อนาคตศึกษา: Destiny ไม่ใช่โชคชะตา แต่คือการวางแผนถึงพรุ่งนี้

ปี 2020 ปฏิทินทศวรรษใหม่เปิดหน้าแรก ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ทั้งปรากฏการณ์ธรรมชาติ การก่อการร้าย สงคราม การซื้อขายข้อมูล วิทยาศาสตร์ การแพทย์ การสื่อสาร โดยเฉพาะเทคโนโลยี ที่พัฒนาก้าวกระโดด ชนิดที่ย้อนเวลาไปยังปี 2000 หากมีใครสักคนพูดว่าเราจะสามารถดูภาพยนตร์แบบ streaming ในโทรศัพท์มือถือ (ซึ่งทำหน้าที่ตั้งแต่เครื่องคิดเลขยัน GPS) ใครๆ ก็มีนาฬิกาอัจฉริยะในครอบครอง เราสามารถโยนไฟล์งานไว้ในอากาศ หรือกำลังจะมีรถยนต์ไร้คนขับวิ่งบนถนน-ถ้าไม่เป็นประโยคเพ้อเจ้อก็คงเป็นภาพฝันที่ดูไกลเกินจริง

ท่ามกลางฉากทัศน์ที่เปลี่ยนไป มนุษย์ไม่อาจเป็นเพียงคนดูไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เพราะทุกการเคลื่อนตัวของเวลาล้วนส่งผลกระทบต่อเราและโลกเสมอๆ 

เรารู้ความสำคัญของอดีต ความหมายของการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งวางอยู่บนเส้นเวลาที่ผ่านมาเป็นตัวกำหนดสร้างปัจจุบัน…แต่เมื่ออนาคตตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน เหตุผลอะไรที่เราต้องมานั่งพูดคุยและศึกษาอนาคต-สิ่งที่ยังมาไม่ถึง

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ องค์การมหาชน (Thailand Center of Excellence for Life Sciences: TCELS) ในฐานะนักอนาคตศึกษา รวบรวมเหตุการณ์ปัจจุบันจากจิ๊กซอว์ที่มีอยู่ เพื่อวาดภาพอนาคต โดยการศึกษาที่อาจจะไม่ต่างจากการพยากรณ์นี้ ไม่ใช่เป็นไปแค่เพื่อวางแผน หรือเตรียมตัวรับมือ แต่เพื่อให้มนุษย์รู้เนื้อรู้ตัวว่า ไม่มากก็น้อย ขาข้างหนึ่งของเราได้ก้าวไปสู่ช่วงเวลาที่เราไม่เข้าใจ ในทิศทางที่เรายังไม่รู้จักมาพักใหญ่ๆ แล้ว 

อนาคตศึกษา ทำนาย หรือพยากรณ์

‘อนาคตศึกษา’ หรือ Futures Studies เป็นการเรียนรู้อนาคตโดยใช้ปัจจัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นการสำรวจภูมิทัศน์ใหม่ที่กำลังจะมาถึงแล้ว อนาคตศึกษาไม่ใช่เรื่องการทำนาย แต่เป็นการวางแผนและเตรียมตัวรับมือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

“บางประเทศจะมีการเซ็ตขึ้นมาเป็นหน่วยงาน ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ เขาจะมีหน่วยกลางของทุกๆ กระทรวงทบวงกรมในประเทศที่ทำเรื่องนี้ เหมือนหน่วย IT คุณจะต้องทำอย่างน้อยก็คือ horizon scanning (การกวาดสัญญาณแนวราบ) ซึ่งตัวมันเองไม่ใช่อนาคตศึกษา แต่เป็นวิธีการหนึ่งของอนาคตศึกษา เป็นส่วนย่อยอันหนึ่ง” 

ตัวอย่างหน่วยงานที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ เช่น Centre for Strategic Futures (CSF) เพื่อมองภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลง การมองอนาคต รวมถึงมีโครงการประเมินความเสี่ยง Risk Assessment and Horizons Scanning Programme (RAHS) อยู่ใน Defence Science and Technology Agency (DSTA) 

