Ghibli in Bangkok: 10 ปีของการเดินทาง ก่อนจะเป็นนิทรรศการจิบลิเมืองไทย 

และแล้วก็ถึงเวลาที่ทุกคนรอคอย เมื่อนิทรรศการ ‘จิบลิ’ เดินทางมาถึงเมืองไทย ในชื่องาน ‘The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023’ ที่เซ็นทรัลเวิลด์ไลฟ์ ซึ่งเปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน และล่าสุดขยายเวลาไปจนถึง 2 มกราคม 2567 บอกเลยว่าแฟนจิบลิตัวจริงไม่ควรพลาด 

WAY มีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับ รักษิต รักการดี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ จาก Live Nation Tero Entertainment ผู้จัดงานนิทรรศการจิบลิ และเป็นแฟนตัวยงของสตูดิโอแอนิเมชันเจ้าดังนี้ งานนี้เรียกว่าใส่แพสชันส่วนตัวเข้ามาเต็มๆ เพื่อรับประกันความเพลิดเพลินในการรับชมนิทรรศการสำหรับทุกๆ คน

เกริ่นก่อนว่า หัวข้อที่เราได้พูดคุยกัน นอกจากเรื่องที่มาของการจัดงานนิทรรศการจิบลิแล้ว ยังรวมไปถึงเบื้องหลังของการได้รับเกียรติจากสตูดิโอจิบลิในการเปิดโซนใหม่เพิ่มเติมที่เรียกว่าโซน ‘Hall of Fame’ ซึ่งประกอบด้วยภาพสเกตช์ฉบับจริงและงานสต็อปโมชัน อันเป็นเรื่องราวกว่าจะมาเป็นแอนิเมชัน สตูดิโอ จิบลิ ส่งตรงจากญี่ปุ่นให้ชาวไทยได้รับชม ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่จิบลิอนุญาตให้นำมาจัดแสดงนอกเหนือจากที่ญี่ปุ่น

สิ่งเหล่านี้กระตุกต่อมขี้สงสัยใคร่รู้สำหรับสาวกจิบลิอย่างเราๆ เป็นแน่แท้ ว่าเหตุใดกันนะ ประเทศไทยหรือในที่นี้ก็คือผู้จัดงานอย่าง Live Nation Tero ถึงได้รับเกียรติให้ได้นำผลงานซึ่งมีทั้งคุณค่าและมูลค่ามหาศาลเช่นนี้มาโชว์อยู่ในนิทรรศการ 

เอาล่ะ… ไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลง เรามาเข้าเรื่องที่เหล่าสาวกจิบลิอยากรู้กันเลยดีกว่า

อยากทราบว่าจิบลิคิดอย่างไรถึงมอบภาพวาดต้นฉบับมาจัดแสดงที่ไทย

ต้องบอกว่า ทางโน้น (สตูดิโอจิบลิ) เป็นคนตัดสินใจเอง ตั้งแต่การนำนิทรรศการมาจัดแสดงในช่วง 3 เดือนแรก เขาก็แอบส่งคนของเขามาดูนะ เพื่อมาเช็กว่าเราดูแลงานของเขาดีแค่ไหน เพราะมีหลายที่เอางานของเขาไปแล้วดูแลไม่ดี เขาก็ไม่อยากให้จัดต่อ แล้วกระแสตอบรับดีที่ไทยก็ค่อนข้างดี เขาเลยอนุญาตให้เราจัดต่อ

เราก็เลยบอกว่า ถ้าจะเปิดโซนเพิ่ม ขอคอนเทนต์เพิ่มสำหรับแฟนชาวไทยได้ไหม ทางเขาก็เอากลับไปคิด แล้วก็คุยกันอีกหลายรอบ ทีแรกเขาจะส่งผลงานศิลปะเป็นตัวคาแรกเตอร์มาให้ แต่มันเป็นงานชิ้นใหญ่มากๆ เราขนมาไม่ไหว เราเลยถามเขาว่าของานเบื้องหลังได้รึเปล่า คุยกันอยู่นาน สุดท้ายเขาก็เลยส่งงานดรอว์อิง (drawing) งานสเกตช์ (sketch) มาให้ ก็ถือเป็นครั้งแรกในโลกเลย (นอกเหนือจากที่ญี่ปุ่น) ที่เขายอมให้เอามาโชว์ และยังถ่ายรูปร่วมได้ด้วย ซึ่งไม่รู้ว่าไปจัดที่อื่นจะให้ไหมนะ

