ถอดรหัสความรุนแรงในสังคมไทย: เมื่อรัฐสถาปนาความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง ตอบโต้การประท้วงขนานใหญ่ของมวลชน

งานสัมมนาวิชาการ ‘ถอดรหัสความรุนแรงในสังคมไทย: รัฐ สื่อ สังคม และระบบกฎหมาย’ วันที่ 29 สิงหาคม 2566 จัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อ ‘ความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐในสังคมไทย: แบบแผน วิธีคิด และการให้ความชอบธรรม (พ.ศ. 2548-2566)’ ซึ่งเป็นการศึกษาแบบแผนความรุนแรงของรัฐในความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติ ตั้งแต่การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนถึงการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา 

เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบอย่างจริงจังในเชิงข้อมูล รศ.ดร.ประจักษ์ จึงลงมือทำวิจัยในเรื่องนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในแต่ละช่วงเวลาที่รัฐเผชิญหน้ากับการประท้วงขนานใหญ่ ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เกิดความรุนแรงอย่างไรบ้าง ใครคือผู้กระทำ และเหยื่อคือใคร

นอกจากนี้ รศ.ดร.ประจักษ์ ยังได้ศึกษาถึงวิธีคิดของผู้กำหนดนโยบายรัฐ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งทางการเมืองขนานใหญ่ รวมถึงศึกษาในประเด็นการให้ความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นทั้งในระดับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้กำหนดนโยบาย

แบบแผนความรุนแรงของรัฐ

รศ.ดร.ประจักษ์ ได้เปิดเผยแบบแผนการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐผ่านข้อมูลสถิติ โดยแบ่งตามยุคสมัยของรัฐบาล พบว่ายุคสมัยรัฐบาลที่เกิดความรุนแรงมากที่สุดทั้งในแง่จำนวนเหตุการณ์ และจำนวนผู้บาดเจ็บสูญเสีย คือ ‘รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อันสืบเนื่องจากการใช้มาตรการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 เป็นหลัก ซึ่งถือเป็นความรุนแรงโดยรัฐที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

รองลงมาคือ ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ที่เป็นผลมาจากการชุมนุมของ กปปส. แต่มีความซับซ้อนกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ค่อนข้างมาก เนื่องจากความสูญเสียเกิดขึ้นจากหลายฝ่าย เพราะเกิดสภาวะ ‘อนาธิปไตย’ ขึ้น จึงมีทั้งความรุนแรงจากฝ่ายรัฐ ฝ่ายผู้ชุมนุม รวมถึงมีมือที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง และอันดับที่สามคือ ‘รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมที่ต่อต้านการยึดอำนาจ

ขณะเดียวกัน ในยุคของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารที่สถานการณ์ค่อนข้างสงบ คือช่วง ‘รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์’ และ ‘รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (2557-2562)’ โดย รศ.ดร.ประจักษ์ เน้นย้ำว่า “ไม่ได้หมายความว่าเพราะการเมืองมันดี แต่เพราะพื้นที่ทางการเมืองมันปิด มันไม่สามารถเคลื่อนไหวได้” 

ทั้งนี้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นน้อยครั้งในสมัยรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ อาจไม่ได้สะท้อนสภาวะทางการเมืองที่พึงปรารถนา แต่สะท้อนว่าอำนาจรัฐถูกควบคุมเบ็ดเสร็จ มีการปิดกั้นอย่างเข้มข้น รวมถึงการใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าปราบปราม อีกนัยหนึ่งสามารถพูดได้ว่า สังคมโดนกดปราบทำให้ไม่มีพื้นที่ของสิทธิเสรีภาพ 

ตรรกะเบื้องหลังที่ทำให้รัฐต้องลงเอยด้วยการใช้ความรุนแรง

รศ.ดร.ประจักษ์ เสนอว่า หากเรามองเรื่องการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ก็จะมีความคล้ายคลึงกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชน ในแง่ที่ว่าไม่มีกลุ่มไหนเริ่มต้นจากความรุนแรง รัฐบาลจึงต้องพยายามหาเครื่องมืออื่นๆ ในการรับมือกับการชุมนุมของประชาชน โดยมีความรุนแรงเป็นเครื่องมือสุดท้ายในกรณีที่ใช้เครื่องมืออื่นแล้วล้มเหลว หรือถูกทำให้ล้มเหลว จึงเกิดคำถามต่อมาว่า แล้วอะไรกันที่เป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐต้องลงเอยด้วยการตัดสินใจใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามประชาชน 

จากคำถามข้อนี้ รศ.ดร.ประจักษ์ ได้ชี้ให้เห็นผ่านผลการวิจัยว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงโดยรัฐในประเทศไทย ประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ลักษณะของระบอบการเมืองในขณะนั้น และมุมมองของรัฐต่อผู้ชุมนุม นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยรอง คือ ‘อารมณ์’ หรือทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการที่เผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมโดยตรง แต่ยังไม่ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลกับวิธีคิดของผู้กำหนดนโยบายรัฐในการเปลี่ยนแบบแผนการใช้ความรุนแรง