“ส่วนมากคนที่สนใจในเรื่องนี้คือดู strategy แล้วก็ดูเรื่องของ macro view อย่างผม ผมจะอยากรู้เพราะว่าผมเห็นเรื่องบางเรื่องที่มันเกิดขึ้นแล้วมีความเป็นไปได้ว่ามันจะเกิดในยุคสมัยที่เรามีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะคนที่มีภารกิจ ก็อย่างที่ผมบอก สิงคโปร์ให้ทุกหน่วยงานราชการไปดักสัญญาณที่เรียกว่า horizon scanning แล้วก็มาให้ข้อมูลหน่วยกลาง แล้วให้หน่วยกลางวิเคราะห์สัญญาณ เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก เขากระทบได้ง่ายมาก แค่ตัดน้ำเขา ไม่นานก็ตายแล้ว เรื่องนี้สำคัญมาก เขาก็ต้องดูแล ระแวดระวังตลอดเวลา มันคือเรื่องจำเป็น” 

‘แนวโน้ม’ ถนนสู่อนาคต 

เมื่อตั้งอยู่บนเส้นความเปลี่ยนแปลงที่มีข้อมูลหลายๆ ด้านเป็นเครื่องมือ จากการประมวลเบื้องต้น ‘trend’ หรือแนวโน้ม จะเริ่มปรากฏทิศทางของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในฉากถัดไป นี่เป็นระดับเบสิคก่อน

“ยกตัวอย่างเช่น กรมป่าไม้ทำหน้าที่ของตัวเองอยู่แล้ว ดูแลป่า ป้องกันการลักลอบตัดไม้ ในขณะเดียวกัน กรมป่าไม้ก็ต้องดูว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงอะไรที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งปีสองปีก่อนหน้านี้ที่เป็น trend เพราะว่าเป็นคนที่ใกล้ชิดและอยู่หน้างาน แล้วหน่วยงานกลางของรัฐบาล (ที่อาจเหมือน CIA ของอเมริกา) ก็จะเก็บแนวโน้มพวกนี้มา เช่น ถ้าพื้นที่ป่าลดลงเป็น trend เอามาวิเคราะห์อีกทีหนึ่งว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร

“หรือสมมุติเป็นกระทรวงพัฒนาสังคม เช่น พบว่าคนแก่มีแนวโน้มว่าจะอยู่คนเดียวมากขึ้น เขาก็ต้องหาและเก็บข้อมูล คนแก่ไทยมีแนวโน้มจะอยู่คนเดียวมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเพราะอะไร หันไปดูกระทรวงแรงงาน แนวโน้มของแรงงานไทยเป็นยังไง สมมุติเขาบอกว่า จากเดิมที่เป็นพม่า กัมพูชา เริ่มเห็นเวียดนามลักลอบเข้ามาเยอะขึ้น มันแปลว่าอะไร”

ข้อมูลหลากหลายด้านทั้งหมดข้างต้น เมื่อนำมาผนวกรวมกัน จะเกิดการประมวล trend ที่เกิดขึ้น เช่น จำนวนคนแก่ที่อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น ป่าไม้ถูกทำลายมากขึ้น แรงงานเวียดนามมากขึ้น ทั้งหมดดูเหมือนไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่โดยรายละเอียด สิ่งเหล่านี้ต้องถูกนำมาวิเคราะห์ว่าเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์หรือไม่ อย่างไร เก็บข้อมูลเพิ่ม ซึ่งอาจจะนำไปสู่การวาดภาพอนาคต (scenario) ก็ได้ เพื่อประมวลออกมาและสื่อสารต่อว่า มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นอีกบ้าง

แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า เส้นของความเปลี่ยนแปลง trend ไม่ได้เป็นเส้นตรง หรือเส้นที่วิ่งขึ้นหรือว่าลงอย่างเดียว Gartner Hype Cycle เป็นตัวอย่างของรูปแบบหรือแพทเทิร์นตายตัว ที่สามารถเอามาใช้ทำความเข้าใจการขึ้นลงของเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ เพราะ Gartner ใช้ข้อมูลมหาศาลมาวิเคราะห์ และบอกได้ว่า สังคมจะกล่าวถึงและคาดหวังเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างรุนแรงในช่วงต้น (เช่น ยานยนต์ไร้คนขับ, IoT) จากนั้นก็จะผิดหวังเพราะยังไม่เกิดอะไรขึ้นอย่างที่ตื่นเต้นกัน ความนิยมก็จะตกฮวบลงมา ก่อนที่จะค่อยๆ ไต่ขึ้นช้าๆ อย่างมั่นคงเมื่อความเป็นจริงในการใช้งานเริ่มไล่ตามทันกระแสความคาดหวัง

