Illustration: 5h1n
คอลัมน์: ประชาชนเกี่ยวอะไร
ประภาส ปิ่นตบแต่ง
สิ่งที่กล่าวต่อไปนี้อาจจะดูเป็นพวกเก่งหลังเหตุการณ์มากไปหน่อย แต่ก็น่าจะมีประโยชน์ที่จะพิจารณากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. ที่ไม่ผ่านที่ประชุม สปช. อย่างที่เกินคาดการณ์ก่อนหน้านี้
เหตุผลและข้ออ้างการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่แสดงออกมาจากทั้งฝ่ายสมาชิก สปช. พวกไม่เอาด้วย และจากผู้นำคณะยึดอำนาจว่า เป็นเพราะเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตยมากพอ น่าจะเป็นแค่เรื่องตลก โปกฮาเท่านั้น
เพราะใครๆ ก็รู้ว่า มีรายการ ‘คุณขอมา’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก คปป. (คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ) วุฒิสมาชิกประเภทลากตั้ง 123 คน โดยบทเฉพาะกาลให้เป็นอำนาจการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี หรือก็คือ คสช. นั่นแหละ ฯลฯ
เรื่องแบบนี้ไม่เห็นจะต้องดัดจริตบอกว่าไม่ใช่ เพราะมีการยอมรับกันชัดเจนพอสมควรจากฝ่ายยึดอำนาจว่าต้องการสร้าง ‘ประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่าน’ ขอมีอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่านโดยอ้างการคาดการณ์ถึงวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย
เหตุผลสำคัญที่ไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฯ จึงน่าจะอยู่การประเมินสถานการณ์ช่วงที่เพียงแค่ร่างฯ โผล่ออกมาก็โดนจนเละไปเสียแล้ว เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใครๆ ก็วิจารณ์ได้อย่างถึงพริกถึงขิง แล้วก็เถียงลำบาก
ลองย้อนดูการเปิดประเด็นถกเถียงช่วงก่อนลงมติโดย สปช. เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ก็คงพอเห็นว่ามีการสับกันเละจากฝ่ายต่างๆ จะว่าไป ความเห็นและการวิพากษ์จากบรรดานักวิชาการ นักศึกษา หรือนักกิจกรรมทางสังคม ก็ไม่น่าจะเป็นที่เดือดเนื้อร้อนใจเท่าไร แต่เมื่อทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ออกมาชัดว่าจะไม่รับร่างฯ น่าจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ คสช. เกิดความลังเล เพราะทั้งสองพรรคมีฐานคะแนนเสียง 16-17 ล้าน กปปส. ของทิดสุเทพก็ยังไม่แน่ว่าจะมีน้ำยาแค่ไหน
เราน่าจะพอเห็นอาการฉุนเฉียวของท่านผู้นำที่พูดถึงนักการเมืองที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ ตัดพ้อแกมข่มขู่เรื่องการเสนอหน้า ออกอาการนักเลงทำนองว่า ทีชวนมาช่วยกันร่างเสือกไม่มา พอร่างเสร็จดันออกมาชำแหละถึงขั้นบอกว่ารับร่างฯ ไม่ได้
ท่าทีของคุณอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาเช่นนี้ก็ไม่น่าจะเข้าใจยากหากพิจารณาจากเส้นทางของการเมืองของเขา ถ้าขืนยังเดินดมก้นสุเทพและ กปปส. เหมือนเดิม ก็จะกลายเป็นหมาหัวเน่า ไม่มีน้ำยาอะไรเหลือในวงการเมือง
อีกประการหนึ่งก็คือ ในกระบวนการลงประชามติมีความไม่ชัดเจนเรื่อง ‘เสียงส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง’ หรือ ‘เสียงส่วนใหญ่ของผู้มาใช้สิทธิ์’ เมื่อพิจารณาก็ล่อแหลมไปในทางแบบแรกเสียมากกว่า เพราะการกำหนดเช่นนี้ก็เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านคนส่วนใหญ่
