5 คณะที่อาจหายไปในอนาคต

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

เทศกาลแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยกำลังจะมาถึงอีกครั้ง อีกไม่นานเราก็จะได้ข่าวเหมือนกับทุกๆ ปีว่าเด็กที่สอบได้คะแนนสูงสุดเป็นใคร เลือกเรียนคณะและมหาวิทยาลัยไหน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงกันมาตลอดจากความนิยมในรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่อยากเห็นลูกเป็นแพทย์​ วิศวกร มาเป็นนักบัญชี/การเงิน นักกฎหมาย ผู้สื่อข่าว ฯลฯ มาจนถึงวันนี้เราก็ได้เห็นสาขาใหม่ๆ อย่าง AI, Data Science, Robotics ที่กำลังได้รับความนิยมแทนที่

เมื่อมีสาขาใหม่ๆ มาแทน แล้วสาขาใดที่เสื่อมความนิยมจนมีผู้เข้าเรียนลดลง วันนี้ CNBC ทำการสำรวจพบว่าสาขาที่บัณฑิตเพิ่งเรียนจบแล้วพบว่า “ไม่น่ามาเรียนเลย” 5 อันดับแรกประกอบไปด้วย

1. ภาษาอังกฤษ

2. วิทยาศาสตร์

3. ศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์

4. สังคมศาสตร์

5. นิเทศศาสตร์/สื่อสารมวลชน

น่าคิดว่าทั้ง 5 สาขานี้ล้วนเป็นคณะ/สาขาวิชายอดนิยมในอดีตทั้งสิ้น แต่การเปลี่ยนแปลงทางด้านธุรกิจและเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจนความสำคัญของบัณฑิตในสาขาเหล่านี้หดหาย ทำให้เด็กที่เพิ่งจบมารู้สึกว่าปริญญาที่ได้มานั้นไร้ค่า แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ เรามาลองดูกันทีละสาขา

 

ภาษาอังกฤษ

เริ่มจากสาขาวิชาภาษาอังกฤษ ข้อมูลนี้ CNBC (Consumer News and Business Channel) ทำการสำรวจในประเทศที่พูดอังกฤษเป็นภาษาหลัก หากเทียบกับบ้านเราก็คงต้องเป็น สาขาวิชาภาษาไทย ซึ่งเหตุผลหลักที่เด็กจบใหม่ระบุว่า “ไม่น่ามาเรียนเลย” เพราะเอามาใช้งานจริงไม่ได้ และหางานทำยาก

วิกฤติ: หากดูจากโลกแห่งความเป็นจริงก็คงเป็นเช่นนั้น เพราะความต้องการบัณฑิตสาขานี้ลดลงมาเรื่อยๆ เนื่องจากงานที่เหมาะกับสาขาวิชาภาษาไทยเช่น นักเขียน นักแปล องค์กรระหว่างประเทศ สายการบิน งานด้านการท่องเที่ยว ไกด์ ฯลฯ ก็เปิดกว้างให้กับเด็กที่จบสาขาวิชาอื่นด้วยเช่นกัน

โอกาส: ท่ามกลางการตกงานของบัณฑิตจำนวนมาก แต่เด็กจบใหม่ในสาขานี้กำลังเป็นที่ต้องการของบริษัทด้าน AI และ Big Data เพราะทักษะในการวิเคราะห์คำพูดจากแหล่งข้อมูลต่างๆ กำลังเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง คิดดูว่าระบบ AI เมื่อเจอคำว่า ‘ดีออก’ หรือ ‘สวยตายล่ะ’ จะแปลความหมายในประโยคเหล่านี้ตามตัวอักษรไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาจึงยังมีโอกาสในการทำงานอยู่ไม่น้อย

 

วิทยาศาสตร์

ต่อมาคือคณะวิทยาศาสตร์ จากการสำรวจพบว่า หางานทำยากหากไม่ได้เรียนต่อเฉพาะทาง ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงบางส่วน

วิกฤติ: สาขาวิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ในบ้านเรามักถูกให้ความสำคัญน้อยเกินความเป็นจริงมาโดยตลอด ปลายปีที่แล้วกองทุนวิจัยของไทยก็ถูกตัดงบไปถึง 8,000 ล้านบาท ยิ่งเป็นสาขาที่หางานยากเช่นฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ ยิ่งหางานทำยากมาก

โอกาส: บางสาขายังคงเป็นดาวรุ่ง เช่น คณิตศาสตร์ โดยเฉพาะ Data Science ในขณะที่หลายๆ สาขากำลังมีโอกาสมาถึงเพราะแนวโน้มอนาคตเราหนีวิทยาศาสตร์ชั้นสูงไปไม่พ้น เช่นควอนตั้มฟิสิกส์​ นาโนเทคโนโลยี ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ฯลฯ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดาวเทียม แต่ประเทศไทยยังไม่ตื่นตัวเท่าที่ควร

 

ศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์

มาต่อกันที่คณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ สาขานี้จากการสำรวจพบว่ายังพอหางานได้ แต่รายได้ไม่สูงเมื่อเทียบกับสาขาอื่นๆ

วิกฤติ: เด็กเกิดน้อยลงทุกปี ความต้องการครูจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ง้อครู เพราะเรียนรู้ทุกเรื่องทุกอย่างได้จากยูทูบ

