ตารางสอบว่าโหดแล้ว ตารางชีวิตโหดกว่า #Dek64

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคมนี้ จะเป็นการเริ่มต้นสนามสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กมัธยมทั่วประเทศ และเริ่มต้นมหกรรมการสอบที่สุดแสนทรหดของเด็กๆ รุ่นนี้ ด้วยตารางสอบที่อัดแน่นกว่า 30 วิชา จัดสอบภายในระยะเวลาต่อเนื่อง 20 วันเศษ 

ตารางการสอบมาราธอนที่แน่นเอี้ยดทำให้เด็ก 64 ปีนี้ร่วมกันติดแฮชแท็ก #เลื่อนสอบ #dek64กำลังถูกทิ้ง #dek64deservebetter เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการเลื่อนสอบ GAT PAT และ 9 วิชาสามัญ เพราะมีความกังวลเรื่องการอ่านหนังสือ ผลกระทบในเรื่องของสุขภาพจากความเครียดที่เกิดจากการสอบติดกันแบบรัวๆ รวมถึงความกังวลเรื่องการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในสนามสอบ

เรื่องของเรื่องสืบเนื่องมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ทำให้โรงเรียนเลื่อนเปิดเทอมมาเป็นช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้วางตารางและชี้แจงตารางการสอบให้นักเรียนทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวแล้ว แต่ช่วงเดือนธันวาคม 2563 เกิดการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้ต้องสั่งปิดโรงเรียนอีกครั้ง หลายโรงเรียนปรับเปลี่ยนมาใช้วิธีสอนออนไลน์แทน ซึ่งหลายเสียงก็บ่นว่าการเรียนออนไลน์นั้นไม่มีประสิทธิภาพ เกิดความเหลื่อมล้ำสูง บางคนขาดอุปกรณ์ ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทำให้ไม่สามารถเรียนได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ตารางสอบยังคงเดิมโดยไม่มีการขยับออกไป หลายโรงเรียนเลื่อนสอบปลายภาคเข้ามาชนกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้เด็ก ม.6 รุ่นนี้จึงแทบไม่มีเวลาพักและเตรียมตัวอ่านหนังสือสำหรับสอบวิชาต่อไป และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาอยากเลื่อนสอบ

ด้าน ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบ TCAS ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ Zoom in ของทีวีรัฐสภา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ว่า “การสอบในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายภาคส่วน มีศูนย์อำนวยการสอบ มีสาธารณสุข มีแพทย์เข้ามาดูแล ดังนั้นในการที่จะเลื่อนสอบ ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นถึงชีวิต ถึงความปลอดภัยของน้อง ก็ไม่ควรจะเลื่อนสอบ เพราะมันไปปฏิสัมพันธ์กับคนหลายกลุ่มมากแล้ว ในแต่ละกลุ่มเขาก็มีตารางการทำงานของเขาเอง”

ถัดมาในวันที่ 16 มีนาคม 2564 ทปอ. ออกมายืนยันไม่เลื่อนสอบ โดยให้เหตุผลว่ามีนักเรียนกว่า 300,000 คน อ่านหนังสือเตรียมพร้อมแล้ว พร้อมทั้งชี้แจงว่าหากเลื่อนออกไปจะกระทบต่อหน่วยงานอื่นอีกมาก อีกทั้งการสอบใกล้เข้ามาแล้ว จะเลื่อนสอบก็คงลำบาก และนักเรียนอีก 300,000 คนทั่วประเทศก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย 

โบว์ (นามสมมุติ) เด็ก 64 คนหนึ่งจากโรงเรียนในภาคอีสานที่กำลังจะลงสนามสอบในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ เธอเล่าความฝันว่า อยากเรียนต่อที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากการสัมภาษณ์พูดคุยถึงการวางแผนการสมัครสอบ WAY ได้รวบรวมไทม์ไลน์การสอบของเธอไว้ดังนี้ 

วันที่วิชาที่สอบ
วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม GAT เชื่อมโยง
วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม PAT ความถนัดทางวิชาชีพครู (โบว์แอบกระซิบว่าสอบไว้เผื่อได้ใช้ยื่นคณะครุศาสตร์)
วันที่ 25 มีนาคม ข้อสอบสมรรถนะ มข.
วันที่ 27 และ 29 มีนาคม สอบ O-NET ม.6 
วันที่ 30 มีนาคม – 1 เมษายน สอบปลายภาคของโรงเรียน 
วันที่ 3-4 เมษายน สอบ 9 วิชาสามัญ 

