เดลีประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รับมือมลภาวะทางอากาศเกินระดับที่คนจะทนรับได้

ประเทศไทยยังเหลือเวลาวางแผนรับมืออีกราว 3-4 เดือน กว่าสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่านับสิบปีจะเวียนกลับมาหาอีกครั้ง แต่สำหรับประชาชน รัฐบาลท้องถิ่น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายใต้อากาศหายใจร่วมกันในเดลี ประเทศอินเดีย ขณะนี้ถึงเวลาที่ต้อง ‘รับมือกับปัญหาจริง’ จากมลพิษทางอากาศที่รุนแรงถึงระดับ “เกินระดับที่รับได้”

เว็บไซต์ AirQuality.com ระบุว่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) เดลี วัดที่กรุงนิวเดลีเมื่อเวลาประมาณ 11 โมงวันนี้ (4 พฤศจิกายน) อยู่ที่ 534 หรือสูงเกินกว่าเกณฑ์ดัชนีที่มีอยู่ (beyond index) ดัชนีนี้อาจตีความอย่างง่ายได้ว่า ปอดของชาวเดลีประมาณ 40 ล้านคนกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงด้านสุขภาพ

ท้องฟ้าของเดลีถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นละอองจนเห็นเป็นสีขาวสลัว ระหว่างที่ประชาชนกำลังรอให้ถึงวันพฤหัส ซึ่งเป็นวันที่พยากรณ์อากาศบอกว่าฝนจะตก โดยหวังว่าความรุนแรงของสภาพอากาศจะถูกชะให้เบาบางไปกับสายน้ำ อาร์วินด์ เคจรีวัล (Arvind Kejriwal) มุขยมนตรีประจำเดลีก็ยอมรับว่า ปัจจุบันเมืองทั้งเมืองกลายเป็น ‘ห้องรมแก๊ส’ จากระดับมลภาวะทางอากาศที่ถึงระดับเกินรับไหว เคจรีวัลกล่าวว่าหลายพื้นที่มีคุณภาพอากาศในระดับอันตรายและเสี่ยงก่อโรคทางเดินหายใจแก่ประชาชน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเครื่องบินมากกว่า 30 เที่ยวต้องเปลี่ยนเส้นทางการบินไปจอดยังสนามบินอื่น ยังไม่รวมเที่ยวบินทั้งขาออกและขาเข้าอีกกว่า 500 เที่ยวต้องล่าช้ากว่ากำหนดจากทัศนวิสัยในม่านฝุ่นที่เลวร้าย

The early morning view from our 7th floor hotel room looking south across Delhi. The air pollution, cought by the morning mist, is clearly evident.

มลภาวะทางอากาศมาจากไหน

เมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ข้อมูลจากศูนย์คณะกรรมการควบคุมมลภาวะ (Central Pollution Control Board: CPCB) ระบุว่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในเดลีอยู่ที่ 494 หรือระดับ ‘อันตราย’ ซึ่งเป็นระดับมลภาวะสูงสุดจากการจัดอันดับ AQI สหรัฐที่มีทั้งสิ้น 6 ระดับตั้งแต่ 0-500 ตัวเลขดังกล่าวเป็นสถิติมลภาวะทางอากาศสูงสุดของปีนี้ ใกล้เคียงกับสถิติเก่าที่วัดได้ในเดือนพฤศจิกายนเมื่อปี 2016 ที่ 497 ส่วนปริมาณอนุภาคขนาดเล็ก PM2.5 และ PM10 ในเดลีวันนี้ยังอยู่ในระดับ ‘รุนแรง’ สูงกว่าค่ามาตรฐาน

ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องปกติที่เดลีต้องเผชิญกับมลภาวะทางอากาศเช่นนี้ในช่วงเวลาประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกๆ ปี มลภาวะทางอากาศที่กำลังเป็นปัญหาในเดลีประกอบด้วยอนุภาคขนาดเล็ก (Particular Matter: PM) คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์

ไอเสียจากรถยนต์ในเดลีอาจมีส่วนทวีความรุนแรงของปัญหาเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่สาเหตุหลักของการเกิดมลภาวะทางอากาศในครั้งนี้กลับมาจากรัฐปัญจาบและรัฐหรยาณาที่อยู่ข้างเคียง ซึ่งมีการเผากำจัดเศษวัสดุทางการเกษตรหลังเก็บเกี่ยว

ที่น่าสนใจคือ เทศกาลดิวาลี (Diwali) หรือเทศกาลแห่งแสงสว่างตามความเชื่อของศาสนาฮินดูเมื่อสัปดาห์ก่อนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อมลภาวะเช่นกัน เนื่องจากมีการจุดพลุและดอกไม้ไฟเพื่อเฉลิมฉลองจำนวนมาก นอกจากนี้ฝุ่นควันจากการก่อสร้างและไอเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาพอากาศในเดลียิ่งเลวร้ายลงด้วย

การรับมือของรัฐบาลท้องถิ่น

ในวันที่ 1 พฤศจิกายน เดลีประกาศ ‘สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข’ รัฐบาลประจำสหภาพเดลี พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการออกนโยบายให้เจ้าของรถยนต์ส่วนตัวที่มีป้ายทะเบียนเลขคู่และเลขคี่สลับกันขับคนละวันเพื่อลดจำนวนยานพาหนะบนท้องถนน ต้นเหตุหนึ่งของการเกิดมลภาวะทางอากาศ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคาร โดยเฉพาะในช่วงเช้าและช่วงค่ำ หลีกเลี่ยงพื้นที่มลพิษ ปิดประตูและหน้าต่างบ้าน รวมถึงสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถกันฝุ่นในกรณีไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศภายนอกได้

