ราว 1 สัปดาห์ หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในวันที่ 23 ก.พ. 2534 คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2534 ในวันที่ 1 มีนาคม 2534 พร้อมๆ กับการที่คณะรัฐประหาร รสช. ทำสิ่งที่สำคัญซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองคือ ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2534 ขึ้นมา เพื่อหวังจะให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 15 นี้กลายเป็นฉบับถาวร
การรัฐประหารล้มรัฐบาลพลเรือนที่มีฉายาจากหน้าสื่อว่า ‘บุฟเฟ่ต์คาบิเนต’ มิได้นำมาซึ่งความปลาบปลื้มในหมู่ประชาชนทุกคน มีประชาชนจำนวนหนึ่งเริ่มจับสัญญาณการสืบทอดอำนาจ เช่นสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ (สนนท.) กลุ่มแรงงาน ฯลฯ พวกเขาออกมาเรียกร้องให้ รสช. แสดงคำมั่นสัญญาว่าจะไม่ใช้รัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ ซึ่งคณะรัฐประหาร รสช. ก็ได้ยืนยันในวันที่ 18 พ.ย. 34 ว่า รสช. จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล
แม้ว่าจะมีการถกเถียงในกลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญอยู่บ้างว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะต้องให้ประชาชนลงประชามติหรือไม่ แต่เรื่องนี้ก็ยุติลงในวันที่ 7 ธันวาคม 2534 เมื่อความคิดนี้ถูกตีตกและรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร รสช.
ทว่านี่ไม่ใช่ข้อยุติ เท่ากับว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติถึงขั้นเสียเลือดเนื้อในเวลาอีกไม่นาน
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ จากหลายฝ่ายในหลายประเด็นที่สำคัญ อาทิ ที่มาของวุฒิสภา ซึ่งมีจำนวน 270 คน โดยมีทหารถึง 147 คน ตำรวจ 5 คน และพลเรือนเพียง 118 คนเท่านั้น มาจากการแต่งตั้งของคณะ รสช. ซึ่งมีอำนาจไม่น้อยไปกว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจและสามารถลงมติในพระราชกำหนดได้
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังบัญญัติให้อำนาจประธานวุฒิสภา เป็นประธานรัฐสภาซึ่งโดยธรรมเนียมในระบอบประชาธิปไตย ต้องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภาด้วย เนื่องจากมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน นอกจากนี้การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ยังกำหนดให้ประธาน รสช. เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ โดยคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีกำหนดไว้เพียงว่าต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ นี่จึงร้อยเรียงเป็นกฎกติกาอันชุลมุนวุ่นวายในเวลาต่อมา
เลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 และความสูญเสียในเหตุการณ์พฤษภา 35
เมื่อการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหาร 2534 มาถึง ภายใต้การควบคุมการเลือกตั้งแบบใหม่ที่มีองค์กรกลางควบคุมการเลือกตั้ง แต่ก็ยังถือว่าเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยเป็นประธานเท่านั้น ขณะที่ พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี หนึ่งในสมาชิก รสช. และยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้จัดทำโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยระดับหมู่บ้านคู่ขนานไปด้วย โดยอ้างว่าเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม
อย่างไรก็ตามงานวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งศึกษาในเชิงพฤติกรรมทางการเมืองระบุว่าการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 ชี้ว่าการเลือกตั้งครั้งนั้น เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกครั้งหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากพรรคการเมืองแต่ละพรรคใช้เงินซื้อเสียงอย่างเปิดเผย และมีจำนวนมากที่สุดครั้งหนึ่ง
เมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลง ผลปรากฏว่าพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่รวบรวมผู้แทนเดิม ลงเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารได้ชนะการเลือกตั้งมีคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้การเจรจาต่อรองระหว่างแกนนำพรรคการเมืองกับคณะรัฐประหาร รสช. ต่อจากนั้นดำเนินไปสักพัก จนมีข้อตกลงให้สนับสนุน นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เมื่อโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ออกมาแถลงระบุ ว่าที่นายกฯ ไทย “ติดแบล็คลิสต์”
จนกระทั่ง พลเอกสุจินดา คราประยูร หนึ่งในสมาชิก รสช. จำต้องคืนคำและกล่าววาทะคลาสสิกอย่าง “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เพื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้น ทว่าการคืนคำนั้น กลับเป็นชนวนเหตุที่นำมาสู่ความไม่พอใจตามมาด้วยการชุมนุมใหญ่ของประชาชนเพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารอย่างกว้างขวาง โดยประชาชนมีข้อเรียกร้องสำคัญสามข้อ คือ 1. นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง 2. ให้มีการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และ 3. แยกกองทัพและระบบราชการออกจากการเมืองรัฐสภา
การเรียกร้องนี้ดำเนินไปอย่างร้อนระอุตลอดเดือนพฤษภาคม จนกระทั่งรัฐบาลทหารตัดสินใจสลายการชุมนุม มีประชาชนล้มตายและสูญหายกว่า 80 คน บาดเจ็บอีกนับพันคน ก่อนจะยุติลงหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทรงรับสั่งให้นายกรัฐมนตรี และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้า เพื่อให้ยุติความรุนแรงและยุติการชุมนุมลง
ความล้มเหลวในการยืนยัน นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง
หลังจากที่พลเอกสุจินดาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรีได้ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีแทน พร้อมๆ กับพรรคการเมืองที่เคยสนับสนุนพลเอกสุจินดายังคงครองเสียงข้างมากอยู่ในสภา ซึ่งอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ 2534 ที่ยังไม่มีข้อกำหนดบังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้ราษฎร การสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่จึงดำเนินไปพร้อมๆ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นนายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ช่วงเวลานี้เองจึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ เมื่อมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับวิธีการได้มาซึ่งรัฐบาลใหม่ ที่จะทำหน้าที่เปลี่ยนผ่านประเทศไทย
กิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์ ซึ่งค้นคว้าทัศนะทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวไว้อย่างพิสดาร เสนอว่า เหตุการณ์พฤษภา 35 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนแปลง ‘โครงสร้างทางการเมือง’ ให้นายกรัฐมนตรีถูกกำหนดว่าจะต้องมาจากการเลือกตั้งอันเป็นผลมาจากความต้องการที่จะขับไล่กองทัพออกจากการเมือง โดยในเชิงหลักการหรืออุดมการณ์แล้ว เหตุการณ์พฤษภา 35 ประสบกับชะตากรรมที่น่าประหลาดใจยิ่ง เพราะการได้มาซึ่งหลักการ ‘นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง’ ในการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนั้น กลับต้องอาศัยนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อทำการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นนายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นวาระสำคัญที่สุด โดยกระบวนการนี้เปิดฉากขึ้นในวันที่ 25 พฤษภาคม 2535 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 4 ประเด็นในวาระที่ 1 และ 2 ส่วนวาระที่ 3 กำหนดไว้ในวันที่ 10 มิถุนายน 2535 ดังนั้นช่วงระยะเวลาประมาณ 15 วัน คือวันที่ 25 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน 2535 จึงเป็นช่วงระยะเวลาที่รอให้กฎหมายผ่านการลงมติในวาระ 3
