เลขศาสตร์กับการเมืองพม่าสมัยใหม่

เมื่อเดือนที่แล้ว (สิงหาคม 2566) สหายชาวพม่าคนหนึ่ง ส่งรูปพระพุทธรูปหินอ่อนขนาดมหึมาที่สร้างโดย นายพลมิน อ่อง หล่าย ในกรุงเนปิดอว์มาให้ผม ดูแล้วอาจเป็นพระพุทธรูปหินอ่อนองค์ใหญ่ที่สุดในโลก พระพุทธรูปมีสีขาวบริสุทธ์ แข็งแรงและทนทานต่อสภาพอากาศ เพราะทำมาจากหินอ่อนชั้นดีจากแหล่งเหมืองหินอ่อนซะจีน (ซะจีน หรือ စကျင် ในภาษาพม่า แปลว่า หินอ่อน) ในภูมิภาคมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นแหล่งหินอ่อนที่ดีที่สุดในพม่า และได้รับการยกย่องในด้านความแข็งและเนื้อสัมผัส ซึ่งเหมาะกับงานประติมากรรม 

ขณะเดียวกันตัวพระหินอ่อนยังค่อยๆ เผยให้เห็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ ความยิ่งใหญ่ และการกดขี่ของนายพลอาวุโส มากกว่าจะเป็นการอุทิศทางศาสนาของเขา

นายพลมิน อ่อง หล่าย ตั้งชื่อพระพุทธรูปนี้เป็นภาษาบาลีว่า ‘มารวิชัย’ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นชื่อที่ได้มาจากการปรึกษาหารืออย่างดีแล้วกับคณะสงฆ์อาวุโสที่อยู่ใกล้ชิดและคอยให้คำแนะนำเขา

นักวิจารณ์ในพม่าเชื่อว่า ชื่อของพระพุทธรูปเองนั้นได้เผยให้เห็นอย่างจงใจแล้วว่า มิน อ่อง หล่าย อาจมิได้สนใจภารกิจอุทิศถวายทางศาสนามากไปกว่าการบดขยี้ศัตรู ข้อนี้สันนิษฐานได้จากชื่อพุทธรูป ‘มาร’ แปลว่า ศัตรู และ ‘วิชัย’ แปลว่า ผู้พิชิต คือการชนะมารอย่างวิเศษ 

มิน อ่อง หล่าย ต้องการเอาชนะฝ่ายตรงข้ามของเขาทั้งหมด จึงได้สร้างพระพุทธรูปหินอ่อนนี้เป็นสัญลักษณ์กลางกรุงเนปิดอว์

หลายคนยังสังเกตว่าพระพุทธรูปของเขาเผยให้เห็นถึงความหลงใหลในเลข 9 โครงสร้างของพระพุทธรูปทั้งหมดสูง 81 ฟุต ประกอบด้วยพระพุทธรูปสูง 63 ฟุต และบัลลังก์สูง 18 ฟุต มีน้ำหนักรวม 5,292 ตัน ตัวแท่นบัลลังก์มีน้ำหนัก 3,510 ตัน และองค์พระพุทธรูปอีก 1,782 ตัน ตัวเลขทั้งหมดเหล่านี้เมื่อนำมาบวกรวมกันจะมีผลรวมเท่ากับ 9 อย่างเช่นจำนวน 5,292 คือ 5+2+9+2=18 และ 1+8=9

แต่ก็ยังมิจบเพียงแค่นั้น รัฐบาลทหารพม่าระบุว่ามีแผ่นหินพร้อมเจดีย์บริวารขนาดเล็กอีกจำนวนถึง 720 แผ่น บริเวณพื้นที่ดังกล่าวใช้เวลาสร้าง 1,143 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 2021 และนิมนต์พระสงฆ์ทั้งหมด 900 รูป เข้าร่วมพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 เดือน 8 (สิงหาคม) ค.ศ. 2023 และเป็นเช่นเดียวกับโครงสร้างของพระพุทธรูป จำนวนตัวเลขเหล่านี้ก็มีผลรวมเท่ากับ 9 เช่นเดียวกัน

ความหลงใหลในเลข 9 ของกองทัพพม่ามิใช่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ แต่เป็นสายธารทางความคิดของนายพลอาวุโสพม่าที่ยังไหลเวียนอยู่ในประวัติศาสตร์ของรัฐพม่าสมัยใหม่

อันที่จริงแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์มักจะปฏิบัติต่อตัวเลขด้วยความเอาใจใส่ แม้กระทั่งให้ความเคารพ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งลึกลับ มีมนต์ขลัง เป็นสัญลักษณ์หรือเป็นเครื่องมือช่วยจำ 

