หลังการเลือกตั้งในปี 2562 ภายใต้กฎกติกาที่ถูกออกแบบโดยคณะรัฐประหารอย่าง คสช. มีการวางเงื่อนไขให้พรรคการเมืองก่อตั้งได้ยาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีเงื่อนไขและวิธีการให้ยุบพรรคได้ง่าย เมื่อผนวกกับกลไกที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต่างก็ยึดโยงกับ คสช. ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ ศาลรัฐธรรมนูญ ยิ่งทำให้สถานะของพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคสช. ไม่มั่นคง
แต่กระนั้น ท่ามกลางความผันผวนทางการเมือง ก็มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มทางการเมืองหนึ่งที่น่าสนใจ อาทิ ‘สถาบันทิศทางไทย’ ที่ออกมาเรียกร้องให้พรรคอนาคตใหม่และผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่เคารพกฎหมายโดยอ้างหลัก ‘นิติรัฐ’ หรือรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมาย โดยอ้างว่าหากพรรคอนาคตใหม่ผิดจริงก็ต้องรับผิดตามกฎหมาย
แม้ว่าการเรียกร้องให้เคารพกฎหมายดูเป็นเรื่องที่ดี แต่การเรียกร้องให้เคารพกฎหมายโดยไม่มองรายละเอียดของคดีให้ถี่ถ้วนก็อาจจะทำให้มองข้ามปัญหาการบังคับใช้กฎหมายได้ ดังนั้น จึงจะขอไล่เรียงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีไว้ดังนี้
(1) ประเด็นของคดียุบพรรคอยู่ที่ว่า การกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่จาก ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หัวหน้าพรรค เป็นจำนวนเงิน 191 ล้านบาท ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 หรือไม่
(2) คดียุบพรรคเกี่ยวข้องกับ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ สามมาตรา ได้แก่
- มาตรา 62 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มารายได้ของพรรคการเมืองนั้นระบุว่า รายได้ของพรรคการเมือง มี 7 ประเภท ประกอบด้วย 1) เงินทุนประเดิม 2) เงินค่าธรรมเนียม 3) เงินจากการจำหน่ายสินค้า 4) เงินจากกิจกรรมระดมทุน 5) เงินจากการบริจาค 6) เงินจากกองทุน 7) ดอกผลของทรัพย์สิน
- มาตรา 66 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่า ห้ามบุคคลใดบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปี และห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อปี
- มาตรา 72 ห้ามพรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(3) เริ่มแรกในคดีนี้ มีผู้ร้องเอาผิดว่า การกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่เข้าข่ายเป็นการรับเงินบริจาคจากบุคคลเกิน 10 ล้านบาทต่อปี (มาตรา 66) แต่ในชั้นคณะกรรมการไต่สวนเห็นว่า เงินกู้ไม่ใช่เงินบริจาค จึงมีมติให้ยกคำร้อง และในชั้นสำนักสืบสวนของ กกต. ก็มีความเห็นให้ยกคำร้องด้วยเช่นกัน
(4) ต่อมาในชั้นคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งของ กกต. กลับเห็นว่า การกู้เงินนั้นเข้าข่ายเป็นรายได้ ซึ่งหมายถึงได้รับเงินหรือผลประโยชน์อื่นใด จึงมีมติให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 5 ปี และให้เงินส่วนที่เกินมูลค่า 10 ล้านบาท ตกเป็นของกองทุนพัฒนาการเมือง (มาตรา 66)
(5) คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงของ กกต. รับลูกต่อ และมีมติให้ดำเนินคดีฐานมีรายได้ (เงินกู้) ซึ่งนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 62) และรับบริจาคเงินหรือผลประโยชน์อื่นใดเกิน 10 ล้านบาท (มาตรา 66) รวมถึงรับผลประโยชน์อื่นใดที่รู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 72) เพราะไม่มีบทบัญญัติให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ หรือมีรายได้จากการกู้เงิน
(6) ที่ประชุม กกต. ก็มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตามความเห็นของคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริง
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงข้างต้น จะพบสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลอย่างน้อย 3 ประเด็น ได้แก่
1. การตีความให้ ‘เงินกู้เท่ากับรายได้’
ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะจากความเห็นของนักการเงินอย่าง ดร.พีรภัทร ฝอยทอง นักวางแผนการเงินส่วนบุคคล ก็มองว่า การกู้ยืมเป็นการก่อหนี้สินที่ต้องใช้คืน ถ้าจะเป็นรายรับหรือรายได้เงินนั้นต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ได้รับ สอดคล้องกับ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน ที่มองว่า เงินกู้ไม่ใช่รายได้แต่เป็นหนี้สิน ซึ่งเป็นหลักทั่วไปทางบัญชี
2. การตีความว่าพรรคอนาคตใหม่กู้เงินไม่ได้
โดยอ้างเหตุว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ เป็นกฎหมายมหาชน จึงใช้หลักกฎหมายมหาชนตีความว่า ถ้ากฎหมายไม่อนุญาตจึงไม่สามารถกระทำได้ แต่ทว่า การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลและมีสถานะเป็นนิติบุคคล ดังนั้น สถานะทางกฎหมายของพรรคการเมือง คือ ‘นิติบุคคลเอกชน’ จึงต้องตีความตามหลักกฎหมายเอกชนว่า ในกรณีที่กฎหมายไม่ได้ห้าม พรรคการเมืองย่อมสามารถกระทำได้ เช่นเดียวกัน หากกฎหมายไม่ได้ห้ามกู้เงิน พรรคการเมืองย่อมกู้เงินได้
3. ความพยายามในการขยายตัวบทลงโทษในคดีกู้เงิน
จากการบริจาคเงินเกินกรอบที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีบทลงโทษสำหรับผู้บริจาค ได้แก่ ‘โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี’ ก็กลายเป็นใช้ข้อหารับผลประโยชน์อื่นใดที่รู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีโทษสูงถึงขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคทุกคน
จะเห็นได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายที่มีความไม่ชอบมาพากลหรือมีความไม่ถูกต้องชอบธรรม ดังนั้น หากจะนั่งยันนอนยันให้เคารพกฎหมายโดยไม่สนใจความเป็นธรรม ก็เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าเป็นการยึดหลักนิติรัฐ ซึ่งหมายถึงการปกครองโดยกฎหมายที่เป็นธรรม และในทางกลับกันนี่คือการบีบบังคับให้จำยอมต่อ ‘นิติสงคราม’ หรือการใช้กฎหมายและความยุติธรรมกำจัดศัตรูทางการเมืองเสียมากกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น เป้าหมายของ ‘นิติสงคราม’ ในครั้งนี้ ดูเหมือนจะหวังลดทอนพื้นที่ทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้านและชิงความได้เปรียบในสภา เนื่องจากที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรต้องเผชิญหน้ากับสภาวะ ‘เสียงปริ่มน้ำ’ ที่พรรครัฐบาลและฝ่ายค้านผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะเรื่อยมา แต่ทว่า เมื่อมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ กำลังสำคัญในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาอาจจะหายไปอย่างน้อย 10 เสียง ซึ่งจะทำให้ฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบ โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล