ถอดรหัสความรุนแรงในสังคมไทย: สันติวิธีในทางปฏิบัติ กับความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมาย

งานสัมมนาวิชาการ ‘ถอดรหัสความรุนแรงในสังคมไทย: รัฐ สื่อ สังคม และระบบกฎหมาย’ ในวันที่ 29 สิงหาคม 2566 จัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนองานศึกษาวิจัยในหัวข้อ ‘สันติวิธีในทางปฏิบัติ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง’ บนการตั้งข้อสังเกตว่า งานศึกษาเรื่องสันติวิธีในทางปฏิบัติที่ผ่านมานั้นมีค่อนข้างจำกัด และมักเป็นงานเชิงบรรทัดฐาน หรืองานเชิงอุดมคติ มากกว่าจะเป็นการศึกษาการเคลื่อนไหวในเชิงปฏิบัติ

จากบริบทสถานการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย ทำให้เกิดคำถามถึงคำจำกัดความของ ‘สันติวิธี’ ว่ารูปแบบไหนที่เรียกว่าสันติ แบบไหนที่ข้ามเส้นสันติไป เช่น การสาดสี อีกทั้งนักเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งยังมองว่า ในทางปฏิบัติสันติวิธีมักไม่ค่อยได้ผลลัพธ์ตามต้องการ จึงตั้งคำถามว่าเป็นแนวทางที่ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ หรือควรปรับรูปแบบการเคลื่อนไหว

คำถามหลักของ รศ.ดร.บุญเลิศ จึงมุ่งไปที่ 1) การตั้งคำถามถึงคำจำกัดความของสันติวิธี ทั้งในกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวหลายกลุ่ม ทั้งในฝั่งภาครัฐ ภาคสื่อสารมวลชน และประชาชนทั่วไป และ 2) เงื่อนไขปัจจัยที่ส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อการใช้สันติวิธีคืออะไร ซึ่งโดยทั่วไปการชุมนุมมักเริ่มจากสันติ แต่เมื่อมีสิ่งกระตุ้นก็อาจทำให้เกิดการยกระดับการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นส่วนย่อยของขบวนการ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวหลัก

ปรับกรอบความคิดจาก ‘สันติวิธี’ สู่ ‘ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง’

รศ.ดร.บุญเลิศ เสนอเรื่องการขยายกรอบของคำว่า สันติวิธี ด้วยการแก้หรือปรับมาใช้คำว่า ‘ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง’ (nonviolent action) ซึ่งอ้างอิงจากงานศึกษาของ ยีน ชาร์ป (Gene Sharp) นักวิชาการด้านสันติวิธีชาวอเมริกัน และอีกคำหนึ่งคือ ‘การต่อต้านอย่างมีอารยะ’ (civil resistance) โดย เอริกา เชโนเวธ (Erica Chenoweth) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ซึ่งหมายถึง การไม่ใช้ความรุนแรงเชิงกายภาพต่อผู้คน ตรงกันข้ามกับการใช้ความรุนแรงเพื่อมุ่งหวังให้เกิดความบาดเจ็บ สังหาร ทำลายล้าง หรือสร้างความสะพรึงกลัว

รศ.ดร.บุญเลิศ อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อพูดถึงสันติวิธี คนจำนวนมากในสังคมมักให้คำนิยามในลักษณะแบบเดียวกับคำว่า ‘อหิงสา’ ตามแนวทางของมหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) เช่น การอดอาหาร นั่งเฉยไม่ตอบโต้แม้ถูกกระทำ แต่ที่จริงแล้ว คำว่า ‘ปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง’ นั้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการกระทำใดๆ หรืออยู่เฉยๆ แต่หมายรวมถึงรูปแบบการกระทำต่างๆ นานาที่ไม่ใช้ความรุนแรง หรืออาจใช้คำว่า การต่อต้านอย่างมีอารยะ หรือ civil resistance ก็ได้เช่นกัน

