จากสถานการณ์การชุมนุมและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชนแฟลตดินแดงมาเป็นเวลากว่า 2 เดือน นับตั้งแต่กระแสการชุมนุมทางการเมืองปะทุขึ้นมา เวทีสาธารณะ ‘ทะลุทางออกที่ดินแดง’ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564 ณ โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ เขตดินแดง จึงถูกจัดขึ้นโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ Thai PBS หรือ The Active เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ มาร่วมพูดคุยหาทางออก โดยมีผู้ร่วมสนทนา ได้แก่ ตัวแทนประชาชนและกรรมการชาวแฟลตดินแดง, สภาเยาวชนเขตดินแดง, ตัวแทนกลุ่มทะลุแก๊ส, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมกิจการเด็กและเยาวชน
ความกังวลและความเดือดร้อน เสียงสะท้อนของชาวแฟลตดินแดง
เริ่มต้นจากตัวแทนชาวแฟลตดินแดงรายหนึ่งสะท้อนว่า เห็นด้วยกับแนวคิดและอุดมการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่นานวันเข้าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในที่ชุมนุมก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่ไม่สะดวกจากการปิดถนน กิจการร้านค้าต้องปิดก่อนเวลา ละอองแก๊สน้ำตาลอยเข้าบ้าน เสียงดังจนส่งผลต่อการนอนหลับ และผลกระทบต่อเด็กและคนชรา
ประชาชนอีกรายสะท้อนผ่านสื่อวิดีโอโดยไม่ระบุตัวตนว่า มีผู้ชุมนุมขึ้นมาบนแฟลตและขว้างปาสิ่งของใส่หน่วยควบคุมฝูงชน (คฝ.) โดยที่แฟลตดินแดงเองก็ไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอเช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้พักอาศัย โดยเฉพาะความกังวลด้านความปลอดภัย
ประสงค์ หอมสนั่น ประธานกรรมการชุมชนแฟลตดินแดง กล่าวว่า ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลและเยียวยาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ โดยเฉพาะการเคหะแห่งชาติ ประสงค์มองว่าการเคหะฯ ได้รับค่าเช่าและภาษีจากผู้อยู่อาศัย อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง จึงไม่ควรนิ่งดูดายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวดินแดง เช่นเดียวกับ อดิศร โพธิ์อ่าน หนึ่งในตัวแทนชาวแฟลตสะท้อนว่า เจ้าหน้าที่ระดับนโยบายของการเคหะฯ ไม่เคยลงมาดูปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะมีการยื่นหนังสือเพิ่มเติมอีกครั้งในวันที่ 4 ตุลาคม 2564 โดยมีรายละเอียด 4 ข้อ จากทั้งหมด 10 ข้อที่เป็นการเรียกร้องให้ควบคุมการชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรง อาทิ
- ให้เจ้าหน้าที่ปรับเปลี่ยนวิธีการควบคุมฝูงชน โดยไม่ใช้กำลังอาวุธหรือทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับบาดเจ็บ
- ให้ใช้วิธีการควบคุมและการสลายการชุมนุมเพื่อวัตถุประสงค์ให้ผู้ชุมนุมเลิกชุมนุมและให้กลับที่พักอาศัย มากกว่าการไล่ล่าและทำร้ายผู้ชุมนุมดังที่ปฏิบัติอยู่ในเวลานี้
- ให้ลดปริมาณการใช้แก๊สน้ำตา ใช้เท่าที่จำเป็น ปรับเปลี่ยนการยิงแก๊สน้ำตาโดยวิถีโค้งเพื่อกระชับพื้นที่และห่างจากที่อยู่อาศัย
- ในการสลายการชุมนุม ขอให้เน้นการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงมากกว่าการใช้แก๊สน้ำตาและปืนบรรจุลูกกระสุนยาง โดยการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงขอให้หลีกเลี่ยงการฉีดไปที่ผู้ชุมนุมโดยตรง และลดสารเคมีอันตรายที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนัง ใบหน้า และการระคายเคืองต่อผู้ที่สัมผัส
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีคือ ขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาสำรวจความเสียหายและรับผิดชอบต่อความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขอให้เจ้าหน้าที่ คฝ. มาเยียวยากิจการค้าขาย และขอให้นายกรัฐมนตรีย้ายออกจากที่พักเดิมเพื่อลดการปะทะบริเวณดินแดง
เสียงจากผู้ชุมนุมที่รัฐไม่เคยรับฟัง