ในส่วนของลักษณะระบอบการเมือง รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า กรณีของประเทศไทยประเด็นสำคัญคือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ เมื่ออธิบายลักษณะของระบอบการเมืองด้วยเกณฑ์นี้จะทำให้เราสามารถมองรัฐบาลเป็น 2 ประเภท โดยประเภทที่ 1 คือรัฐบาลที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับกองทัพ หรือเป็นพันธมิตรทางการเมืองกัน ขอบเขตของการศึกษาในงานวิจัยชิ้นนี้จึงหมายถึง รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2562-2566)

ประเภทที่ 2 คือรัฐบาลพลเรือนที่ไม่สามารถควบคุมกองทัพได้ หรือกระทั่งเข้าข่ายว่ากองทัพวางตัวเป็นปฏิปักษ์ด้วย จึงทำให้เกิดความตึงเครียดในสมรภูมิการเมือง ได้แก่ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การวิเคราะห์ลักษณะระบอบการเมืองอันเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความรุนแรงโดยรัฐ ด้วยการใช้เกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ โดยไม่ต้องให้ความสนใจว่ารัฐบาลนั้นเป็นทหารหรือพลเรือน และเน้นไปที่ความสัมพันธ์ดังกล่าวเท่านั้น นำมาสู่การแบ่งประเภทรัฐบาลตามข้างต้น ทำให้เข้าใจความรุนแรงทางการเมืองได้มากกว่าการแบ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนหรือทหาร หรือแบ่งเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยตามแบบสากล เพราะจะไม่สามารถนำมาอธิบายกับบริบทการเมืองไทย อย่างในช่วงที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นมากที่สุดคือช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือน ดังนั้นการที่จะสามารถเข้าใจความรุนแรงขณะนั้นได้จึงต้องทำความเข้าใจกับความสัมพันธ์ของรัฐบาลกับกองทัพ

ปัจจัยหลักถัดมาคือ มุมมองของรัฐต่อผู้ชุมนุม พบว่าผู้มีอำนาจรัฐและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดูแลการชุมมนุม มองผู้ชุมนุมแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน กล่าวคือ รัฐตั้งต้นรับมือจากการรวบรวมข้อมูลของผู้ชุมนุมแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มแกนนำ โดยรัฐมีวิธีคิดในการแบ่งประเภทผู้ชุมนุมด้วย 2 เกณฑ์หลัก ได้แก่ 1) วิธีเคลื่อนไหวนั้นเป็นแบบสันติวิธีหรือใช้ความรุนแรง 2) อุดมการณ์หรือเนื้อหาของข้อเรียกร้องเป็นเรื่องปากท้องหรือ ‘การเมือง’ ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่รัฐมักมองว่า ‘ม็อบการเมือง’ คือการเรียกร้องมุ่งไปที่รัฐบาล รัฐธรรมนูญ หรือสถาบันทางการเมืองอื่นๆ 

ในกรณีของม็อบการเมือง ฝ่ายรัฐมองแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือการเรียกร้องมีเพดานอยู่ที่รัฐบาลเท่านั้น ซึ่งในมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐมองว่าการชุมนุมลักษณะนี้ ‘ไม่น่ากลัว’ เช่น การเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งจะมีเพดานการเรียกร้องที่สูงกว่าการขับไล่รัฐบาล นายกฯ หรือแก้รัฐธรรมนูญ เช่น การเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นต้น

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวอีกด้วยว่า หากการชุมนุมเป็นไปโดยสันติวิธีก็มีแนวโน้มว่ารัฐจะรับมือด้วยความละมุนละม่อมมากกว่าการชุมนุมของกลุ่มที่มีประวัติใช้ความรุนแรง ซึ่งกรณีหลังรัฐจะมีการเตรียมการที่เข้มข้น มีการจัดเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือกระทั่งการจัดวางกำลังที่แน่นหนา แต่อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงหากการชุมนุมมีเนื้อหาเป็นเรื่องการเมืองที่เลยเพดานรัฐบาลขึ้นไป หรือไปวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ รัฐจะจับตาและเตรียมรับมือด้วยความเข้มข้นกว่าปกติ แม้การเคลื่อนไหวจะเป็นไปในรูปแบบสันติวิธี แต่เจ้าหน้าที่รัฐจะบอกว่าเนื้อหามีความรุนแรง

วาทกรรมสร้างความชอบธรรม

กรณีการสร้างวาทกรรม รศ.ดร.ประจักษ์ อธิบายและให้ความเห็นสั้นๆ ว่า แต่ละครั้งที่เกิดการสลายการชุมนุมด้วยการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม รัฐจะต้องสร้างวาทกรรมขึ้นมาให้ความชอบธรรมกับการกระทำอันโหดร้ายเสมอ โดย รศ.ดร.ประจักษ์ ได้ยกตัวอย่างการอ้างความชอบธรรมของรัฐในการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่กล่าวอ้างว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง ก่อการร้าย และทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย หรือกรณีที่รัฐอ้างความชอบธรรมในการสลายการชุมนุมกลุ่ม REDEM ด้วยการใช้วาทกรรมสร้างความวุ่นวายและความรุนแรง ตลอดจนกรณีการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ส ที่รัฐใช้วาทกรรมสร้างความวุ่นวาย นักเลง และเป็นผู้ก่อความไม่สงบ