ที่สำคัญ มันไม่ได้มีนัยยะในด้านการวัดคุณค่าเชิงศีลธรรมของการกระทำนั้นๆ แต่ว่าเป็นเหตุผลในแง่ของยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน ซึ่งมีผลต่อความชอบธรรมและเป็นแต้มต่อของขบวนการเคลื่อนไหว เพื่อให้รัฐไม่สามารถอ้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงปราบปราม เพราะหากรัฐใช้ความรุนแรงจัดการกับผู้ประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรง ย่อมทำให้เกิดการ backfire หรือกระแสตีกลับไปที่ตัวรัฐเอง

กับคำถามว่า โดยปกติแล้วกลุ่มผู้ชุมนุมมักเริ่มต้นด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง แต่เหตุผลอะไรที่ทำให้การชุมนุมเกิดการยกระดับ และใช้ความรุนแรงตามมา รศ.ดร.บุญเลิศ กล่าวว่า ในมุมมองของนักเคลื่อนไหวอาจมีความเข้าใจว่า การชุมนุมที่ไม่ใช้ความรุนแรงมีแนวโน้มจะยืดเยื้อ และรู้สึกว่าอาจไม่ได้ผลตามที่คาด รวมถึงเชื่อว่าการชุมนุมอาจไม่ได้รับความสนใจจากสังคม จึงจำเป็นต้องยกระดับ เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐ และเรียกร้องความสนใจจากสังคมมากขึ้น

อีกปัจจัยคือ การถูกกระทำโดยรัฐที่ไม่ยุติธรรม กระตุ้นให้ผู้ชุมนุมรู้สึกจำเป็นต้องตอบโต้ ซึ่งเมื่อเทียบการยกระดับการชุมนุมของนักเคลื่อนไหวกับการยกระดับความพยายามปราบปรามของรัฐนั้น ภาครัฐดูจะรุนแรงยิ่งกว่า ประชาชนจึงมองว่าตนเองมีความชอบธรรมที่จะตอบโต้บ้าง นอกจากนั้นก็มองว่า การแสดงความโกรธออกมาบ้างก็เป็นการระบายอย่างหนึ่ง ดีกว่าพยายามระงับอารมณ์เอาไว้ แล้วจะทำให้ยิ่งควบคุมการชุมนุมได้ยาก

“คำอธิบายของแกนนำก็คือ สิ่งที่ประชาชนตอบโต้รัฐ เทียบไม่ได้กับความรุนแรงที่รัฐทำกับประชาชน”

นอกจากนี้ ความหละหลวมของรัฐยังทำให้เกิดการติดอาวุธของผู้ชุมนุมเพื่อป้องกันตนเอง คือ รัฐปล่อยให้มีความเสี่ยงที่ผู้ชุมนุมอาจถูกทำร้าย จึงต้องมีกลุ่มการ์ดที่มีอาวุธ แต่อาจเลยเถิดไปสู่การใช้กำลังรุนแรงกับผู้เห็นต่างไปด้วย

การบรรลุเป้าหมายในการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้ความรุนแรง

คำถามต่อมาก็คือ ทำไมการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้ความรุนแรงจึงมักไม่ค่อยสัมฤทธิ์ผลนัก ในความเห็นของ รศ.ดร.บุญเลิศ มองว่า เป็นเพราะรัฐประสบความสำเร็จในการสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุม ประกอบกับความไม่ชัดเจนในแนวทางการไม่ใช้ความรุนแรงของขบวนการเคลื่อนไหว นำพาไปสู่การถกเถียงในเชิงรายละเอียด ซึ่งมีผลเสียต่อขบวนมากกว่า เช่น ความไม่แน่ใจว่าใครใช้ความรุนแรงก่อน หรือฝ่ายรัฐใช้มาตรการเหมาะสม ได้สัดส่วนหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องของการแย่งชิงความชอบธรรมกัน

