ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ค้อนประกาศิตของรัฐบาล คสช. อย่าง ‘ม.44’ ดูจะไปตกในจุดสำคัญมากขึ้น เช่น ในกรณีของวัดพระธรรมกาย แต่อีกจุดที่น่าสนใจคือ ออกคำสั่ง ม.44 ปลดบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทยยกชุด ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ก่อนจะมีคำสั่งติดๆ กันตามมาให้มีการแก้ไขการบริหารงานของการรถไฟใหม่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 7 เส้นทางในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ล่าช้า หรือมากขึ้นไปจนกระทั่งถึงขั้นยกเลิกเส้นทางก็ได้
เนื่องจาก ‘ซูเปอร์บอร์ด’ ที่ คสช. แต่งตั้งคณะขึ้นมา จะมีอำนาจในการพิจารณาว่า ผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร
เรื่องนี้เปิดฉากขึ้น เมื่อมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2560 เรื่องการปรับปรุงการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ปลดบอร์ดการรถไฟยกชุด และให้รองอธิบดีกรมทางหลวงรักษาการในตําแหน่งผู้ว่าการการรถไฟ
ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2560 ในวันเดียวกัน เรื่องการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ ในข้อ 3 ระบุให้มีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จากองค์กรวิชาการหรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้นๆ หรือ ‘ซูเปอร์บอร์ด’ เพื่อบริหารงานจัดซื้อจัดจ้างใหม่
ความเห็นจาก พิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พบว่าเหตุผลหลักในการเทคแอ็คชั่น ด้วย ม.44 ครั้งนี้ มาจากเหตุผลสองข้อหลักคือ หนึ่ง-ต้องการสร้างอิสระให้แก่บอร์ด รฟท. ใหม่ในการดำเนินการรถไฟในอนาคต และ สอง-เพื่อเข้าควบคุมการบริหารจัดการให้มีความโปร่งใส หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนมาในหลายกรณี และยอมรับว่าส่งผลให้เส้นทางดังกล่าวล่าช้าออกไป[1]
กล่าวคือ โครงสร้างการบริหารใหม่อาจทำให้แผนเดิมของทางรถไฟ 7 สายที่วางไว้ว่า จะทยอยเปิดให้บริการช่วงแรกได้ก่อนภายในปี 2560 และดำเนินโครงการเสร็จทั้งหมดภายในปี 2561-2562[2] ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ในข้อ 8 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2560 เรื่องการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ ยังระบุให้ ‘โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง’ สายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย ให้มาอยู่ภายใต้การกํากับดูแลของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งขึ้นมา
ลองสำรวจดูกันว่าเส้นทางไหนบ้างที่อาจจะได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้
(1) โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย
เส้นทางรถไฟทางคู่สายนี้ จะขนานไปกับทางเดิม เริ่มจากสถานีฉะเชิงเทรา ไปตามทางรถไฟสายตะวันออกเดิม (สายอรัญประเทศ) ผ่านสถานีบางน้ำเปรี้ยวถึงสถานีคลองสิบเก้า แยกขนานไปกับทางรถไฟสายคลองสิบเก้า – แก่งคอย ผ่านสถานีองครักษ์ วิหารแดง บุใหญ่ สุดปลายทางที่สถานี แก่งคอย ซึ่งผ่านพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัด ฉะเชิงเทรา พื้นที่อำเภอองครักษ์ และอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และพื้นที่อำเภอวิหารแดง อำเภอเมือง และอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
(2) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น
โครงการนี้ เป็นโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ใหม่ แนวเส้นทางมีระยะทางโดยประมาณ 185 กิโลเมตร โดยก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่มหนึ่งทาง ตำแหน่งด้านขวาทาง (ด้านตะวันออก) และขนานไปกับทางรถไฟเดิม เริ่มต้นที่ บริเวณสถานีชุมทางถนนจิระ ถึงสถานีขอนแก่น
(3) โครงการก่อสรางรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ
เป็นโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ใหม่เช่นเดียวกัน โดยมีแนวเส้นทางเส้นทางรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ นี้จะมีระยะทางประมาณ 131 กิโลเมตร แบ่งออกเป็นสองช่วง คือ ช่วงที่ 1 มาบกะเบา – ปางอโศก ระยะทาง 32 กิโลเมตร เริ่มต้นบริเวณสถานีมาบกะเบา จังหวัดสระบุรี รวมระยะทาง 4.8 กิโลเมตร
ช่วงที่ 2 จากปางอโศก – ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 101 กิโลเมตร เริ่มต้นที่สถานีปางอโศก โดยก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มอีกหนึ่งทาง ขนานไปกับแนวทางรถไฟเดิม สิ้นสุดที่สถานีชุมทางถนนจิระ จังหวัดนครราชสีมา
(4) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ
เป็นโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ใหม่ เขตทาง 60 เมตร ระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร และการพัฒนาทางรถไฟใหม่เพิ่มหนึ่งทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม (เขตทางกว้าง 80 เมตร) ระยะทางประมาณ 116 กิโลเมตร แบ่งออกเป็นสองช่วง คือ
ช่วงที่ 1 แนวเลี่ยงเมืองลพบุรี ระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร จากสถานีบ้านกลับ จังหวัดสระบุรี เส้นทางรถไฟมุ่งขึ้นทิศเหนือวิ่งไปตามแนวเส้นทางเดิมประมาณ 4 กิโลเมตร จากนั้นแนวเส้นทางเลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นทางยกระดับ โดยใช้เขตทางของทางหลวงหมายเลข 311 และข้ามทางแยกทางหลวงหมายเลข 311 จากนั้น แนวเส้นทางเลี้ยวขวาไปตามที่ราบทุ่งนา แล้วมุ่งขึ้นทิศเหนือไปบรรจบทางรถไฟเดิม ก่อนถึงสถานีโคกกระเทียม
ช่วงที่ 2 จากสถานีท่าแค – สถานีปากน้ำโพ ระยะทางประมาณ 116 กิโลเมตร เริ่มต้นที่บริเวณสถานีท่าแค เส้นทางมุ่งขึ้นทิศเหนือวิ่งไปตามแนวเส้นทางเดิม สิ้นสุดบริเวณสถานีปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์
(5) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – หัวหิน
เป็นโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ใหม่ แนวเส้นทางมีระยะทางโดยประมาณ 170 กิโลเมตร โดยก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่มหนึ่งทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม เขตทางกว้าง 60 เมตรเส้นทางวิ่งไปตามแนวเส้นทางรถไฟเดิมตลอดสายทาง เริ่มต้นที่ กม.47+700 บริเวณสถานีนครปฐม แนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศตะวันตกถึงชุมทางหนองปลาดุก ระยะทางประมาณ 16.5 กิโลเมตร จากนั้นแนวเส้นทางเลี้ยวซ้ายลงใต้ ผ่านจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี สิ้นสุดที่ กม. 217+700 เลยสถานีหัวหินไปประมาณ 4 กิโลเมตร
(6) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์
เป็นการก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้นหนึ่งทาง เป็นคันทางระดับดินขนานไปกับเส้นทางรถไฟเดิม เพื่อเป็นการเพิ่มความรวดเร็ว ความจุของทางรถไฟ และสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารและสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับมีการยกเลิกจุดตัดทางรถไฟที่เสมอระดับในปัจจุบัน และมีการก่อสร้างทางผ่านต่างระดับเพิ่มเติมตามความต้องการในการเดินทางของชุมชนบริเวณโดยรอบแนวเส้นทาง พร้อมก่อสร้างรั้วกั้นตลอดแนวเส้นทางรถไฟ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการให้บริการ โดยจะมีการก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่และปรับปรุงสถานีรถไฟเดิม จำนวน 27 สถานี สำหรับช่วงนครปฐม – หัวหิน (ระยะทางประมาณ 165 กิโลเมตร) และจำนวน 13 สถานี สำหรับช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ (ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร)
(7) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร
ก่อสร้างทางรถไฟความกว้างทาง 1.00 เมตร (Meer Gauge) รวมระยะทาง 167 กิโลเมตร โดยจะสร้างเป็นทางคู่ มีสถานี 21 สถานี (รวมสถานีประจวบฯ และ ชุมพร)
[1] http://www.posttoday.com/biz/gov/482537
[2] http://www.thairath.co.th/content/803502