ทางด้าน ตัวแทนผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊ส เล่าว่า การรวมตัวกันชุมนุมเป็นผลจากการบริหารงานของรัฐบาลที่กระทบต่อชีวิตของพวกเขา และเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สร้างความเหลื่อมล้ำโดยที่รัฐบาลไม่เคยรับฟังประชาชน เขานิยามผู้เข้าร่วมชุมนุมของกลุ่มว่าเป็นม็อบรากหญ้า เพราะส่วนใหญ่มาจากชนชั้นแรงงาน หลายคนหลุดจากระบบการศึกษา เขามองเห็นปัญหาเหล่านี้เพราะตัวเขาเองก็เติบโตมาในสลัมคลองเตย แต่ไม่เคยรับการเยียวยาจากรัฐบาลเท่าที่ควร หลายคนต้องการโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเชื้อไฟที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันของคนหลากหลายกลุ่มที่แยกดินแดง
เขาบอกอีกว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นผลจากปฏิบัติการที่ไม่ถูกต้องตามหลักสากลของรัฐบาล ในขณะที่พวกเขาตั้งใจมาแสดงออกด้วยสันติวิธีและต้องการให้รัฐบาลเปิดเวทีรับฟังประชาชน กลับถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง การขึ้นไปบนแฟลตคือการหนีจากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่นั่นเอง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งผู้ชุมนุมจำเป็นต้องตอบโต้กลับด้วยความรุนแรงเช่นกัน และเขาเองไม่สามารถตอบคำถามแทนผู้ชุมนุมที่ตอบโต้ได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่การตอบโต้ด้วยความสนุก และพวกเขาพยายามหาแนวร่วมตรงกลางเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะจุดมุ่งหมายของการชุมนุมคือการต่อสู้เพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ใช้แยกดินแดงเป็นจุดชุมนุมเนื่องจากเป็นทางผ่านไปที่บ้านพักของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เรียกร้องสิทธิเยาวชนที่ถูกคุกคาม
ณัฐวุฒิ เนาวบุตร ตัวแทนเยาวชนจากกลุ่ม Child in Mob อธิบายว่า การทำงานของกลุ่มมีจุดประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชนที่มาร่วมชุมนุมโดยไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด สิ่งที่พบคือที่ผ่านมามีเด็กถูกจับกุมไปแล้ว 223 คน รวม 142 คดี เยาวชนที่อายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีคือ 12 ปี มีการจับกุมโดยไม่มีหมายจับถึง 203 คน
จากการตั้งข้อสังเกตของณัฐวุฒิพบว่า ในพื้นที่การชุมนุมที่ดินแดงมีเด็กถูกจับกุมมากที่สุด เฉพาะเดือนกันยายนที่ผ่านมามีเด็กถูกดำเนินคดี 98 คน ทั้งหมด 38 คดี และไม่ได้รับการประกันตัว 1 คน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมีอายุระหว่าง 15-18 ปี ดังนั้นสิ่งที่ Child in Mob ต้องการเน้นย้ำคือ เจ้าหน้าที่ต้องไม่กระทำการโดยใช้ความรุนแรงใดๆ กับผู้ชุมนุม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องสิทธิเด็กต้องออกมาเคลื่อนไหวให้มากที่สุด
“อนุสัญญาสิทธิเด็กพูดถึงสิทธิที่จะมีชีวิต เด็กจะต้องมีชีวิตรอด และต้องได้รับความปลอดภัย แต่จากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ถามว่าเด็กได้รับความปลอดภัยไหม เรื่องการพัฒนา เด็กได้รับการพัฒนาไหม ทั้งเรื่องโอกาสทางการศึกษา การมีส่วนร่วม และการรับฟัง สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านเด็กที่ออกมาชุมนุม เด็กได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการศึกษา ค่าเทอม โอกาสในการเข้ารับการศึกษา ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 เด็กตกงาน แล้วยังมีภาระค่ารักษาอาการบาดเจ็บจากการชุมนุม ซึ่งถูกยิงท่อนบนมากกว่าท่อนล่าง”
การรวมตัวของผู้ชุมนุมหลากหลาย แต่เป้าหมายเดียวกัน
ก่อนหน้าที่จะมีเวทีสาธารณะครั้งนี้ มีการจัดวงพูดคุยเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนของกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุม โดย ฐิตินบ โกมลนิมิ จาก The Active พบว่า เยาวชนกลุ่มทะลุแก๊สมีที่มาหลากหลาย และเยาวชนเหล่านี้มีอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ต่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงปีที่ผ่านมา
