ประเทศที่ใส่ใจเยาวชนคือประเทศที่มีอนาคต เพราะพวกเขาคือผู้ที่จะกำหนดชะตาประเทศในภายหน้า ทว่าบางประเทศกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ซ้ำร้ายยังปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยการคุกคาม ดำเนินคดี และจับกุมคุมขัง ประหนึ่งไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศตนเอง
WAY สำรวจเรื่องราวการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของยุวชนคนตัวเล็กรอบโลก ว่าพวกเขาต่อต้านอำนาจรัฐและความไม่ชอบธรรมอย่างไรจนถูกจำคุก ความผิดเหล่านั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ กระบวนการทางกฎหมายโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน และประเทศแบบใดที่ยืนยันจะใช้อำนาจบดขยี้เมล็ดพันธุ์ของชาติเช่นนั้น
จากกรณีการวิจารณ์รัฐบาลรัสเซียลงสื่อออนไลน์ การปาธงของคอมมิวนิสต์จีนลงพื้น การร่วมชุมนุมระดับชาติของเยาวชนเมียนมา และความตายของวัยรุ่นอิหร่านเพียงเพราะการใช้ชีวิตนอกกฎเกณฑ์ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ การยืนยันสิทธิของพวกเขาล้วนมีราคาที่ต้องจ่ายสูง เพราะประเทศเหล่านั้นปฏิเสธที่จะฟังเสียงคนในชาติ
บ่อยครั้งที่ผู้นำหลายประเทศยังคงมืดบอด และไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้อำนาจอย่างเกินเลย จนทำให้ประเทศของตนเดินไปสู่ปลายทางที่ไร้อนาคต
Olesya Krivtsova
จากวัยรุ่นรัสเซียสู่ผู้ต้องหาก่อการร้าย บทลงโทษจากการวิจารณ์กองทัพรัสเซียและปูติน
โอเลสยา คริฟต์โซวา (Olesya Krivtsova) นักศึกษามหาวิทยาลัยวัย 19 ปี อาศัยอยู่ในเขตตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองอาร์คันเกลสค์ (Arkhangelsk) ถูกดำเนินคดีข้อหาโพสต์ซ้ำข่าวเหตุการณ์การระเบิดสะพานไครเมียโดยกองทัพปลดปล่อยยูเครน โดยเธอโพสต์ข่าวดังกล่าวลงในกลุ่มแชทนักศึกษาผ่านแอปพลิเคชัน VK พร้อมวิจารณ์กองทัพรัสเซียกรณีรุกรานยูเครน
การกระทำเช่นนี้ทำให้คริฟต์โซวาถูกรัฐบาลรัสเซียดำเนินคดี และจัดให้อยู่ในกลุ่ม ‘ผู้ก่อการร้าย’ และกลุ่ม ‘หัวรุนแรงสุดโต่ง’ ซึ่งการจัดอันดับคดีความของเธอด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงเช่นนี้ ทำให้ชื่อของเธอต้องอยู่ในหมวดเดียวกับกลุ่มก่อการร้ายระดับโลกอย่าง กลุ่มรัฐอิสลามอิรักและซีเรีย (Islamic State of Iraq and Syria: ISIS) กลุ่มอัลกออิดะฮ์ (Al-Qaeda) และกลุ่มตอลิบาน (Taliban)
ขณะนี้ คริฟต์โซวายังคงถูกคุมขังในอพาร์ตเมนต์ของแม่เธอที่เมืองอาร์คันเกลสค์ และถูกห้ามไม่ให้เข้าถึงสื่อออนไลน์ใดๆ มีการใส่กำไลข้อเท้า EM พร้อมทั้งห้ามเธอติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น แม้ว่าเธอและทนายยังคงยื่นต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป แต่หากศาลตัดสินให้เธอมีความผิดจริง คริฟต์โซวาอาจจะได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 3-7 ปี เนื่องจากการดูหมิ่นกองทัพรัสเซียอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ความเป็นผู้ก่อการร้ายได้
จากการติดตามสถานการณ์ในรัสเซียของ OVD-Info องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านสิทธิมนุษยชน พบว่า ในปี 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.ความเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะการใช้สื่อออนไลน์คล้ายกับคริฟต์โซวาถึง 61 กรณี และขณะนี้ถูกตัดสินโทษเสร็จสิ้นไปแล้ว 26 กรณี