“ต้องยอมรับว่า รัฐฉลาดมากขึ้นในเรื่องการปราบปราม เช่น ใช้เครื่องมือปราบปรามที่ไม่อันตรายถึงชีวิต ใช้นิติสงครามมากขึ้น อย่างการจับแล้วไม่ให้ประกันตัว เป็นการปราบปรามที่ละมุนขึ้น”

รศ.ดร.บุญเลิศ ยกตัวอย่างปัจจัย 4 ข้อ ที่จะทำให้การเคลื่อนไหวแบบไม่ใช้ความรุนแรงประสบความสำเร็จ โดยอ้างอิงจากงานเขียนของเชโนเวธ (2021) ที่ชื่อ ‘Why Civil Resistance Works: The Strategic Logic of Nonviolent Conflict’ (p. 82-90)

  1. การระดมผู้เข้าร่วมให้ได้จำนวนและหลากหลาย เพื่อสะท้อนว่ามาจากคนหลากหลายกลุ่ม เป็นตัวแทนของคนหลายประเภท หลายกลุ่มก้อน จะทำให้โน้มน้าวได้ง่ายขึ้น
  1. เปลี่ยนความภักดีของผู้เคยค้ำยันระบอบ เมื่อผู้เคยค้ำยันถอนความภักดี ผู้มีอำนาจก็ย่อมอยู่ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ (1965-1986) สั่งทหารให้ปราบผู้ชุมนุม แต่ทหารไม่ทำ
  1. ต้องใช้แทคติกที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่การชุมนุม รวมถึงมียุทธศาสตร์หลากหลายด้วย
  1. ต่อสู้ระยะยาว มีการเตรียมตัว มีวินัย และยืดหยุ่น เพื่อรับมือการถูกปราบปราม บางครั้งการตัดสินใจเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะก็เป็นหนทางที่ฉลาด เป็นการถอยเพื่อต่อสู้ในวันใหม่ ไม่ใช่การต่อสู้ระยะสั้น

สังคมไทยกับการเคลื่อนไหวโดยไม่ใช้ความรุนแรง 

รศ.ดร.บุญเลิศ ระบุว่า ภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการจับตาการปราบปรามของรัฐ หากมีการเผยแพร่ภาพที่รัฐใช้ความรุนแรงอย่างไม่ชอบธรรม จะช่วยให้เกิดกระแสกดดันหรือกระแสตีกลับได้ 

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยยังอยู่ใน ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ เจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรงไม่ถูกดำเนินคดี ทำให้การใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้อีก ฉะนั้น การสร้างความเข้าใจให้กับสังคมจึงมีผลต่อการเคลื่อนไหว และความรู้สึกของสังคมกับนิยามของคำว่า ไม่ใช้ความรุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องตรงกับคำนิยามในทางวิชาการ ถ้าคนในสังคมไม่ตอบรับการเคลื่อนไหว ขบวนการก็จะโดดเดี่ยว

รศ.ดร.บุญเลิศ เสริมประเด็นบางส่วนของงานวิจัย โดยผลการศึกษาเชิงปริมาณพบว่า 44 เปอร์เซ็นต์ของคนในสังคมมองว่า สันติวิธี นั้นหมายถึงการประท้วงที่ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะโดยธรรมชาติแล้วกฎหมายไม่ได้อนุญาตให้ประท้วง เช่น การทำอารยะขัดขืน คือการตั้งใจทำผิดกฎหมาย เพื่อชี้ให้เห็นว่ากฎหมายไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวบางครั้งถูกมองว่ารุนแรงที่ตัว ‘ประเด็น’ ไม่ใช่ ‘รูปแบบ’ ของขบวนชุมนุม เช่น ประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยกลุ่มตัวอย่าง 48.8 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกันกับประเด็นนี้น้อยกว่าประเด็นอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ ความเดือดร้อนของชาวบ้าน การปฏิรูปการเมือง ขับไล่รัฐบาล เป็นต้น

ท้ายที่สุด งานศึกษายังยืนยันว่า การไม่ใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหว ยังคงมีโอกาสชนะสูงกว่าการใช้ความรุนแรง แม้โอกาสในการชนะ มีแนวโน้มต่ำลงเรื่อยๆ ในช่วงสิบปีกว่าเป็นต้นมา แต่อย่างน้อยการไม่ใช้ความรุนแรงก็จะไม่สร้างรอยร้าวลึกให้สังคมกว่าเดิม

“ยิ่งกว่านั้น การเคลื่อนไหวโดยใช้ความรุนแรง ก็อาจโน้มน้าวให้คนเห็นต่างมาเข้าพวกได้ยาก หากในสังคมมีการแบ่งแยกอย่างลึกซึ้งในตัวเอง”

สังคมไทยเปราะบางต่อนิยามความรุนแรง

ช่วงหนึ่งของวงสัมมนาวิชาการได้เปิดให้มีการอภิปรายแสดงความเห็น อาจารย์ ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั๋ว จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสนอความเห็นที่มีต่องานวิจัยของ รศ.ดร.บุญเลิศ โดยขมวดปมพร้อมตั้งคำถามเพิ่มเติมว่า สันติวิธีในทางปฏิบัติเป็นเพียงหนึ่งในยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว และอาจไม่ใช่ยุทธศาสตร์หลักด้วย

อาจารย์เบญจรัตน์ กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการตั้งโจทย์จากมุมมองว่า ขบวนการเคลื่อนไหวจะต้องมีหมุดหมายของการไม่ใช้ความรุนแรง และใช้คำว่า ‘ไต่เส้นสันติวิธี’ ซึ่งอาจไม่สมเหตุผลกับแนวทางปฏิบัติจริงที่ผู้ชุมนุมไม่ได้ตั้งธงจากเรื่องนี้ก่อน

“โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวในช่วง 3-4 ปีนี้ (2563-2566) ผู้ชุมนุมไม่ได้จัดตั้งด้วยความมุ่งมั่นเช่นนั้น เพราะมีทั้งการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์บ้าง หรือการเคลื่อนไหวที่ไม่มีแกนนำ ไม่มีรูปแบบหรือทิศทางสันติวิธีที่ชัดเจนขนาดนั้น”

ในด้านสิทธิมนุษยชนในการชุมนุมโดยสงบ (peaceful assembly) ก็เป็นแนวคิดที่มองไปถึงการจัดการของภาครัฐเป็นหลัก มากกว่าไปสังเกตว่าผู้ชุมนุมจะใช้ความรุนแรงหรือไม่ จึงเกิดความท้าทายว่าจะอธิบายสันติวิธีกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ‘ทะลุวัง’ รวมถึงการชุมนุมต่างๆ ที่ไม่มีแกนนำ มีการประยุกต์ใช้สันติวิธีอย่างไร

อาจารย์เบญจรัตน์ กล่าวว่า จากการศึกษาเชิงปริมาณทำให้เห็นว่า สังคมไทยมีความกังวลเรื่องความรุนแรงในเชิง ‘ประเด็น’ ของผู้ชุมนุมด้วย ไม่ใช่เพียงเรื่อง ‘รูปแบบ’ ทำให้เห็นว่าเป็นสังคมที่มีบรรทัดฐานค่อนข้างเปราะบางในการนิยามความรุนแรง และยังสะท้อนความรุนแรงในตัวของสังคมเองอีกด้วย ซึ่งงานศึกษาจะรอบด้านมากขึ้นหากมีการเปรียบเทียบกลุ่มเสื้อเหลือง-เสื้อแดง กับการชุมนุมช่วง 3-4 ปีนี้ ว่ามีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