โอกาส: การเติบโตของธุรกิจด้านการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์จำเป็นต้องอาศัยคนวางโครงร่างหลักสูตร ซึ่งไม่มีใครทำได้ดีไปกว่าคนที่จบมาในสายนี้โดยตรง บัณฑิตในสายนี้หากใช้สื่อดิจิทัลเป็นจะมีโอกาสในการเติบโตสูง หางานได้ง่าย และรายได้ดีกว่ามาก

 

สังคมศาสตร์

สาขาต่อมาคือ สังคมศาสตร์ โดยเหตุผลหลักจากการสำรวจคือ เรียนมาพื้นๆ เกินไป เอามาประยุกต์ทำงานได้ยาก

วิกฤติ: ความต้องการบัณฑิตในสาขานี้ลดน้อยลงมาหลายปีเพราะได้ความรู้กว้างเกินกว่าจะไปใช้งานได้จริง ส่วนใหญ่ต้องเรียนต่อในสาขาต่างๆ เพื่อเพิ่มความรู้เฉพาะด้าน

โอกาส: แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ Social Enterprise จะขยายตัวต่อไปอีกมาก ความต้องการคนที่เข้าใจความเป็นไปของสังคมและจับพฤติกรรมสังคมได้เก่งจึงเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็เป็นโอกาสที่เปิดให้กับคนเรียนสายสังคมศาสตร์ที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงและจับเอาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมาอธิบายได้เท่านั้น

 

นิเทศศาสตร์/สื่อสารมวลชน

สาขาสุดท้ายคือ นิเทศศาสตร์/สื่อสารมวลชน ข้อมูลจากการสำรวจตอบสั้นๆ แค่ว่าเรียนมาตื้นเกินไป ประจวบกับการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของสื่อที่หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์​ถูกสื่อออนไลน์เข้ามาแทนที่

วิกฤติ: อันนี้คงไม่ต้องอธิบายกันมาก เห็นผลประกอบการของสื่อดั้งเดิมก็พอรู้กันแล้วว่าแต่ละเจ้าดิ้นรนหนีตายกันขนาดไหน คณะนิเทศศาสตร์เกือบทุกสถาบันต่างก็เคยจัดทำแผนปรับปรุงหลักสูตรกันใหม่มาหลายปี แต่นิสิตนักศึกษาก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

โอกาส: จริงอยู่ว่าโลกของโซเชียลมีเดียเปิดกว้างให้ใครก็เข้ามาทำหน้าที่สื่อมวลชนได้ แต่ในช่วง 2-3 ปีมานี้ fake news ขยายอิทธิพลจนสร้างความวุ่นวายขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ยิ่งยุค  5G มาถึงเร็วเท่าไรก็ยิ่งกระพือให้การถ่ายทอดสดส่วนบุคคลเกิดขึ้นมากมายกว่ายุค 4G หลายร้อยหลายพันเท่า บทบาทของคนที่เรียนจบในสาขานี้คือการสร้างสื่อที่น่าเชื่อถือ รวมถึงอาศัยองค์กรสื่อที่เกิดจากคนในวิชาชีพเดียวกันตรวจสอบและดูแลสื่อด้วยกันเอง คนที่เรียนในสายนี้จึงจำเป็นต้องเข้าใจบทบาทของสื่อออนไลน์แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักการสร้างความน่าเชื่อถือไปพร้อมๆ กัน

ทั้ง 5 สาขาวิชาที่ยกตัวอย่างมานี้เอาเข้าจริงๆ คนที่จบมาในระดับหัวกะทิมักไม่เดือดร้อนอะไรอยู่แล้วเพราะเป็นคนกลุ่มแรกที่มองเห็นโอกาสและปรับตัวได้ก่อน ในขณะที่กลุ่มรั้งท้ายก็มักจะรู้ตัวเองดีเช่นกันจึงหันไปหาอาชีพอื่นหรือไม่ก็ออกมาบุกเบิกทำกิจการของตัวเองเสียเลย

ที่เหลือก็คือกลุ่มกลางๆ ที่ยังไม่รู้จะไปทางไหน จะเปลี่ยนสายไปเรียนสาขาอื่นก็ไม่ทันเสียแล้ว ก็ต้องขอแนะนำว่าหากสาขาวิชาที่เราเพิ่งเรียนจบมานั้นเป็นสิ่งที่เราเลือกมาด้วยตัวเอง นั่นคือได้เรียนในสิ่งที่เราค้นหาตัวเองจนเจอแล้วนั้นก็ยังไม่พอ… เพราะจะอยู่รอดได้ในวันนี้ ต้องหาโลกของตัวเองให้เจอด้วยว่าอยู่ตรงไหน!

Author

ปฐม อินทโรดม
ด้วยประสบการณ์บริหารบริษัทไอทีหลายแห่ง ทำให้ปฐมเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่มักแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ อยู่เสมอ แต่เนื้อแท้แล้วปฐมสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการศึกษาไม่แพ้กัน เพราะรู้ว่าโลกดิจิตอลและอนาล็อกที่มาพัวพันกันทุกวันนี้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มากมายที่น่าบันทึกเอาไว้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า