โลกคู่ขนานของตลาดแรงงานไทยในช่วง COVID-19

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง โดยรัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการล็อคดาวน์ และมาตรการควบคุมเข้มข้น ภาคธุรกิจทั้งรายใหญ่และรายย่อยจำนวนไม่น้อยต้องปิดกิจการ ประชาชนจำนวนมากตกงานอย่างฉับพลัน ร้านรวงจำต้องปิดประตูเงียบเชียบ การจับจ่ายใช้สอยของผู้คนก็ลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ ภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ต้องลดจำนวนพนักงานและรัดเข็มขัดเพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ 

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ยังพอมีหนทางใดบ้างที่จะเป็นทางออกจากวิกฤติ ผศ.ดร.แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล กลุ่มเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรม และการพัฒนา (HDE) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาลึกลงไปยังตลาดแรงงานของไทย ทั้งช่วงก่อนการแพร่ระบาดและระหว่างการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยรวบรวมข้อมูลการสำรวจภาวะประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูล labor force survey ระหว่างปี 2554-2563 รวม 40 ไตรมาส ในช่วงระยะเวลา 10 ปี รวมถึงการเจาะลึกลงไปในผลกระทบจาก COVID-19 ต่อลูกจ้างในระบบของตลาดแรงงานไทย โดยใช้ข้อมูลในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561-2563 และนำมาวิเคราะห์ผ่านบริบทชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างต่อเดือน

งานศึกษาของ ผศ.ดร.แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล ถูกนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการ EconTU Symposium ประจำปี 2564 หัวข้อ ‘โลกคู่ขนานของตลาดแรงงานไทยในช่วง COVID-19’ จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา 

ลำดับเหตุการณ์ที่กระทบต่อแรงงานไทย

ก่อนที่จะวิเคราะห์ถึงบริบทของสถานการณ์แรงงานไทยในปัจจุบัน ผศ.ดร.แก้วขวัญ ชวนย้อนมองเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (ภาพที่ 1) ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยเผชิญหลายเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทย ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ ในปี 2540 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธนาคาร ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงแรงงานในระบบและนอกระบบ หรือเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่าง ‘สึนามิ’ เมื่อปลายปี 2547 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคบริการ ภาคการเกษตร และภาคการผลิต นอกเหนือจากนั้นยังมีกรณีการกีดกันทางการค้าที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับประมง 

ภาพที่ 1 เหตุการณ์สำคัญที่สร้างผลกระทบต่อแรงงานไทย ระหว่างปี 2540-2564

กระทั่งเมื่อต้นปี 2563 จวบจนปัจจุบัน ประเทศไทยได้เผชิญกับวิกฤติโรคระบาด COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคบริการและการท่องเที่ยวอย่างหนักหน่วง 

ตลาดแรงงานไทย ก่อนและหลัง COVID-19

ภาพที่ 2 จำนวนผู้มีงานทำและผู้ว่างงานของกำลังแรงงานในปัจจุบัน ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2554 – ไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2563

ภาพที่ 2 คือจำนวนของผู้ที่มีงานทำและจำนวนผู้ว่างงาน โดยแกนทางด้านซ้ายมือ คือจำนวนผู้มีงานทำ ส่วนแกนทางด้านขวามือคือจำนวนผู้ว่างงาน 

ผศ.ดร.แก้วขวัญ ชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการเคลื่อนของจำนวนผู้มีงานทำและจำนวนผู้ว่างงานนั้น แปรผันไปตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อแรงงาน ซึ่งหากเจาะลึกในปี 2563 ไตรมาสที่ 1 และ 2 จะพบว่า จำนวนผู้มีงานทำนั้นลดลงอย่างรุนแรง และมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

นอกเหนือจากการวิเคราะห์จำนวนผู้ว่างงานและผู้ที่มีงานทำ ระยะเวลาในการหางานของผู้ว่างงานก็เป็นประเด็นสำคัญ อย่างที่ทราบกันดีว่า ผู้ว่างงานแต่ละกลุ่มอาชีพต้องใช้ระยะเวลาในการหางานที่แตกต่างกัน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้แบ่งเแรงงานออกเป็น 6 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้