ทางฝั่งตะวันตก พลังและความหมายของตัวเลขที่รู้จักกันดีที่สุด คือ เลข 13 ซึ่งหมายถึงลางสังหรณ์แห่งความโชคร้าย บางคนบอกว่ามาจากจำนวนคนที่รับประทานอาหารมื้อสุดท้ายของพระคริสต์

มหัศจรรย์ตัวเลขเหนือจินตนาการ

พม่าอาจเป็นรัฐหนึ่งที่ตัวเลขมีความหมายทางศาสนา การเมือง และไสยศาสตร์ ความเชื่อเรื่องตัวเลขผูกพันกับโหราศาสตร์อย่างแนบชิด และเราพบว่ามันส่งผลต่อการตัดสินใจครั้งสำคัญของผู้ปกครองตลอดประวัติศาสตร์อันวุ่นวายของประเทศ อย่างเช่น การก่อตั้งประเทศพม่าโดยการประกาศเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1948 เวลา 04.20 น. ซึ่งเป็นเวลาที่นักโหราศาสตร์พม่าเลือกไว้แล้ว

นายพลเน วิน ซึ่งได้รับการอธิบายอย่างหลากหลายว่าเป็นอดีตผู้นำเผด็จการ ตั้งแต่ปี 1962-1988 เชื่อว่าเลข 9 คือเลขนำโชคของเขา และโหราจารย์เคยบอกไว้ว่าเขาจะอายุยืนถึง 90 ปี เขาจึงให้ความสนใจกับพลังอำนาจลี้ลับของเลข 9 เป็นอย่างมาก 

ในปี 1987 นายพลเน วิน มีนโยบายปราบปรามตลาดมืดที่แพร่หลายในยุคนั้น โดยการเปลี่ยนสกุลเงินเป็น 9 มีการออกธนบัตรใบละ 90 จั๊ด และ 45 จั๊ด ทดแทนธนบัตรใบละ 100 และ 50 จั๊ด ต่อมาทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ลงและน่าจะมีส่วนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวประท้วงครั้งใหญ่ในปี 1988 นายพลเน วิน มีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 92 ปี ซึ่งข้อนี้อาจพิสูจน์ให้บางคนเห็นถึงความแม่นยำของโหราจารย์ประจำตัวของเขา

ฝ่ายค้านที่สนับสนุนประชาธิปไตยเชื่อว่าเลข 8 เป็นเลขนำโชค ดังนั้น ‘การปฏิวัติประชาชน’ ครั้งใหญ่ (และไม่ประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด) จึงเกิดขึ้นในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 หรืออย่างวันที่ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับกองทัพพม่า ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2008 นั้น มีโหราจารย์ของรัฐบาลทหารคอยชี้แนะวันเวลาที่เหมาะสมตามความเชื่ออย่างแน่นอน 

เมื่อตอนที่พายุไซโคลนนาร์กีสพัดถล่มพม่า คร่าชีวิตผู้คนในพม่าไปเกือบ 140,000 คน เมืองย่างกุ้งถูกพายุไซโคลนพัดถล่ม ขณะที่เมืองเนปิดอว์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางเหนือเกือบ 330 กม. รอดพ้นจากพายุไซโคลนนาร์กีส ซึ่งผู้ปกครองเชื่อว่าเป็นเพราะภูมิปัญญาทางโหราศาสตร์ในการย้ายเมืองหลวง

นายพลตัน ฉ่วย สถาปนาเมืองเนปิดอว์เป็นเมืองหลวงใหม่ เมื่อเวลา 06.37 น. ของวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 และในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 เวลา 11.00 น. ข้าราชการจำนวนมากเดินทางออกจากย่างกุ้งเพื่อไปใช้ชีวิตใหม่ที่นั่น เวลาที่แม่นยำเหล่านี้เป็นเจตนาที่ชัดเจน บางคนกล่าวว่า ผู้นำประเทศพม่าในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการเคลื่อนไหวดังกล่าว นับถือเลข 11 เป็นเลขนำโชคของเขา

ในอดีตเคยมีการคาดการณ์ถึงอิทธิพลที่ต่อเนื่องของ เน วิน โดยเฉพาะการเปลี่ยนชื่อรัฐจาก ‘Burma’ เป็น ‘Myanmar’ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1989 นั่นเป็นเพราะว่าเลขนำโชคของ เน วิน คือ เลข 9 ในที่นี้จะเห็นว่า 2 บวก 7 เท่ากับ 9