ความเป็น ‘รัฐราชเสนานุภาพ’ ของรัฐไทย

ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อเสนอต่องานวิจัยชิ้นนี้ว่า แทนที่จะพิจารณาการกระทำของรัฐบาลแต่ละรัฐบาลว่าเป็นพลเรือนหรือทหาร หรือการตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลพลเรือนถึงใช้ความรุนแรงมากกว่า ดังที่ รศ.ดร.ประจักษ์ ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 แต่อาจจะขยายคำถามให้กว้างขึ้นกว่านี้ได้ เนื่องจากคำอธิบายที่ว่า รัฐที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม เพราะเป็นรัฐที่บกพร่องในประชาธิปไตย เป็นรัฐกึ่งเผด็จการ หรือบอกว่าเป็นเพราะความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับกองทัพนั้น อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด 

ทั้งนี้ รศ.ดร.พวงทอง มีความเห็นว่า รัฐไทยมีลักษณะที่สอดคล้องกับทฤษฎี ‘รัฐเสนานุภาพ’ (A praetorian state) ที่อธิบายเกี่ยวกับอำนาจทางการทหาร ซึ่งในช่วงหลังมานี้ถูกนำมาอธิบายลักษณะของรัฐที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่สำเร็จ เกิดการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งหากมองผ่านทฤษฎีนี้จะทำให้เข้าใจการกลับมาของทหารได้ โดยจะต้องพิจารณาไปถึงโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นศาล องค์กรอิสระ วุฒิสมาชิก ตลอดจนกฎหมายต่างๆ ซึ่งกองทัพได้สร้างอำนาจของตัวเองฝังไว้อยู่ในระบอบตลอดเวลา และสามารถบ่อนเซาะอำนาจของรัฐบาลพลเรือนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามได้ 

ยกตัวอย่างกรณีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ไม่สามารถควบคุมกองทัพให้เข้ามาจัดการการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ได้เลย หรือในกรณีรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่มีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง จะเห็นได้ว่าเป็นปฏิบัติการทางการทหาร 

“เชื่อว่าคุณอภิสิทธิ์ไม่ได้คิดเองหรอก ประเภทที่ว่าจะต้องขนอาวุธออกมากี่แสนนัด ปืนกี่กระบอก กำลังทหารเท่าไร จะไปตั้งที่ไหน จะใช้ปฏิบัติการกระชับวงล้อม กระชับพื้นที่ยังไง เพราะนี่เป็นวิธีคิดแบบทหารทั้งนั้นที่เป็นผู้วางแผนให้” รศ.ดร.พวงทอง กล่าว

รศ.ดร.พวงทอง ให้ความเห็นต่ออีกว่า แม้บางช่วงเวลาที่ประเทศนั้นปกครองด้วยระบอบพลเรือน พลเรือนก็มีอำนาจตัดสินใจน้อยมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นระบอบพลเรือนที่อยู่ตรงข้ามกับกองทัพ จะถูกบ่อนเซาะด้วยสารพัดกลไกที่มีอยู่

นอกจากนี้ อย่างที่เห็นกันในปัจจุบันว่าเมื่อเกิดคดีทางการเมืองขึ้น กระทั่งเรื่องส่งไปถึงองค์กรต่างๆ จะสามารถคาดเดาได้ว่าผลลัพธ์จะออกมาในรูปแบบใด เนื่องจากคนเหล่านี้จะมีวิธีคิดและการมองภัยคุกคามแบบเดียวกัน ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าเป็นวิธีแบบรัฐทหารที่ถูกฝังเข้าไปในความคิดและอุดมการณ์ โดยให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐเหนือสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งวิธีคิดแบบรัฐทหารของไทยถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ ‘ราชาชาตินิยม’ การปกป้องสถาบันกษัตริย์เป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขา 

ดังนั้นแล้วรัฐไทยจึงมีบริบทสอดคล้องกับทฤษฎีรัฐเสนานุภาพ และอย่างที่ทราบกันดีว่า ในประเทศไทยสถาบันกษัตริย์มีบทบาทสำคัญในแง่ของกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่สำคัญ จึงเรียกได้ว่ารัฐไทยเป็น ‘รัฐราชเสนานุภาพ’ โดยมีอุดมการณ์ราชาชาตินิยมเป็นแกนหลัก และถูกเอาไปกำหนดว่าใครเป็นมิตร ใครเป็นศัตรู กระทั่งกำหนดว่าการกระทำแบบใดที่ถือเป็นภัยคุกคาม

รศ.ดร.พวงทอง เน้นย้ำว่าหากมองตามลักษณะที่ได้อธิบายไปในข้างต้น จะทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นถึงอิทธิพลอำนาจ และวิธีคิดของกองทัพที่เข้าไปอยู่ในการทำงานหลายส่วน

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า