ที่มา: gartner.com/SmarterWithGartner

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดูเหมือน trend จะเป็นอนิจจังที่ต้องยอมรับ เช่น จำนวนคนแก่ที่เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เรียกว่า trend นี้บางครั้งยังไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงเฉียบพลัน เพราะยังมีอีกชิ้นส่วนหนึ่งที่จะเป็นตัวช่วยผลักโลกและชีวิตมนุษย์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าเป็นแค่ ‘แนวโน้ม’ นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘driver’

“trend ที่มากระทบเราเยอะจะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า driver แปลว่ามันผลักเรา ยกตัวอย่างเช่น คนแก่เยอะขึ้น เรียกว่า trend มันไม่เปลี่ยนแปลงเฉียบพลัน มันจะเป็นอย่างนี้ไป อาจจะเร่งมากเร่งน้อย ไปเร็วไปช้า แต่มันเป็น trend เพราะว่ามันสังเกตได้ นับได้ แต่มันจะเป็น driver เพราะอะไร

“พอคนแก่มากขึ้น ตลาดการบริโภคเปลี่ยน ผู้ผลิตก็ต้องคิดของทำสินค้าขายคนแก่ หรือขายให้คนที่ต้องซื้อของให้คนแก่ รากฟันเทียมเป็นตัวอย่างหนึ่ง รากฟันเทียมหรือเลนส์แก้วตาเทียมสำหรับคนเป็นต้อกระจกเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกาะอยู่กับ trend และตลาดนี้ถูก drive โดยจำนวนคนแก่ที่มากขึ้น อันนี้คือแค่เบสิค แต่ก็เริ่มมองเห็นอนาคตรำไรแล้ว”

เมื่อ trend และ driver อยู่บนเส้นความเปลี่ยนแปลงของสังคม trend คือแนวโน้ม driver เกิดจาก trend ที่ออกแรงผลัก แต่ทั้ง trend และ driver เป็นแนวโน้มที่อาจพอคาดเดา ยังมีอีกปัจจัยที่สามารถเข้ามาเขย่าสังคมได้ คือความเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่นอน หรือ ‘uncertainty’ 

ความเสี่ยงของโลก

“มีอีกตัวหนึ่งที่นักอนาคตศึกษาใช้คำว่า uncertainty คือเป็นอะไรที่ปุบปับ คาดเดาไม่ได้ แม้ว่าบางเรื่องคนที่เป็นนักอนาคตศึกษาจริงๆ จะบอกว่าเรื่องนี้เป็น trend เพราะว่ารู้และสังเกตมาระยะหนึ่งแล้ว แต่คนที่อยู่ห่างออกไปก็จะบอกว่า ทำไมมันมาเร็วจัง มันก็เป็น uncertainty แล้ว และมิหนำซ้ำ พอมาแล้วจะไปทางไหนต่อก็ไม่รู้ ซึ่งต่างกับเรื่องของคนแก่เยอะ ถ้าวันนี้อัตราการแต่งงาน มีลูก เป็นแบบนี้ มันสามารถบอกได้ครับ ว่าคนแก่จะมี growth rate เพิ่มขึ้น แต่ยกตัวอย่างเรื่องการเข้ามาของ AI มันพยากรณ์ยาก เพราะว่าเราไม่คุ้นเคยกับมัน แล้วมันคำนวณออกมาไม่ได้

“มีอีกตัวหนึ่งที่นักอนาคตศึกษาใช้คำว่า uncertainty คือเป็นอะไรที่ปุบปับ คาดเดาไม่ได้ แม้ว่าบางเรื่องคนที่เป็นนักอนาคตศึกษาจริงๆ จะบอกว่าเรื่องนี้เป็น trend เพราะว่ารู้และสังเกตมาระยะหนึ่งแล้ว แต่คนที่อยู่ห่างออกไปก็จะบอกว่า ทำไมมันมาเร็วจัง มันก็เป็น uncertainty แล้ว และมิหนำซ้ำ พอมาแล้วจะไปทางไหนต่อก็ไม่รู้ ซึ่งต่างกับเรื่องของคนแก่เยอะ ถ้าวันนี้อัตราการแต่งงาน มีลูก เป็นแบบนี้ มันสามารถบอกได้ครับ ว่าคนแก่จะมี growth rate เพิ่มขึ้น แต่ยกตัวอย่างเรื่องการเข้ามาของ AI มันพยากรณ์ยาก เพราะว่าเราไม่คุ้นเคยกับมัน แล้วมันคำนวณออกมาไม่ได้

