ภายหลังจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีหนังสืออย่างเป็นทางการให้ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี จากการเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2554 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 สร้างความเคลือบแคลงใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงหลักการและเหตุผลของการวินิจฉัยครั้งนี้ว่าถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือไม่
หนึ่งในองค์กรที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านคำสั่งปลดนายสุชาติพ้นจากศิลปินแห่งชาติ คือ สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย หรือ Thai Media for Democracy Alliance (DemAll) โดยออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่า มติของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นการวินิจฉัยเกินเลยบทบาทหน้าที่ และเรียกร้องให้มีการทบทวนใหม่
นอกจากนี้ DemAll ยังได้รวบรวมรายชื่อผู้ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว เพื่อนำไปต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
แถลงการณ์ฉบับเต็มของ DemAll มีเนื้อหาสำคัญ ดังนี้
แถลงการณ์คัดค้านมติยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ
ตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีหนังสือเลขที่ วธ 0503.5/3105 แจ้งไปยัง นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี อ้างถึงมติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564 วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม 2564 ให้ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ด้วยคะแนนเสียงมากกว่าสองในสามของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย
1. นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต
2. นางปัจฉิมา ธนสันติ
3. นายปัญญา วิจินธนสาร
4. นายปรารภ เหล่าวานิช
5. นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล
6. พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์
7. นายศิริศักดิ์ คชพัชรินทร์
8. น.ส.สุทธาสินี วัชรบูล
9. นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล
มติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อ้างเหตุผลการยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ระบุว่า นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี มีพฤติกรรมเสื่อมเสียโดยการแสดงความเห็นที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม มีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านสื่อเฟซบุ๊ค
มติที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาข้อสงสัยหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อาทิ
หนึ่ง ข้อกล่าวหาหมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นข้อกล่าวหาที่มีผลกระทบรุนแรง จำเป็นต้องแสดงพยานหลักฐานให้ประจักษ์ชัด ไม่สมควรกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยปราศจากหลักฐานอ้างอิง ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญคือ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมิใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยว่าผู้ใดหมิ่นหรือไม่หมิ่นสถาบัน เนื่องจากบทบาทดังกล่าวเป็นหน้าที่ขององค์กรตุลาการ มติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี โดยใช้เหตุผลนี้ จึงเป็นการวินิจฉัยเกินเลยบทบาทหน้าที่
สอง หากวัฒนธรรมคือสิ่งที่วิวัฒน์ไปตามความเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนทางสังคม บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงควรติดตามทำความเข้าใจสภาพสังคมอย่างเท่าทัน และมีขีดความสามารถในการจำแนกแยกแยะได้ว่า พฤติกรรมใดเป็นการปิดหูปิดตาประจบสอพลอ พฤติกรรมใดเป็นข้อเสนอโดยปรารถนาให้สถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมกับสังคมที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเฉกเช่นปัจจุบัน
สาม หากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ถึงพร้อมด้วยสติปัญญาและดุลพินิจ สมควรเข้าใจได้ไม่ยากว่าการดึงสถาบันมาใช้เป็นข้อกล่าวหานั้น นอกจากรังแต่จะสร้างความมัวหมองให้แก่สถาบันแล้ว ในขณะเดียวกันยิ่งเป็นแรงเสริมให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันดีว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องมือปิดปากผู้เห็นต่างทางความคิด ทั้งหมดนี้ยกเว้นว่าคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะยอมรับว่า การตีสองหน้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย
สี่ หากใช้วิธีพิจารณาแบบเหมารวมรวบรัดเฉกเช่นพฤติกรรมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ การใช้กฎกระทรวงข้อ 10 ที่เพิ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2563 เป็นเครื่องมือยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ก็อาจตีความวินิจฉัยได้เช่นกันว่า นี่เป็นการแก้ไขกฎกระทรวงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการกับบุคคลในสถานการณ์แตกต่างทางความคิด
เพื่อเป็นการปกป้องเกียรติยศ มิให้ชื่อและนามสกุลของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติทั้ง 9 คน ถูกจารึกในบัญชีสาปแช่งของราษฎร เราจึงขอเสนอข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
หนึ่ง ทบทวนและยกเลิกมติดังกล่าวอย่างรวดเร็ว
สอง คณะกรรมการคนใดอยู่ในเสียงข้างน้อย สมควรแสดงความกล้าหาญบอกกล่าวจุดยืนของตนต่อสาธารณะ เพื่อได้รับประดับเกียรติจากประชาชน
สาม หากคณะกรรมการคนใดบังเกิดความละอาย สามารถสร้างวัฒนธรรมดีงามใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยการเอ่ยขอโทษอย่างจริงจัง และลาออกจากคณะกรรมการโดยเร่งด่วน เพื่อสร้างบรรทัดฐานการทำงานให้คนรุ่นถัดไปแสดงความนับถือได้
ทั้งนี้ นอกจากมาตรการทางสังคม ปัญหาจากมติที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติดังกล่าว จะนำไปสู่ขั้นตอนการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อดำรงหลักการความถูกต้องและชอบธรรมอีกหลายคดีความ
จึงแจ้งมาให้รับทราบโดยทั่วกัน