โจทย์ของผู้ว่าฯ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมการพัฒนาเมือง

ก่อนทำความรู้จักกรุงเทพมหานครว่ากำลังประสบพบเจอกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างไร เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจสถานการณ์ภาพรวมผ่านประเด็นหลักอย่างน้อย 2 ประการ คือ เด็ก และความยากจน

ประการแรก อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ที่จัดทำขึ้นโดยสหประชาชาติ และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 นิยามตรงกันว่า “เด็ก” หมายถึง ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์

ประการต่อมา หากวัดความจนโดยใช้ “เส้นแบ่งความยากจน” หรือ Poverty Line ปี 2563 มีการแบ่งความขัดสนผ่านการหารายได้ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเส้นแดง – หากมีรายได้มากกว่านั้นคือพ้นพรมแดนแห่งวิกฤติ น้อยกว่านั้นคือตรงกันข้าม

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ รายงานว่าในปี 2562 ประเทศไทยมีสัดส่วนคนจนอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ต่อเมื่อถึงปี 2563 สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.84 หรือประมาณ 4.8 ล้านคน และหากวัดจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ปี 2563 มีครัวเรือนยากจนเพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 5.51 ของครัวเรือนทั้งหมด หรือราว 1.4 ล้านครัวเรือน ทั้งที่ปีก่อนหน้ามีครัวเรือนยากจนประมาณ 1.31 ครัวเรือน

แน่นอนว่าอัตราที่เพิ่มขึ้นทั้งสัดส่วนคนจนและหนี้ครัวเรือนย่อมมาจากการเกิดโรคระบาดโควิด-19 และก็เช่นกัน ความยากจนดังกล่าวกระทบโดยตรงต่อเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมปลาย หรือกล่าวให้ชัดกว่านั้นคือ กระทบกับเด็กถ้วนหน้าในฐานะที่กลุ่มคนในวัยนี้ยังต้องใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อเรียนรู้และเติบโต

ปัจจัยเสี่ยงและความเปราะบางของแต่ละครัวเรือนมีผลโดยตรงต่อความยากจนของเด็ก สภาพัฒน์ฯ เผยแพร่รายงานความยากจนหลายมิติของเด็กไทยในปี 2564 ที่ไม่ได้ใช้เกณฑ์ของตัวเงินอย่างเดียว แต่เกี่ยวพันถึงการวัดคุณภาพการศึกษา สุขภาพ มาตรฐานความเป็นอยู่ และสวัสดิภาพของเด็ก โดยหากแบ่งเด็กออกเป็น 3 ช่วง คือเด็กปฐมวัย (0-4 ปี) กลุ่มวัยเรียนตอนต้น (5-14 ปี) และกลุ่มวัยเรียนระดับมัธยมปลาย (15-17 ปี) พบว่า กลุ่มที่มีปัญหาความยากจนมากที่สุดคือ เด็กปฐมวัย ซึ่งมีอายุ 0-4 ปี ทั้งที่ช่วงวัยดังกล่าวสมองจะมีพัฒนาการสูงสุดซึ่งส่งผลต่อสติปัญญา บุคลิกภาพ และความฉลาดทางอารมณ์ในอนาคต แต่กลับถูกความขัดสนต่างๆ นานามาขัดขวางพัฒนาการ

รายงานดังกล่าวระบุว่า กลุ่มเด็กปฐมวัยมีสัดส่วนขัดสนมากที่สุดร้อยละ 38.40 โดยเฉพาะในช่วงอายุ 0-2 ปี มีสัดส่วนเด็กยากจนมากถึงร้อยละ 60.90 โดยความขัดสนดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการขาดแคลนหนังสือสำหรับเด็ก อันเนื่องมาจากหนังสือราคาสูง ไม่สัมพันธ์กับรายได้ซึ่งมีเพียงน้อยนิด

เหล่านี้คือตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่า ความขัดสนจนยากเกี่ยวพันกับอนาคตเด็กโดยตรง ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและปัญหาด้านการศึกษา จึงเป็นประเด็นไก่กับไข่ที่ระบุไม่ได้ว่าอะไรเกิดก่อน-หลัง แต่ที่แน่ๆ คือต้องได้รับการแก้ไขทั้งคู่

โฉมหน้ามหานคร

ผลการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ศาสตราจารย์เจมส์ เจ. เฮกแมน (James J. Heckman) แห่ง University of Chicago พบว่า หากมีการลงทุนเพื่อส่งเสริมให้เด็กได้รับพัฒนาการที่สมวัยในช่วง 5 ปีแรกของชีวิต จะให้อัตราผลตอบแทนมากถึงร้อยละ 7-10 เฉพาะปี 2559 พบว่า การลงทุนกับเด็กในช่วงวัยดังกล่าวให้ผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 13 นอกจากนี้เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีทั้งสารอาหารและสุขภาพในช่วงแรกของชีวิต จะมีทักษะทางกายภาพ ความฉลาดทางสติปัญญา และความฉลาดทางอารมณ์ที่ดีกว่าช่วงวัยอื่นๆ