บางประเทศอาจกำหนดว่า ต้องผ่านเสียงกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ แต่ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ซึ่งอาจจะเทียบเคียงกับกฎหมายถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นที่บังคับใช้ในเวลานี้ ที่ระบุว่า ต้องใช้เสียงถอดถอนของผู้มาใช้สิทธิ์ 3 ใน 4 ของผู้มาใช้สิทธิ์ และผู้มาใช้สิทธิ์ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังจะเผชิญชะตากรรมกับร่างฯ ที่ผ่านๆ มาหลังการยึดอำนาจ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา’19 คณะทหารย้อนยุคไปเอาแนวคิดและเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับ 2502 มาใช้ แต่ก็อยู่ได้แค่เดี๋ยวเดียว สุดท้ายก็ยึดอำนาจล้มรัฐบาลหอยซึ่งตนเองได้แต่งตั้งไว้
บทเรียนสำคัญอยู่ที่ว่า บริบทของสังคมการเมืองเปลี่ยนแปลงไปมากมาย แต่ฝ่ายยึดอำนาจยังต้องการลากไปสู่การควบคุมอำนาจโดยไม่นึกถึงกลุ่มพลังทางสังคมที่เติบโตขึ้นมาต่อรอง อย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญก็คือ สัมพันธภาพทางอำนาจในสังคม
ในสภาพที่สังคมขยายพื้นที่ออกไปมาก ถ้ายังคิดที่จะสืบทอดอำนาจกันดิบๆ ด้านๆ ที่ปรากฏในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่เพิ่งโดนคว่ำไปก็จะเจอสภาพการณ์ดังกล่าว
หลังจากนี้เมื่อได้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว เพราะการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญมีต้นทุนเรื่องเหตุผลและความชอบธรรม หากสุ่มสี่สุ่มห้าใส่เรื่องวุฒิสภาลากตั้งโดย ครม. คปป. ฯลฯ หรือบทบัญญัติที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเข้ามาอีก ก็คงถูกจับตาและวิพากษ์อย่างกว้างขวาง
คสช. ได้กำไรอายุการบริหารงานเพิ่มขึ้นอีกราวหกเดือน แต่ก็ใช่ว่าไม่มีต้นทุนที่ต้องจ่าย บรรดา สปช. ที่ลงมติรับร่างล้มตายกันระเนระนาด ทั้งๆ ที่เมื่อพายเรือแปะก็ตามใจแป๊ะ อุตส่าห์ยัดเอา ‘คุณขอมา’ ใส่เอาไว้อย่างครบถ้วนแล้ว
นักวิชาการและภาคประชาชนที่หน้าไม่ด้านพอก็คงยากจะกลับเข้าไปนั่งในคณะกรรมการยกร่างฯ และสภาขับเคลื่อนฯ เหตุการณ์คราวนี้จึงทำให้พื้นที่ทางการเมืองและสังคมของเรือแป๊ะเริ่มแคบลง เป็นกระบวนการที่นำมาสู่การขีดเส้นอำนาจบางประการเอาไว้ดังที่ได้พิจารณามา
ในเดือนตุลาคม การเมืองภายใต้สูตร 6-4-6-4 (ร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน / ทำประชามติ 4 เดือน / ทำกฎหมายลูก 6 เดือน / เตรียมการเลือกตั้ง 4 เดือน) น่าจะเริ่มร้อนแรงอีกยกด้วยการเรียกร้องให้คณะกรรมการยกร่างฯ 21 คน หรือมากไปกว่านั้นคือ การรณรงค์ให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเปิดกว้างด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ฯลฯ
อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นบทพิสูจน์การปรับ ครม. โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ ว่าจะฝ่าฟันความตกต่ำ ปัญหาปากท้องของผู้คน นโยบายการพัฒนาและโครงการขนาดใหญ่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวบรัดอำนาจตัดสินใจ และดูเหมือนคณะยึดอำนาจจะพยายามสื่อสารว่า เขาไม่สนใจรัฐธรรมนูญ แต่มุ่งการพัฒนาชีวิตผู้คน
ต้องไม่ลืมว่านโยบายและโครงการเหล่านี้อีกด้านหนึ่งได้เริ่มส่งผลลบต่อชีวิตของผู้คนชัดเจนมากขึ้น เงินกองทุนหมู่บ้าน โครงการพัฒนาตำบลละห้าล้าน ฯลฯ จะทดแทนกับชีวิตชาวนาที่ถูกห้ามทำนาปรังได้หรือไม่ ยังเป็นคำถาม
ต้องเฝ้าดูกันต่อไปว่า เรือแป๊ะที่เริ่มมีรูรั่วเสียแล้ว จะแล่นสู่ทางทิศใด
(เผยแพร่ครั้งแรกที่นี่)