นอกจากการตามเก็บวิชาต่างๆ ที่ใช้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว เธอยังบอกว่าตัวเองยังต้องสอบปลายภาคของโรงเรียนในวันที่ 30 มีนาคม – 1 เมษายน 2564 อีกด้วย ซึ่งตนและเพื่อนๆ เคยร้องขอให้ทางโรงเรียนเลื่อนการสอบปลายภาคออกไปแล้วแต่กลับถูกปฏิเสธ และให้เหตุผลว่าติดแข่งกีฬาโรงเรียน 

การที่ไม่สามารถพึ่งใครได้เลยทำให้เธอจึงต้องพึ่งพาตัวเอง จัดคิวอ่านหนังสืออย่างดุเดือดเพื่อฟาดฟันกับการสอบในแต่ละวิชา 

WAY ได้ล้วงลึกลงไปถึงตารางการวางแผนชีวิตของเธอว่าเมื่อตนเป็นที่พึ่งแห่งตนแล้ว เธอมีวิธีการวางแผนการอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบอย่างไร ตารางชีวิตของเธอนั้นเป็นอย่างไรบ้าง 

และนี่คือตารางชีวิตของโบว์ 

จันทร์ถึงศุกร์08.00 – 17.00ไปโรงเรียน
18.00 – 20.00ทำธุระส่วนตัว อาบน้ำ กินข้าว
21.00 – 02.00 
(พัก 15 นาทีทุก 1 ชั่วโมง)
อ่านหนังสือและฝึกทำข้อสอบ GAT PAT ข้อสอบสมรรถนะ มข. ข้อสอบ 9 วิชาสามัญ สลับกันไป
เสาร์-อาทิตย์09.00 – 12.00ตื่นนอน ทำธุระเตรียมตัวเดินทางไปเรียนพิเศษในตัวเมือง
14.00 – 17.00เรียนพิเศษภาษาอังกฤษ
18.00 – 20.00กินข้าว อาบน้ำ เตรียมตัวอ่านหนังสือ
21.00 – 02.00อ่านหนังสือและฝึกทำข้อสอบ GAT PAT ข้อสอบสมรรถนะ มข. ข้อสอบ 9 วิชาสามัญ สลับกันไป

เนื่องจากโรงเรียนยังไม่ปิดเทอม ดังนั้นวันจันทร์ถึงวันศุกร์เวลา 08.00 – 17.00 น. โบว์ยังต้องไปโรงเรียน และเธอยังได้บอกอีกว่าช่วงนี้ไม่มีการเรียนการสอนแล้ว โรงเรียนได้จัดติว O-NET ให้กับเด็ก ม.6 ทุกคน 

WAY ถามกลับว่าโรงเรียนติวแค่ O-NET หรือ แล้ว GAT PAT ที่จะสอบในวันเสาร์นี้โรงเรียนติวให้หรือเปล่า? โบว์ตอบว่า ไม่ 

 “โรงเรียนไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเด็กในโรงเรียนต้องสอบ GAT PAT สอบโควตา สอบ 9 วิชาสามัญ โรงเรียนโฟกัสแค่การสอบ O-NET” 

ดังนั้นแล้วในช่วงเวลาหลังจากเลิกเรียนตั้งแต่ 21.00 น. จนถึง 02.00 น. ของทุกวันจึงเป็นเวลาที่โบว์ต้องกลับมาอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบ GAT PAT เตรียมสอบสมรรถนะ มข. เตรียมสอบ 9 วิชาสามัญที่โรงเรียนไม่ได้ให้ความสำคัญ 

โบว์บอกว่าเธอนอนตี 2 ทุกวันและไม่สามารถข่มตาหลับเข้านอนเร็วกว่านั้นได้เลย เพราะการสอบใกล้เข้ามาทุกวัน และด้วยวิชาที่ต้องสอบติดๆ กัน ทำให้ต้องเร่งอ่านหนังสือหลายๆ วิชา

อีกทั้งในวันเสาร์อาทิตย์เธอบอกว่าต้องเดินทางจากบ้านที่อยู่ต่างอำเภอประมาณ 45 นาที เข้ามาเรียนพิเศษเพิ่มเติมในตัวเมือง สาเหตุที่เธอต้องเข้ามาเรียนพิเศษเพราะการเรียนการสอนที่โรงเรียนไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะสามารถทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้