พลังและอำนาจลี้ลับของเลข 9

ในตำราโหราศาสตร์พม่า มีความเชื่อเรื่อง ‘နဝင်း’ (นวิน) มาจาก ‘นว + องฺค’ ในภาษาบาลี แต่สำเนียงภาษาพม่าออกเสียงคำบาลีนี้ว่า ‘นวิน’ นวินมีความหมายในภาษาพม่า คือ ‘นะ’ หมายถึง การไม่มี ส่วน ‘วิน’ หมายถึง การรวม เมื่อนำมารวมกันแล้วมีความหมายถึงพลังงานลึกลับของธาตุทั้งสี่ประการที่ผูกรวมไว้ด้วยสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า นวินของพม่า หมายถึง ผลรวมตัวเลขตั้งแต่ 1 ถึง 9 ถ้าเราเอาเลข 1 ถึง 9 มาบวกรวมกันทั้งหมด เราจะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 45 และหากเอา 4 บวกกับ 5 ก็จะมีผลรวมเท่ากับ 9 และเมื่อเรานำเลข 9 ไปคูณกับตัวเลขอื่นผลรวมของผลคูณด้วย 9 จะมีค่าเท่ากับ 9 เช่น 9×2=18, 9×3=27, 9×4=36, 9×5=45, 9×6=54, 9×7=63, 9×8=72 เป็นต้น 

เลข 9 หรือ ၉ (ကိုး) ออกเสียงว่า โก ในภาษาพม่า เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญในทุกที่ รวมทั้งเรื่องทางโลกด้วย นักโหราศาสตร์พม่าเชื่อว่าเลข 9 เป็นเลขที่ฆ่าแล้วไม่ตาย และจะเป็นเลขที่อยู่ยงคงกระพันตลอดไป โหราจารย์พม่าเรียกว่าพลังของ ‘นวิน’ ว่ากันว่าพลังอำนาจของ ‘นวิน’ นั้น สามารถนำไปใช้ในทางโลกได้ในทุกๆ ด้านตามต้องการ อย่างเช่น การอธิษฐาน การสะเดาะเคราะห์ การเริ่มต้นหน้าที่การงานใหม่หรือสิ่งใหม่ พิธีตั้งเสาเอกของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยจะเลือกใช้ตัวเลขนวินแตกต่างกันไปตามวาระ เช่น หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสำเร็จหรือชัยชนะต่างๆ จะเลือกใช้เลข 18 เรื่องเกี่ยวกับเงินทองจะเลือกใช้ เลข 27 อะไรที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับทางจิตใจจะเลือกใช้เลข 36 เรื่องโชคลาภจะใช้เป็นเลข 45 เรื่องเกี่ยวกับปัญญาจะเลือกใช้เลข 54 เรื่องการเสริมสเน่ห์และความรักจะเลือกใช้เลข 63 เรื่องเกี่ยวกับความสงบศานติจะเลือกใช้เลข 72 อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อหลายปีก่อน ตอนที่นายพลตัน ฉ่วย ย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปที่เนปิดอว์ ผมได้เดินทางจากย่างกุ้งขึ้นไปที่มัณฑะเลย์และได้แวะเข้าไปที่เนปิดอว์ พบว่านายพลตัน ฉ่วย ออกแบบอาคารรัฐสภาในกรุงเนปิดอว์ มีอาคารหลักและอาคารบริวารมากมายถึง 31 อาคาร นี่คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ๆ 

ในจักรวาลพุทธของพม่า มีเรื่อง 31 ภพภูมิที่สามารถไปเกิดใหม่ได้ระหว่างทางไปสู่นิพพาน ข้อสรุปที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ จำนวนอาคารได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกเชิงอุดมการณ์หรือนายทหารอาวุโส ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางศาสนาและความเชื่อประจำถิ่น เพราะต้องการเสริมสร้างให้สถาบันมีพลังดึงดูดมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความชอบธรรมให้กับผู้นำ ระบอบการปกครองและกองทัพ 

สำหรับชาวต่างชาติแล้ว การเพิกเฉยต่อความสำคัญของเลขศาสตร์ในพม่าถือเป็นเรื่องที่อาจจะบกพร่องไปสักหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องรับมือกับการเมืองยุคนายพลอาวุโส ซึ่งการไม่คำนึงถึงศาสตร์เกี่ยวกับตัวเลขอาจนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่แยกขาดจากความเป็นจริงของสังคมและการเมืองในพม่า

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า