การจับกุมเธอครั้งนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีผู้แคปภาพจากกลุ่มแชทและ IG Story ของเธอไปฟ้องทางการ ซึ่งหลายสำนักข่าวระบุใกล้เคียงกันว่ามีเพื่อนร่วมชั้นจำนวนอย่างน้อย 2 คน เป็นผู้กระทำ ชี้ให้เห็นว่าแนวคิดความรักชาติแบบประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และการสร้างความชอบธรรมในการรุกรานยูเครน ได้เริ่มมีอิทธิพลในหมู่วัยรุ่นมากขึ้น
ขณะเดียวกัน กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยนอกจากจะไม่แสดงความเห็นอื่นใดต่อกรณีนี้แล้ว ก็ให้สัมภาษณ์สั้นๆ เพียงว่า คริฟต์โซวาเป็นเด็กขี้เกียจและขาดเรียนไร้เหตุผลบ่อย ซึ่งนาทัลยา คริฟต์โซวา (Natalya Krivtsova) ยืนยันปฏิเสธกับสื่อมวลชน
“ฉันรู้ว่าความคิดเห็นของคนในมหาวิทยาลัยต่อลูกฉันนั้นหลากหลาย ซึ่งก็คงไม่แย่หรอก แต่มันน่ารังเกียจมากตอนที่ต้องมาได้ยินเรื่องพวกนี้ในศาล” และ “นี่มันยุคไหนกันแน่ นี่ปี 1936 สมัยสตาลินหรือไง”
ขบวนการภาคประชาชนและการต่อต้านอำนาจของประธานาธิบดีปูตินยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางความตายของยุวชนในยูเครนและความตายของยุวชนรัสเซียไปพร้อมๆ กัน
Tony Chung
ยุวชนปลดแอกฮ่องกง เหยื่อกฎหมายใหม่ของเผด็จการคอมมิวนิสต์จีน
ปี 2540 อังกฤษส่งคืนเกาะฮ่องกงอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางความหวาดกลัวของชาวฮ่องกงที่มีต่อระบอบการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ นับแต่นั้นมาเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยเสรีที่อังกฤษหว่านไว้อย่างยาวนานก็ลุกขึ้นมาต่อต้านกำปั้นเหล็กของเผด็จการคอมมิวนิสต์จีน หนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญในการต่อสู้ครั้งนี้คือ ยุวชนอายุ 21 ปี ผู้ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ขณะอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น
โทนี ชุง (Tony Chung) เกิดในปี 2544 บนเกาะฮ่องกง และเริ่มมีส่วนร่วมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2559 ผ่านการทำกิจกรรมแคมเปญเลือกตั้งท้องถิ่น ก่อนจะตั้งกลุ่มเยาวชนสนับสนุนประชาธิปไตย ‘Studentlocalism’ ที่มุ่งนำเสนอรูปแบบการปกครองตนเองให้แก่ฮ่องกงยุคใหม่ กลุ่มดังกล่าวได้รับความนิยมจากเยาวชนทั่วฮ่องกงในเวลาไม่นาน
ปี 2563 ชุงในวัย 19 ปี พยายามหลบหนีการคุกคามจากรัฐบาลจีนไปยังสถานกงสุลสหรัฐประจำฮ่องกง ทว่าถูกจับกุมก่อนย่างเท้าถึงอาคารอย่างน่าเสียดาย ซึ่งทำให้เขาถูกตั้งข้อหาแบ่งแยกดินแดน ข้อหาฟอกเงิน และข้อหาปลุกระดมจากการเผยแพร่เนื้อหาจำนวนมาก
ก่อนถูกจำคุก เขาได้ยุบกลุ่ม Studentlocalism สาขาฮ่องกงก่อน เนื่องจากรัฐบาลจีนออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก มีการตีความความผิดฐานแบ่งแยกดินแดน ความผิดฐานจัดตั้งองค์กรก่อการร้าย และการขยายขอบเขตอำนาจรัฐสูง