สิ่งหนึ่งที่พวกเขาต้องการคือ การสื่อสารและรักษากระแสการเรียกร้องทางการเมืองไว้ เพราะพวกเขากังวลว่าข้อเรียกร้องจะหายไป อีกทั้งที่ผ่านมามีเพื่อนที่ถูกจับกุม ติดคุก ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตาม ผู้ปกครองถูกฟ้องดำเนินคดีทั้งที่ยังเดือดร้อนจากภาวะโควิด พวกเขาจึงตั้งคำถามว่า รัฐบาลมองเห็นพวกเขาบ้างหรือไม่ ว่าพวกเขาต้องการอนาคตที่ดีโดยที่ไม่มีโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกดทับอยู่ พวกเขาต้องการพื้นที่แสดงออกทางการเมืองที่รัฐบาลเปิดเวทีคุยกับประชาชน แต่เมื่อถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงและเห็นว่าแฟลตดินแดงเป็นพื้นที่ปลอดภัย จึงเข้าไปหลบหนีโดยคาดไม่ถึงว่าจะเกิดผลกระทบต่อชุมชน
“เขามีเพื่อนถูกจับกุม ติดคุกหลายคน มีหลายคนถูกเคาะประตูติดตามว่าจะไปม็อบไหม หลายคนมีพ่อแม่โดนคดี เขาได้รับผลกระทบจากความยากจนอยู่แล้ว พอมาถูกคดีฟ้องร้องก็มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น มันทำให้ปัญหาวนเวียนซ้ำซ้อน ผู้เรียกร้องเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ เขาไม่ต้องการให้โครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมและเห็นคนไม่เท่ากันมากดอนาคตเขาลง เขามีความฝันหลายอย่าง และมีข้อเสนอเชิงสันติวิธีหลายข้อ
“เขาอยากพูดคุยกับภาครัฐ แต่รัฐมองเขาเป็นคู่ตรงข้าม ไม่ได้มองว่าเขาเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างเหล่านี้ มีหลายคนกำลังพยายามถีบตัวเองเรียน กศน. และหางาน แต่หางานไม่ได้ กระทั่งอาจต้องหยุดเรียน กศน. ประเด็นเหล่านี้ทำยังไงลุงตู่ถึงจะเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อน”
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งจากโครงสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยที่ผู้ใหญ่มักจะไม่ค่อยรับฟังเสียงของเด็กและเยาวชน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องมีความเข้าใจและรับฟังพวกเขาด้วย แต่สิ่งที่เห็นคือใส่เครื่องแบบมาพร้อมกับอาวุธครบมือเพื่อปราบปรามเด็กและเยาวชน โดยอ้างว่าปราบปรามโดยสันติวิธี ทั้งที่หากมีการสื่อสารที่ดีอาจส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ เพราะการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นสิทธิของเด็กและเยาวชนด้วยเช่นกัน
“ขอตั้งข้อสังเกตว่า หน่วยควบคุมฝูงชนได้รับการฝึกอบรมด้านการเจรจากับผู้ชุมนุมมากน้อยแค่ไหน จากพฤติการณ์ที่เห็น เขาจะทำได้ดีขึ้นมากถ้าเข้าใจเด็กและเยาวชน หลักการสากลที่อ้างจากเบาไปหาหนักเราไม่เห็นเลย ต้องให้สัดส่วนที่เหมาะสมตามกฎหมายและความจำเป็นด้วย การใช้อาวุธที่มีลักษณะเป็นอาวุธสงครามอย่างกระสุนยางก็สร้างความเจ็บปวดและบาดแผลได้
“สิทธิการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นสิทธิของเด็กด้วย การชุมนุมโดยสงบ ไม่มีการใช้ความรุนแรงตอบโต้กันสามารถทำได้ แค่เปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกัน แม้ว่าเป็นท้องถนนที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนก็ตาม อาจยืดเยื้อยาวนาน แต่อยากให้เปิดพื้นที่พูดคุยให้กว้างขึ้น”
ข้อกฎหมายและข้อเสนอแนะ ทางออกของสิทธิชุมชนและการเมือง
นารี เจริญผลพิริยะ อดีตหัวหน้าโครงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เผยว่า ตนเคยเป็นผู้จัดฝึกอบรมหลักสูตรควบคุมฝูงชนให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งการใช้วิธี ‘เบาไปหาหนัก’ ของเจ้าหน้าที่ไม่ใช่ขั้นตอนของสันติวิธี แต่เป็นขั้นตอนของการใช้กำลัง โดยอยู่ภายใต้ข้ออ้างว่าปฏิบัติตามกฎหมาย หน่วยควบคุมฝูงชนเป็นหน่วยที่มีขึ้นเพื่อใช้กำลัง สันติวิธีที่ใช้การเจรจาสื่อสารจึงต้องเป็นระดับผู้กำหนดนโยบายสั่งการลงมา ซึ่งอันที่จริงแล้วเจ้าหน้าที่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้กำลังตั้งแต่แรกได้ จึงต้องหาวิธีการเพื่อให้เกิดสันติวิธีอย่างจริงจัง เช่น การมีผู้เจรจาของทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ นารีตั้งคำถามกับกลุ่มทะลุแก๊สว่า เหตุใดจึงไม่เข้าร่วมกับกลุ่มที่ใช้สันติวิธีอยู่แล้ว การแยกกลุ่มออกมามีเจตจำนงอะไรหรือไม่ ซึ่งตัวแทนผู้ชุมนุมกล่าวยืนยันว่า ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มยึดสันติวิธีมาโดยตลอด แต่ยังคงถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงอยู่ดี ส่วนเรื่องการแยกกลุ่มออกมาชุมนุมที่ดินแดงนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สำคัญที่การรับฟังของเจ้าหน้าที่ จึงต้องมีการพูดคุยที่สามารถคุยกับทุกคนได้ ไม่ใช่เฉพาะตัวแทนกลุ่มเท่านั้น และยืนยันว่าต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของชาวดินแดงด้วย
วรชาติ อหันทริก นักกฎหมายตัวแทนกลุ่มผู้อาศัยแฟลตดินแดง มองว่า ตำรวจที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ปราบจลาจล ซึ่งพฤติกรรมของผู้ชุมนุมไม่ใช่การก่อจลาจล แต่เจ้าหน้าที่กลับใช้วิธีการไล่ล่าและก่อความรุนแรง จึงทำให้ผู้ชุมนุมต้องหลบหนีและก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน เจ้าหน้าที่จึงควรยึดหลักการเจรจาและหลักการสากล เป็นการยึดหลักกฎหมายโดยไม่มีความยืดหยุ่น อีกทั้งการเยียวยาความเสียหายต่อชุมชนมีหลักการที่ไม่สมเหตุสมผล กล่าวคือ มีการระบุว่าต้องเป็นคดีอาญาและต้องไม่ได้เป็นผู้ผิด ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยากและยังไม่มีหลักเกณฑ์ใดที่ช่วยเหลือดูแลชาวดินแดงได้
อย่างไรก็ตาม ด้านตัวแทนสภาเยาวชนเขตดินแดงได้เสริมขึ้นว่า เมื่อความเสียหายเกิดจากเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานนั้นจึงควรเป็นผู้รับผิดชอบ
ธีรยุทธ แก้วสิงห์ นักวิชาการกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ อธิบายว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง กฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นการเยียวยาคดีอาญาทั่วไปโดยไม่ได้เจาะจงด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งจะดูแลคน 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้เสียหายในคดีอาญา และจำเลยแพะในคดีอาญา โดยจะดูแลเยียวยาเบื้องต้นในกรณีที่เกิดผลกระทบกับชีวิต ร่างกาย และเพศเป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน และผู้เสียหายต้องไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้นๆ อีกทั้งการพิจารณาเยียวยาต้องอาศัยดุลยพินิจจากหลายฝ่าย ที่ผ่านมามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแฟลตดินแดงยื่นไปเรื่องเพียง 2 คน และอยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ภาครัฐก็พยายามหาแนวทางและมาตรการในการปรับปรุงกฎหมายส่วนนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ ตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะนำข้อมูลที่ได้รับและข้อเรียกร้องต่างๆ ไปหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป ในขณะที่การเคหะแห่งชาติชี้แจงว่า ได้ดำเนินการลดค่าเช่าตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงกันยายน มีการแจกข้าวกล่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 50 วัน 50,000 กล่อง ส่วนข้อเสนออื่นๆ ที่ได้รับจะรีบนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ได้เร็วที่สุด
ท้ายที่สุด ฐิตินบมีข้อเสนอแนะว่า ควรเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมที่ไม่ใช่พื้นที่ชุมชนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ และสมดุลในการจัดการปัญหาความขัดแย้งไม่ควรถูกผูกขาดที่ตำรวจฝ่ายเดียว หลายหน่วยงานของภาครัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมด้วยโดยไม่ใช้กฎหมายเป็นทางออกเพียงอย่างเดียว
วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวตอนท้ายว่า เวทีแห่งนี้เป็นพื้นที่กลางที่ทำให้ทุกฝ่ายพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพราะไม่ต้องการเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นไม่ว่ากับใครก็ตาม