“มึงมาไล่ดูสิ!” จากคำสบถเดือดดาลของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร กลายมาเป็นวลีที่นำมาสู่การล้อเลียนและชี้ชวนให้ตั้งคำถามถึงวุฒิภาวะของผู้นำ ว่าการขึ้นมึงขึ้นกูในเชิงท้าทายนั้นมี mind set ชนิดใดอยู่เบื้องหลัง มากกว่านั้นการที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองออกมาแก้ตัวแทนในทำนองว่า “เป็นคนจริงใจ” ทำให้ยิ่งเกิดข้อสงสัยว่า เรากำลังอยู่ในสังคมที่มีวัฒนธรรมแบบไหนถึงอนุญาตให้มีบุคคลเช่นนี้เป็นผู้นำ
‘พลังวัฒนธรรมกับการเมืองไทย’ คือหัวข้อเสวนาวิชาการที่จัดขึ้นโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะพลเมืองโต้กลับ เพื่อชี้ชวนให้ตระหนักและตั้งคำถามถึงพลังทางวัฒนธรรมที่เป็นทั้งส่วนหนึ่งของการเมืองแบบไทยๆ และเป็นทั้งพลังค้ำจุนอำนาจทางการเมือง ผ่านสำนึกรวมหมู่ภายใต้วลีของการผลิตสร้างแนวคิดเรื่องความจริงใจ ไม่คดโกง กระทั่งการขึ้นมึงขึ้นกูกลับกลายเป็นความน่ารักไปอย่างชวนฉงนสงสัย โดยมีตัวแทนจาก 4 พรรคการเมือง มาร่วมถกเสวนา
ใครมีอำนาจ คนนั้นได้รับความนิยม?
สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งพรรคเกียน เล่าประสบการณ์ของตนเองเมื่อสัก 30 ปีที่แล้ว โดยเกริ่นถึงเรื่องศิลปะก่อนว่า ศิลปะหมายถึงสิ่งที่ศิลปินแสดงออกผ่านตัวงานศิลปะ ฉะนั้น เมื่อพูดถึงศิลปะ เราจะไม่พูดเรื่องตัวงานศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่จำต้องมองไปถึงตัวศิลปินด้วย
“ถ้าพูดถึงศิลปะก็ต้องพูดถึงคน พูดถึงสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนคนนั้น ก็คือสภาพแวดล้อมทางสังคมหรือธรรมชาติ หรืออะไรก็แล้วแต่ ดังนั้น เวลาเราเห็นคนทำงานศิลปะเพื่อชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์ เขาเขียนหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อว่า ‘ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน’ เขาบอกว่าศิลปะบริสุทธิ์ไม่มีจริง เพราะว่าศิลปินทุกคน เวลาแสดงออกผ่านศิลปะ ล้วนได้รับความเป็นตัวตนมาจากสังคมหรือธรรมชาติ
“อย่างที่ผ่านมา เพลง ‘ประเทศกูมี’ ผมว่าเป็นการเขี่ยศิลปินคนอื่นๆ ลงคลองเลยนะ เพราะศิลปินเหล่านั้นไม่รับใช้สังคมแล้ว เราจะเห็นคนที่เคยหากินกับเพลงเพื่อชีวิตในอดีต แต่ไม่ได้รับใช้สังคมปัจจุบันแล้ว ดังนั้น หากเราพูดถึงงานศิลปะหรือวัฒนธรรมกับการเมือง สิ่งเหล่านี้จะต้องสะท้อนผ่านตัวศิลปิน ซึ่งวันเวลาจะพิสูจน์การเป็นศิลปินเพื่อชีวิตและการทำงานศิลปะ”
ขณะที่แง่มุมของคำว่าวัฒนธรรม สมบัติมองว่าหมายถึงวิถีชีวิต เวลาคนไทยพูดถึงวัฒนธรรมมักไปพูดปะปะกับสิ่งที่เรียกว่าประเพณีหรือรูปแบบ เช่น คนที่ชอบพูดเรื่องโขน ชุดก็ต้องเป็นชุดแบบไทยเดิม ซึ่งหัวหน้าพรรคเกียนไม่คิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นวัฒนธรรม
“วัฒนธรรมอาจเคยเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ใช่วิถีชีวิตของชาวบ้านที่แท้จริง สำหรับคนไทย การเมืองของเราคืออะไร เรามีรัฐประหารทุก 3 ปี เรามีวัฒนธรรมที่เรียกว่า ‘อำนาจนิยม’ ใครมีอำนาจ คนนั้นก็จะได้รับความนิยม ไม่ว่าอำนาจนั้นจะมาด้วยวิธีการใดก็ตาม วัฒนธรรมแบบนี้ได้ซึมซับลงไปในสังคมของเรา นี่แหละคือวัฒนธรรม แต่เป็นวัฒนธรรมที่ถูกต้องหรือ ผมเชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีชีวิตและปรับเปลี่ยนได้”
ในมุมมองของสมบัติ หากจะสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย จะต้องเป็นวัฒนธรรมที่ยอมรับกันได้ทั้งหมดว่าวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ดี ขณะเดียวกัน อำนาจทางการเมืองก็สามารถที่จะทำให้ทุกคนยอมรับได้ว่าสิ่งนั้นเป็นวัฒนธรรมที่ดี
วัฒนธรรมภายใต้รัฐเผด็จการ
ตัวแทนจากพรรคไทยรักษาชาติ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ มองด้วยสายตานักการเมืองผ่านสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีผลต่อวัฒนธรรมการดำรงชีวิตของคนกรุงเทพฯ ว่า ทุกวันนี้เวลาไปไหนมาไหน ต้องถามว่าพกหน้ากากไว้หรือยัง คนกรุงเทพฯ ต้องโหลดแอพลิเคชันตรวจวัดสภาพอากาศ ว่าแต่ละพื้นที่มีปริมาณฝุ่นที่เป็นอันตรายต่อตัวเองหรือไม่
“นี่จึงเป็นจุดเริ่มของคำอธิบายว่า วัฒนธรรมก็คือวิถีชีวิต ซึ่งมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง มีวิวัฒนาการได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของบ้านเมืองในเวลานั้นด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตบางอย่างก็ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ไม่ค่อยเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตามสิ่งเร้าภายนอกได้ง่ายๆ
“พอพูดถึงเรื่องฝุ่น ผมก็พยายามนึกต่อไปว่า คำว่า PM นอกจากหมายถึงเรื่องฝุ่นผงแล้วยังอธิบายถึงอะไรได้อีก ผมพยายามคิดในแง่มุมที่แตกต่าง คำว่า PM อาจเป็นตัวย่อของ Prime Minister ได้ด้วย ก็คือนายกรัฐมนตรี ส่วน 2.5 ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่เต็มสิบ ฉะนั้น เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ PM2.5 คือนายกรัฐมนตรีไม่เต็ม หมายถึง ไม่เต็มใจจะออกจากตำแหน่ง ทั้งที่หลายคนพยายามบอกว่าให้ใช้สปิริต ใช้สำนึกทางการเมืองออกจากตำแหน่งก็ตาม”
ณัฐวุฒิบอกอีกว่า ส่วนประเด็นศิลปะกับคำว่าวัฒนธรรมก็มักจะอยู่ด้วยกัน ในขณะเดียวกันก็มีความหมายในตัวของมันเอง เมื่อคำว่าศิลปะกับคำว่าวัฒนธรรมมีความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง วิวัฒนาการได้ตลอดเวลา ในมุมของณัฐวุฒิจึงคิดว่าคำสองคำนี้ไม่ได้มีสภาพบังคับเฉกเช่นข้อกฎหมาย ไม่มีนิยามตายตัว คำว่าศิลปะในความเข้าใจของเขาคือ สิ่งที่ธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น และมีผลกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ทำให้เกิดอารมณ์สุนทรีย์ โศกเศร้า กินใจ
