26 กุมภาพันธ์ 2500: เลือกตั้งสกปรกระดับอุจจาระเรียกพี่

  • การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เป็นการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งที่ 9 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งหลังจากสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดตามวาระ ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศให้มีเลือกตั้งทั่วไปในวันดังกล่าว เป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขตจังหวัด ซึ่งเป็นการช่วงชิงเก้าอี้ในสภาทั้งสิ้น 160 ที่นั่ง และมีพรรคการเมืองลงสนามเลือกตั้งถึง 23 พรรค เป็นการเลือกตั้งที่ได้ชื่อว่า สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์
  • มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งที่เป็นคนฝ่ายตน การใช้อำนาจข่มขู่ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้ให้บรรดานักเลง อันธพาล ข่มขู่บังคับให้ชาวบ้านเลือกแต่ผู้สมัครจากพรรครัฐบาล
  • ผลการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พรรคเสรีมนังคศิลาเป็นฝ่ายชนะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 83 ที่นั่งจากจำนวนทั้งหมด 160 ที่นั่ง แต่ประชาชนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง นำไปสู่การประท้วงผลการเลือกตั้งของนิสิต นักศึกษาและประชาชน ที่เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ทำให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500
  • รัฐบาลจึงประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินและจัดการเปิดประชุมรัฐสภา ตั้งรัฐบาลโดยมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ประคองรัฐบาลมาได้เกือบ 7 เดือน ก่อนที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจด้วยกำลังในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500

 

พุทธศักราช 2500…

ปีนั้นเป็นปีที่ประเทศอียิปต์เปิดใช้คลองสุเอซ เป็นปีที่สหพันธรัฐมาลายาได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศไทย พุทธศักราช 2500 ถูกบันทึกว่าเป็นปีที่มีการเลือกตั้งสกปรกที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย วันนั้นคือวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 แม้ว่าก่อนหน้าที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรีรักษาการในห้วงนั้น ได้ประกาศว่าจะจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ให้บริสุทธิ์ “ถวายเป็นพุทธบูชา” เนื่องในโอกาสครบรอบวาระกึ่งพุทธกาล แต่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้แล้วว่าเป็นการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ดังคำประกาศของรัฐบาลรักษาการในเวลานั้น

 

พรรคเสรีมนังคศิลา VS. พรรคประชาธิปัตย์ และการเมืองสามเส้า

การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการแข่งขันกันระหว่าง 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคเสรีมนังคศิลา กับ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีมนังคศิลาในเวลานั้นเป็นพรรครัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจและเลขาธิการพรรค ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน มีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค

ลักษณะของขั้วอำนาจในตอนนั้นถูกเรียกว่า ‘การเมืองสามเส้า’ เป็นเหตุการณ์การขับเคี่ยวแย่งชิงความเป็นใหญ่ทางการเมืองในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ระหว่าง ‘ผู้มีอำนาจทั้งสาม’ (The Triumvirate) ประกอบด้วย 1.ฝ่ายจอมพล ป.พิบูลสงคราม 2.กลุ่มของจอมพลผิน ชุณหะวัน และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ที่คุมอำนาจตำรวจที่มีกำลังและอาวุธไม่น้อยกว่าทหารจากการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา และ 3.กลุ่มทหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่กำลังก่อร่างสร้างอำนาจทางการเมือง

จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายให้ออกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2498 เป็นกฎหมายฉบับแรกที่ออกมาให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้โดยตรง หลังจากนั้นจึงมีการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งจำนวน 23 พรรค การจัดการเลือกตั้งในครั้งนั้นรัฐบาลรักษาการพยายามใช้กลไกอำนาจรัฐชักจูงและบังคับให้ข้าราชการประจำช่วยเหลือการเลือกตั้งของตน ทั้งการเรียกประชุมข้าราชการบอกให้เลือกพรรคของรัฐบาลเพื่อจะได้ทำงานตามแผนของรัฐบาลต่อ

“บ้านเมืองจะเจริญได้ท่านต้องเลือกพรรคเสรีมนังคศิลา”

 

อุจจาระป้ายประตูบ้าน

นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งที่เป็นคนฝ่ายตน การใช้อำนาจข่มขู่ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้ให้บรรดานักเลง อันธพาล ข่มขู่บังคับให้ชาวบ้านเลือกแต่ผู้สมัครจากพรรครัฐบาล มีการคุกคามผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ด้วยการใช้อุจจาระป้ายประตูบ้าน ใช้เครื่องบินโปรยใบปลิวประณามพรรคฝ่ายค้าน

ไม้ขีดไฟ ผ้าเช็ดหน้า และอื่นๆ คือของแจกจากพรรคเสรีมนังคศิลา แต่ฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ในห้วงเวลานั้นโจมตีนโยบายของรัฐบาลจากการผูกพันเงินช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาจนขาดอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ การนัดหยุดงานของกรรมกร รวมทั้งการโจมตีถึงการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาลอย่างกว้างขวาง ก่อนการเลือกตั้งเพียง 1 วัน หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พาดหัวว่า ‘พบไพ่ไฟเกลื่อนกรุง’

 

ไพ่ไฟ

ไพ่ไฟ เป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นจากรูปแบบการทุจริตการเลือกตั้งในครั้งนั้น ไพ่ไฟคือบัตรผีหรือบัตรปลอม มีการนำบัตรปลอมหย่อนลงในกล่องใส่บัตรเลือกตั้งเป็นจำนวนมากในช่วงจังหวะที่ไม่มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อาศัยช่วงเวลาเปิดหีบเลือกตั้งแล้วใช้เทคนิครีบนำไพ่ไฟหย่อนในหีบให้เร็วที่สุด หรือใกล้เวลาปิดหีบเลือกตั้งและนับคะแนนในกรณีที่นับคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งก็จะมีการนำไพ่ไฟเข้ามานับคะแนนร่วมด้วย พฤติกรรมการทุจริตการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นการทุจริตที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งกับกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือเป็นหน่วยเลือกตั้งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งมีอิทธิพล บารมีสูงและสามารถทำให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้ร่วมมือในการทุจริตการเลือกตั้งด้วยวิธีการนี้

 

เวียนเทียน

 

มีการใช้คนหมุนเวียนไปลงคะแนนคนละหลายครั้ง จนเกิดศัพท์ใหม่ทางการเมืองเรียกว่า ‘เวียนเทียน’ การเวียนเทียน เป็นพฤติกรรมในการทุจริตการเลือกตั้งโดยการใช้บัตรประชาชนใบเดียวเวียนกันไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งซ้ำกันหลายรอบ พฤติกรรมการทุจริตการเลือกตั้งโดยวิธีการดังกล่าว มักจะกระทำในเขตเลือกตั้งที่อยู่ห่างไกลจากชุมชน หรือเป็นเขตเลือกตั้งที่มีกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์จำกัด เช่น หน่วยเลือกตั้งที่มีทหารมาใช้สิทธิ์จำนวนมาก เป็นต้น ซึ่งประชาชนไม่สนใจติดตามการลงคะแนนใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ในหน่วยเลือกตั้งจึงมีเพียงคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ดูแลและควบคุมการใช้สิทธิ์เลือกตั้งของประชาชน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตในลักษณะดังกล่าวได้ง่าย และอาศัยช่วงเวลาที่ผู้มาใช้สิทธิ์ไม่มากโดยเฉพาะช่วงเปิดหีบเลือกตั้งใหม่ๆ หรือใกล้เวลาปิดหีบเลือกตั้ง พฤติกรรมการทุจริตการเลือกตั้งโดยวิธีการนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500

 