นอกจากนี้ การนิยามคำว่าความสำเร็จ หรือการสัมฤทธิ์ผลจากการเคลื่อนไหว คืออะไรกันแน่ จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือไม่ ต้องมีการเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง มีการปฏิรูปสถาบันการเมือง หรืออาจเป็นสิ่งนามธรรมก็ได้หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว การกำหนดว่ารูปแบบของสันติวิธีคือวิธีเดียวที่นำไปสู่ความสำเร็จ จะเป็นการอ้างที่มากเกินไปหรือไป แล้วจะมีวิธีใดใช้ชี้วัด

“การศึกษาเชิงปริมาณที่คนกว่า 44 เปอร์เซ็นต์ มองว่าการชุมนุมในแนวทางสันติวิธี คือ ต้องไม่ผิดกฎหมาย เช่นนั้นแล้ว มีทางเลือกอะไรอีกบ้างที่จะอนุญาตให้การเคลื่อนไหวเกิดขึ้นได้” อาจารย์เบญจรัตน์ กล่าว

สันติวิธีคือเกราะคุ้มกันขบวนการเคลื่อนไหว

รศ.ดร.บุญเลิศ ให้ความเห็นในช่วงท้ายถึงนิยามคำว่า ความสำเร็จ โดยยกตัวอย่าง ปี 1986 ที่การลุกฮือของประชาชนฟิลิปปินส์ ทำให้เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ต้องลงจากอำนาจ หรือเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ในประเทศไทย ก็เห็นได้ว่าการชุมนุมที่สันตินำไปสู่ชัยชนะ หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้

สิ่งสำคัญที่งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการนำเสนอ คือการปรับความเข้าใจว่า แม้สันติวิธีจะไม่ใช่วิธีการที่ง่าย แต่อย่างน้อยสันติวิธีจะเป็นเกราะคุ้มกันขบวนการเคลื่อนไหว เพื่อให้ยังคงความชอบธรรมเอาไว้ได้อยู่ และทำให้ภาครัฐต้องระมัดระวังการจัดการผู้ชุมนุมมากขึ้น รวมไปถึงกลยุทธ์การดันเพดานความเข้าใจของสังคมว่า สันติวิธีหรือปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องถูกกฎหมายก็ได้ 

“เส้นแบ่งที่ชัดเจนว่าสันติหรือไม่สันติ คือ ความรุนแรงทางกายภาพ หรือการทำร้ายร่างกาย ซึ่งนั่นดูไม่ยาก แต่เส้นแบ่งที่เป็นสีเทา เช่น การทำลายวัตถุ การพังสถานที่ แม้จะไม่ได้ทำร้ายบุคคลใด หรืออาจเข้าข่ายสันติวิธีตามหลักวิชาการ แต่สิ่งเหล่านี้จะถูกสังคมท้าทายทางความคิด และเป็นสิ่งที่ขบวนการต้องนำมาขบคิดต่อ ต้องหาสมดุลระหว่างการขยายเพดานการรับรู้เรื่องสันติวิธี และการลงมือปฏิบัติที่จะไม่ทำให้เสียแนวร่วม โดยหน้าที่ของนักวิชาการต้องพยายามช่วยอธิบายสิ่งเหล่านี้ให้ง่ายขึ้น” รศ.ดร.บุญเลิศ กล่าวสรุป

Author

ยอดเยี่ยม ยิ่งยืนยง
เพราะหมีกับกระต่าย ไม่เคยเป็นศัตรูตามธรรมชาติ
พวกมันก็เลยนั่งอึอยู่ข้างกันเป็นปกติ
วันหนึ่งหมีถามกระต่ายว่า "เธอมีปัญหาเรื่องอึติดขนบ้างมั้ย"
กระต่ายตอบว่า "ไม่นะ ไม่มีนะ"
หมีได้ยินดังนั้น ก็เลยหยิบเอากระต่ายขึ้นมาเช็ดตูด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า