ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว บนเรือมีผู้หญิง เชียงใหม่มีหมอกควัน: เศรษฐศาสตร์การเมืองและเพศภาวะของสิ่งแวดล้อม

เรื่อง / ภาพ: บุญชัย แซ่เงี้ยว

 

ใน ‘การประชุมวิชาการประจำปีด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ครั้งที่ 1: เชื่อม ข้าม เผชิญหน้า ณ จุดตัด’ ที่จัดขึ้นเมื่อ 24-25 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) เปิดพื้นที่ให้ว่าที่นักวิจัยรุ่นใหม่ตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกได้นำเสนอผลงาน และรับฟังความคิดเห็นจากมิตรทางวิชาการผู้สนใจในเรื่องเดียวกัน

ภายในงานประกอบด้วยการนำเสนอหลายหัวข้อหลากเวที สำหรับเวทีนี้ เราจะได้พบกับงานวิจัยที่อยู่ในช่วงกำลังพัฒนาของนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก ในหัวข้อ ‘เศรษฐศาสตร์การเมืองและเพศสภาวะของสิ่งแวดล้อม’

 

‘ไม่โหยหาอดีต ไม่รอฟ้าฝน’ ชาวนาอีสานในโลกเสรีนิยมใหม่

เวทีวิชาการไม่ได้ขรึมขลังเสมอไป รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ผู้ดำเนินรายการและผู้ร่วมอภิปราย ช่วยสร้างบรรยากาศผ่อนคลายไม่ให้นักวิจัยหน้าใหม่ต้องตื่นกังวลเกินไป เวทีเล็กๆ นี้เริ่มต้นจากงานของ ปวีณา ล้อนันทกุล นักศึกษาปริญญาโทสาขาวิชาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในหัวข้อ ‘ชาวนาอีสานในฐานะ ‘ผู้กระทำการ’ ในบริบทเสรีนิยมใหม่’ ซึ่งอยู่ในช่วงพัฒนาเค้าโครงวิทยานิพนธ์ และยังเก็บข้อมูลจากภาคสนามมาได้ไม่มาก

ปวีณาสนใจว่าเมื่อเสรีนิยมใหม่พาไปสู่ระบบตลาดเพื่อการค้า ชาวนาอีสานปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไร เธอเลือกหยิบแนวคิดที่เน้นผู้กระทำการ (actor-oriented) ของ นอร์แมน ลอง (Norman Long) มาสนทนากับข้อมูลภาคสนามเบื้องต้น เพื่อดูว่าชาวนาเหล่านั้นทำอะไรในพื้นที่ สร้างเครือข่ายอย่างไร และอยู่ใต้บริบทสังคมแบบไหน

เธอศึกษาชาวนาในจังหวัดนครราชสีมา ที่พื้นที่บ้านเข้ อันเป็นนามสมมุติเพื่อปกป้องผู้ให้ข้อมูลหากเกิดผลร้ายไม่คาดคิดตามมา ปวีณาลองเสนอว่าชาวนาบ้านเข้จำนวนหนึ่งเป็น “ชาวนาที่ไม่โหยหาอดีต รู้จักโลกกว้าง ไม่ได้รอฟ้าฝน ไม่ได้รอนโยบายอีกต่อไปแล้ว”

แน่นอนว่าต่างจากภาพชาวนาที่ภาครัฐหรือใครหลายคนมองลงมา

“ถ้าเรามองชาวนาในฐานะผู้กระทำการ เราอาจมองเห็นชาวนาอีสานในบริบทเสรีนิยมใหม่ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ที่ไม่ใช่แค่ขั้วตรงข้ามว่าไม่เป็นเกษตรก็เป็นแรงงาน”

พวกเขามียุทธศาสตร์การดำรงชีพที่หลากหลาย มีการรวมกลุ่มเครือข่ายเพื่อต่อรอง อย่างเช่นการรวมกลุ่มตั้งรัฐวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปาล์มน้ำมัน และเซ็นสัญญาการเกษตรกับกลุ่มบริษัทคิงส์ฟู้ด เพราะพวกเขามองว่าการรวมกลุ่มกันในจำนวนที่มากจะต่อรองกับบริษัทได้มากขึ้น