เช่นเดียวกับมาตรการรับมือปัญหามลภาวะทางอากาศในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ โรงเรียนหลายแห่งในเดลีประกาศหยุดเรียนชั่วคราวจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน มีการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้เด็กๆ ตามสถานศึกษารวมแล้วหลายล้านชิ้น ส่วนโครงการก่อสร้างถูกระงับไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม บางมาตรการดูจะเรียกความไม่พอใจจากประชาชนมากกว่าจะเรียกความเชื่อมั่น เช่น ฮาร์ช วาร์ธาน (Harsh Vardhan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัวแนะนำให้ประชาชน “กินแครอต” เพื่อป้องกันอาการมองเห็นไม่ชัดในที่สลัวและอาการอื่นๆ จากมลภาวะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วน ประกาศ ชวดีการ์ (Prakash Javadekar) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมซึ่งควรเป็นแรงหลักในการคิดหามาตรการรับมือกลับนิ่งเฉยและแนะนำให้ประชาชน “เริ่มต้นวันใหม่ด้วยเสียงเพลง” พร้อมลิงค์เพลงเพราะในยูทูบผ่านแอคเคาน์ทวิตเตอร์ ก่อนจะหันเหไปทวีตเรื่องอื่นต่อเมื่อมีคนเข้ามาทวงถามถึงหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรี

สุนิล ภารลา (Sunil Bharala) รัฐมนตรีรัฐอุตรประเทศ รัฐข้างเคียงติดกับเดลี ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งทำการเกษตรและเผาเศษวัสดุหลังเก็บเกี่ยวจนเป็นเหตุให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ก็ออกมาแย้งว่า การเผาตอซังเป็นวิถีธรรมชาติและไม่ได้ก่อมลภาวะมาก แต่รัฐบาลควรแก้ไขปัญหามลภาวะด้วยการประกอบพิธี ‘ยากนา’ (Yagna) เพื่อขอฝนอย่างที่เคยเป็นประเพณีปฏิบัติกันมา คำแนะนำนี้สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนอินเดียเนื่องจากแม้จะเป็นพิธีกรรมดั้งเดิม แต่ต้องใช้ไฟจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเป็นเครื่องบูชา

 

ผลกระทบต่อสุขภาพ

ยังมีผู้คนอีกมากที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศนอกอาคารได้ สาชิน มัตธุร์ (Sachin Mathur) คนขับรถโดยสารริคชอว์ (rickshaw) วัย 31 ปี กล่าวว่าเขาจำต้องทำงานข้างนอก มัตธุร์เริ่มมีปัญหาหายใจลำบากและแสบตาจนแทบลืมตามองถนนไม่ขึ้น เขาเจ็บป่วยจากอาการคอติดเชื้อแต่ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ เนื่องจากฝุ่นควันทำให้ผู้โดยสารไม่กล้าออกจากบ้านมากขึ้น หมายถึงมัตธุร์ไม่สามารถเจียดเงินรายได้ที่ลดลงไปหาหมอได้

โรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดียในเดลีรายงานว่าจำนวนผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คนเดลีจำนวนมากตื่นตัวเรื่องอันตรายจากมลภาวะทางอากาศมากขึ้น เห็นได้จากประชาชนมีพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยกันฝุ่นและการเก็บตัวอยู่ในอาคารที่มิดชิดเป็นเรื่องปกติ

งานวิจัยหลายฉบับสรุปไว้ว่า มลภาวะทางอากาศส่งผลกระทบต่อเด็กในแง่สุขภาพโดยตรง ส่วนการหยุดเรียนเนื่องจากสภาวะอากาศไม่มีผลทำให้การเรียนของเด็กๆ ตกลง

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) กล่าวว่า เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่ได้รับอากาศไม่บริสุทธิ์ส่วนมากมีปัญหาสุขภาพรุนแรงตามมาหลังจากนั้น โดยยิ่งอายุน้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งเปราะบางต่อคุณภาพอากาศ เนื่องจากปอดของเด็กอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา และเด็กมีอัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ จึงได้รับสารก่อมลภาวะมากกว่า โดยโรคที่พบมาก เช่น โรคหอบหืด นอกจากนี้งานวิจัยสหราชอาณาจักรพบว่าเมื่อผู้ปกครองขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน เด็กจะได้รับมลภาวะมากกว่าผู้ใหญ่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากระดับส่วนสูงทำให้เด็กอยู่ใกล้ท่อไอเสียรถมากกว่า

มลภาวะทางอากาศยังมีผลต่อสมองของเด็กในด้านการพัฒนาความรู้ความเข้าใจและสุขภาพจิต งานวิจัยเมื่อปี 2014 ค้นพบว่ามลภาวะทางอากาศมีผลทำให้ประสิทธิภาพการทำข้อสอบของเด็กชาวอิสราเอลลดลง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เด็ก-เยาวชนในเดลีออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นออกมาตรการแก้ไขและป้องกันปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างยั่งยืนในระยะยาว

“เห็นอยู่ว่าปัญหานี้รุนแรงขนาดไหน และน่ากลัวไม่น้อยที่เราไม่สามารถเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้” ชัยวิพรา (Jaivipra) หนึ่งในผู้ประท้วงกล่าว “เรากังวลถึงอนาคตและสุขภาพของตัวเอง แต่เราต่อสู้ในนามเด็กๆ และผู้ใหญ่ทุกคนที่ประสบปัญหาใหญ่หลวง ณ ที่นี่”

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
bbc.com
theguardian.com
economist.com/the-economist-explains
economist.com
news18.com
air-quality.com

 

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า