‘ความตาย’ กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในสังคมปัจจุบันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่โซเชียลมีเดีย บางครั้งถูกเอ่ยถึงอย่างหวาดหวั่น บางคราถูกเรียกหาอย่างเป็นธรรมชาติ แต่การจัดการเรื่องความตายก็ยังเป็นภารกิจที่หลายภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
แม้เรื่องความตายจะถูกจุดกระแสขึ้นในสังคม แต่ก็ยังเป็นการพูดถึงเป็นส่วนๆ ไม่เชื่อมโยงกับความเป็นไปของสังคมปัจจุบัน อีกทั้งมุมมองของสังคมยังทำให้ความตายกลายเป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตคน ทั้งที่ในความเป็นจริง ความตายเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากการมีชีวิตในทางกายภาพของมนุษย์ได้ และไม่อาจจะออกแบบได้ด้วยนโยบายด้านใดเพียงด้านเดียว
การออกแบบอนาคตความตาย เป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาแลกเปลี่ยนในวงเสวนา ‘ภูมิทัศน์ของความเปราะบางในสังคมเอเชีย: สังคมสูงวัย–ทางเลือก ทางออก ว่าด้วยวาระท้ายของชีวิต’ โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อเปิดมุมมองต่อเรื่องความตายในพื้นที่สังคมไทย
การมีชีวิตยืนยาวในสังคมที่ปฏิเสธความตาย (Death-Denying Society)
เมื่อกล่าวถึงความตายในสังคมปัจจุบัน รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการวิจัย คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย (การตายในเมือง) ได้ให้ข้อเสนอเกี่ยวกับความตายในแง่สังคมวิทยา คือ การมีชีวิตอยู่ภายใต้แนวคิด ‘Death-Denying’ หรือการปฏิเสธการตาย ซึ่งสัมพันธ์กับการเติบโตของสังคมที่มีแนวความคิดทันสมัย (modernization) กล่าวคือ มนุษย์เองมีสำนึกทางสังคมที่เปลี่ยนไป (social mobilization) ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการให้คุณค่าในชีวิตของตัวเอง
คุณลักษณะเด่นของสังคมปฏิเสธความตาย คือการหาความหมายของชีวิตผ่านอุดมการณ์ การมีลมหายใจอยู่เพื่อเสาะแสวงความหมายเหล่านั้นจึงสำคัญกว่าการยอมจำนนต่อสภาวะไร้ลมหายใจ ความตายในสังคมประเภทนี้จึงกลายเป็นสิ่งที่ถูกโยนทิ้งไว้ข้างหลัง
ไม่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในระดับสากลยังสนับสนุนให้มนุษย์หันหลังให้กับความตายอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเมืองกับการตาย
รศ.ดร.ภาวิกา ระบุว่า การกำหนดนโยบายทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ล้วนส่งผลโดยตรงต่อระบบการใช้ชีวิตของผู้คน ดังนั้น การเลือกที่จะอยู่หรือตายของคนจึงไม่อาจจะแยกออกจากความเป็นเมืองและความเป็นสังคมได้เลย
นอกจากนี้ รศ.ดร.ภาวิกา ยังได้อธิบายถึงปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนสังคมปฏิเสธความตายซึ่งมีความสอดคล้องกันในเชิงกระบวนการ โดยจะปรากฏขึ้นในช่วงก่อนตาย (dying) ช่วงหลังตาย (death) และการจัดการสิ่งหลงเหลือ (disposal) โดยมีปัจจัยหลักเป็นการพัฒนาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กล่าวคือ การพัฒนาของการแพทย์ปัจจุบัน ทำให้มนุษย์เอาชีวิตรอดในช่วง dying ได้มากขึ้น ทั้งยังเพิ่มช่องทางขยายอายุขัย ส่งผลให้มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น ภายใต้สภาวะร่างกายที่ได้รับการกระตุ้นจากเทคโนโลยีส่งเสริมสุขภาพ เมื่อเข้าสู่ช่วง death เทคโนโลยียังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในกระบวนการดูแล เคลื่อนย้าย และจัดการศพ ไปจนถึงการจัดการสินทรัพย์และคำสั่งเสียในช่วง disposal ซึ่งเป็นกระบวนการสุดท้ายของการตาย
ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจัยประกอบอื่นๆ ในสังคมอย่างการเสื่อมศรัทธาในสถาบันศาสนา รวมถึงการเสื่อมคลายของประเพณีนิยมอันเกี่ยวข้องกับความตาย ก็ทำให้การตายกลายเป็นเรื่องเล็กลง และถูกมองผ่านได้ง่ายขึ้นกว่าสังคมในอดีต
เมื่อสามารถใช้ความรู้ปัจจุบันรับมือกับภาวะก่อนตายได้ ความหวังของการมีชีวิตจึงมากขึ้นเช่นกัน
อยู่นานด้วยการยื้อ ข้อถกเถียงบนศีลธรรมและเสรีภาพในการตาย
ปัจจุบัน เงื่อนไขของการมีชีวิตยืนยาวมักพ่วงมาด้วยค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และการใช้บริการเทคโนโลยีส่งเสริมสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อมนุษย์คาดหวังที่จะมีชีวิตยืนยาว ก็ทำให้องค์กรด้านวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องพัฒนาและค้นคว้าหาข้อมูลที่ดีกว่าอยู่ตลอดเวลา เพื่อเอาชนะโรคระบาดและอาการเจ็บป่วยที่พร้อมอุบัติขึ้นใหม่ในอนาคต
ความพยายามเอาชนะธรรมชาติอาจสำเร็จผลในวงการแพทย์สุขภาพ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่อาจจะเอาชนะความตายอันเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาของมนุษย์ได้ ซึ่งในมุมมองทางการแพทย์แล้ว ศ.นพ.ยิ่งยศ อวิหิงสานนท์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า หนทางเพื่อการรักษาและเยียวยาผู้ป่วยนำมาซึ่งข้อจำกัดบางอย่างในเวลาเดียวกัน เพราะกระบวนการทางการแพทย์จำเป็นต้องจัดสรรอุปกรณ์ บุคลากร รวมไปถึงงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เพียงพอต่อการรักษา ทำให้การรักษาเพื่อยื้อชีวิต กลายเป็นการรักษาที่ต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อประคองให้ผู้ป่วยที่กำลังโคม่ากลับมามีอาการคงที่ แต่ก็ไม่อาจก้าวไปสู่อาการที่ดีขึ้นจนหายขาดได้ นั่นทำให้โรงพยาบาลจำเป็นต้องแบกรับภาระที่มากขึ้น และส่งผลกระทบไปถึงภาพรวมการทำงานของโรงพยาบาลในระยะยาว
ขณะเดียวกัน ศ.ดร.ฉันทนา หวันแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ให้ความเห็นถึงความพยายามรักษาชีวิตในทางการแพทย์ว่ามีความซับซ้อน โดยเฉพาะเมื่อถูกเคลือบไว้ด้วยมุมมองทางศีลธรรมและจรรยาบรรณแพทย์
ในมุมมองของรัฐศาสตร์ การช่วยชีวิตกับความพยายามยื้อชีวิตคนไข้จากความตายนั้นใกล้เคียงกันจนแทบแยกไม่ออกในแง่กระบวนการ หากแต่ในสังคมปัจจุบันที่ประชาชนมีความเป็นปัจเจกและมองเห็นสิทธิในร่างกายของตัวเอง การมีสิทธิกำหนดความเป็นความตายของตัวเองกลายเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น นำมาสู่ข้อถกเถียงว่า แท้จริงแล้วการยินยอมเข้ารับหรือไม่รับการรักษาทางการแพทย์ในสภาวะคับขันเป็นอำนาจการตัดสินใจของใคร ในขณะเดียวกัน สังคมได้กำหนดทางเลือกอื่นๆ ไว้เพื่อหาทางออกเรื่องการอยู่และการตายในลักษณะนี้หรือไม่
เมื่อมองให้ลึกไปถึงการให้ความหมายด้านมนุษยธรรม ยังพบว่าแม้การเผชิญความตายโดยยินยอมพร้อมใจของผู้ป่วยเองจะเป็นทางเลือกที่ควรทำความเข้าใจและยอมรับได้ แต่ในบางค่านิยมก็ยังถือเป็นการคร่าชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งไม่อาจถูกยอมรับได้ในกลุ่มสังคมนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ฉันทนา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการเพื่อมีชีวิตที่ยืนยาว โดยเฉพาะการรับบริการทางการแพทย์นั้นยังคงเป็นบริการที่มีค่าใช้จ่าย สำหรับสังคมไทยที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำระดับสูงจึงเท่ากับว่าไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่จะสามารถเข้าการรับการรักษาดังกล่าวได้ แนวทางเพื่อชีวิตที่ยืนยาวจึงอาจเป็นเพียงสิทธิพิเศษ (privilege) ของคนบางกลุ่มเท่านั้น
อะไรคือ ‘ตายดี’ ในทางเลือกของสังคมสมัยใหม่
แม้ความพยายามจะมีชีวิตของมนุษย์จะได้รับการยอมรับและถูกกระตุ้นผ่านปัจจัยรอบตัว แต่เมื่อวิทยาศาสตร์และการแพทย์ยังไม่อาจอยู่ยืนยาวเหนือความตาย อีกทั้งวิธีการยืดอายุอาจแฝงมาด้วยค่าใช้จ่าย ความปรารถนาในการตายที่ดีจึงเป็นเสมือนความคาดหวังลำดับสุดท้ายในบั้นปลายของมนุษย์ปัจจุบัน
เมื่อไม่อยากตายก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้ไม่ตาย แต่หากถึงคราวต้องตาย ความตายที่มนุษย์คาดหวังจะมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
รศ.ดร.ภาวิกา ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการ ‘ตายดี’ ในสังคมไทยที่ยึดโยงอยู่กับหลักการของศาสนาพุทธอย่างการ ‘สู่สุขคติ’ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังการล่วงลับของผู้ตาย
ทั้งนี้ การสู่สุคติมีองค์ประกอบอยู่หลายประการ ทั้งเรื่องของการปล่อยวางซึ่งภาระทางกายและทางใจก่อนเสียชีวิต การประมวลผลบุญที่เคยทำเมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ รวมไปถึงการได้รับการประกอบพิธีกรรมและแบ่งปันส่วนบุญจากผู้อื่นหลังการเสียชีวิต ซึ่งอาจไม่สามารถอธิบายอย่างเป็นรูปธรรมได้ดีนัก
ช่องโหว่ดังกล่าวจึงกลายเป็นคำถามจากผู้คนในสังคมสมัยใหม่ว่า การตายดีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากสภาพความเป็นอยู่ตอนมีชีวิตไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่า ‘ดี’ ตั้งแต่แรก
ข้อถกเถียงนี้ถูกตีความผ่านองค์ความรู้ในหลากทรรศนะ โดย รศ.ดร.ภาวิกา ให้ความเห็นเชิงสังคมวิทยาว่า มนุษย์ในปัจจุบันมองว่า การค้นพบคุณค่าในชีวิตและประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาจะนำไปสู่การดับชีวิตลงอย่างเป็นสุข ดังนั้น การตายดีจึงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในช่วงชราภาพ และไม่จำเป็นต้องเป็นการตายตามธรรมชาติ ในขณะที่ ศ.ดร.ฉันทนา มองว่า ทางเลือกการตายดีซึ่งมาจากการตัดสินใจอย่างเสรีของคนปัจจุบัน ยังเป็นสิ่งที่สังคมต้องทำความเข้าใจและยอมรับร่วมกัน
ตัวแทนมุมมองด้านการแพทย์อย่าง นพ.ยิ่งยศ กล่าวว่า การตายดีเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและให้ความหมายได้ยาก แม้กระทั่งภาวะการเสียชีวิตอย่างสมบูรณ์ก็ไม่อาจสรุปอย่างชัดเจนได้ว่าเป็นการตายที่ดีหรือไม่ หากแต่สิ่งที่การแพทย์ให้การยอมรับเพื่อให้ประชาชนสามารถมีบั้นปลายที่ดีขึ้นได้ คือการพยายามหาทางเพื่อเอาชนะโรคร้ายและสร้างภาวะสุขภาพที่ดีให้กับผู้ป่วย
แม้การตายดีจะมีองค์ประกอบที่หลากหลายและเป็นปัจเจก แต่ รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นแขนงที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรโดยตรง มีความเห็นว่า การออกแบบการตายเพื่อนำไปสู่การตายดี จำเป็นต้องพิจารณาข้อจำกัดที่ปรากฏตั้งแต่ตอนที่ยังมีลมหายใจ ซึ่งเป็นปัจจัยด้านสุขภาพ การเงิน เวลา พื้นที่ กฎหมายที่รองรับการตาย เทคโนโลยีการยืดชีวิต แม้กระทั่งความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะมีผลต่อความพร้อมในการตาย รวมไปถึงการคาดคะเนผลกระทบอื่นๆ ที่อาจตามมาภายหลังการเสียชีวิต
โดยสรุปแล้ว บริบทของการตายอันหลากหลาย ทั้งการอยากตาย การไม่อยากตาย ทางเลือกการตาย และการให้ความหมายการตายที่ดี ล้วนมีความซับซ้อนและท้าทายสังคม เพราะความตายในปัจจุบันอาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับหลายคน ขณะเดียวกันก็อาจเป็นทางออกเดียวสำหรับใครอีกหลายคน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ในการประมวลองค์ความรู้ที่หลากหลาย และสร้างความเข้าอกเข้าใจในเชิงจิตภาวะ เพื่อออกแบบอนาคตของการตายสำหรับสังคมไทย
อ้างอิง
คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โครงการย่อยที่ 6 – การตายในเมือง