“มนุษย์คืออะไร?”
“ชีวิตคืออะไร?”
“วัตถุมีชีวิตหรือไม่?”
ฯลฯ
เรามักได้ยินคำถามชวนปวดกบาลเหล่านี้จากปากหรือตัวอักษรของบรรดานักปรัชญา นักคิด หรือกระทั่งคัมภีร์ทางศาสนาต่างๆ แต่ใครเล่าจะคิดว่า วัตถุนานัปการที่ถูกนำมาจัดวางในฐานะ ‘งานศิลปะ’ ในนิทรรศการ ‘DiaLogic’ ก็สามารถกระตุกต่อมคิดของเราให้หวนระลึกถึงคำถามยากๆ เหล่านั้นได้เช่นกัน
งานนิทรรศการ ‘DiaLogic’ รังสรรค์ขึ้นจากบทสนทนาและการทำงานร่วมกันระหว่าง สันติ ลอรัชวี กราฟิกดีไซเนอร์ ผู้ทำงานคาบเกี่ยวระหว่างโลกของศิลปะและการออกแบบ และ อโณทัย นิติพน นักประพันธ์เพลงและนักดนตรีร่วมสมัยที่ชอบทดลองกับเสียงต่างๆ
หน้าจอสีดำ ณ ทางเข้านิทรรศการ ฉายภาพนิ่งเป็นตัวอักษรอธิบายความหมายของชื่องาน ‘DiaLogic’ ว่า มาจากการผสมคำระหว่าง การสนทนา (dialogue) เข้ากับตรรกะหรือเหตุผล (logic) เมื่อสมาสรวมกันแล้วก็น่าจะหมายความว่า บทสนทนาที่ชวนถก ชวนครุ่นคิดในประเด็นต่างๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล
แม้จะเป็นผู้ริเริ่มนิทรรศการ ทว่าศิลปินทั้งสองไม่ใช่นักเทศนาหรือประกาศกที่ต้องการพูดอยู่ฝ่ายเดียว หากแต่เชื้อเชิญทีมงานเบื้องหลังทั้งที่เป็นนักวิชาการ นักออกแบบ นักศึกษา และที่สำคัญคือ ผู้เข้าชมนิทรรศการ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาครั้งนี้ด้วย แต่ก็ยังไม่หนำใจเพียงเท่านั้น เพราะบทสนทนาไม่จำกัดอยู่แต่เพียงในแวดวงของมนุษย์ เพราะสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ก็ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมวงด้วย ตั้งแต่สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) น้องหมา หรือกระทั่งเสียงของเครื่องปรับอากาศ
ส่องวัตถุมีชีวิต…
เราอาจคุ้นเคยกับแนวคิดการแบ่งแยกคู่ตรงข้ามระหว่างมนุษย์-สิ่งไม่ใช่มนุษย์ วัฒนธรรม-ธรรมชาติ หรือสิ่งมีชีวิต-สิ่งไม่มีชีวิต แต่ในปัจจุบันนักคิดต่างๆ พยายามสลายเส้นแบ่งเหล่านี้ และหันมาให้ความสนใจกับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human) มากขึ้น ในฐานะ ‘ตัวแสดง’ (actant) ที่สำคัญของปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ
กระแสธารความคิดที่ต้องการคัดง้างกับ ‘มนุษยนิยม’ (humanism) ซึ่งมองมนุษย์เป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาลในฐานะสิ่งมีชีวิตเพียงหนึ่งเดียวที่มีสติปัญญาและสามารถทำความเข้าใจสรรพสิ่งรอบตัวได้ พูดง่ายๆ ก็คือ มนุษยนิยมเชื่อว่าองค์ประธานในการสร้างความรู้เกี่ยวกับโลก ไม่สามารถเป็นสิ่งอื่นใดได้นอกเสียจากมนุษยชาติเท่านั้น
ทว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ ในเมื่อมนุษย์ไม่ได้เป็นเพียง ‘สิ่ง’ เดียวที่ดำรงอยู่บนโลกใบนี้ เพราะยังมีสรรพสิ่งอื่นๆ อีกมากดำรงอยู่ร่วมกับมนุษย์ด้วย อาทิ สัตว์ พืช ฟังไจ (fungi) เชื้อโรค ก้อนหิน ดิน ทราย สายลม ตลอดจนสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ของมนุษย์เอง และสรรพ ‘สิ่ง’ ที่ทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิตเหล่านี้ต่างล้วนเป็นองค์ประกอบของชีวิตและความรู้ของมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
นี่จึงเป็นที่มาของแนวคิดต่อต้านมนุษยนิยมที่เรียกว่า ‘ภววิทยาของวัตถุ’ (Object-Oriented Ontology หรือ OOO) หรือหลังมนุษยนิยม (post-humanism) ซึ่งได้ส่งแรงสั่นสะเทือนวงการวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ตลอดจนวงการศิลปะทั่วโลกอย่างน้อยก็ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ว่า มนุษย์อาจไม่ใช่ศูนย์กลางในการทำความเข้าใจโลกอีกต่อไปแล้วก็ได้
กล่าวอย่างง่าย แนวคิด OOO ต้องการย้ำเตือนว่า สรรพสิ่งอื่นๆ ก็ดำรงอยู่และมีตัวตนในโลกใบนี้เท่าๆ กันกับมนุษย์ มนุษยชาติจึงไม่ใช่ ‘ภววิทยา’ (ontology) หรือการดำรงอยู่เดียวที่สามารถกระทำการหรือสร้างปรากฏการณ์ทางสังคม
ในขณะที่นักมนุษยนิยมมองมนุษย์หรือโลกทางวัฒนธรรมเป็นองค์ประธาน แต่กลับมองโลกธรรมชาติหรือวัตถุสิ่งของทั้งหลายแหล่เป็นเพียงแค่กรรมหรือสิ่งที่ถูกกระทำหรือถูกใช้งานจากมนุษย์ กล่าวคือ ไม่ได้มองวัตถุในฐานะที่มันมีชีวิตเป็นของตัวเอง ตัวอย่างเช่น เมื่อเรามองเก้าอี้ เราอาจคิดเพียงว่า นี่คืออุปกรณ์สำหรับนั่ง เราจึงสนใจเพียงแค่ความสวยงาม ความสบาย และความแข็งแรงทนทานของมันเท่านั้น แต่ OOO กลับชวนเราตั้งต้นจากเก้าอี้โดยตัวมันเอง เฉกเช่นเดียวกับสิ่งที่อโณทัยนำมาจัดวางในงาน ‘DiaLogic’
อโณทัยผู้รักการทดลองกับเสียงเป็นทุนเดิม ทราบว่า ‘Xspace Gallery’ สถานที่จัดนิทรรศการขายเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือนหลากหลายชนิด รวมไปถึงเก้าอี้ หากเป็นลูกค้าทั่วไปคงจะสนใจเพียงรูปลักษณ์ ดีไซน์ หรือราคา แต่คำถามที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ใครคือคนที่จะมาซื้อเก้าอี้เหล่านี้ เก้าอี้ถูกซื้อไปที่ไหน และ ณ แห่งหนตำบลนั้น เก้าอี้จะประสบพบเจออะไรบ้าง ฯลฯ
เมื่อนำคำตอบของคำถามเหล่านี้มาประกอบกัน เราก็จะได้ภาพรวมเกี่ยวกับ ‘ชีวิต’ ของเก้าอี้นั่นเอง อโณทัยได้ติดตามเส้นทางของเก้าอี้ที่ถูกขายไปยังแหล่งที่อยู่ใหม่ของมัน เช่น ห้างสรรพสินค้าที่มีคนพลุกพล่าน แล้วเก็บบันทึกเสียง เพื่อประกอบสร้างให้เห็น (หรือได้ยิน) ว่า สรรพสิ่งใดบ้างเข้ามามีส่วนร่วมรังสรรค์ปรากฏการณ์ทางสังคมกับเก้าอี้เหล่านี้
ดังนั้น เมื่อเราหย่อนก้นลงนั่งบนเก้าอี้ที่ถูกนำมาจัดวางในนิทรรศการ ‘DiaLogic’ ก็จะได้ยินเสียงบอกเล่าเรื่องราวชีวิตจากมัน
OOO ยังเสนอว่า โลกถักทอขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของวัตถุต่างๆ มากมายมหาศาล โดยที่เรียกความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุด้วยกันว่า ‘การแปล’ (translation) กล่าวคือ เพื่อสร้างปรากฏการณ์บางอย่างร่วมกัน วัตถุ 2 ชนิดได้แปลตัวมันเองเพื่อสื่อสารแก่วัตถุอื่น ในขณะเดียวกันก็แปลวัตถุอื่นๆ เพื่อให้เข้ากันกับตัวมันเอง
ตัวอย่างเช่น เก้าอี้อาจจะเป็นที่นั่งสำหรับมนุษย์บางคนที่ปวดเมื่อยจากการเดินช็อปปิง แต่มันก็ถูกแปลเป็นอาวุธให้มนุษย์บางกลุ่มใช้ฟาดทุบเรือนร่างของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็ได้ เก้าอี้อาจกลายเป็นเตียงที่นุ่มนิ่มสำหรับน้องหมา หรือกระทั่งกลายเป็นเครื่องดนตรีใช้เคาะแทนกลองก็ได้
และอโณทัยก็ไม่พลาดที่จะใช้การแปลข้ามไปมาระหว่างวัตถุต่างๆ มาสร้างสรรค์เป็นเสียงดนตรีแทนที่เครื่องดนตรีมืออาชีพอย่างเปียโน ใน ‘DiaLogic’ เราจะได้ฟังและเล่นดนตรีจากสิ่งต่างๆ เช่น หม้อ กระทะ แก้วน้ำ ลูกแก้ว ซิป พัดลม หรือกระทั่งสร้อยคอ
…ย้อนพินิจความเป็นมนุษย์
หากเรามองว่า โลกคือผลผลิตจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัตถุต่างๆ ไม่ใช่การสร้างสรรค์ความรู้ของมนุษย์ผู้เป็นองค์ประธานหรือซับเจคต์ (subject) ความสำคัญในการดำรงอยู่ของมนุษย์จะหายไปเลยหรือไม่
คำตอบของ OOO คงไม่มักง่ายเช่นนั้น เพราะแม้มนุษย์จะลดบทบาทลงบ้าง แต่ในเมื่อไม่มีคู่ตรงข้ามระหว่างมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป มนุษย์ก็เป็นเพียงวัตถุหนึ่งท่ามกลางวัตถุอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการแปลตัวเองและวัตถุอื่นๆ ได้ไม่ต่างกัน
หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของนิทรรศการ ‘DiaLogic’ น่าจะเป็นภาพตัวอักษรบิดๆ เบี้ยวๆ สีดำบนพื้นหลังสีขาวจำนวนกว่า 10 ภาพที่ถูกแขวนไว้บนผนัง หากยึดตามบทสนทนาของสันติ เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘CAPTCHA’ (Completely Automated Public Turing test to tell Computers and Humans Apart)
CAPTCHA คือชุดตัวเลขและอักษรบิดเบี้ยวที่จะโผล่ขึ้นมาทดสอบในยามที่คุณเข้าเว็บไซต์ต่างๆ ที่ต้องใช้รหัสผ่าน อาจเป็นภาพปล่องไฟจราจร รถจักรยาน รถดับเพลิง หรือเนินเขาให้คุณเลือกจิ้ม เพื่อป้องกันการเจาะระบบจากไวรัสหรือ AI หรือก็คือเพื่อทดสอบว่า “คุณเป็นมนุษย์หรือเปล่า?” หรือ “คุณไม่ใช่หุ่นยนต์ใช่ไหม?”