ประเด็นของเรื่องนี้ก็คือคำว่า “การลงทุน” ซึ่งซ้อนทับกับปัญหาใหญ่ของประเทศที่มีอัตราคนจนสูง และความเหลื่อมล้ำมากเป็นทุนเดิม และหากพิจารณาให้จำเพาะเจาะจงมายังเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครยิ่งเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

กรุงเทพฯ มีชุมชนแออัด 641 ชุมชน ประกอบไปด้วย 146,462 ครัวเรือน ประชากร 579,630 คน ร้อยละ 30 ของจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กและเยาวชน

กรุงเทพฯ เป็นเขตปกครองพิเศษ ความยากจนของเด็กกรุงเทพฯ ก็พิเศษกว่าพื้นที่อื่น ย้อนกลับไปมองเส้นความยากจนของคนทั้งประเทศถูกกำหนดไว้ที่รายได้ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน แต่ครอบครัวของเด็กยากจนในกรุงเทพฯ มีรายได้เพียง 1,964 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น โดยร้อยละ 75 ของครัวเรือนในชุมชนแออัดมีรายได้ทางเดียวจากเงินเดือนหรือค่าจ้าง เด็กๆ ร้อยละ 55.89 อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 44.19 เรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษา

การสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในชุมชนแออัดในพื้นที่กรุงเทพฯ จาก 6 ชุมชน จำนวน 1,018 คน พบว่าส่วนใหญ่เลือกลาออกกลางคันเพราะความยากจน (ร้อยละ 22.38) รองลงมาคือปัญหาครอบครัว (ร้อยละ 13.40) ถูกผลักออกจากโรงเรียน (ร้อยละ 10.77) ได้รับความรุนแรง (ร้อยละ 5.52) เกิดจากปัญหาสุขภาพ (ร้อยละ 3.87) ไม่ได้รับสวัสดิการด้านการศึกษา (ร้อยละ 2.76) และอยู่ในกระบวนการยุติธรรม (ร้อยละ 2.35)

ขณะเดียวกัน การสำรวจความต้องการของกลุ่มเด็กนอกระบบการศึกษา พบว่า เด็กต้องการได้รับศึกษามากที่สุด รองลงมาคือที่พักอาศัย การฟื้นฟูสุขภาพกายใจ ต้องการครอบครัวอุปถัมภ์ และต้องการสิทธิสถานะ

ข้อมูลข้างต้นจึงพอจะช่วยให้เห็นภาพได้ว่า แท้จริงแล้วเด็กไม่ได้ต้องการเดินออกจากระบบการศึกษา แต่การหันหลังดังกล่าวเกิดจากสภาพอันบีบคั้นจากความยากจนที่ส่งผลกระทบไปยังปัญหาอื่นๆ แทบทั้งสิ้น

จาก Heckman ถึงศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในกรุงเทพฯ

ดังที่กล่าวมาแล้วจากการศึกษาของศาสตราจารย์เจมส์ เจ. เฮกแมน นั้นพบว่าการลงทุนในเด็กอายุ 0-5 ปี สำคัญอย่างไร หากเราพิจารณาร่วมกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นสถานศึกษา ซึ่งต้องมีหลักสูตรส่งเสริมพัฒนาการเด็ก

กรุงเทพฯ มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนทั้งสิ้น 291 ศูนย์ โดยมีเด็กประมาณ 19,000 คนที่ต้องดูแล บทบาทของศูนย์ฯ เหล่านี้ไม่เพียงพัฒนาทักษะขั้นพื้นฐานให้กับเด็กเท่านั้น แต่เด็กๆ จะมีอาหารกลางวัน และช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้ปกครองมีเวลาทำมาหากิน แต่ที่ผ่านมาศูนย์ฯ หลายแห่งเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องในการบริหารจัดการและไม่มีงบประมาณเพียงพอต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กนักเรียน ยิ่งเจอโรคระบาดโควิด-19 บาดแผลของปัญหานี้ก็ยิ่งปรากฏชัด

รองศาสตราจารย์ ดร.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนมีไม่ครบทุกเขต กระจุกอยู่เพียงบางพื้นที่ เช่น เขตมีนบุรีและหนองจอก มีศูนย์ฯ ถึง 30-40 แห่ง ที่ผ่านมามีการประเมินภายในโดยสำนักงานเขตพบว่ามีศูนย์ฯ ที่อยู่ในระดับดีมากถึงร้อยละ 70 แต่เมื่อใช้องค์กรภายนอกที่มีประสบการณ์ด้านจัดการเรียนรู้ตามพัฒนาการกลับพบว่ามีศูนย์ฯ ที่อยู่ในระดับดีมากเพียงร้อยละ 20 ส่วนกลุ่มที่พอใช้ ปรับปรุง และปรับปรุงเร่งด่วน มีมากถึงร้อยละ 50