“ที่จริงมันพยากรณ์ได้ระดับหนึ่งสำหรับคนที่อยู่วงใน เพราะเราเห็นมานานแล้วว่า กฎของมัวร์ (Moore’s law) ที่บอกว่าความเร็วในการประมวลผลของ electronic chip จะเพิ่มขึ้นสองเท่าทุก ๆ 18 เดือนแต่ราคาถูกลงครึ่งหนึ่ง หมายความว่า ความสามารถในการคำนวณที่เคยทำได้ในอดีตใช้เวลาเท่าไหร่ จะเร็วขึ้นยิ่งกว่าเป็นเท่าทวีคูณไปเรื่อยๆ ความเร่งในการเพิ่มนี้เหมือนกับดอกเบี้ยทบต้นที่ไม่เคยถอนเงินต้นเลย มีแต่เพิ่มขึ้นอย่างบ้าระห่ำ  

“เขาบอกว่า คอมพิวเตอร์ในยาน Apollo ตอนส่งคนขึ้นดวงจันทร์ มีความสามารถในการคำนวณและประมวลผลน้อยกว่าชิปในการ์ดวันเกิดที่ร้องเพลงได้เสียอีก ที่มันเป็นอย่างนี้ได้เพราะกฎของมัวร์ ที่ว่า 18 เดือนเร็วขึ้นสองเท่า ราคาถูกลงครึ่งหนึ่ง มันก็แพร่หลาย มันก็อยู่ทุกที่ ต่อมาก็เกิด IoT (The Internet of Things) พอเกิดขึ้น ข้อมูลมันก็ flow เข้าไปอยู่ในมือถือ เข้าไปอยู่ที่ cloud มันก็เกิด service ใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย เช่น ระบบแปลภาษา 

“จริงๆ แล้วคนวงในสามารถบอกได้ว่าจะมีความเร็วสูงมาก แล้วบางอย่างเกิดขึ้นแต่เขาบอกได้ไม่หมด เพราะบางอย่างมันเหนือความคาดหมาย” 

“พอเป็นแบบนี้ สิ่งที่เป็นความเสี่ยงของโลกมากๆ ในทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ คือความเป็นไปได้มากของการโจมตีทางไซเบอร์ที่เริ่มเกิดขึ้นประปรายแล้ว เหมือนกำลังรอให้เกิดเหตุปะทุหนักๆ อีกเรื่องหนึ่งที่ซึมลึกคือ ข่าวลวง/ข้อมูลปลอม ถ้าเรื่องแบบนี้ลวงกันสำเร็จก็จะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงทางการเมืองหรือทางการเงินได้ง่ายๆ ใครที่สนใจเรื่องแบบนี้ลองหาอ่านได้ใน Global Risks 2020: An Unsettled World ที่เพิ่งรายงานออกมาโดย World Economic Forum (WEF)”

Black Swan หงส์ดำในตำนาน

ตำนานเป็นการเล่าขานที่ไม่มีหลักฐาน เช่นเดียวกับปัจจัยที่เรียกเป็นเหมือน ‘หงส์สีดำ’ ปัจจัยในอนาคตศึกษาที่สร้างแรงกระเพื่อมมาก ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งของอนาคตศึกษานอกเหนือจากความไม่แน่นอน (uncertainty) แล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่ง นักอนาคตศึกษาตั้งชื่อปัจจัยนี้ว่า ‘black swan’ คือเป็นสิ่งที่ครั้งหนึ่งไม่คิดว่าจะมีอยู่ ไม่มีใครเคยพบเห็นด้วยตา แต่หากเกิดสิ่งนั้นขึ้นจริง เรื่องราวของมวลมนุษยชาติอาจจะถูกพลิกผันเปลี่ยนไปมหาศาล

“ทำไมเขาถึงเรียก black swan (หงส์ดำ) เพราะสมัยก่อนไม่เคยมีใครเห็นหงส์สีดำ ทุกคนก็จะบอกว่า หงส์ต้องเป็นสีขาวเท่านั้น ถ้าบอกว่า มีนะ หงส์สีดำ จะไม่มีใครเชื่อ เพราะไม่สามารถเอามาโชว์ได้ เขาก็เลยเอามาเปรียบเทียบว่า black swan คืออะไรที่เราไม่เคยเห็น ไม่คาดคิดว่าจะเกิด แต่มันเกิดได้ เพราะมันไม่ได้ฝืนกฎทางฟิสิกส์ กฎทางฟิสิกส์ไม่ได้ห้ามว่า black swan ไม่สามารถมีได้ แค่ไม่เคยเห็นว่ามันมีแค่นั้นเอง 