“พวกเขาไม่รอนโยบายมาส่งเสริมคุณภาพชีวิตหรือให้เขาทำเกษตรได้ดีขึ้น เขาจะหาตลาดด้วยตัวเอง เขาจะโยงใยเครือข่ายสร้างกลุ่มด้วยตัวเอง ต่อรองด้วยตัวเอง เซ็นสัญญาด้วยตนเอง”

 

‘ฝุ่นมีชีวิต’ การเมืองเรื่องหมอกควันของเชียงใหม่

จากนั้น อุบลวรรณ ชัยมงคล นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาสังคมศาสตร์และสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พาเราไปเข้าใจปัญหาหมอกควันในเชียงใหม่ให้ลึกซึ้งขึ้น กับหัวข้อ ‘การเมืองเรื่องหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่’

ปัจจุบันอุบลวรรณอยู่ในช่วงพัฒนาหัวข้อวิทยานิพนธ์ เนื้อหาส่วนที่นำมาเสนอในเวทีนี้เป็นข้อสังเกตที่ได้จากการทบทวนเอกสารและงานวิชาการ เธอพยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์หมอกควันผ่านสายตาของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทราบกันดีว่าหมอกควันส่งผลต่อสุขภาพ ถ้าอยู่ด้วยกันไปนานๆ อาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งปอด เชียงใหม่เองก็ได้รับผลกระทบจากหมอกควัน ‘ฤดูหมอกควัน’ เกิดขึ้นทุกปี ระหว่างปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน ปัจจุบันปรากฏในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์และอาจลากไปถึงกลางเดือนเมษายน

หมอกควันไม่ใช่เรื่องดี ในทางสาธารณสุขมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อคุณภาพชีวิต ในทางสิ่งแวดล้อมมองว่าเป็นปัญหาของการเสื่อมโทรมของป่า ในทางเศรษฐกิจมองว่าส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเศรษฐกิจภาคส่วนสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่

เดิมปัญหาหมอกควันเป็นปัญหาเฉพาะถิ่น จนปี 2550 จึงถูกยกระดับเป็นปัญหาสาธารณะ คณะรัฐมนตรีเริ่มออกมติกำหนดมาตรการแก้ปัญหา ในปี 2556 ได้ออกมาตรการ ‘100 วันอันตรายห้ามเผา’ มีบทลงโทษที่เข้มงวด และลดเป็น ’51 วันห้ามเผา’ ในปี 2561

อุบลวรรณเล่าว่า ‘การเมืองเรื่องหมอกควัน’ ปรากฏตัวในหลายกรณี โดยเฉพาะการโยงปัญหาไปเชื่อมกับชนเผ่าชาวเขา ในการรับรู้ของสังคมส่วนใหญ่ จะเข้าใจว่าชาวเขาเป็นสาเหตุของการเผาป่า ยังไม่นับการนำภาพชาวเขาเผาป่าไปผูกกับภาพการทำไร่เลื่อนลอย ต่อเนื่องเลยไปถึงภัยความมั่นคง ทั้งที่ยังไม่อาจตอบได้ว่าสาเหตุหลักมาจากชาวเขา ในช่วงอภิปรายการนำเสนอ กนกวรรณก็ให้ข้อเสนอแนะว่า มีงานวิชาการที่ศึกษาความโยงใยระหว่างหมอกควันกับเกษตรพันธสัญญาและบรรษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่

ในส่วนภาควิชาการสังคมศาสตร์ มักมองว่าชาวเขาเป็นเหตุให้เกิดหมอกควัน และเป็นส่วนที่พอจะจัดการได้ เพราะคงยากที่จะไปเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศอันเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดหมอกควัน แต่ในส่วนการใช้ที่ดินกับการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนยังพอเข้าไปจัดการได้

อุบลวรรณให้ข้อสังเกตว่า งานวิจัยส่วนใหญ่จะใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์มาตอบคำถามเรื่องหมอกควัน ก่อนไปหนุนเสริมให้กับการกำหนดนโยบาย แล้วกลายไปเป็นมาตรการแก้ปัญหา ซึ่ง “การแก้ปัญหาหมอกควันส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่กลุ่มชาติพันธุ์”

ทางชนเผ่าก็พยายามส่งเสียงให้สังคมเข้าใจวิถีของตน และบอกว่าพวกเขาไม่ได้เป็นสาเหตุของหมอกควัน รวมถึงพยายามให้สังคมตระหนักถึงมาตรการที่ออกมา เช่น การกำหนดวันห้ามเผา จะมีใครมองไหมว่าชนเผ่าได้รับผลกระทบอย่างไร

“องค์ความรู้เรื่องหมอกควันที่ผ่านมานั้นมีประโยชน์ ทำให้เข้าใจสาเหตุและที่มาที่ไปของหมอกควัน แต่ว่ายังใช้แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเรื่องหมอกควันนั้นซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คน องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ที่บอกว่าหมอกควันมาจากการเผาชีวมวล มาจากการเผาของชาวบ้าน แล้วออกมาตรการแก้ปัญหามาเลย ไม่ได้เข้าใจความจริงหรือความซับซ้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งในชีวิตจริงมีการเดิมพันระหว่างเรื่องของ ‘ฉัน’ – หมายถึง ‘ฉัน’ ในฐานะที่เป็นคนเผา และ ‘ฉัน’ ในฐานะที่เป็นคนเมือง อันเป็นเรื่องของปัจเจกแต่ละคน – กับเรื่องของ ‘เรา’ ที่ตั้งคำถามว่า หมอกควันคนเผาแค่กลุ่มหนึ่ง แล้วคนส่วนที่เหลือจะต้องรับผิดชอบเหรอ รวมถึงการ ‘เผา’ กับ ‘ไม่เผา’ ที่คนถูกห้ามให้เผาจะทำอะไรกิน

“สุดท้ายตั้งเป็นข้อสังเกตว่า คำตอบเรื่องหมอกควันส่วนใหญ่ที่ได้จากการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เป็นข้อเท็จจริงที่ไร้หัวใจ คำว่าไร้หัวใจหมายถึงว่า เป็นการมองฝุ่นมองหมอกควันในฐานะที่เป็นวัตถุ จริงๆ ฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศมันมีวิถีและชีวิตของผู้คนอยู่ในนั้น มาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันที่ทำๆ มาไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริงเพราะขาดการทำความเข้าใจเบื้องหลังที่ซับซ้อนว่าคนเผาทำไม เผาอะไร ยังไง”

 

‘มองซิ่ง’ ผู้หญิงกับเครื่องมือประมงพื้นบ้าน

วรรณภา วงษ์พินิจ นักศึกษาปริญญาโทสาขาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำเสนอเนื้อหาส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ที่ผ่านการสอบโครงร่างแล้วและอยู่ระหว่างเก็บข้อมูล ในหัวข้อ ‘ผู้หญิงในลุ่มน้ำมูลตอนกลางกับพลวัตความรู้ประมงพื้นบ้าน’

งานชิ้นนี้ศึกษาชุมชนในพื้นที่ที่เคยเป็นป่าบุ่งป่าทาม หรือที่ชุ่มน้ำที่น้ำท่วมถึงในช่วงน้ำหลาก และเป็นที่ที่สร้างเขื่อนราษีไศล

วรรณภาศึกษาผู้หญิงในหมู่บ้านผึ้ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของความรู้ประมงพื้นบ้านของผู้หญิงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงอารมณ์ความรู้สึก ความคาดหวัง ในการทำประมงหลังการสร้างเขื่อนราษีไศล เธอแบ่งความเปลี่ยนแปลงออกเป็นสี่ยุค โดยมองผ่านเครื่องมือประมง