กฎหมายใหม่ฉบับนี้ถูกนำมาใช้กับชุงเป็นคนแรกๆ ของฮ่องกง ก่อนจะตามมาด้วยกลุ่มผู้วิพากษ์วิจารณ์อีกเป็นจำนวนมาก โดยโทษที่ชุงจะได้รับหากศาลตัดสินว่ามีความผิด ขั้นต่ำอยู่ที่ 2 ปี ส่วนโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเขาปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวเพื่อแสดงจุดยืนในการต่อสู้ของเขา
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2563 ระหว่างรอการตัดสินคดีจากศาล ชุงถูกฟ้องร้องเพิ่มในข้อหา ‘ดูหมิ่นธงประเทศ’ จากการมีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจีนอย่างผิดกฎหมาย และมีการโยนธงลงพื้นในระหว่างการปะทะกับผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีน 2 คน ทำให้โทษจำคุกของเขาถูกเพิ่มเข้าไปอีก 4 เดือน
ชุงถูกตัดสินจำคุกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 หลังศาลระบุว่าพบความผิดจริง โดยมีหลักฐานการกระทำผิดย้อนกลับไปถึงโพสต์บนสื่ออนไลน์ในปี 2559 เป็นต้นมา จึงได้รับโทษทั้งสิ้น 3 ปี 7 เดือน จากความผิดดังกล่าว ซึ่งเขาได้ให้การในศาลว่า “ผมยอมรับในสิ่งที่ทำ ผมไม่มีความละอายแม้แต่น้อยในหัวใจ”
ชุงเป็นนักโทษผู้มีอายุน้อยที่สุดจากกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของจีน
Wai Yan Phyo Moe
ยุวชนยืนโดดเด่นโดยท้าทาย เลือดรุ่นใหม่ของประชาธิปไตยเมียนมา
สหพันธ์นักศึกษาพม่า (The All Burma Federation of Student Unions: ABFSU) ก่อตั้งและต่อสู้กับการกดขี่ของกองทัพเมียนมาตั้งแต่ปี 2479 และการทำรัฐประหารเมียนมาอีกครั้งในปี 2564 ก็ผลักดันให้ขบวนการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวคุโชนอีกครั้ง โดยมี Wai Yan Phyo Moe วัย 24 ปี ดำรงตำแหน่งรองประธานของ ABFSU ในยุคที่เยาวชนสู้กับอาวุธปืนอีกครั้ง
แต่การลุกขึ้นมาต่อสู้ของเขาไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นในวัย 24 ปี ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 หลังเมียนมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จนทำให้โรงงานหลายแห่งสั่งปลดลูกจ้างและบังคับให้หยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน Wai Yan Phyo Moe ในวัย 21 ปี ก็ได้นำ ABFSU เข้าร่วมสนับสนุนการต่อสู้ของสหพันธ์สหภาพแรงงานพม่า (the All Burma Federation of Trade Unions: ABFTU) ในการชุมนุมที่กรุงย่างกุ้งเมื่อเดือนเมษายน 2563 และอีกหลายการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงาน
Wai Yan Phyo Moe ถูกจับกุมหลังจากร่วมกิจกรรมชุมนุมที่เมือง Tamwe ใกล้ใจกลางเมืองย่างกุ้งในปี 2564 การจับกุมครั้งนี้มีผู้ร่วมชะตากรรมกับเขาถึง 300 คน โดยการจับกุมเกิดขึ้นหลังการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และกระสุนจริงจากเจ้าหน้าที่ ด้วยข้อหาอาญามาตรา 505a ที่ระบุถึงความผิดฐานสร้างความหวาดกลัว เผยแพร่ข่าวปลอม หรือสร้างความปั่นป่วนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ มีโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเขาไม่ได้รับโอกาสให้เข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมายใดๆ
ก่อนหน้านี้เขายังถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายมาตรา 19 ว่าด้วยการชุมนุมโดยสงบและสันติ จากการร่วมชุมนุมในเมืองย่างกุ้งหลายครั้งก่อนหน้า ซึ่งหากเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรา 505a และมาตรา 19 จะส่งผลให้เขาถูกจำคุกถึง 3 ปี กับอีกประมาณ 3 เดือน
