ความทรงจำเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นนามธรรมล้ำค่า และเป็นสิ่งที่บอกกับเราได้เป็นอย่างดีว่าเราเติบโตมาอย่างไร ความทรงจำดีๆ มากมายในวัยเด็ก อาจกลายเป็นเบ้าหลอมให้มนุษย์ร่างเล็กจ้อยในวันนั้นเติบโตมาอย่างดีจนถึงวันนี้ ในขณะที่ความทรงจำเลวร้ายเพียงหนึ่งอาจทำให้เบ้าหลอมผิดรูป จากที่ควรจะเติบโตมาอย่างดี รู้ตัวอีกทีคงต้องบอกตัวเองว่า “แกเติบโตมาอย่างกี จากความทรงจำกีๆ สุดๆ เรยว่ะ”
ความทรงจำด้านลบ รุนแรงราวกับแผลฉกรรจ์ ยิ่งถ้าหากได้ย้อนมองกลับไปก็น่าสะท้อนใจตรงที่แม้แต่ความทรงจำดีๆ ก็ยากที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดนั้นได้ อีกหนึ่งเรื่องประหลาดคือ เราอาจจะเพิ่งมารู้ตัวทีหลังว่าสิ่งที่เราโดนกระทำมันคือสิ่งที่แย่ คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความทรงจำเลวร้ายเสมือนแผลเป็น และเพิ่งทำความเข้าใจได้ว่าก่อนหน้าที่มันจะกลายเป็นแผลเป็น มันเคยเป็นแผลที่เหวอะหวะมาก่อน
เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น…
ตัวอักษรที่ร้อยเรียงต่อกันหลายบรรทัดต่อจากนี้ ตั้งใจจะเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ความทรงจำกีๆ ในวัยเด็ก’ ของตัวเอง คงพอจะนิยามได้ว่าเป็นเรื่องราวที่การันตีการเติบโตมาอย่างกีของเรา เท่าที่นึกออกในช่วงเวลานี้ก็ไม่ได้มีมากมายอะไร แต่ความทรงจำนั้นยังคงฉายภาพชัดราวกับคุณภาพวิดีโอระดับ 4K ซึ่งถ้าในอนาคตมันชัดยิ่งกว่า 4K ก็มั่นใจว่าความทรงจำนี้ก็จะถูกอัปเดตความคมชัดตามไปด้วยตลอดเช่นกัน
ความทรงจำและประสบการณ์อันน่าสะอิดสะเอียน
ย้อนกลับไปช่วงวัยประถม วัยที่เหมือนจับตัวเองตอนนี้ย่อส่วนให้มีความสูงเกือบๆ 140 เซนติเมตร เราเป็นเด็กผู้หญิงที่รักการแสดงออก ชอบทำกิจกรรม เป็นนางรำตัวน้อยๆ ที่ขณะนั้นมั่นหน้ามั่นใจในตัวเองอยู่พอตัว ด้วยความที่เรียนรำมาตั้งแต่อนุบาล 2 และโดนจับให้ขึ้นแสดงไม่ว่าจะเป็นงานในหรือนอกโรงเรียน
นอกเหนือจากกิจกรรมของโรงเรียน เราก็ใช้ชีวิตธรรมดาแบบเด็กทั่วไป เรียนหนังสือ พักเที่ยงทานข้าว เล่นหมากเก็บ กระโดดหนังยางกับเพื่อนก่อนขึ้นเรียน เพื่อไปโดนครูบ่นว่า “เล่นกันจนเหงื่อแตกพลั่กๆ มันเหม็น”
ทว่าวันหนึ่งความธรรมดาก็ถูกความสับสนเข้ามาเจือปนผ่านพฤติกรรมของครูคนหนึ่ง ที่เราในวัยประมาณ 10-11 ปีวันนั้นให้คำตอบกับตัวเองไม่ได้ว่าคืออะไร โดยครั้งแรกเกิดจากการที่เราโดนหอมแก้มขณะนั่งเรียนวิชาที่ครูคนนี้สอน แปลความได้ว่าเหตุเกิดขึ้นในห้องเรียน ที่มีเด็กนักเรียนหลายสิบคนอยู่ภายในห้องด้วย มันมีแต่ความมึนงง สับสน ไม่สามารถเข้าใจได้
เหตุการณ์ต่อมา เกิดขึ้นในห้องเรียนเช่นเดียวกัน ขณะที่ทุกคนกำลังนั่งทำการบ้านในคาบ ครูคนนี้เดินเข้ามาประกบแผ่นหลังพร้อมกับยกฝ่ามือหยาบๆ ขึ้นมาลูบวนอยู่บนหัวไหล่ เปิดปากเอื้อนเอ่ยถ้อยคำที่พิจารณาอย่างไรก็ไม่น่าใช่บทสนทนาที่จะเอามาพูดกับเด็ก ป.4 ป.5
“มีประจำเดือนหรือยัง” และประโยคประหลาดอื่นๆ ที่ชวนสะอิดสะเอียน
ทันทีที่พูดจบ การกระทำที่ทรามกว่าคำพูดก็แผลงฤทธิ์ ครูคนนี้เรียกเราออกไปทำโทษหน้าห้อง ด้วยสาเหตุที่ว่าการบ้านไม่เสร็จ (จากการก่อกวนของครู) ฝ่ามือที่หยาบพอๆ กันกับความคิดจับมือเราขึ้นมาทำทีเป็นจะตี แล้วลูบตั้งแต่มือไล่ไปถึงต้นแขน จากนั้นตามสเต็ปพฤติกรรมแบบเดียวกับคนเล่นมุกตลกที่ไม่ได้รับการ educate จับมือผู้หญิงมาดมแล้วบอกว่ากลิ่นหอม แต่ที่น่าตลกร้ายกว่าคือสิ่งนี้เกิดขึ้นในโรงเรียน