  1. กลุ่มที่ใช้ระยะเวลาหางานน้อยกว่า 1 เดือน 
  2. กลุ่มที่ใช้ระยะเวลาน้อยกว่า 3 เดือน
  3. กลุ่มที่ใช้ระยะเวลา 3-5.9 เดือน 
  4. กลุ่มที่ใช้ระยะเวลา 6-8.9 เดือนขึ้นไป 
  5. กลุ่มที่ใช้ระยะเวลา 9-11.9 เดือน 
  6. กลุ่มที่ใช้ระยะเวลามากกว่าหรือเท่ากับ 12 เดือน 
ภาพที่ 3 สัดส่วนผู้ว่างงานที่กำลังหางานทำ จำแนกตามระยะเวลาที่หางานทำ ทั่วราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2554 – ไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2563

“จะเห็นได้ว่า ช่วงเวลาของไตรมาสที่ 1, 2 และ 3 ของปี 2563 นั้น สัดส่วนการหางานของผู้ว่างงานที่ใช้เวลาน้อยกว่า 1 เดือน มีจำนวนลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งหมายความว่า คนส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลาในการหางานทำนานขึ้น ซึ่งภาครัฐสามารถเข้ามาช่วยเหลือในส่วนนี้ได้ เพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้นและในระยะยาว”

ถัดมาในภาพที่ 4 คือจำนวนลูกจ้างและค่าเฉลี่ยของค่าจ้าง จากงานศึกษาชิ้นนี้พบว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2554-2563 จำนวนลูกจ้างและจำนวนค่าจ้างมีรูปแบบที่เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และเป็นรูปแบบที่แปรไปตามสถานการณ์ของไตรมาสที่คล้ายคลึงกัน 

ภาพที่ 4 จำนวนลูกจ้าง จำแนกตามค่าจ้างเฉลี่ยที่ได้รับจากอุตสาหกรรมทั่วราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2554 – ไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2563

“จำนวนลูกจ้างนั้น ถ้าเรามองลึกเข้าไป คือตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจที่ดีหรือไม่ดีในช่วงเวลาต่างๆ เราจะเห็นได้ว่า ถ้าเศรษฐกิจดี จำนวนลูกจ้างและชั่วโมงการทำงานจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ถ้าเศรษฐกิจถดถอย จำนวนลูกจ้างและชั่วโมงการทำงานก็จะลดลงไปตามสภาพของเศรษฐกิจนั้น”

ภาพที่ 5 ค่าจ้างเฉลี่ยตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากอุตสาหกรรมทั่วราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2554 – ไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2563

ผศ.ดร.แก้วขวัญ สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นของกิจกรรมต่างๆ ก่อนสถานการณ์ COVID-19 ทว่าเมื่อมาถึงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ค่าจ้างในอุตสาหกรรมเหล่านี้กลับลดลงตามสภาพของเศรษฐกิจที่งานศึกษานี้ค้นพบ 

“จากภาพที่ 5 หากมองลึกลงไปในสภาพเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่า ค่าจ้างโดยเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรรม กลุ่มการผลิต กลุ่มก่อสร้าง กลุ่มขายส่ง ขายปลีก และกลุ่มที่พัก อาหาร มีแนวโน้มถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2563 หลังเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19”

ถัดมาในภาพที่ 6 คือจำนวนลูกจ้างเอกชนทั้งในภาคการเกษตร การผลิต ก่อสร้าง ขายส่ง ขายปลีก ที่พักและอาหาร ซึ่งในภาพนี้เราจะเห็นรูปแบบของจำนวนลูกจ้างซึ่งมีการเคลื่อนตัวในลักษณะคล้ายคลึงกันในช่วงก่อนสถานการณ์ระบาด และลดลงในลักษณะที่คล้ายกัน ทว่ามีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน 

ภาพที่ 6 จำนวนลูกจ้างเอกชน จำแนกตามค่าจ้างเฉลี่ยผลประโยชน์อื่นที่ได้รับจากอุตสาหกรรมทั่วราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2554 – ไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2563