ขณะนี้ Wai Yan Phyo Moe ยังคงถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำอินเซ่งกลางกรุงย่างกุ้ง และถูกให้พักในห้องขังเดียวกันกับนักโทษคดีความรุนแรงแทนที่จะเป็นนักโทษทางการเมืองตามปกติ เพียงเพราะเขาและพรรคพวกไม่ยินยอมที่จะอ่านกฎการอยู่อาศัยในคุกตามคำสั่งของผู้คุม เหตุการณ์นี้นำมาซึ่งความไม่สบายใจต่อหลายฝ่ายเป็นอย่างมาก เนื่องจากทางครอบครัวของนักโทษการเมืองกลุ่มนี้ทราบเพิ่มเติมภายหลังว่า มีการขู่เอาชีวิตพวกเขาในเรือนจำอยู่บ่อยครั้ง
อย่างไรก็ตาม มารดาของเขายังคงแสดงความเชื่อมั่นอย่างเข้มแข็ง พร้อมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “พวกทหารเอาคนเห็นต่างไปขังคุก แทบจะปล่อยให้ตายกันในนั้น นี่คือการฆาตกรรมอนาคตของพวกเขา แต่ฉันเชื่อว่าลูกชายของฉันจะสู้จนลมหายใจสุดท้าย”
Wai Yan Phyo Moe เป็นหนึ่งในเหยื่อจำนวนหลายแสนคน ที่กำลังกลายเป็นเหยื่อจากการเผชิญหน้ากับอำนาจเถื่อนของเผด็จการทหารเมียนมา ซึ่งประชาคมโลกยังคงพยายามหาทางยุติปัญหานี้ร่วมกันต่อไป
Sarina Esmailzadeh
“ไม่มีอะไรดีไปกว่าการมีอิสระ” เมื่ออิหร่านฆาตกรรม Youtuber วัย 16
การประท้วงที่อิหร่านดุเดือดขึ้นหลังการเสียชีวิตของ มาห์ซา อามินี (Mahsa Amini) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 หลังจากถูกควบคุมตัวโดยตำรวจศีลธรรม (Gasht-e Ershad) เนื่องจากไม่สวมฮิญาบให้ถูกวิธี การชุมนุมและปะทะกับเจ้าหน้าที่ดุเดือดมากขึ้นจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 516 คน ซึ่งกว่า 70 คนนั้นเป็นเด็กและเยาวชน และมีผู้ถูกจับกุมถึง 19,200 คน โดย 687 คน ยังคงเป็นนักเรียนนักศึกษา
สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศนี้เองที่ทำให้เยาวชนจำนวนมากรู้สึกไม่ปลอดภัย ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง ซารินา เอสเมลซาเดห์ (Sarina Esmailzadeh) ก็เป็นหนึ่งในเยาวชนกลุ่มนั้น ด้วยวัยเพียง 16 ปี ทำให้เธออาจจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพโดยตรง แต่เธอใช้พื้นที่สื่อออนไลน์ในฐานะ ‘Influencer’ ในการแสดงออก ซึ่งคาดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอกลายเป็นเหยื่อฆาตกรรมโดยรัฐบาลอิหร่านในเวลาต่อมา
ในช่อง Youtube ของเธอที่ชื่อ ‘Sarinacmz’ (@sarinacmz4015) มีผู้ติดตามอยู่ที่ 19,400 แอคเคาน์ และมียอดการรับชมอยู่ที่หลักหมื่นหรือหลักแสนเสมอ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการเล่าเรื่องราวที่พบเจอในแต่ละวัน การไปเที่ยว การใช้ชีวิต โดยไม่มีการสวมฮิญาบบ่อยครั้ง มีการเล่นกีฬาร่วมกับผู้ชาย สวมเสื้อเอวลอยขณะออกกำลังกาย เต้นและร้องเพลง รวมถึงพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงเป็นครั้งคราว
เจ้าหน้าที่ในจังหวัดแอลโบร์ซ (Alborz) ที่เธอและครอบครัวอาศัยอยู่ ระบุว่า เธอเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายด้วยวิธีกระโดดลงจากดาดฟ้าตึกสูงเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 แต่นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยหลายกลุ่มไม่เชื่อ เนื่องจากก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ก็ได้แถลงสาเหตุการเสียชีวิตในลักษณะเดียวกันกับกรณีผู้ชุมนุมที่ชื่อ นิคา ชาคารามี (Nika Shakarami) วัย 16 ปี ทั้งที่ชาคารามีถูกโยนลงจากที่สูง แต่เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า “ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมแต่อย่างใด” และลงความเห็นว่าเธอฆ่าตัวตาย
