ผ่านพ้นเทศกาลและงานดื่มหนักมาแล้วในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ Alcohol Concern องค์กรการกุศลที่ทำงานด้านปรับเปลี่ยนทัศนคติของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มสหราชอาณาจักร (อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ) ได้จัดการแคมเปญ ‘Dry January’ ขึ้น โดยชักชวนนักดื่มเข้าร่วมแข่งขันงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 31 วันของเดือนมกราคม ซึ่งเริ่มจัดครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี 2013
กลุ่ม Alcohol Concern เผยว่าปัจจุบัน มีชาวอังกฤษราว 9.6 ล้านคนดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากกว่าที่แนะนำต่อวัน
แคมเปญ Dry January ของปีที่แล้ว (2015) มีการสำรวจและติดตามผลจากนักดื่มที่เข้าร่วมกิจกรรมลดละเลิกดื่มทุกคนโดยมหาวิทยาลัยซัสเซก (University of Sussex) และนำผลทั้งหมดมาศึกษา รวบรวม เพื่อหาข้อสรุปต่างๆ โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับการทดสอบสามครั้ง ครั้งแรก-ก่อนงดดื่ม (ก่อนเดือนมกราคม),ครั้งที่สอง-เริ่มงดดื่ม (ต้นเดือนกุมภาพันธ์) และ ครั้งที่สาม เดือนสิงหาคม(หลังงดดื่มไปแล้วหกเดือน) ด้วยแบบประเมินปัญหาการดื่มสุรา Alcohol Use Disorders Identification Test (AUDIT) ขององค์การอนามัยโลก และแบบทดสอบ Drink Refusal Self-Efficacy (DRSE) เพื่อวัดความกดดันจากสังคม ความผ่อนคลายทางอารมณ์และโอกาสในการดื่มต่างๆ
ข้อมูลที่ติดตามทั้งหมดถูกนำมาประมวล วิเคราะห์และผลิตเป็นงานวิจัย ซึ่งนำเสนอว่า จากผู้เข้าร่วมแข่งขันงดดื่มทั้งหมด857 คน (ชาย 249 คนและหญิง 608 คน) พบการเปลี่ยนแปลงดังนี้
– 82 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าตัวเองทำสำเร็จ
– 79 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าประหยัดเงินในกระเป๋ามากขึ้น
– 62 เปอร์เซ็นต์ หลับได้ดีขึ้น
– 62 เปอร์เซ็นต์รู้สึกมีพลังงาน ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น
– 49 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักลดลง
ยังพบอีกว่า นักดื่มระดับปานกลางประสบความสำเร็จในการแข่งขันครั้งมากที่สุด นอกจากนี้ทีมวิจัยยังนำเสนออีกว่า ผู้เข้าร่วม 72 เปอร์เซ็นต์ลดระดับการดื่มจัดให้เบาบางลง และ 4 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ดื่มอีกเลยตลอดหกเดือนหลังการแข่งขัน
ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยยังพบอีกว่า หลังจากสิ้นสุดแคมเปญงดดื่ม 31 วัน ทั้งผู้หญิงและผู้ชายรู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าพวกเขาสามารถปฏิเสธการดื่มในงานสังคม หรือเมื่อตกอยู่ในความเศร้า/ผิดหวัง และในสถานการณ์ที่ต้องมีการดื่มเป็นปกติได้
เอมิลี โรบินสัน ผู้อำนวยการแคมเปญ Dry January ของกลุ่ม Alcohol Concern เผยว่า ผลของแคมเปญนี้ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่า ถ้างดดื่มตลอดเดือนมกราคม จะทำให้วันที่ 1 กุมภาพันธ์กลับมาดื่มมากผิดปกติ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นสมมติฐานที่ผิด
“การดื่มแอลกอฮอล์แบบผิดๆ เกิดขึ้นทั่วสังคม เราต้องการให้รัฐบาลยกให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่เราก็ยังเชื่อว่าแคมเปญ Dry January ของกลุ่ม Alcohol Concern สามารถผลักดันให้คนลดระดับการดื่มในระดับปัจเจกและทำให้สุขภาพดีขึ้นได้”
ดร.ริชาร์ด เดอ ไวเซอร์ อาจารย์อาวุโส มหาวิทยาลัยซัสเซ็ก University of Sussex หัวหน้างานวิจัยชิ้นนี้ บอกว่า “ปรากฎการณ์น่าสนใจที่เกิดขึ้นคือพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกฮอล์ที่เปลี่ยนแปลงไป แม้กับคนที่ไม่สามารถงดดื่มได้ตลอดหนึ่งเดือนก็ตาม”
จากประสิทธิภาพดังกล่าว กรมสุขภาพของประเทศอังกฤษ เข้าสนับสนุนแคมเปญ Dry January ตั้งแต่ปี 2014เป็นต้นมา
ศาสตราจารย์เควิน เฟนตัน ผู้อำนวยการส่วน Health and Wellbeing แห่งกรมสุขภาพ เผยว่า พฤติกรรมการดื่มที่มากเกินไป เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกว่า 60 โรค รวมถึงมะเร็ง ภาวะซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม ฯลฯ และ มีผู้ใหญ่กว่าครึ่งที่ดื่มเกินปริมาณที่แนะนำต่อวัน
“แคมเปญ Dry January ได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถลดปริมาณการดื่มและสร้างสุขภาพที่ดีขึ้นได้ นี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกรมสุขภาพจึงสนับสนุนกิจกรรมนี้”
เจน แอปเปิลตัน หนึ่งในผู้ร่วมแข่งขันในแคมเปญ Dry January ให้สัมภาษณ์ว่า
“จากงานที่กดดันและเครียดทำให้ฉันดื่มไวน์แดงตอนกลางคืนเป็นกิจวัตร และฉันรู้ว่ามันไม่ดี แต่สองปีที่ได้เข้าร่วม ฉันเริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ด้วยสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด Dry January เปลี่ยนทัศนคติการดื่มของฉันไปอย่างสิ้นเชิง”
10 อันดับคอทองแดงที่สุดในโลก
อันดับ 1 โปแลนด์
อันดับ 2 เยอรมนี
อันดับ 3 ลักเซมเบิร์ก
อันดับ 4 ฝรั่งเศส
อันดับ 5 ฮังการี
อันดับ 6 รัสเซีย
อันดับ 7 สาธารณรัฐเชค
อันดับ 8 เอสโทเนีย
อันดับ 9 ออสเตรีย
อันดับ 10 ลิธัวเนีย
อ้างอิงข้อมูลจาก : independent.co.uk
alcoholconcern.org.uk