ย้อนกลับไปตั้งแต่แรกเริ่ม ทำไมถึงเลือกจัดนิทรรศการจิบลิ แล้วทางสตูดิโอจิบลิเขาคัดกรองอย่างไร

ที่จริงเราใช้เวลา 7-8 ปี เลยนะกว่าจะหาทางติดต่อไปได้ ตอนนั้นเป็นช่วงโควิด ทางจิบลิเปิดโอกาสให้เราได้เสนอตัวเองเข้าไป แล้วก็ต้องผ่านหลายด่าน ผ่านเอเจนซีก่อน หลังจากนั้นเขาก็นัดให้ไปพรีเซนต์ แต่ก่อนจะพรีเซนต์ เขาก็สัมภาษณ์เราก่อนว่าเรารู้จักจิบลิแค่ไหน เราเข้าใจถึงความสำคัญของมันแค่ไหน ซึ่งเข้าทางเราเลย เขาก็เลยรู้ว่าเราเป็นแฟนจิบลิจริงๆ เพราะเขาบอกเลยว่า เขากลัวคนไม่เคารพผลงานเขา ไม่ดูแล ไม่ให้เกียรติ และเขาไม่ลำบากเรื่องเงิน เขาไม่ต้องการเงิน เขาแค่ต้องการให้ผลงานของเขาออกมามีคุณภาพที่ดี

แล้วทางสตูดิโอเขาก็สืบประวัติเรา ซักถามเรื่องต่างๆ พอคุยกันไป เขาก็พาไปเจอทีมเขา มีกันหลายสัญชาติมากๆ พาไปดูออฟฟิศเขา ออฟฟิศก็เป็นบ้านเขา อยู่ในหมู่บ้านนี่แหละ แล้วเขาก็ขยายเพิ่ม ซื้อเพิ่มทีละหลังสองหลัง เขาพาไปดูคนเขียนเขาเขียนยังไง หนึ่งวันเขียนได้กี่วินาที (ในแอนิเมชัน) แล้วกว่าจะได้เริ่มทำเซอร์เวย์ ต้องเจอกันหลายรอบเหมือนกัน

ทีนี้กว่าจะได้จัดจริงๆ ก็ล่วงมาอีก 3 ปี รวมๆ กันแล้วใช้เวลาเป็นสิบปี มันเป็นสิบปีของการสะสมความน่าเชื่อถือจากการจัดงานต่างๆ และรักษามาตรฐานที่ดีเอาไว้ มีพอร์ตดี มันไม่ใช่ว่าใครอยากทำก็ไปซื้อมาทำได้

ส่วนเหตุผลที่เลือกจัดนิทรรศการจิบลิ ต้องบอกแบบนี้ว่า ผมทำ exhibition บุกเบิกมาตั้งแต่ปี 2000 ต้นๆ ตั้งแต่งานไททานิค หรืองานที่ทำกับ NASA เอายานอวกาศมาจัดแสดงที่เซ็นทรัลลาดพร้าว แล้วก็มีนักบินจากอพอลโลมาด้วย ถือได้ว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ มีเด็กจากทั่วประเทศมาดู จนเราเข้าใจได้ว่า การทำธุรกิจบันเทิงไม่ใช่มีแค่คอนเสิร์ตอย่างเดียวนะ แต่งานนิทรรศการเหล่านี้ก็เป็นประโยชน์กับสังคม กับเด็กรุ่นใหม่ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของเด็กๆ แทนที่จะต้องบินไปสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก

เรามองว่าสิ่งนี้เป็น good will ของเรา เราคิดว่าถ้ามีโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่หรือคนไทยเข้าถึงคอนเทนต์ที่ดีโดยไม่ต้องบินไปดูต่างประเทศ เราถือว่ามันก็ควรจะทำนะ

คิดว่าสิ่งนี้สำคัญแค่ไหนกับการมอบประสบการณ์ให้เด็กๆ ได้ดูงานแบบนี้

สำคัญมาก เพราะถ้าเด็กสักคนหนึ่งจะโตมาเป็นนักเล่าเรื่อง อย่างน้อยเขาก็ควรได้เห็นวัตถุดิบอะไรมาบ้าง ที่จริงจุดเริ่มต้นของเรามาจาก Disney on Ice นะ เป็นอีเวนต์สำหรับเด็ก ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าจะมีเด็กสักกี่คนที่ได้แรงบันดาลใจจากตรงนี้ โตขึ้นมาจะเป็นนักเล่าเรื่องได้รึเปล่า เพราะต่อให้มี talent ที่ดี แต่ถ้าไม่เคยได้เห็น material มาบ้าง มันก็ยากนะ และถึงแม้ว่าจะมีให้ดูผ่าน Youtube ผ่านอินเทอร์เน็ต มันก็ไม่เหมือนได้มาดูของจริง ได้ประสบการณ์ตรงหน้า ได้บรรยากาศ มีสิ่งแวดล้อมต่างๆ มีการเดินทาง มีการเตรียมตัว แต่งตัวเป็นเจ้าหญิงถือคทามาดูโชว์ สิ่งนี้คือ journey ของคนหนึ่งคนเลยนะ

โดยส่วนตัวแล้วคุณมีความชื่นชอบในจิบลิอย่างไรบ้าง

ผมเป็นคนชอบดูแอนิเมะตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว ดูมนุษย์สายรุ้ง ดูไอ้มดแดง เราเสพคอนเทนต์ญี่ปุ่น ฟังเพลงญี่ปุ่น โตมากับญี่ปุ่น แต่กับจิบลิ เรามาสะดุดตอนที่ได้ดูในช่วงที่ลูกของผมยังเด็กๆ

แรกๆ ก็ให้ดูดิสนีย์ บาร์บี้ ก็ค่อนข้างย่อยง่ายหน่อย แต่พอเริ่มให้ดู Totoro ดู Ponyo แล้วก็ดูเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏว่า เขาเริ่มดูแล้วนิ่ง ดูแล้วคิดตาม แล้วก็ค้นพบว่า หนึ่งคืองานอาร์ตสวยมาก และสองคือบทสนทนาในเรื่อง ข้อความแฝง เขาตั้งใจดู แล้วก็ซาบซึ้งไปกับบท แต่ถ้า Spirited Away อันนี้จะยากละ เริ่มดูไม่ค่อยเข้าใจละ

จากนั้นผมก็เลยเริ่มศึกษาข้อมูลของจิบลิมากขึ้น ก็เลยรู้ว่า อ๋อ มันเป็นหนังสองหน้า หน้าหนึ่งให้เด็กดู อีกหน้าหนึ่งให้ผู้ใหญ่ดู เส้นเรื่องมันมีความหมายที่อาจารย์มิยาซากิ (ฮายาโอะ มิยาซากิ) ยัดไว้ข้างใน ถ้าดูตอนเด็กก็จะเห็นอย่างหนึ่ง โตขึ้นมาดูอีกก็จะเห็นอีกอย่างหนึ่ง

ในแง่เทคนิคการจัดงาน ตำแหน่งแสงสี เส้นทางเดินในนิทรรศการ มีวิธีคิดอย่างไรในการจัดวาง

ทาง Live Nation Tero เป็นเพียงผู้ดำเนินการ แต่ความคิดทั้งหมดมาจากญี่ปุ่น ทางนั้นเขาไม่ปล่อยสักอย่างนะ อย่างงานนี้ทางจิบลิเขาจ้างมาทั้งหมด 3 บริษัท บริษัทแรกเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ รับผิดชอบเรื่องอีเวนต์ เรื่องหนัง เรื่องภายนอกญี่ปุ่น บริษัทที่สองดูแลเรื่องการดีไซน์นิทรรศการ เป็นเบอร์หนึ่งด้านนี้ของญี่ปุ่น ส่วนบริษัทที่สามเป็นทีมก่อสร้าง

แล้วทั้ง 3 บริษัทก็จะมาคุยกับเรา ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรกับพื้นที่กว่า 1,890 ตารางเมตร ผนังสูงอีกกว่า 4 เมตร ซึ่งต้องยกผนังขึ้นมาประกอบทาสี กว่าจะเอาสติกเกอร์แปะได้ทีละตัวเนี่ย ต้องเอาเลเซอร์มาวัด เขาเนี้ยบมากๆ ใช้เวลามากเลยนะ ไม่ใช่รูดแปะแบบเราทำกันทั่วไป มันต้องเป๊ะไปหมด

ทั้งหมดนี้ต้องบินไปมาหลายรอบ บินมาประชุม บินมาดูงาน บินมาตรวจไซต์ วัดขนาด แล้วก็ทำซ้ำๆ กว่าจะได้เป็นไฟนอลแพลน เซ็ตอัพงานขึ้นมา 1 เดือนเต็ม ตัวปราสาทกลับหัว (จากภาพยนตร์แอนิเมชัน Castle in the Sky) เขาเพิ่งคิดตอนมาถึงที่ไทยนะ เขาเองก็ไม่เคยทดลองกันมาก่อน มาแก้หน้างาน แก้กระจก แก้สีเพนต์ท้องฟ้า เราก็ถามนะว่าทำไมไม่ทำของที่มีอยู่ เขาก็บอกว่ามันไม่สนุก เขาอยากทำชิ้นใหม่ให้ดู แล้วเราก็ใช้ช่างไทยประกบกับช่างญี่ปุ่น

ส่วนที่ใช้เงินเยอะสุดคือ ส่วนของล่าม เพราะทางโน้นเขาเลือกเยอะ ล่ามต้องรู้เรื่องศิลปะด้วย ต้องเป็นสถาปนิกด้วย ทุกกระบวนการมีการลงทุน และคัดกรองอย่างดีจริงๆ

งานนิทรรศการนี้พิเศษกว่านิทรรศการทั่วไปอย่างไร

ทีมดีไซน์เขาก็มีโจทย์ว่า การจะเล่าแต่ละเรื่องต้องมีซีนเด่น แล้วเขาก็จะหยิบออกมาดีไซน์ บริษัทที่ดูแลเรื่องนี้เขาอยู่กับจิบลิมาตั้งแต่เริ่มต้น รู้มือกันดีเลย เขามีวัตถุดิบผลงานศิลปะเก็บไว้เยอะมาก ในโกดังที่เมืองชิบะ

ฉะนั้นเขาก็จะดีไซน์เรื่อง illusions เหลี่ยมมุม มุมมอง perspective ต่างๆ แล้วในงานก็มีพื้นที่ให้ถ่ายรูป ให้เราลองปิดตาข้างหนึ่งดู ลองก้มเงยมองดูพื้นที่มุมลึก มุมช้อนต่างๆ แล้วหาที่จัดวางถ่ายรูปกันได้

เสียงตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้เข้าเดือนที่ 4 แล้ว จนถึงตอนนี้มีผู้เข้าชมนิทรรศการก็ร่วมเป็นหลักแสนคนแล้ว แปลกดีที่คนเข้าชมแบ่งครึ่งๆ เป็นชาวไทยและชาวต่างชาติ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไต้หวัน เขาบินมาดูที่นี่ แฟนจิบลิบางคนเขาก็มาดูหลายรอบ ก็ถือว่าผลตอบรับดี

งานนี้เหมาะกับใครบ้าง

ทางญี่ปุ่นเขาไม่อยากให้ทำแพงมากนะ แล้วเราก็ไม่อยากตั้งราคาแพงอยู่แล้ว เราอยากให้คนเข้าถึงโชว์ได้ มันคงไม่มีประโยชน์ถ้าเราตั้งราคาบัตรแพง แล้วคนไม่ได้ดู เราก็พยายามสนับสนุนอุตสาหกรรมแบบนี้ ให้มันโตได้ ให้เป็นพื้นที่สำหรับครอบครัว