“แต่ตอนหลังเขาไปเจอที่ออสเตรเลีย มีหงส์ดำ เพราะมันผ่าเหล่า ธรรมชาติของสัตว์หรือสิ่งมีชีวิต เวลาที่มันถูกปลีกแยกกลุ่มออกไป มันจะมีโอกาสที่จะผ่าเหล่าแล้วมันโตได้ แพร่พันธุ์ได้ เพราะ genetic สามารถเปิดช่องให้มันออกลูกออกหลานได้เยอะๆ” 

รูปธรรมของ black swan ที่ไม่มีใครเคยเห็นด้วยตา ณ ปัจจุบัน เช่น อุกาบาตชนโลก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ และอาจเคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคไดโนเสาร์ แต่ก็ไม่มีใครเป็นประจักษ์พยานยืนยัน และไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกไหม เมื่อไหร่

“มันมีอันที่มนุษย์ลงทุนเยอะ ก็คือ Search for Extra-Terrestrial Intelligence (SETI) โครงการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก อเมริกาตั้งจานเรดาร์เพื่อดักฟังสัญญาณจากอวกาศ อยู่แถวทะเลทราย อันนี้คือลงทุนจริง แล้วก็ไม่รู้ว่าจะได้อะไรกลับมาหรือเปล่า แค่เชื่อว่ามันต้องมี”

DESTINY ชะตาอนาคตของมนุษย์ปัจจุบัน

ด้วยเหตุผลการคลุกคลีกับโลกวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านชีววิทยาศาสตร์ สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ ดร.นเรศ ดำรงชัย ในปี 2020 คือ ‘การเปลี่ยนแปลงของมนุษย์’

“นักอนาคตศาสตร์จะสนใจว่าปัจจัยปัจจุบันที่เราเป็นอยู่จะพาเราไปที่ไหน เขาจะวิเคราะห์เรื่องอย่างนี้ ก็ออกมาเป็นคำนี้ คือคำว่า ‘DESTINY’ ”

D คือ diet 

“การเปลี่ยนของ diet มีผลต่ออนาคตร่างกายมนุษย์ เพราะว่าเราจะได้อะไรบางอย่างเยอะ บางอย่างขาด เราก็ต้องมาเติมด้วยวิตามิน แล้วเราก็จะพึ่งวิตามินมากขึ้น อาหารบางอย่าง เช่น ฮอร์โมนหรือเคมีที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ก็เข้าสู่วงจรอาหารที่เราบริโภคในปริมาณมากโดยเราไม่รู้ตัว นี่ก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมนุษย์ไปในทางที่เราไม่คาดคิด”

E คือ environment 

“ในวันนี้เราอาจจะนึกถึงแต่สภาพแวดล้อมอย่างอากาศที่เราหายใจเข้าไปทุกวัน มีผลต่อสุขภาพร่างกายของเราอย่างรุนแรง แต่หารู้ไม่ว่า สภาพแวดล้อมที่คนสร้างคิดค้น เช่น ข้อมูลมหาศาลที่วิ่งรอบๆ ตัวเราทุกวัน สื่อชนิดต่างๆ ดนตรี ของเล่น ฯลฯ ล้วนมีผลต่อพัฒนาการของเด็กวันนี้ ส่งผลเปลี่ยนแปลงอนาคตได้มากมาย 

S คือ stress 

“มนุษย์ธรรมดาอยู่กับ stress คนสมัยก่อนจะเกิด stress ตอนเสือจะมากิน ฮอร์โมนจะพีค สัญชาตญาณจะบอกให้สตาร์ทการวิ่งหนี ทุกวันนี้สัญชาตญาณนี้ก็ยังมีอยู่ เราถึงเหงื่อออกเวลาเครียด หัวใจเต้น สูบฉีดเลือดเพื่อเตรียมวิ่ง ออกซิเจนต้องไปเลี้ยง แต่ตอนนี้เราไม่เจอเสือ stress เรายังอยู่ ไม่ไปไหนง่ายๆ เพราะเราไม่วิ่ง เพราะฉะนั้นการตกค้างของ stress มีผลต่ออนาคตของคนรุ่นต่อไปด้วย แต่เป็น stress คนละประเภทกับที่บรรพบุรุษยุคหินของเราเจอมา”