สำหรับกรณีของเอสเมลซาเดห์ เธอหายตัวไปหลังจากการชุมนุมที่เมืองคาราจ (Karaj) และครอบครัวเธอต้องใช้เวลากว่า 10 วัน จึงจะพบร่างของเธอ ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังกล่าวต่อครอบครัวของเธออีกว่า บุตรสาวของเธอเป็นพวก ‘ไม่มีศีลธรรม’ และเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’
จากสภาพศพของเธอทำให้หลายคนสันนิษฐานว่า เธอเสียชีวิตเพราะถูกฟาดด้วยของแข็งหลายครั้ง เช่น กระบองตำรวจ ทว่าทางการอิหร่านยังคงยืนยันว่าเธอเสียชีวิตเพราะการกระโดดตึก เนื่องจากเธอมีประวัติในการใช้ยาเกินขนาดเพื่อฆ่าตัวตายมาแล้วก่อนหน้า ซึ่งขัดแย้งกับการสืบข้อมูลขององค์กรนิรโทษกรรมสากล Amnesty International ว่าเธอมีส่วนร่วมในการชุมนุมที่เมืองคาราจ ก่อนจะถูกฟาดด้วยกระบองที่ศีรษะ จนทำให้เสียชีวิตขณะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล
ในงานศพของเธอยังมีเจ้าหน้าที่กว่า 50 นาย ไปควบคุมสถานการณ์ รวมถึงมีการกล่าวอ้างหนาหูว่าครอบครัวของเธอถูกเจ้าหน้าที่กดดันให้ออกมายอมรับสาเหตุการเสียชีวิตของเธอ
หนึ่งในโพสต์ที่มียอดวิวสูงของเธอ คือวิดีโอหลังเธอสอบเสร็จและเธอยังได้กล่าวไว้ว่า “ไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่ฉันได้มีอิสระหรอกนะ” และโพสต์สุดท้ายของเธอบนแอปพลิเคชัน Telegram ก่อนไปร่วมชุมนุมที่ระบุว่า “การใช้ชีวิตในบ้านเกิดของฉัน เหมือนการใช้ชีวิตแบบผู้ถูกเนรเทศ”
ปัจจุบันยังมีชาวอิหร่านจำนวนมากเสียชีวิต ถูกจับกุม หรือถูกบังคับให้สูญหายจากอำนาจที่ไม่เป็นธรรม
ที่มา
- Russian teen faces years in jail over social media post criticizing war in Ukraine
- After classmates snitch, Russia charges 19-year-old war critic as terrorist
- Hong Kong teen activist jailed for China flag ‘insult’
- Hong Kong teen activist Tony Chung charged with secession
- ‘I have no shame in my heart’: Hong Kong activist Tony Chung pleads guilty to secession and money laundering
- More than 300 students detained in Tamwe in early March hit with 505a charge
- Student activists, journalists being mistreated in Insein prison, say family members
- Student union federation vice president slapped with another incitement charge
- Is COVID-19 a smokescreen for labour abuses?
- Monitor: 516 Killed Since Iran Protests Began
- What really happened to Nika Shahkarami? Witnesses to her final hours cast doubt on Iran’s story
- Mom takes own life after Iran security forces accused of beating daughter to death
- Iran: Leaked documents reveal top-level orders to armed forces to ‘mercilessly confront’ protesters
- Authorities Try To Cover Up Another Teen Protester’s Death In Iran