“เวลาผมเขียนเพลง กลอน ผมก็จะถามตัวเองว่าสิ่งนั้นปะทะกับความรู้สึกด้านใดด้านหนึ่งของผมหรือยัง ถ้ายัง แสดงว่ายังไม่ใช่ศิลปะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ผมทำต้องเป็นศิลปะชั้นเลิศ เพราะจิตวิญญาณของศิลปะคือความเป็นประชาธิปไตย ศิลปะสามารถเกิดขึ้นในชนชั้นใดก็ได้ เกิดขึ้นโดยคนระดับล่าง คนชั้นสูง หรือผู้มีอำนาจก็ได้ สิ่งนี้อยู่ในจิตวิญญาณของความเป็นศิลปะ
“ผมไม่เคยเห็นรัฐชาติใดที่ปกครองโดยเผด็จการแล้วศิลปะจะงอกงามเติบโตขึ้นได้ แต่รัฐชาติที่ปกครองด้วยประชาธิปไตยแท้จริงนี่แหละจะมีศิลปะที่งอกงามเติบโตและรับใช้ต่อชนชั้นผู้ถูกกดขี่อย่างแหลมคม เราเห็นงานศิลปะหลายๆ ชิ้นที่เป็นอมตะ เมื่อศิลปะถูกสร้างขึ้นจากชนชั้นผู้ถูกกดขี่ จะมีความแหลมคมที่จะทะลุทะลวง พาให้คนชั้นนั้นเหยียดยืนขึ้นมา”
ส่วนคำว่าวัฒนธรรม ณัฐวุฒิเห็นพ้องกับหัวหน้าพรรคเกรียนว่า วัฒนธรรมหมายถึงวิถีชีวิต หมายถึงอะไรก็ได้ไม่ว่าง่ายหรือยาก พบเห็นได้ทั่วไปในสังคม แต่อาจต่างจากศิลปะตรงที่ว่า ศิลปะสร้างขึ้นโดยคนคนเดียวได้ แต่วัฒนธรรมนสร้างโดยคนคนเดียวไม่ได้ ต้องสร้างโดยกลุ่มคน สังคม หรือชุมชน และวัฒนธรรมยังเปิดให้คนจำนวนมากเข้าถึงร่วมกันได้ สัมผัสยึดโยงร่วมกันได้
“ดังนั้น วัฒนธรรมจึงมีความเชื่อมโยงกับระบอบการปกครอง และเชื่อมโยงกับรูปแบบของรัฐด้วย”
การผลิตวัฒนธรรมโดยชนชั้นนำ
ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ ปิยะบุตร แสงกนกกุล มองว่า ศิลปะและวัฒนธรรมเชื่อมโยงกับเรื่องของวิธีคิด วิถีชีวิตของผู้คน จึงทำให้เกิดการก่อรูปขึ้น เพียงแต่ขึ้นอยู่กับว่าวัฒนธรรมของชนชาตินั้นจะถูกนำไปใช้ในลักษณะใด ซึ่งวัฒนธรรมในความหมายสากลมักมีความเลื่อนไหล เปลี่ยนไปตามช่วงเวลา เปลี่ยนไปตามความนิยมของผู้คนในแต่ละยุคสมัย และยึดโยงกับความหลากหลายของผู้คน ขณะที่วัฒนธรรมไทยมีลักษณะพิเศษบางอย่างคือ เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นโดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นชนชั้นนำหรือกลุ่มอนุรักษนิยม
ปิยะบุตรยกตัวตัวอย่างเช่น การกำหนดค่านิยม 12 ประการ เพื่อปลูกฝังให้กับเด็กนักเรียน เหล่านี้คือคุณลักษณะของวัฒนธรรมไทยที่ถูกสร้างขึ้น โดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลาย แต่ถูกกำหนดมาจากข้างบนโดยคนไม่กี่คน แล้วบังคับเอากับผู้อื่นว่าต้องเป็นแบบนี้เท่านั้นถึงจะเป็นวัฒนธรรมไทย
“สมัยที่ผมเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ทางมหาวิทยาลัยจะต้องมีรายงานกิจกรรมที่ส่งเสริมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมครบถ้วน ปรากฏว่าสถาบันการศึกษาต่างๆ คิดอยู่เรื่องเดียวว่าต้องตักบาตร ทำบุญ หรือทำกิจกรรมทางศาสนาเท่านั้นจึงจะเป็นพิธีการทางศิลปวัฒนธรรม นี่ก็คือวิธีคิดที่ถูกกำหนดลงมาและผูกขาดไว้แค่นี้ ดังนั้น ถ้าเราพูดถึงศิลปวัฒนธรรมไทย ก็มักจะตามมาด้วยชฎา ตามมาด้วยของโบราณ แต่ไม่ได้คิดถึงเรื่องความแตกต่างหลากหลายของแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยที่มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ไม่เหมือนกัน”
