเมริกันที่กำลังดิ้นรนรวมถึงชาวอเมริกันที่ถูกลืม”
อย่างไรก็ตาม ด้วยแรงกระเพื่อมรุนแรงกว่าที่ทรัมป์คาดไว้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กันยายน ทรัมป์ก็ได้ออกมาแสดงท่าทีผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวอีกครั้ง…
https://twitter.com/realDonaldTrump/status/905788459301908480?ref_src=twsrc%5Etfw&ref_url=https%3A%2F%2Fwww.nytimes.com%2F2017%2F09%2F07%2Fus%2Fpolitics%2Fpaul-ryan-daca-taxes.html
รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ด้านฝ่ายบริหารของทรัมป์ออกมายืนยันว่า โครงการนี้จะ ‘ถูกยุติ’ อย่างค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป โดยจะไม่มีการรับสมัครเพิ่ม ส่วนเหล่านักล่าฝันจะได้รับผลทันทีต่อจากนี้เป็นต้นไป
- เหล่านักล่าฝันที่มีมีเดดไลน์หมดอายุก่อนวันที่ 5 มีนาคม 2018 ซึ่งทรัมป์จะยุติโครงการ DACA อย่างเป็นทางการ มีเวลาหนึ่งเดือนในการขอยื่นต่ออายุรอบใหม่
- เหล่านักล่าฝันจะยังได้รับสิทธิเช่นเดิม จนกว่าครบวันหมดอายุ และสามารถต่ออายุได้ทุกสองปี
- ผู้ที่ยื่นสมัคร DACA ก่อนวันที่ 5 กันยายนจะได้รับการดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณาต่อไป
สรุปสั้นๆ หากโชคร้ายสุด นักล่าฝันบางคนต้องทิ้งฝันตัวเองและเดินทางกลับภูมิลำเนาในเดือนมีนาคม 2018 และหากโชคดีกว่านั้น บางคนอาจได้รับสิทธิคุ้มครองจนถึงปี 2020 โดยจากตัวเลขของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติสหรัฐ (US Citizenship and Immigration Services) คาดการณ์ว่า ในปี 2020 จะเหลือนักล่าฝันในสหรัฐเพียง 115,380 คน
ทำไมเพิ่งทำ
เมื่อไม่นานมานี้ อัยการผู้แทนรัฐ 10 แห่งในสหรัฐได้ยื่นข้อเสนอแก่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ยกเลิกโครงการ DACA พร้อมทิ้งคำขาดไว้คือ วันที่ 5 กันยายน
ข้อความของพวกเขาคือ: ยกเลิกโครงการ DACA เสีย หรือจะรอการท้าทายทางกฎหมายจากพวกเรา
การออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าว มาจากกลุ่มที่สนับสนุนการควบคุมผู้อพยพ จำกัดจำนวนผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยมองว่าโครงการดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับการนิรโทษกรรมสำหรับผู้ละเมิดกฎหมาย
ด้านกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อผู้อพยพแย้งว่า ทรัมป์กำลังทำสิ่งที่ผิดพลาด พร้อมทั้งออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินโครงการนี้ต่อไป
ใครสนับสนุน DACA
เสียงสนับสนุนนักล่าฝันมีตั้งแต่นักการเมืองพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเสียงสนับสนุนนี้จะไม่มากพอที่จะช่วยเปลี่ยนใจทรัมป์
พอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร จากพรรครีพับลิกัน ออกมากล่าวอย่างชัดเจนว่า เขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทรัมป์ทำอยู่ และคาดหวังว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวจะได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
ในวันเดียวกันกับที่ทรัมป์ได้ออกมาแถลงนั้นเอง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊ค ได้ออกมาโพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านหน้าเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า ช่างเป็นวันที่น่าเศร้าของอเมริกา และไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจยุติโครงการ DACA
เช่นเดียวกับ ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิล ออกมาทวีตว่า เขายินดีรับเหล่านักล่าฝันไว้ในอ้อมกอด หากรัฐบาลไม่ต้องการแรงงานเหล่านี้ สอดคล้องกับบริษัท Airbnb สตาร์ทอัพแบ่งปันห้องพักหรือบ้านให้เป็นที่พักแรมแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่า ไม่เห็นด้วยกับการยุติโครงการ และหากเหล่านักล่าฝันถูกขับไล่ออกไปจริงๆ Airbnb ยินดีที่จะจ้างงานพวกเขาแม้ใบอนุญาตการทำงานจะหมดอายุแล้วก็ตาม
มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วสหรัฐออกมาเขียนแถลงการณ์แสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยต่อการตัดสินใจของทรัมป์ครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนีย (University of Virginia) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) มหาวิทยาลัยโอไฮโอ (Ohio State University) มหาวิทยาลัยเคนต์สเตต (Kent State University) หรือมหาวิทยาลัยคลีฟแลนด์สเตต (Cleveland State University) เป็นต้น
ไม่เว้นแม้แต่เหล่าคนดังในแวดวงการบันเทิงที่ต่างออกมาให้กำลังใจและยืนเคียงข้างเหล่านักล่าฝันผ่านแอคเคาท์โซเชียลมีเดียส่วนตัว เช่น
https://twitter.com/TheChainsmokers/status/905493470911057920
I am here because of immigrants #HeretoStay
— marshmello (@marshmellomusic) September 6, 2017