“เมื่อเห็นภาพรวมทั้งหมดแล้ว เราลองเจาะลึกลงไปในส่วนผลกระทบของ COVID-19 ต่อลูกจ้างในระบบของตลาดแรงงานไทย จะพบว่า ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบมีทั้งลูกจ้างที่อยู่ในภาคเอกชน ภาครัฐ และภาครัฐวิสหกิจ ยังไม่นับรวมนายจ้าง ผู้ประกอบการอิสระ และแม่บ้าน” 

จากการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยค่าจ้างและชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ ทำให้พบว่าแรงงานกลุ่มต่างๆ ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ทั้งกลุ่มแรงงานเพศหญิงและเพศชาย โดย 3 ประเด็นแรกที่งานศึกษาชิ้นนี้พบ คือ

  1. ค่าประมาณชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ลดลง ในลูกจ้างในระบบทุกระดับการศึกษา 
  2. ค่าประมาณชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ลดลง ในลูกจ้างในระบบทั้งชายและหญิง 
  3. ค่าประมาณค่าจ้างรายเดือนลดลง ในลูกจ้างในระบบทุกระดับการศึกษา (ยกเว้น ลูกจ้างในระบบที่มีวุฒิระดับการศึกษาอุดมศึกษา)

ผลกระทบจากโควิดต่อลูกจ้างในตลาดแรงงานไทย

จากภาพรวมของตลาดแรงงานไทยก่อนและหลังการระบาด ผศ.ดร.แก้วขวัญ ได้ศึกษาต่อไปถึงผลกระทบของ COVID-19 ต่อลูกจ้างในระบบของตลาดแรงงานไทย ได้แก่ ลูกจ้างที่อยู่ในภาคเอกชน ภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมนายจ้าง ผู้ประกอบการอิสระ และแม่บ้าน) 

ภาพที่ 7 การกระจายตัวของค่าประมาณค่าจ้างรายเดือน และค่าประมาณชั่วโมงทำงานทั้งสิ้นต่อสัปดาห์ของลูกจ้าง ระดับการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษา

“หากเปรียบเทียบการกระจายตัวของค่าประมาณค่าจ้าง และค่าประมาณชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ จะพบว่ามีความสม่ำเสมอในเรื่องผลการศึกษา โดยในปี 2561-2563 ไตรมาสที่ 2 ตัวแปรทั้งสองตัวนั้นมีการกระจายตัวที่คล้ายกัน เพียงแต่ว่าในปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด เราจะเห็นได้ว่า ความหนาแน่นสูงสุดของชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ มีความหนาแน่นที่ลดลงกว่าปีอื่นๆ ส่วนในเรื่องของค่าจ้างมีการกระจายที่คล้ายกันมาก แต่หากเราเจาะไปในระดับการศึกษาของลูกจ้างที่มีวุฒิอุดมศึกษาขึ้นไป ช่องว่างของความหนาแน่นสูงสุดตรงนั้นจะน้อยกว่าระดับการศึกษาอื่นๆ”

ภาพที่ 8 การกระจายตัวของค่าประมาณค่าจ้างรายเดือน และค่าประมาณชั่วโมงทำงานทั้งสิ้นต่อสัปดาห์ของลูกจ้าง ระดับการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป

นอกเหนือจากเรื่องเพศและระดับการศึกษา หากวิเคราะห์ไปถึงประเภทอาชีพของลูกจ้างในระบบก็มีความน่าสนใจเช่นกัน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 9 อาชีพ ได้แก่ 

  1. ผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการระดับอาวุโส และผู้จัดการ
  2. ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ 
  3. ผู้ประกอบวิชาชีพด้านเทคนิคสาขาต่างๆ และอาชีพที่เกี่ยวข้อง
  4. เสมียน 
  5. พนักงานบริการและพนักงานในร้านค้าและตลาด 
  6. ผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตรและประมง
  7. ผู้ปฏิบัติงานด้านความสามารถทางฝีมือและธุรกิจการค้าที่เกี่ยวข้อง
  8. ผู้ปฏิบัติการในโรงงานและเครื่องจักร และผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ
  9. อาชีพขั้นพื้นฐานต่างๆ ในด้านการขายและการให้บริการ 

การแบ่งเป็น 9 อาชีพข้างต้น คำนึงถึงระดับทักษะ ประเภทของการทำงานต่างๆ เนื่องจากงานศึกษาชิ้นนี้ต้องการที่จะรู้ว่า COVID-19 จะส่งผลกระทบที่คล้ายกันหรือไม่ในกลุ่มลูกจ้างหลากหลายอาชีพ

ข้อค้นพบที่ได้คือ เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานทั้งสิ้นต่อสัปดาห์ จะเห็นได้ว่า ภาพหนึ่งที่คล้ายกันของ 9 อาชีพ คือชั่วโมงการทำงานของลูกจ้างในระบบทั้งสิ้นต่อสัปดาห์ลดลงในทุกกลุ่มอาชีพ ส่วนค่าจ้างรายเดือนนั้นลดลงเฉพาะกลุ่มอาชีพที่เป็นภาคบริการ หรืออาชีพที่มีความยืดหยุ่นในเรื่องของสถานที่ทำงานต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ ที่อาจจะมีทักษะสูงกว่า

“หากเปรียบเทียบกับผลการศึกษาในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกัน อย่างงานศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้วของ Oxford Review of Economic Policy ซึ่งมีตัวชี้วัดเรื่องความสามารถในการทำงานที่มีความยืดหยุ่น สามารถทำงานนอกสถานที่ หรือที่บ้านได้ รวมถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมนั้น เราจะเห็นได้ว่า ถ้าอาชีพนั้นมีความยืดหยุ่นสูง สามารถทำงานที่บ้านได้ หรือมีความยืดหยุ่นต่ำ แต่เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ COVID-19 จะส่งผลต่ออาชีพเหล่านั้นน้อยกว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือในอาชีพที่มีความยืดหยุ่นต่ำ หรืออยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่สำคัญ หรือสำคัญน้อยกว่า”

นอกเหนือจากกลุ่มอาชีพแล้ว หากจำแนกในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อดูว่าผลการวิเคราะห์นั้นมีความสอดคล้องข้ามจากกลุ่มอาชีพมาสู่อุตสาหกรรมหรือไม่ แล้วจึงดูในภาพรวมว่า COVID-19 ส่งผลอย่างไรต่อชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างรายเดือน

ภาพที่ 10 การกระจายตัวของค่าประมาณค่าจ้างรายเดือน และค่าประมาณชั่วโมงทำงานทั้งสิ้นต่อสัปดาห์ ของลูกจ้าง 21 อุตสาหกรรม

“จากงานศึกษาใน 21 กลุ่มอุตสาหกรรม สิ่งที่น่าสนใจคือ ค่าประมาณค่าจ้างรายเดือนเมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยสถิติค่าจ้างรายเดือน พบว่า ลูกจ้างกลุ่มอุตสาหกรรมด้านการเงินและการประกันภัย และกลุ่มกิจกรรมด้านสุขภาพ มีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในปีก่อน แต่ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยในลักษณะที่มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ในด้านของชั่วโมงการทำงานทั้งสิ้นต่อสัปดาห์นั้น ลดลงในลูกจ้างทุกอุตสาหกรรม ยกเว้นกลุ่มกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ และกิจกรรมขององค์การระหว่างประเทศและภาคีสมาชิก

นอกจากนั้น ค่าจ้างรายเดือนที่ลดลงเนื่องจากสถานการณ์ระบาด ยังส่งผลกระทบต่อลูกจ้างในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการเป็นส่วนใหญ่และเกือบทั้งหมด เช่น ภาคเกษตร ก่อสร้าง ที่พัก อาหาร ศิลปะ ความบันเทิง บริการต่างๆ 

ภาพที่ 11 ค่าประมาณค่าจ้างรายเดือน และค่าประมาณชั่วโมงทำงานทั้งสิ้นต่อสัปดาห์ของลูกจ้าง ในกิจกรรมโรงแรมและบริการด้านอาหาร

“ภาพข้างต้นคือตัวอย่างการกระจายตัวของค่าประมาณค่าจ้างและค่าประมาณชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ พบว่า ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ของกิจกรรมโรงแรมและบริการด้านอาหาร มีช่องว่างใหญ่มากเมื่อเปรียบเทียบจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 และปี 2562 โดยจะเห็นว่าในปี 2563 ลดลงอย่างมาก” 

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย หากไทยอยากไปต่ออย่างยั่งยืน

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับตลาดแรงงานไทย ผศ.ดร.แก้วขวัญ ได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว 