ยุคแรก เครื่องมือประมงทำจากไม้ไผ่ เถาวัลย์ และ ‘มองป่าน’ ซึ่งทำจากต้นปอ ผู้หญิงดำรงชีวิตแตกต่างไปตามฤดูกาล ทั้งจับกบ จับเขียด งมหอย ขุดมันแซง รากบัว หาเห็ด หาหน่อไม้ หรือต้มเกลือในฤดูแล้ง ยุคนี้ผู้หญิงมีความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศย่อยมากที่สุด มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับป่าทาม ปลาไม่มีราคาแต่มีค่า เพราะเป็นสินค้าเพื่อแลกเปลี่ยนกัน

ยุคที่ 2 เปลี่ยนจาก ‘มองป่าน’ เป็น ‘มองเอ็น’ มองเอ็นหาซื้อได้ในท้องตลาดในเมือง และชาวบ้านเดินทางเข้าเมืองได้สะดวกมากขึ้น แต่คนที่เข้าถึงเครื่องมือนี้ยังจำกัดแค่คนบางกลุ่ม ผู้หญิงฐานะดีจะได้ใช้เครื่องมือประมงนี้ร่วมกับผู้ชาย ยุคนี้ปลาเริ่มมีราคา มีแม่ค้าเดินทางเข้ามาซื้อปลาในหมู่บ้าน

ต่อมา ยุคที่ 3 เมื่อเขื่อนราษีไศลถูกสร้างขึ้นในปี 2536 เครื่องมือประมงที่ผู้หญิงเคยใช้ ตอนนี้ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะระบบนิเวศที่เคยใช้ประโยชน์กลายไปเป็นเขื่อนเก็บน้ำ ชาวบ้านเริ่มประดิษฐ์เครื่องมือประมงที่ใหญ่มากขึ้นเพื่อให้เหมาะกับระบบนิเวศที่น้ำลึกมากขึ้น แต่ยังไม่ตอบโจทย์ ยุคนี้ผู้หญิงได้รับผลกระทบมากที่สุด เริ่มไปทำงานในเมือง ในโรงงาน มากขึ้น

ยุคที่ 4 ในปี 2550 ชาวบ้านเปลี่ยนเครื่องมือประมงเป็น ‘มองซิ่ง’ ซึ่งเป็นเครื่องมือผิดกฎหมาย มองซิ่งเป็นตาข่ายที่มีความลึก ต้องใช้อุปกรณ์หลายชิ้นร่วม รวมทั้งไม้ไผ่ที่ใช้ตีน้ำเพื่อให้ปลาแตกตื่น เพราะพอเป็นน้ำลึกจะไม่รู้ว่าปลาอยู่ที่ไหน การจับปลาด้วยวิธีนี้ต้องใช้แรงงานสองคน ให้ช่วยดูท้ายเรือ กางมอง และตีไม้ ยุคนี้ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น มีการเรียนรู้ระบบนิเวศน้ำลึกร่วมกับผู้ชาย ผู้หญิงถ่ายทอดความรู้ด้านประมงให้กัน

วรรณภาให้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ความรู้ของผู้หญิงในแต่ละยุคเกิดจากปฏิบัติการ การสังเกต ประสบการณ์ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศนั้น ผู้หญิงแต่ละคนมีระดับความรู้ที่แตกต่างกันภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม ความรู้ของพวกเธอไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว เมื่อระบบนิเวศเปลี่ยน ความรู้เดิมไม่ได้หายไปไหน แต่เกิดการผสมผสานโดยใช้ความรู้เดิมเป็นฐาน

“ความรู้ของผู้หญิงในแต่ละยุคสะท้อนให้เห็นถึงวิธี สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร การจัดการทรัพยากร และภายหลังจากการสร้างเขื่อนราษีไศล ความรู้ของผู้หญิงในยุคนี้สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาไปทำลายการเข้าถึงระบบนิเวศของผู้หญิง ทำลายความรู้ของผู้หญิง แต่ขณะเดียวกันผู้หญิงไม่ได้ตั้งท่า ตั้งรับ ในการถูกทำลายเพียงอย่างเดียว แต่มีการพยายามที่จะเรียนรู้ระบบนิเวศใหม่เพื่อให้อยู่รอดในสถานการณ์หนึ่งๆ”

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า