พลร่ม

การย้ายประชาชนข้ามเขตเลือกตั้งก็เป็นอีกกลวิธี การทุจริตด้วยวิธีการนี้จะดำเนินการก่อนการเลือกตั้งพอสมควร โดยอาศัยความร่วมมือของกลไกราชการและข้าราชการฝ่ายปกครองในการย้ายทะเบียนบ้านผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งร่วมมือกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในบางกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ หรืออาศัยความร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชน มีคำสั่งหรือเงื่อนไขในการจ้างงานโดยให้พนักงานในสถานประกอบการย้ายทะเบียนบ้านจากภูมิลำเนาของตนเอง เข้ามายังบ้านเลขที่ของสถานประกอบการทั้งหมด เมื่อถึงเวลาไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งให้พนักงานในสถานประกอบการของตนเองหรือพันธมิตรที่ร่วมมือกับตนเองให้ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งนี้อาจจะมีสัญญาแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ประกอบการรวมไปถึงตัวผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งสำหรับหน่วยงานราชการ เช่น กองทัพ ค่ายทหาร โรงพยาบาล โรงเรียน สถานีตำรวจ หรือ สถานที่ราชการประจำภูมิภาคขนาดใหญ่ ก็สามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้ขึ้นกับความสัมพันธ์และอิทธิพล บารมีของผู้รับสมัครเลือกตั้งกับข้าราชการระดับผู้บังคับบัญชาในส่วนงานนั้นๆ ที่จะให้การสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ยังมีการขัดขวางและทำร้ายร่างกายประชาชนที่มาลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์ต่อหน้าสาธารณชน ตลอดจนแอบเปลี่ยนหีบเลือกตั้งในที่ลับตาคน

 

พรรคเสรีมนังคศิลาได้ 83 ที่นั่ง แต่ประชาชนไม่ยอมรับ

ผลการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พรรคเสรีมนังคศิลาเป็นฝ่ายชนะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 83 ที่นั่งจากจำนวนทั้งหมด 160 ที่นั่ง ถือว่าได้เสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเกินกว่าครึ่ง พรรคฝ่ายค้านสำคัญคือพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนมาเป็นอันดับที่สอง ได้ที่นั่งเพียง 30 ที่นั่งเท่านั้น

แต่ประชาชนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง นำไปสู่การประท้วงผลการเลือกตั้งของนิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ทำให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 ด้วยเหตุผลดังนี้

เนื่องด้วยปรากฏเป็นหลักฐานแน่นอนว่า มีคณะบุคคลบางส่วนและด้วยการส่งเสริมสนับสนุนของชาวต่างชาติ กำลังจะก่อกวนและดำเนินการร้ายขึ้นภายในประเทศเพื่อให้มีความไม่สงบเกิดขึ้น แล้วจะฉวยโอกาสเข้าครอบครองประเทศไทยในที่สุด ฉะนั้นโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ที่เป็นที่ตั้ง รัฐบาลเห็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายนี้โดยเด็ดขาด จึงขอประกาศให้ประชาชนทราบทั่วกันและขอให้ตั้งอยู่ในความสงบ และให้ความไว้วางใจในรัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะได้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายโดยเคร่งครัด”

คณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้บัญชาการฝ่ายทหาร ดูแลสั่งการใช้กำลังทหารและตำรวจปราบประชาชน แต่จอมพลสฤษดิ์มิได้ทำตาม

เมื่อประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ก็ลุกฮือขึ้นเพื่อทวงสิทธิ์ของเขา แล้วจะให้ผมไปปราบประชาชน ผมทำไม่ได้” จอมพลสฤษดิ์กล่าว

 

รุ่งอรุณของจอมพลคนใหม่

รัฐบาลจึงประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินและจัดการเปิดประชุมรัฐสภา ตั้งรัฐบาลโดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ประคองรัฐบาลมาได้เกือบ 7 เดือน ก่อนที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจด้วยกำลังในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 และมีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พ้นจากตำแหน่งด้วย

เรียบเรียงข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า