ผมพูดแบบนี้ว่า งานคอนเสิร์ตสำหรับผมยังถือว่าเฉยๆ เพราะเราจัดบ่อย แต่งานแบบนี้มันกินเวลาเป็น 10 ปี กว่าจะมาถึงวันนี้ 

ท่องไปในโลกของ Ghibli

เปิดตัวกันที่ฉากผนังต้อนรับ เชิญชวนให้ผู้ชมถ่ายรูปเก็บเป็นที่ระลึก ก่อนจะเข้าสู่โถงนิทรรศการด้านในที่เต็มไปด้วยโปสเตอร์ผลงานภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องต่างๆ มากมาย ในส่วนฉากต้อนรับนี้เป็นฝีมือช่างชาวไทย ถือว่าเนี้ยบไม่แพ้ช่างญี่ปุ่นเลยทีเดียว หลังจากนั้นทีมงานก็จะมอบสมุดที่บอกรูทการเดินชมนิทรรศการ และเรายังสามารถแสตมป์ตราประทับต่างๆ ได้อีกด้วย

เมื่อเข้าไปถึงบริเวณในตัวงานแล้ว สิ่งแรกที่จะได้พบก็คือ ปราสาทเดินได้ จากเรื่อง Howl’s Moving Castle ด้วยสีสันสดใสสะดุดตา เป็นผลงานที่น่ารักและยังขยับได้อีกด้วย ถัดไปก็จะปรากฏฉากและตัวละครต่างๆ ในเรื่อง ทั้งโซฟี เจ้าลูกไฟเวทมนตร์ คัลซิเฟอร์ และพ่อมดฮาวล์ หนุ่มหล่อขวัญใจแฟนคลับ

เดินต่อไปอีกหน่อยจะเป็นซีนจากเรื่อง Castle in the Sky ซึ่งมีฉากเหมืองทึม และรางรถไฟไม้ที่เล่นกับแสงและมุม สวยเหมาะเจาะให้โพสต์ท่าถ่ายรูปกันได้ ไหนจะฉากการต่อสู้ของหนุ่มปาซูกับวายร้าย รวมไปถึงฉากปราสาทกลับหัวสุดโดดเด่น ของใหม่ที่ทีมงานญี่ปุ่นจัดทำขึ้นสดๆ เป็นครั้งแรก ฉากหลังมีความเป็นไซไฟหน่อยๆ สีสันสดใสตัดกันไปมา อันเป็นเอกลักษณ์ของจิบลิ

เมื่อเดินไปเรื่อยๆ ก็ต้องสะดุดจนร้องว้าวให้กับความน่ารักของแม่มดน้อยกิกิจากเรื่อง Kiki’s Delivery Service นี่ก็น่าจะเป็นอีกจุดที่หลายคนอยากจะถ่ายเก็บไว้ หรืออาจจะอยากถ่ายรูปคู่กับหน้าร้านขายของของกิกิ ตอนเด็กๆ ใครที่ได้ดูเรื่องนี้ก็คงแอบฝันอยากจะขี่ไม้กวาดเป็นแม่มดเหมือนกิกิ ด้วยสีสันที่สดใส บรรยากาศอันเป็นกันเอง ไม่แปลกเลยที่ได้เห็นพ่อแม่หลายคู่จูงมือลูกๆ มาเดินชมงานนี้กัน

หากสำรวจดูซ้ายขวาแล้ว นอกจากจุดต่อคิวเพื่อเข้าถ่ายรูปแล้ว ก็ไม่ลืมที่จะมองหาซุ้มปั๊มแสตมป์ต่างๆ ซึ่งจะแอบปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ในขณะที่บางพื้นที่จะอนุญาตให้ผู้ชมมีปฏิกิริยาเล่นตอบกับมันได้บ้าง อย่างฉากจำลองแอนิเมชันของ Howl’s Moving Castle ในตอนต้น

ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงน้ำจิ้มของฉากสวยๆ จาก 3 ภาพยนตร์เท่านั้น ยังมีอีกทั้งหมด 5 เรื่องเน้นๆ เต็มไปด้วยผลงานศิลปะอีกเพียบ อย่างเรื่อง Porco Rosso (สลัดอากาศประจัญบาน) Pom Poko (ปอมโปโกะ ทานูกิป่วนโลก) หรือ Nausicaä of the Valley of the Wind (มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม) เป็นต้น

อีกเรื่องที่ถ้าหากขาดไปคงขัดใจแฟนจิบลิเป็นแน่ นั่นก็คือหนึ่งในภาพยนตร์ชูโรงของจิบลิ  My Neighbor Totoro (โทโทโร่เพื่อนรัก) ซึ่งเราจะได้เห็นเจ้าโทโทโร่กำลังแอบงีบหลับอยู่ในโพรงต้นไม้ เราต้องแอบส่องดูเอานะ แต่ก็จะมีพื้นที่ให้เราได้เข้าเฟรมถ่ายรูปร่วมกับโทโทโร่ ในฉากตากฝนกับร่มสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ของเรื่อง นี่ก็คงเป็นอีกจุดที่แฟนจิบลิรุมต่อคิวเข้าแถวถ่ายรูปกัน

เช่นเดียวกันกับ Spirited Away (มิติวิญญาณมหัศจรรย์) พร้อมทั้งตัวละครขวัญใจของใครต่อใครในเรื่องอย่างเจ้าภูตไร้หน้า หรือ ‘คาโอนาชิ’ ที่จะมาหยิบยื่นโอกาสให้เราได้ไปนั่งข้างๆ และถ่ายรูปคู่ด้วย ไหนจะฉากประกอบต่างๆ ที่ทำเอาหลายคนต้องหยุดยืนเพื่อตั้งใจดูรายละเอียดต่างๆ ของงาน ช่างประณีตละเมียดละไมสุดๆ งานคุณภาพขนาดนี้ต้องชื่นชมทั้งทีมผลิตและทีมดีไซน์ 

ที่จริงแล้ว โซนนี้จะต้องนับว่าเป็นโซนสุดท้ายแล้ว หากแต่ว่า Live Nation Tero ได้เปิดโซนเพิ่มเอาใจสาวกจิบลิ เพราะถัดจากนี้ก็คือโซน Hall of Fame ที่หลายคนพูดถึงนั่นเอง ทันทีที่ก้าวเท้าเข้ามาในโซนนี้ก็จะพบกับบรรยากาศของงานภาพเขียน ที่แปะติดเต็มผนัง แล้วไหนจะมีการอธิบายกระบวนการผลิตแอนิเมชันต่างๆ ทั้งภาพสต็อปโมชัน งานสเกตช์ สุดเหลือเกินจะบรรยาย 

เพราะสิ่งที่เห็นต่างๆ เหล่านี้มีมูลค่ามหาศาลทั้งทางจิตใจและทางลิขสิทธิ์อย่างแน่นอน เพราะแม้แต่นิทรรศการจิบลิที่ญี่ปุ่น ก็ไม่ได้อนุญาตให้ถ่ายภาพงานเขียนของอาจารย์มิยาซากิและทีมงาน ฉะนั้นที่นี่จึงพิเศษขั้นสุด ใครสายอาร์ตนิยมงานวาดเขียนแบบนี้ ต้องบอกเลยว่า คงจะเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายๆ ในประเทศไทยแน่นอน

ทั้งหมดนี้ก็คือ ‘The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023’ นิทรรศการคุณภาพส่งตรงจากประเทศญี่ปุ่นที่สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชม 

Author

ยอดเยี่ยม ยิ่งยืนยง
เพราะหมีกับกระต่าย ไม่เคยเป็นศัตรูตามธรรมชาติ
พวกมันก็เลยนั่งอึอยู่ข้างกันเป็นปกติ
วันหนึ่งหมีถามกระต่ายว่า "เธอมีปัญหาเรื่องอึติดขนบ้างมั้ย"
กระต่ายตอบว่า "ไม่นะ ไม่มีนะ"
หมีได้ยินดังนั้น ก็เลยหยิบเอากระต่ายขึ้นมาเช็ดตูด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า