‘เดาะ’ เป็นคำพูดติดหูที่พอแว่วเข้ามาในโสตประสาทเมื่อไหร่ มันจะลากความทรงจำน่าสะอิดสะเอียนตามมาด้วยทุกครั้ง และเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่จะว่ายวนอยู่ในอ่างความทรงจำไปอีกนาน กับครูคนเดิมที่จิตใจหมกมุ่นอยู่กับเรื่องประจำเดือนเด็ก (หรือกับรูปร่างที่ต้องเจริญเติบโตตามวัย)
“ใกล้มีประจำเดือนละมั้ง เริ่มเปลี่ยนแล้วนะ”
“ขอลอง ‘เดาะ’ หน่อย” พร้อมกับเอื้อมมาใต้หน้าอกแล้วทำอย่างที่ว่า (แค่เคาะปลายนิ้วลงบนแป้นพิมพ์เพื่อบอกเล่าเรื่องนี้ก็ขยะแขยงน่าดู) และทำพฤติกรรมแบบเดียวกันนี้กับเพื่อนคนอื่นๆ ที่กำลังซ้อมรำอยู่ข้างกัน
เราคงไม่เดียงสาเกินกว่าจะสะกิดบอกตัวเองให้รับรู้ได้ว่า พฤติกรรมลักษณะนี้ของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ครู’ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมอย่างไม่น่าให้อภัย และเราในวัยเพียง 10-11 ปี ที่ความไม่รู้มีมากพอๆ กับความไม่เดียงสา คงไม่ได้คาดคิดว่าการกระทำแบบนั้นจะกลายมาเป็นความทรงจำอันน่าสะอิดสะเอียนเมื่อหวนนึกถึงตัวเราเองในวัยประถม
อย่างไรก็แล้วแต่ ประสบการณ์ที่เราไม่พึงใจจะรับแต่ถูกยัดเยียดมาให้ สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่ามันทำให้เสียความมั่นใจ ไม่กล้าแสดงออกเท่าแต่ก่อน เริ่มเก็บตัว และสูญเสียความเป็นตัวเอง (อย่างน้อยก็ ณ ช่วงวัยนั้น)
ร่างกายนี้เป็นของเรา
กว่าจะรู้ว่าสิ่งที่คนคนนั้นกระทำ สามารถนิยามได้ว่า sexual harassment ก็ใช้เวลากว่า 10 ปี แต่ความไม่รู้ที่แปรเปลี่ยนมาเป็นรู้ ไม่ได้ทำให้ความทรงจำอันน่าสะอิดสะเอียนดูอภิรมย์ขึ้นมาแต่อย่างใด หนำซ้ำดูท่าจะน่าขนลุกและพะอืดพะอมกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ
พอจะสรุปให้กับตัวเองได้ว่า ด้วยความเป็น ‘เด็ก’ จึงไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมดว่า สิ่งที่คนอื่นกระทำต่อเราอันไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ด้วยความเป็นเด็กจึงยากที่จะจัดการกับความรู้สึกสับสนที่เกิดจากสัมผัสประหลาด และด้วยความเป็นเด็กจึงไม่กล้าหาญพอที่จะบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้แม้กับคนที่ไว้ใจมากๆ ก็ตาม
ความทรงจำที่แสนจะเฮงซวยนี้ ผ่านชั้นกรองทางความคิดของเรามาหลายชั้นตลอดหลายปี ถูกกระทุ้งด้วยการตื่นตัวในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศของสังคม และความพยายามสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายอย่างจริงจัง กระทั่งตกตะกอนได้ว่าร่างกายนี้เป็นของเรา เราเป็นเจ้าของ ต่อให้เราเป็นแค่เด็กก็ไม่มีใครสามารถมาถือสิทธินี้เหนือเราได้
มาถึงตรงนี้ทำให้เราได้เห็นแล้วว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างความตระหนักในเรื่องสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายตั้งแต่วัยเด็ก แต่สิ่งสำคัญที่สุดเห็นทีจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่รู้จักเคารพในร่างกายของคนอื่นให้เป็นบรรทัดฐานในวิถีชีวิตปกติ โดยไม่มีข้อยกเว้นว่าคนอื่นที่ว่านั้นเป็นเด็ก ยิ่งโดยเฉพาะกับบุคคลที่ต้องสวมบทบาทครู นี่จะเป็นบรรทัดฐาน ‘ขั้นต่ำ’ ที่ควรจะทำให้ได้ อย่างน้อยๆ จะได้ไม่ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความทรงจำกีๆ ที่จะส่งผลกับเด็กไปจนโตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง