โปรดอ่านฉลากก่อนใช้ยา

editor-aug

มีข้อความในกรุ๊ปไลน์หนึ่งบอกว่า

“เพื่อนกลุ่มแพทย์ บอกว่าจะลงประชามติผ่านรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องไปอ่าน ถามกลับไปว่าทำไมไม่อ่านก่อนลงมติ เขาตอบว่า …

“ในเมื่อนักการเมืองออกมาค้านกันระงมขนาดนี้ แปลว่ามันไม่ดีกับนักการเมือง ดังนั้น มันจึงต้องดีกับบ้านเมืองและประชาชนแหงๆ เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับไหน อย่างไร นักการเมืองก็คดโกง เอาเปรียบ และทำร้ายบ้านเมืองกับประชาชนมาโดยตลอด รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงต้องดีแน่ๆ เพราะมันน่าจะทำให้นักการเมืองเหมือนโดนใบแดงไล่ออกไปจากเกมส์ ไม่ให้มายุ่งกับการบริหารบ้านเมืองไปหลายๆ ปี”

ส่งต่อให้เยอะๆ นะคะ

สำหรับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ มีเรื่องให้รู้สึกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งขึ้นไปกว่าการที่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบว่า หนึ่ง-มีการลงประชามติ สอง-ประชามตินั้นคือร่างรัฐธรรมนูญ สาม-คำถามพ่วงที่ว่า จะให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงห้าปีแรกหรือไม่

เรื่องถัดมา สำหรับคนที่รับรู้เรื่องการทำประชามติรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และมีธงอยู่แล้วว่าจะเลือกอนาคตของชาติให้เดินไปในทางไหน ด้วยเจตนารมณ์ เหตุผล อุดมการณ์ ความรัก-ชอบ เกลียดชัง นั่นเป็นสิทธิ์ของแต่ละคนตามหลักการประชาธิปไตย

ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า ท่ามกลางความขัดแย้งในทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่การรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญในปี 2549 ใครสักคนเคยพูดว่า “ลึกๆ แล้วทุกคนไม่เป็นกลาง” โดยเฉพาะในบัตรลงประชามติครั้งนี้ก็ไม่ได้มีพื้นที่สำหรับ ‘กลางๆ’ หรือไม่ออกความเห็น ดังนั้น เหตุผลด้านอุดมการณ์ทางการเมืองย่อมมีน้ำหนักมากบนมือที่จรดปากกาลงในช่อง ‘เห็นชอบ’ หรือ ‘ไม่เห็นชอบ’ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับทำประชามติทั้งฉบับ

และคงมีคนจำนวนไม่น้อยจากหลายฝ่ายกำลังรู้สึกแบบนี้ โดยการอ้างอิงถึงข้อความทางไลน์ในลักษณะข้างต้น

หากย้อนไปหาสาเหตุที่ว่าทำไมถึงไม่มีการพูดถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในวงกว้าง ก็พบว่า สังคมไทยอยู่ในสถานการณ์ทางการเมืองไม่เหมือนที่ผ่านมา การตั้งเวทีเผยแพร่เนื้อหาค้านร่างฯ การวิจารณ์ การดีเบต การแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้เห็นด้วยกับร่างฯ เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงข้อดีข้อเสีย ถูกจำกัดในหลายๆ ด้าน

จริงๆ แล้วเป็นเรื่องไม่แปลกที่รัฐ หรือใครก็ตามที่อยู่ในฟากผู้เขียนร่างฯนี้ขึ้นมา จะพูดถึงข้อดีในประเด็นต่างๆ พูดง่ายๆ ว่า โฆษณาถึงสรรพคุณ ในหลายประเทศก็เป็นแบบนี้ แต่ข้อแตกต่างที่ทำให้บ้านเรา unique ไม่มีใครเหมือน ก็คือ โอกาสในการสร้างการรณรงค์และแสดงความเห็นของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มีมากน้อยแค่ไหน หรือไม่มีเลย?

ผมตามอ่านเฟซบุ๊คที่มีการโต้เถียงในประเด็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ต้องใช้การตีความ ทั้งสองฝ่ายเอาข้อมูลมาเทใส่กันชนิดวรรคต่อวรรค คำต่อคำ อาจจะดูเป็นการโต้เถียงที่ดูดุเดือด แต่นี่ไม่ใช่หรือ คือสิ่งที่ทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ข้อมูลสองด้าน นี่คือการดีเบต ฝ่ายหนึ่งนำเสนอ อีกฝ่ายหนึ่งหาเหตุผลมาคัดง้าง ในขณะที่คนผ่านไปมาก็แวะมาอ่าน หรือแสดงความคิดเห็นได้ นี่คือบรรยากาศของประชาธิปไตยที่ให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลไม่ใช่หรือ

แต่ก็นั่นแหละ การโต้เถียงในเชิงหลักการและข้อมูลนี้เกิดขึ้นในเฟซบุ๊ค แม้จะดีแค่ไหน แต่เราคงหวังมากไม่ได้ว่ามันจะถูกส่งออกเป็นวงกว้างถึงคนทั้งประเทศ

นี่คือการสร้างสังคมแห่งความ ‘ไม่รู้’ หากเรามองความไม่รู้เป็นต้นเหตุของ ‘ความกลัว’

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ การทำให้หลายคนรู้สึกสว่าง ทั้งๆ ที่มันมืดมนไปทุกทิศนี่แหละ

ดังนั้น ไม่ว่าจะโหวต Yes หรือ โหวต No ไม่ถึงสองสัปดาห์ก่อนวันที่ 7 สิงหาคม ผมขอแชร์ข้อมูลจากเพื่อนของเรา ถึงรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ว่าอนาคตของประเทศ ไม่ใช่เรื่องเล็กเหมือนที่คิด

และคงต้องฝากไปถึงผู้ที่กำลังจะส่งข้อความทางไลน์ในแบบข้างต้น ว่าก่อนใช้ยา ควรอ่านฉลากสักหน่อย อย่างน้อยก็เพื่อรักษาสิทธิ์และสุขภาพของคุณเอง

สรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ:

รวมแหล่งข้อมูลร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับลงประชามติ):

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า