นอกจากนี้ ปิยะบุตรยังมองว่า วัฒนธรรมมีความสัมพันธ์กับระบบความคิดหรืออุดมการณ์ ซึ่งเป็นตัวกำกับชี้นำว่าวัฒนธรรมจะเป็นอย่างไร พร้อมกับใช้วัฒนธรรมนั้นเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนอุดมการณ์ความคิดของผู้คน นอกจากนี้ งานทางวัฒนธรรมยังเป็นการช่วงชิงความหมายของถ้อยคำ และส่งผลไปถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตย อย่างเช่นประเทศไทยที่มีการช่วงชิงกันว่าประชาธิปไตยมีความหมายอย่างไร โดยฝ่ายที่ต่อต้านประชาธิปไตยมองว่า ประชาธิปไตยเสียงข้างมากเป็นการข่มเหงรังแกเสียงข้างน้อย เลือกกันมาโดยมีกลุ่มผลประโยชน์ จึงต้องผลิตความหมายของประชาธิปไตยแบบคนดีมีศีลธรรมขึ้นมาแทน โดยมีคนกลุ่มหนึ่งสถาปนาตนเองว่าเป็นคนดี
“ในช่วงเวลานี้ ถ้าเป็นไปได้เราต้องช่วงชิงความหมายของประชาธิปไตยกลับคืนมา เช่น คนที่เป็นคนดีมีคุณธรรม ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพ เคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น เชื่อในความเสมอภาคเท่าเทียมกัน อย่างนี้คือคนดีมีคุณธรรมตามมาตรฐานประชาธิปไตย แต่ถามว่าทำไมคนดีเหล่านี้ถึงยอมอดทนกับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจเป็นเวลาเกือบ 5 ปี และยาวนานกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีก นั่นแสดงว่าวัฒนธรรมอำนาจนิยมกำลังครอบงำสังคมไทยอยู่ คำว่า ‘มึงมาไล่ดูสิ’ จึงสะท้อนถึงวัฒนธรรมอำนาจนิยมของผู้พูด สะท้อนวัฒนธรรมที่ฝังอยู่ในกลุ่มคนเหล่านี้ และครอบงำสังคมไทยมาจนปัจจุบันนี้”
ในความแตกต่างหลากหลาย
อดิศร เพียงเกษ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย มองว่า ‘ศิลปะ’ กับ ‘วัฒนธรรม’ ควรเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป แต่ขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นเจ้าของศิลปวัฒนธรรม หากวัฒนธรรมนั้นรับใช้การเมือง ย่อมเป็นวัฒนธรรมที่รับใช้พวกพ้องตนเอง
“คำว่า ‘มึงมาไล่ดูสิ’ บอกถึงกำพืดของเขาว่าเขามาอย่างไร บ้านเขาไม่ได้เข้าทางประตู แต่เข้าทางหน้าต่าง วัฒนธรรมอย่างนี้จึงเป็นวัฒนธรรมที่จะนำพาประเทศถอยหลังลงคลอง เพราะเป็นวัฒนธรรมส่วนตัว ลุแก่อำนาจ เป็นวัฒนธรรมของชนชั้นปกครองโดยเฉพาะชนชั้นที่ใช้อำนาจทางอาวุธปืน”
ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า วัฒนธรรมของการสบถหยาบคาย สำหรับบางคนอาจมองว่าเป็นการแสดงถึงความจริงใจ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะรู้สึกเช่นเดียวกันหมด
อดิศรกล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีวัฒนธรรมหลวงกับราษฎร์ สิ่งสำคัญคือวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สะท้อนความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งต้องให้ความเคารพ ไม่ก้าวก่ายกัน
“วัฒนธรรมเป็นเรื่องของจิตใจ ทำอย่างไรถึงจะทำให้ดีงามตามที่สังคมประชาธิปไตยต้องการ แต่อย่าไปหลง อย่าไปเหยียบวัฒนธรรมที่ตัวเองไม่ชอบ”