T คือ toxin

ในสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นหรือเห็นได้ยากมาก แต่ผลของมันจะกระทบยาวต่อไปเป็นสิบๆ หรือร้อยปี

I คือ infection

โรคติดเชื้อ หรือแม้แต่การที่โลกทุกวันนี้ปลอดจากการติดเชื้อมากขึ้นทุกที เพราะภาวะปลอดเชื้อเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีในธรรมชาติ แต่กำลังส่งผลต่อยีน (พันธุกรรม) มนุษย์ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม 

N คือ nurture

การเลี้ยงดู วิธีการที่พ่อแม่ยุคปัจจุบันรักลูก และเลี้ยงลูกให้เติบโต ในสังคมโลกสมัยใหม่ แตกต่างจากที่เคยเป็นมาในอดีตยุคที่มนุษย์อยู่กันเป็นชุมชนแบบเผ่าพันธุ์ สังคมและความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นต่อรุ่นกำลังเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง

Y คือ you

หมายถึง มนุษย์

YOU มนุษย์ในกรงเลี้ยงสัตว์ 

“อนาคตของชีวิตมนุษย์ที่จะเปลี่ยนไป เคยได้ยินคำว่า domesticated human ไหม สมัยก่อนที่เรายังไม่อยู่เป็นสังคมมนุษย์ในปัจจุบัน เราอยู่ในป่า ในทุ่งหญ้า เราอิสระมาก ตอนนี้ชีวิตเรานั่งเป็นส่วนใหญ่ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแอร์ มีอาหารสามมื้อที่มีคนทำให้ ไม่ต่างอะไรกับวัวควายที่ถูกเลี้ยงมาในระบบสังคมมนุษย์” 

ตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตที่ถูก domesticate จนกลายเป็นสัตว์เลี้ยงคือ หมา หมาป่ากับหมาบ้านเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสปีชีส์เดียวกัน ครั้งหนึ่งหมาบ้านเคยอาศัยอยู่ในป่า เป็นหมาป่า เมื่อถึงยุคที่มนุษย์อยู่กับกองไฟ หมาป่าจะเข้ามาใกล้กองไฟ มนุษย์โยนอาหารให้กิน ทำอย่างนี้ผ่านไปเป็นพันเป็นหมื่นปี หมาป่าค่อยๆ คุ้นเคยกับมนุษย์มากขึ้น สุดท้ายหมาป่าจึงกลายเป็นหมาบ้าน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ 

“พันธุกรรมของเรา มันกำลังจะเปลี่ยนตรงที่ว่า ตัว Y อนาคตในส่วนที่เป็นชีวิตกำลังถูกเปลี่ยนโดยคนไม่รู้ตัว ถ้าไม่พูดเรื่องคนเป็นสัตว์เลี้ยงก็คงไม่รู้สึก แต่ถ้าเป็นคนในยุคดึกดำบรรพ์มาเห็นก็คงจะบอกว่า นี่มันสัตว์เลี้ยงชัดๆ”

AI ประชากรโลกพันธุ์ใหม่

‘ตกงาน’ เป็นประเด็นหนักใจประการแรกๆ เมื่อบทสนทนาเรื่อง AI เริ่มต้นขึ้น ระบบอัจฉริยะสร้างความสะดวกสบายให้เกิดขึ้นจริง แต่ในระบบอุตสาหกรรม เมื่อ AI เข้ามา ก็ต้องมีคนถูกแทนที่และต้องขยับออกจากที่ทางของตัวเอง และคนตกงานที่ว่า อาจมีจำนวนมหาศาลมากกว่าจะจินตนาการ 

“มีคนบอกว่า ทุกยุคทุกสมัยที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเราก็มีการตกงานกัน ไม่ใช่เรื่องแปลก ถามว่าถูกไหม…ก็ถูก แต่ว่าครั้งนี้มันจะตกงานเร็วโดยเทรนคนไม่ทัน แล้วคนก็เยอะขึ้น สมัยที่ประชากรโลกมีอยู่พันล้านคน อยู่ตามเมืองใหญ่แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้ประชากรโลกเกินครึ่งอยู่ในเมืองใหญ่ ตกงานทีหนึ่ง รัฐบาลรับมือไม่ไหว มันก็จะไปกระทบความมั่นคงทางการเมือง พอกระทบรัฐบาล ระบบในประเทศทั้งหลายมันก็จะยุ่งเหยิงจากการตกงาน เพราะเขาคิดระบบรองรับไม่ทัน 

