โลกยุค Digital Disruption แรงงานไร้ทักษะจะถูกแย่งงานโดยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

ประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องยกระดับเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมสูง ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องรองรับด้วยกำลังแรงงานที่มีทักษะการทำงานในระดับสูง (labor force with advanced skills) 

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm) ในการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ผ่านระบบการศึกษา เพื่อไม่ให้ประเทศและประชาชนล้าหลังกว่าที่ควรจะเป็น

เมื่อเทคโนโลยีก้าวล้ำไปข้างหน้า แรงงานที่มีทักษะการทำงานในระดับสูงด้านการคิดวิเคราะห์ (analytical) และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน (interpersonal) จะต้องพัฒนาและปรับตัว เพื่อทำงานร่วมกันกับหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ 

ในทางกลับกัน แรงงานที่มีทักษะต่ำและค่าแรงถูก (low-skilled and low-wage workers) จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

การมุ่งเน้นพัฒนาแรงงานที่มีทักษะการทำงานในระดับสูง จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจระดับมหภาค สามารถยกระดับไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมระดับสูงและเทคโนโลยีดิจิทัล (high value-added & digital economy)

การมีทักษะและความสามารถที่จำเป็นต่อการทำงาน จะช่วยเปิดโอกาสให้แต่ละคนเข้าถึงอาชีพที่มีอนาคตมั่นคง และช่วยให้คนที่มาจากครอบครัวยากจน สามารถหลุดจากวัฏจักรความยากจนได้ (vicious circle of poverty) 

งานวิจัยของผู้เขียนซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับเลือกให้ตีพิมพ์ในหนังสือ Digitalization and Sustainable Economic Development ของ Asian Development Bank Institute แสดงให้เห็นว่า จังหวัดที่มีสัดส่วนอาชีพที่มีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ และทักษะการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากกว่า จะมีความสัมพันธ์ทางบวกกับ GDP ของจังหวัดเฉลี่ยต่อหัว นั่นคือ รายได้เฉลี่ยของจังหวัดสูงกว่า

เมื่อพิจารณาในระดับปัจเจกบุคคล ผู้ประกอบอาชีพที่ต้องใช้ทักษะทั้งสองด้านมากกว่า จะมีรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงสูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ จะเป็นทักษะสำคัญอย่างมากในการกำหนดรายได้ในระดับสูง

ในทางกลับกัน อาชีพที่ใช้ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ และทักษะการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ในระดับต่ำ ส่วนมากจะเป็นคนที่ด้อยโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพ เป็นแรงงานไร้ทักษะหรือทำงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะการวิเคราะห์มาก จะถูกแย่งงานโดยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพที่มีลักษณะงานไม่ค่อยซับซ้อนหรือไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ อาจถูกแทนที่ด้วยอัลกอริธึมที่สามารถทำงานได้แม่นยำมากกว่า และเทคโนโลยีที่มีราคาถูกลงเรื่อยๆ อาจเข้ามาทำงานแทนได้

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ลดจำนวนสาขาและการจ้างงาน โดยมุ่งลงทุนในด้านเทคโนโลยี เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุค Digital Disruption ในขณะที่ เราได้เห็นตัวอย่างในต่างประเทศที่ระบบคลังสินค้าใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนแรงงานมนุษย์ทั้งหมด และระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ต้องมีคนขับ เราได้เห็นข่าวนักศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทย พัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถทำอาหารแบบง่าย เช่น ข้าวผัด ไข่เจียว เราเห็นข่าวผู้ประกอบการไทยพัฒนาหุ่นยนต์ชงชาไข่มุก เพียงกดปุ่มคำสั่งเลือกประเภทชานมและระดับความหวาน บางคนยังเคยมีประสบการณ์ซื้อขายหุ้นผ่านระบบอัจฉริยะ high-frequency algorithm trading ยิ่งไปกว่านั้น ทุกคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตย่อมมีประสบการณ์ได้รับคำแนะนำจากปัญญาประดิษฐ์ในการแสดงผลและแนะนำเพื่อนบนโซเชียลมีเดีย การเลือกซื้อของหรือสั่งอาหารทางออนไลน์ เลือกดูหนังฟังเพลง streaming หรือแสดงผลการสืบค้นข้อมูล โดย deep learning algorithms เป็นต้น

ถึงแม้ขณะนี้จะยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงที่มีผลอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างแรงงานไทยจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทว่าผลการวิเคราะห์ในงานวิจัยของผู้เขียนพบว่า แรงงานไทยเกือบร้อยละ 10 หรือกว่า 3 ล้านคน มีโอกาสมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ที่อาชีพของตนจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

หากนิยามอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง คือ มีโอกาสมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ในการถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ งานวิจัยของผู้เขียนพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานไทย หรือกว่า 17 ล้านคน ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงที่จะว่างงาน อันเป็นผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยโดย ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู และ ดร.วรประภา นาควัชระ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น่าจะมีความแม่นยำมากกว่าผลวิเคราะห์ของผู้วิจัย เพราะเป็นการคำนวณโดยปรับวิธีวิเคราะห์และพัฒนาแบบจำลอง Machine Learning ให้สอดคล้องโดยตรงกับลักษณะแรงงานไทย ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า หากตลาดแรงงานไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแรงงานและยังคงมีองค์ประกอบทักษะแรงงานเหมือนอย่างปัจจุบัน จำนวนแรงงานที่จะเสี่ยงต่อภาวะการไร้งาน (joblessness) คิดเป็นจำนวนสูงถึง 12 ล้านคน หรือ ประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานไทยทั้งหมด

อุปมาดังเช่น ปรากฏการณ์ El Niño-Southern Oscillation (ENSO) ทำให้เราพยากรณ์ว่า ปีนี้ประเทศไทยจะเจอน้ำท่วม แต่ไม่รู้ว่าจะท่วมหนักขนาดไหน ถึงแม้จะคาดการณ์ได้ว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงภัยสูง หรือภัยคุกคามจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) จะทำให้เราเผชิญแนวโน้มภัยแล้งและน้ำท่วมบ่อยขึ้นและรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่า จะหนักหนาขนาดไหน ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบก็ขึ้นกับความสามารถในการปรับตัวของประเทศ ภายใต้การบริหารจัดการทิศทางการพัฒนาประเทศที่ชี้นำโดยภาครัฐ

เราจึงสามารถอุปมานได้ว่า ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าขนาดของผลกระทบจากหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจริงจะมีขนาดรุนแรงเพียงใดก็ตาม ก็น่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนในทิศทางเดียวกันว่า แรงงานไทยจำนวนหลายล้านคนมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาคและมหภาค ขึ้นกับว่าภาครัฐจะสามารถช่วยให้ทั้งประเทศปรับตัวได้รวดเร็วเพียงใด เพื่อบรรเทาผลกระทบหรือพลิกฟื้นวิกฤติให้เป็นโอกาสได้หรือไม่

งานวิจัยข้างต้นได้แสดงให้เห็นว่า ความเสี่ยงหรือโอกาสมีความสัมพันธ์กับทักษะของแรงงานในแต่ละอาชีพ ดังนั้น การพัฒนาทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ และทักษะการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ เพื่อให้มีศักยภาพในการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ จึงมีผลต่อโอกาสที่คนไทยจะมีงานทำหรือมีอาชีพที่มั่นคงในอนาคต และมีความสำคัญอย่างมากต่ออนาคตของประเทศ

หากประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวได้ทัน แรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มีการศึกษาต่ำ หรือแรงงานอายุน้อยที่ไม่มีประสบการณ์การทำงานและไม่ได้เรียนในสาขาที่เกี่ยวข้อง STEM หรือสาขาที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์สูง หรือแรงงานอายุมากที่ไม่สามารถปรับตัวและพัฒนาทักษะได้ จะต้องเผชิญปัญหาไม่มีงานทำในสาขาอาชีพที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความมั่นคง อีกทั้งต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะมีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน และจะส่งต่อความยากจนไปให้ลูกหลาน

หากเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาทักษะแรงงานได้ทันและเพียงพอ จะกลายเป็นทั้งข้อจำกัดและความเสี่ยงในการพัฒนาประเทศที่ปัจจุบันมีผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 20 ของประชากรในปี 2564 และกำลังจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นร้อยละ 32 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากร ในปี 2583 หรือราว 20 ปีข้างหน้า เป็นยุค super-aged society แต่แรงงานไม่มีทักษะเพียงพอที่จะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

ในทางกลับกัน หากภาครัฐมีเจตจำนงทางการเมือง (political will) ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาทักษะแรงงานให้ตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยเศรษฐกิจดิจิทัล ก็จะสามารถเปลี่ยนความเสี่ยงจากหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ให้กลายเป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดได้ ดังเช่นประเทศเอสโทเนียซึ่งเป็นตัวอย่างของการทำ digital transformation ได้สำเร็จภายในระยะเวลา 10 กว่าปี

แน่นอนว่า บทความนี้จำกัดขอบเขตเฉพาะด้านทักษะแรงงาน โดยยังไม่ได้วิเคราะห์ถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (digital infrastructure) ความสามารถในการแข่งขันและการอยู่รอดของ SME ในยุค Digital Disruption แต่ผู้เขียนก็มีข้อสังเกตโดยรวมว่า ประเทศไทยไม่ได้มีความตื่นตัวที่จะยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจแบบ inclusive growth เลย จึงเป็นเรื่องน่ากังวลมาก เพราะประเทศไทยมีแนวโน้มที่ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งขยายกว้างมากขึ้น ในขณะที่แรงงานไร้ทักษะจะถูกทอดทิ้งให้ไม่สามารถแข่งขันได้หรืออยู่รอดลำบากในโลกอนาคต ภายใต้ข้อจำกัดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเรา

อ้างอิง 

ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย
นักวิชาการอิสระและอดีตนักวิจัยแลกเปลี่ยนด้านระบบสาธารณสุข Harvard T.H. Chan School of Public Health

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า