“สิ่งที่เราเห็นจากการที่ภาครัฐช่วยประชาชนด้วยมาตรการต่างๆ อย่างมาตรการเร่งด่วนหรือมาตรการระยะสั้น ก็จะเป็นมาตรการช่วยเหลือด้านรายจ่าย มาตรการช่วยเหลือด้านภาษี และโครงการส่งเสริมการจ้างงาน โดยกระทรวงแรงงาน การจัดหาวัคซีนต่างๆ”

ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือด้านรายจ่ายของภาครัฐ จะเห็นได้ว่า หน่วยงานภาครัฐมีการช่วยเหลือประชากรในกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มเกษตร ที่ได้รับผลกระทบทั้งในด้านค่าจ้างและชั่วโมงการทำงานที่ลดลง โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มีมาตรการพักหนี้เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงสูงจากโควิด และเปิดให้ขอสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อเสริมสภาพคล่อง 

อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้ผุดโครงการเยียวยาสำหรับเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐ หรือในส่วนของกระทรวงการคลังก็ได้ออกหลายมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนแต่ละกลุ่ม เช่น โครงการคนละครึ่ง สำหรับประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป โครงการเราชนะ สำหรับกลุ่มอาชีพอิสระ โครงการเราชนะกลุ่มพิเศษ สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการเยียวยา 5,000 บาท หรือ โครงการเราไม่ทิ้งกัน สำหรับผู้ประกันตนในกลุ่มมาตรา 39 และ 40 ไปจนถึงมาตรการด้านภาษีที่อนุญาตให้จ่ายภาษีได้ในเงื่อนไขระยะเวลาที่นานขึ้น และมีค่าธรรมเนียมที่ลดลง 

ในส่วนกระทรวงแรงงาน ก็ได้ออกโครงการ ม.33 สำหรับแรงงานในระบบที่มีเงินฝากรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท และสุดท้ายคือ โครงการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภาคบริการ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยโครงการหรือมาตรการเหล่านี้จัดเป็นมาตรการระยะเร่งด่วนหรือระยะสั้นทั้งสิ้น

“หากเรามองไปยังอนาคตสำหรับประเทศไทยในระยะกลางและระยะยาว สิ่งที่ตลาดแรงงานไทยสามารถเตรียมตัวและสร้างความยั่งยืนได้ คือ การสร้างความยืดหยุ่นให้กับแรงงาน ความยืดหยุ่นในที่นี้หมายถึงการสร้างศักยภาพของแรงงาน สำหรับกลุ่มตลาดแรงงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังสถานการณ์ COVID-19 เราต้องรู้ว่าตลาดแรงงานเหล่านี้จะต้องเพิ่มทักษะด้านใดบ้าง การศึกษารูปแบบไหนจะเหมาะกับเขา สำหรับอาชีพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” 

นอกเหนือจากนั้น ผศ.ดร.แก้วขวัญ มองว่า ด้วยความที่ตลาดแรงงานไทยประกอบไปด้วยสองด้าน คือแรงงานและนายจ้าง นั่นหมายความว่า ทางฝั่งนายจ้างเองก็ต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญในการปรับตัวของสถานประกอบการ ไม่ว่าจะด้านเทคโนโลยีหรือดิจิทัลต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในอนาคต จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการปรับตัวเต็มรูปแบบของตลาดแรงงานไทย 

“ในส่วนของภาครัฐ จะสามารถช่วยในเรื่องของการขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่สำคัญต่อตลาดแรงงานไทยได้ การจะสร้างความยั่งยืนให้กับตลาดแรงงานไทยหรือนำพาประเทศไทยไปสู่ทิศทางที่ดี จะต้องประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ตลาดแรงงานไทยอยู่รอด และสามารถบรรลุหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้”

บันทึกงาน EconTU Symposium ครั้งที่ 43
สนับสนุนโดย

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

อวิกา กันยาแสงศรี
เด็กปาก(กา)แจ๋วในทวิตเตอร์ผู้ผันตัวมาเป็นนัก(อยาก)เขียน เฟมินิสต์และแพนเซ็กชวลผู้หลงใหลในบทเพลงและสนับสนุนความเท่าเทียมในทุกรูปแบบ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า