“ผมคิดว่าในระยะประมาณ 3-4 ปี คนจะเห็นแต่ความมหัศจรรย์และความสะดวกสบาย เพราะมันมีการโฆษณา มือถือทำได้เยอะ มี self-driving car ปลอดภัยกว่า สามารถจัดจำนวนรถบนถนนได้ คนไม่ต้องซื้อรถ อยากได้ก็เรียก ไปถึงที่ก็ลง มันเกือบเป็นบริการสาธารณะก็ได้ นี่เป็นสิ่งที่คนจะรับรู้ได้ว่ามันดี”

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทิ้งรอยเท้าไว้ข้างหลังคือการตกงาน ไม่ใช่แค่ในระบบอุตสาหกรรมการผลิต จากตัวอย่างข้างต้น อาชีพคนขับรถก็จะหายไป เช่นเดียวกับหลายอาชีพที่ AI ทำได้ดีกว่า เพราะศักยภาพบางอย่างที่มากกว่ามนุษย์ เช่น วันนี้ AI ของกูเกิ้ลสามารถถอดสมการยากๆ ได้แล้ว ทำให้การจ้าง ‘คน’ เพื่อทำงานไม่มีความจำเป็น แต่ในทางกลับกัน การเข้ามาของ AI สำหรับบางอาชีพ อยู่ในฐานะเพื่อนร่วมงาน อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง วิชาชีพที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางอย่างแพทย์ ครู และอีกหลายวิชาชีพกำลังเข้าสู่ภาวะแบบนี้

“เช่น Medical AI การตรวจวินิจฉัยจะมีหมอสามประเภทที่มีคนมาช่วยทำงาน หนึ่ง-หมอตา สอง-หมอรังสี สาม-หมอพยาธิวิทยา สามแบบนี้ส่วนใหญ่เป็นหมอที่ต้องดูภาพ อะไรที่เป็นการดูภาพแล้วเห็นแพทเทิร์น เห็นความผิดปกติของเนื้อเยื่อ มันใช่มะเร็งหรือไม่ จุดนี้เส้นเลือดเป็นอย่างนี้มันเป็นเบาหวาน มีโปรเจ็คต์เยอะมากที่จะเอา AI มาใช้

“ช่วงนี้เป็นช่วงที่หมอกับ AI ทำงานด้วยกันอยู่ และพยายามสอนมัน จนกระทั่งจากที่เคยเรียนรู้ 1,000 ภาพ ก็เริ่มรู้ 10,000 ภาพ เริ่มรู้ 100,000 ภาพ แล้วก็จะมีอัลกอริธึมที่เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ว่าถ้าจุดนี้มันแปลว่าอะไร เพราะมันจะเอาไปเทียบกับข้อมูลจริง คนที่มีจุดแบบนี้ตรงตำแหน่งนี้ จริงๆ แล้วเป็นมะเร็งกี่เปอร์เซ็นต์ พอมันเจออีกทีก็จะบอกได้แม่นกว่าหมอ สามกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ AI จะเข้ามามีบทบาทเยอะขึ้น” 

Privacy ราคาชีวิต มูลค่าอนาคต 

มากกว่าเฟซบุ๊คที่ล่วงรู้ข้อมูลส่วนตัว ชีวิต กิจกรรม การโฆษณา จับรสนิยม รู้บ้าน รู้ที่ทำงาน รู้สถานที่ที่ไปบ่อยๆ การอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีทำให้มนุษย์สูญเสียความเป็นส่วนตัวไปแล้วมากกว่าครึ่ง ไม่ต้องรอถึงอนาคตแล้ว

“อันนี้เรื่องใหญ่ อย่างยุโรปเขาได้นำหน้าเรื่องกฎหมายที่บังคับให้ผู้ที่เก็บข้อมูลต้องขอเจ้าของก่อนเสมอ ต้องได้รับการอนุญาตก่อน อย่างทุกวันนี้ก็มีคนเอาข้อมูลเราไปเยอะมากโดยที่เราไม่รู้ตัว สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการถ่ายรูปแล้ว tag ใบหน้า ที่ในประเทศจีนทำจนเป็นปกติไปแล้ว” 