รหัสดิจิทัลเหล่านี้กระตุกเตือนให้สันติตั้งคำถามว่า คุณสมบัติในการแปลตัวอักษรบิดเบี้ยวนี้เป็นของมนุษย์เท่านั้นหรือ แล้วสิ่งมีปัญญารู้คิดอื่นๆ (sentient being) เช่น AI มันจำไม่ได้เลยหรือว่า ภาพเบี้ยวๆ นั้นคืออักษรตัวใดบนแป้นพิมพ์
เขาจึงจับตัวอักษรคำว่า ‘คน’ และ ‘human’ มาบิดให้เบี้ยวเสียจนแทบจะไม่เหลือเค้าโครงเดิม แล้วจับใส่กรอบแขวนไว้ในงานนิทรรศการ เพื่อทดสอบว่ามนุษย์จะยังสามารถจดจำและเข้าใจความเป็นมนุษย์ได้อยู่อีกไหม แล้วมนุษย์จะยังเป็นมนุษย์หรือเปล่าหากไม่ผ่านการทดสอบครั้งนี้
และอีกหนึ่งผลงานที่แสดงถึงการแปลระหว่างมนุษย์กับวัตถุก็คือ ภาพกระดาษขาวที่แทบจะว่างเปล่า 2 ภาพ ตรงกลางโถงนิทรรศการ หากมองด้วยตาเปล่าๆ ของมนุษย์ เราอาจคิดว่านี้คือกระดาษเปล่าๆ ที่ไม่มีใครทำอะไรกับมัน แต่นี่คือผลงานรังสรรค์ของคอมพิวเตอร์ (เครื่องปริ้นต์) ที่สันติหลอกล่อมันให้ร่วมมือจนสำเร็จ
โดยทั่วไป เครื่องปริ้นต์จะไม่ยอมทำงานหากเราไม่ตั้งค่าหรือใส่คำสั่งใดๆ นั่นหมายความว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะปริ้นต์กระดาษเปล่าออกมา ดังนั้นสันติจึงใส่ค่าสีที่มีความเข้มข้นน้อยที่สุด เพื่อหลอกมันจนสามารถได้กระดาษที่ดูอย่างไรก็มองไม่เห็นร่องรอยของการพิมพ์เลย แต่สำหรับ AI ของเครื่องปริ้นต์ กระดาษแผ่นนี้ผ่านการเปื้อนหมึกเรียบร้อยแล้ว นี่ก็คือตัวอย่างหนึ่งของความพยายามในการสนทนาระหว่างการดำรงอยู่ หรือ ontology ที่ต่างกัน เพื่อสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมขึ้น
‘วัตถุ’ แทบทั้งหมดในนิทรรศการได้ส่องสะท้อนให้เห็นความหมายที่พร่าเลือนของความเป็นมนุษย์ ซึ่งอันที่จริง OOO ก็บอกเราแล้วว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์อย่างที่เราเคยเข้าใจหรอก จะมีก็เพียงวัตถุต่างๆ ที่มีคุณสมบัติและศักยภาพที่หลากหลาย และมนุษย์ก็เป็นเพียงหนึ่งในวัตถุเหล่านั้น ซึ่งมีศักยภาพที่จะเป็นได้หลายอย่าง แต่เราไม่มีทางรู้ได้ทั้งหมดหรอก เพราะมันเป็นสิ่งที่ยังไม่ปรากฏ
หากกล่าวด้วยลีลาแบบ OOO ภววิทยาของวัตถุต่างๆ หมายถึงศักยภาพที่ยังไม่ปรากฏและพร้อมจะแปลเข้าหาภววิทยาของวัตถุอื่นๆ มนุษย์ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์ประธานของความรู้ที่จะต้องรอบรู้ทุกเรื่องราวในโลก แม้กระทั่งความเป็นองค์รวมของมนุษยชาติเอง
อย่างไรก็ดี แม้ไม่มีคำตอบที่ตายตัวต่อคำถามชวนปวดหัวที่ว่า มนุษย์คืออะไรกันแน่ แต่นิทรรศการ ‘DiaLogic’ ก็ไม่มีมาตรการลงโทษ ไม่ห้ามการเข้าถึงหรือแบนไม่ให้ใครออกจากสถานที่จัดงานเหมือน CAPTCHA เพราะมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ ก็ยังสามารถเดินเข้าหรือออกจากนิทรรศการได้ตามอำเภอใจ แม้จะอ่านไม่ออกหรือไม่เข้าใจความหมายของภาพเหล่านั้นก็ตาม
มาร่วมเป็น ‘วัตถุ’ ก้อนหนึ่งที่มีส่วนสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมและการสนทนาเหล่านี้ได้ ณ Xspace Gallery (Main Hall) ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม – 30 กันยายน 2022 *งานเปิดนิทรรศการ 27 สิงหาคม 2022 (14.00-17.00 น.) |
อ้างอิง
- เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2563). Object-Oriented Ontology in One Hour: OOO เบื้องต้นสำหรับอ่านจบได้ใน 1 ชั่วโมง. กรุงเทพฯ : Illuminations Edition.