โบว์บอกอีกว่า “ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เลื่อนการสอบเพราะยังเตรียมตัวไม่ค่อยเต็มที่ แต่ก็เตรียมใจไว้แล้วว่าเขาคงไม่เลื่อนให้หรอก เพราะถ้าเขาเลื่อน คงเลื่อนให้ตั้งนานแล้ว” เธอตอบด้วยน้ำเสียงสิ้นหวัง 

ขณะที่ผู้ใหญ่หลายคนบอกว่าเด็กคืออนาคตของชาติ แต่ทำไมถึงทิ้งให้พวกเขาต้องเผชิญกับชะตากรรมเหล่านี้ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยคือการสอบครั้งสำคัญในชีวิตของพวกเขา การสอบติดๆ กันทำให้เด็กมีความเครียดและกดดัน

“ตอนนี้เครียดมากค่ะ กลัวไม่ติดเพราะไม่ได้เล็งที่อื่นไว้เลย และครอบครัวก็ไม่อยากให้ไปเรียนที่อื่นด้วย ครอบครัวก็กดดัน” โบว์ตอบด้วยแววตาที่อิดโรยและสีหน้าที่เคร่งเครียด

เหนื่อย เครียด ท้อ คำที่อธิบายความรู้สึกของเด็ก 64 ในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี เด็ก ม.6 หลายคนเผชิญกับความกดดันจากทั้งภายในและภายนอกที่บีบรัดพวกเขา จนหลายคนยอมแพ้ให้กับการสอบในปีนี้ 

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้กำลังถูกหลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติ และบอกว่าทุกการสอบย่อมมีความเครียดและความกดดัน ผลักภาระให้เด็กๆ ไปจัดการตัวเอง ด้วยประโยคที่ว่า “สู้ๆ นะ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” 

นอกจากความเครียดจากตารางการสอบติดกันแล้ว มหกรรมการสอบมาราธอนเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝันยิ่งฟ้องว่าความเหลื่อมล้ำยังทำหน้าที่ของมันอย่างศักดิ์สิทธิ์เสมอ

โบว์เล่าให้ฟังว่าการสอบ GAT PAT ที่จะถึงนี้ เธอต้องเดินทางเข้าไปพักในตัวเมืองเพื่อที่จะเตรียมตัวสอบในสนามสอบที่เธอเลือกไว้ นอกจากค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบแล้วเธอยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาสอบและค่าที่พักอีกด้วย เพราะไม่มีสนามสอบในเขตพื้นที่ที่เธออาศัยอยู่ 

สิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่าระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยนอกจากจะคัดคนที่ไม่เก่งออกแล้ว ยังคัดคนที่ขาดกำลังทรัพย์หรือขาดโอกาสในการสอบออกไปอีกด้วย 

คำถามสำคัญคือ คนไม่เก่งในที่นี้หมายถึงใคร?

หมายถึงนักเรียนที่ไม่มีโอกาสไปเรียนพิเศษหรือไปติวเพิ่ม เพราะการเรียนการสอนในห้องเรียนไม่เพียงพอต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เด็กหลายคนถูกผลักไปอยู่จุดท้ายสุดของการศึกษา 

ยิ่งในสถานการณ์โควิดแบบนี้ทำให้การเรียนหยุดชะงัก เรียนได้ไม่เต็มที่ การจัดการสอบแบบไม่เว้นให้หยุดพัก เพราะให้เหตุผลว่าถ้าเลื่อนจะเป็นปัญหากับทุกฝ่าย 

ดังนั้น ปัญหาควรตกแก่นักเรียนฝ่ายเดียวอย่างนั้นหรือ

อัพเดทสถานการณ์ล่าสุด: 18 มีนาคม 2564 ศาลปกครองรับหลักฐานเรื่องข้อเรียกร้องเลื่อนการสอบจากฝ่ายโจทก์ (นักเรียน) ครบแล้ว ถัดจากนี้คือขั้นตอนเรียกตัวแทนจากหน่วยงานจัดสอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาไต่สวน

Author

ณิชกานต์ ภักดี
สาวอำเภอวารินผู้พลัดถิ่นมาอยู่ที่บ้าน WAY สนใจประเด็นร้อนทางสังคม และชื่นชอบการมองสังคมผ่านการอ่านงานวรรณกรรมและซีรีส์ Netflix

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า