ข้อมูลส่วนตัวส่วนหนึ่ง ที่สำคัญและอาจนำไปสู่เรื่องราวที่ใหญ่ขึ้น คือข้อมูลสุขภาพที่ถูกเก็บและแชร์ด้วยความเต็มใจจากคนยุคปัจจุบัน ก็มาจาก smart watch บนข้อมือ ที่บอกข้อมูลการนอน ตารางการใช้ชีวิตที่บ่งบอกผ่านอัตราการเต้นของหัวใจ ความเครียด ความผิดปกติต่างๆ ผนวกเข้ากับสถานที่ต่างๆ ที่ไปใช้ชีวิตรูปแบบต่างๆ

“ข้อมูลในชีวิตประจำวันจะมีประโยชน์มากเมื่อบวกกับข้อมูลเวชระเบียน เช่น คุณใช้ชีวิตแบบนี้ มันรู้ บวกกับประวัติการพบแพทย์ บวกกับพันธุกรรม พยากรณ์ได้เลยว่าอายุเท่านี้ๆ จะป่วยอย่างนี้แน่นอน

“ข้อมูลในชีวิตประจำวันจะมีประโยชน์มากเมื่อบวกกับข้อมูลเวชระเบียน เช่น คุณใช้ชีวิตแบบนี้ มันรู้ บวกกับประวัติการพบแพทย์ บวกกับพันธุกรรม บวกกับรายการช็อปปิ้งอาหารและเครื่องดื่มของคุณ มันก็รู้อีก พยากรณ์ได้เลยว่าอายุเท่านี้ๆ จะป่วยอย่างนี้แน่นอน หรือมีคำแนะนำเลยว่า ถ้าไม่อยากเป็นโรคหัวใจตอนอายุ 50 ควรจะเริ่มใช้ชีวิต 1 2 3 4… บริษัทประกันบอกคุณว่า ให้ทำประกันชีวิตฟรี แต่มีเงื่อนไขว่าคุณต้องทำอย่างที่เราบอกนะ เข้าฟิตเนสวันละครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง กินอาหารอย่างนี้ๆ ถ้าคุณทำได้ตามนี้ ไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันเลย

“หรือวันดีคืนดีก็ไปตรวจเลือด เขาก็เอาข้อมูล genome ไปด้วย และรู้ว่ามีจุดที่พันธุกรรมของคุณผ่าเหล่า (mutation) อยู่นะ เพราะฉะนั้นอีกหน่อยจะเป็นโรคนี้ ถึงวันหนึ่งเขาก็บอกว่า คุณเข้ามาอยู่ในระบบของเราแล้ว ถ้าอยากอยู่ต่อ คุณก็ต้องจ่ายตังค์เพิ่ม เพราะเราตรวจพบแล้วว่าคุณมีความเสี่ยง”

“ถ้าคุณเป็นหนักถึงขั้นมีโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ในอนาคตอันใกล้นี้บริษัทจะบอกคุณว่า ทางบริษัทแนะนำคู่ค้าที่รับดัดแปลงแก้ไขพันธุกรรมเพื่อบำบัดรักษา แก้ไขพันธุกรรมได้ถึงรุ่นลูกเลย คุณจะเอาไหม? หาก baby business ของวันนี้คือการผสมเทียมและรับอุ้มบุญ วันหน้าก็จะเป็นการรับแก้ไขสะเดาะยีน ให้ร้ายกลายเป็นดี ด้วยเทคโนโลยี gene editing

“นอกจากเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแล ยังเป็นหน้าที่ของคนทั้งสังคมที่ต้องเรียนรู้และเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเท่าทันอนาคต เราต้องคุยกันเรื่องแบบนี้มากขึ้นครับ ตอนนี้คนไทยกำลังเฟ้อคำว่า disruption มากๆ ในขณะที่บางประเทศเขาเลยจุดนี้ไปแล้ว เช่น ญี่ปุ่นไม่พูดคำนี้ แต่กำลังเตรียมตัวมองว่า สังคมอนาคตที่เป็นไปได้หน้าตาเป็นแบบไหน แล้วถามตัวเองว่าต้องการอนาคตแบบไหน เราถึงจะอยู่รอด”

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า