มีหลากหลายข้อเสนอที่น่าสนใจและทั้งชวนประหลาดใจ ปรากฏขึ้นในช่วงที่สังคมไทยหาฉันทามติใหม่หลังความรุนแรงในเดือนพฤษภา 35 ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอ สิ่งที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยโดยตรง’ โดยนักวิชาการ ปัญญาชน บางกลุ่มเสนอให้ถวายฎีกาทูลให้ในหลวงพระราชทาน ‘สภาสนามม้า’ ในเดือนพฤษภาคม 2535 ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้ง ในสภากลับเป็น ‘ประชาธิปไตยโดยอ้อม’ แต่การส่งจดหมายแสดงเจตจำนงทางการเมืองไปยังสถาบันกษัตริย์เป็น ‘ประชาธิปไตยโดยตรง’
ข้อเสนอนี้มีที่มาจากนักวิชาการ 42 คนนำโดย ประเวศ วะสี ได้ถวายหนังสือฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยยุบสภา ขณะที่ นายสวัสดิ์ คำประกอบ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงข้อเสนอต่อการตั้งรัฐบาลแห่งชาติหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 ว่า แนวทางที่เห็นว่าเหมาะสมคือการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติจากทุกพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการตั้งรัฐบาลในยุควิกฤตการณ์ และในเมืองไทยน่าจะเรียกว่า ‘รัฐบาลพระราชทาน’
กิตติศักดิ์สรุปเรื่องตลกร้ายของการเปลี่ยนเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต่อสู้เคลื่อนไหวประท้วงในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งชูคำขวัญเรื่อง ‘นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง’ กลับมาจบลงด้วยความยินดีปรีดาต่อนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยสื่อมวลชน นักวิชาการ ปัญญาชนจำนวนมาก อันเป็นการปรากฏขึ้นต่อข้อเสนอทางออกที่ให้มี ‘คนกลาง’ มาเป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงให้มี ‘รัฐบาลพระราชทาน’ สิ่งนี้กลายเป็นตัวบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการสถาปนาหลักการนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ที่ไม่สามารถปักหลักเชิงหลักการได้อย่างเข้มแข็งมากเพียงพอที่จะไม่ถูก ‘ยกเว้น’ เมื่อเผชิญกับวิกฤติทางการเมือง
ทางเลือกในการจัดตั้งรัฐบาลหลังพฤษภา 35
คำอธิบายหนึ่งที่ครอบงำความเข้าใจทั่วไปเกี่ยวกับเหตุการณ์การเสนอชื่อ อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังความรุนแรงในเดือนพฤษภา 35 คือการอธิบายว่าประธานสภาผู้แทนราษฎร มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ หากให้ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรีจะเผชิญกับวิกฤติรัฐบาลเสียงข้างน้อย ขณะที่หากเสนอชื่อ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะเผชิญวิกฤติความชอบธรรมหลังการสนับสนุน รสช. เป็นนายกฯ จนเป็นชนวนเหตุวิกฤติการเมืองอีกระลอก
ทว่าจากวิทยานิพนธ์ชิ้นเดิมได้เสนอหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ โดยสรุปว่า มีถึง 5 แนวทางที่ถูกนำเสนอออกมาถกเถียงและโต้แย้งกันในทางสาธารณะ ได้แก่
(1) ข้อเสนอให้ยุบสภา
(2) จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย
(3) จัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีฝ่ายค้านหรือรัฐบาลแห่งชาติ
(4) จัดตั้งรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรี ‘คนกลาง’ หรือรัฐบาลชั่วคราว/รัฐบาลเฉพาะกิจ และ
(5) จัดตั้งรัฐบาลโดยอิงอำนาจของกษัตริย์ หรือ รัฐบาลพระราชทาน
ข้อโต้แย้งและถกเถียงในรายละเอียดจำนวนมากปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันที่รายงานสถานการณ์ราวปลวกแทะ ซึ่งเกิดก่อนจะถึงเส้นตายในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีโดยอำนาจเป็นของประธานสภาผู้แทนราษฎร
จนเมื่อในวันที่ 10 มิถุนายน 2535 อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเลือกที่จะปรึกษาหลายฝ่ายโดยเฉพาะองคมนตรี ในนาทีท้ายของเงื่อนเวลา ชื่อจึงมาลงตัวที่ อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) เคยแต่งตั้งมาแล้วนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
กิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์. “ทัศนะของสื่อหนังสือพิมพ์และปัญญาชนสาธารณะที่มีต่อสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ระหว่าง พ.ศ. 2535-2540.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558 |