รศ.ดร.สมสิริ กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่ศูนย์ฯ เหล่านี้เน้นการดูแลเด็กเชิงกายภาพ แต่ไม่ได้ส่งเสริมพัฒนาการตามวัย บุคลากรที่มาเป็นครูในศูนย์ฯ มีเพียงร้อยละ 15 ที่จบปริญญาตรี ส่วนใหญ่จบเพียงมัธยมปลาย ทำให้มีค่าจ้างเพียง 7,000 บาท ส่วนครูที่จบปริญญาตรีเงินเดือน 15,000 บาท กระนั้นก็ยังพบว่าครูเหล่านี้ได้รับเงินเดือนไม่ตรงเวลา ไม่จ่ายค่าจ้างเมื่อหยุดงาน และไม่เคยขึ้นเงินเดือนเลยตลอดอายุของการทำงาน

ข้อมูลเหล่านี้กำลังอธิบายว่า แม้เจตนารมณ์ของการมีศูนย์ฯ คือส่งเสริมพัฒนาการเด็กและเป็นหลักพิงของครอบครัวที่มีรายได้น้อย แต่ปรากฏว่า หากวัดคุณภาพของศูนย์ฯ ยิ่งกลับเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น ข้อเสนอของ รศ.ดร.สมสิริ นั้นต้องดำเนินการอย่างน้อย 5 ประเด็นหลัก คือ

  1. โอนจากชุมชนไปอยู่ในความดูแลของสำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยเริ่มจากศูนย์ฯ ที่มีความพร้อมวางแผนค่อยๆ โอนย้ายในระยะยาว 3-5 ปี
  2. ผู้ดูแลเด็กและอาสาสมัครต้องมีความรู้เรื่องปฐมวัยมากขึ้น โดยใช้เครือข่ายที่มีองค์ความรู้ที่สามารถสอนอย่างเข้าใจง่าย
  3. ค่าตอบแทนของครูที่กระตุ้นให้พวกเขามีความสุขในการทำงาน อาจมีสวัสดิการที่ดี และให้ครูมีความภาคภูมิใจในการทำงาน
  4. ข้อมูลที่ได้จากการดูแลทั้งพัฒนาการและสุขภาพต้องได้รับการบันทึกอย่างเป็นระบบและถูกส่งต่อไปยังผู้ปกครองและโรงเรียนปลายทาง ซึ่งต้องแปลงข้อมูลให้เข้าใจง่าย ครอบครัวเด็กสามารถนำไปปรับใช้ได้ง่าย
  5. เพิ่มเวลาของครอบครัวให้ปลอดจากเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ วันละ 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้ครยบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน เล่นกัน พูดคุยกัน เพราะเวลาเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยได้

โจทย์ใหญ่ของผู้ว่าฯ กทม. ในทัศนะของ รศ.ดร.สมสิริ ก็คือ จะทำอย่างไรให้โรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนในสังกัด กทม. มีคุณภาพการศึกษาที่เท่ากัน และสามารถทำงานร่วมกันกับคนทำงานในพื้นที่ได้มากขึ้น

ภาพ: ศรุตยา ทองขะโชค

ผู้ว่าฯ กทม. เกี่ยวอะไรกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ปี 2564 กทม. มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งสิ้น 76,451 ล้านบาท ส่วนปี 2565 งบประมาณสูงขึ้นเป็น 79,855 ล้านบาท แต่งบประมาณส่วนใหญ่ใช้ไปกับสำนักการระบายน้ำมากที่สุดกว่า 7,000 ล้านบาท ส่วนงานด้านการศึกษาถูกจัดไว้ลำดับท้ายสุดด้วยงบประมาณ 786 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ที่เคยได้รับงบประมาณ 900 ล้านบาท

แน่นอนว่าในเมืองใหญ่ ปัญหาเยอะ และเรื่องที่เร่งด่วนคือสิ่งที่ปรากฏชัดตรงหน้า เช่น น้ำท่วม รถติด ความสะอาด กระทั่งทางเท้า นั่นทำให้ความสำคัญของการศึกษาถูกจัดลำดับสะท้อนผ่านงบประมาณ แต่ใช่หรือไม่ว่า วิสัยทัศน์อาจสำคัญพอๆ กับจำนวนเงิน

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ลักษณะของครอบครัวเด็กยากจนในกรุงเทพฯ มีอยู่ 15 กลุ่ม อาทิ แรงงานเด็ก เด็กในชุมชนแออัด แม่วัยใส หรือเด็กชาติพันธุ์ เด็กเหล่านี้มีภาวะเสี่ยงออกนอกระบบการศึกษา เด็กที่ออกกลางคัน 50,000 คน มีถึง 25,000 คนที่ถูกดำเนินคดีและเข้าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน หนึ่งในสาเหตุคือการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการที่ไปครอบงำทั้งหมดในโรงเรียนสังกัด กทม.

ข้อเสนอของ ศ.ดร.สมพงษ์ คือ กทม. ควรใช้อำนาจจากการเป็นเขตปกครองพิเศษมาออกแบบการศึกษาของตนเอง มีอิสระและไม่ต้องยึดติดกับแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้วิสัยทัศน์ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่กำลังจะถูกเลือกตั้งเข้ามา ไม่ใช่แค่เพื่อปลดล็อก แต่ต้องปลดแอกการศึกษา กทม. ให้ออกจากกระทรวงศึกษาธฺการให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) และนักเศรษฐศาสตร์การศึกษา อธิบายว่า เมืองใหญ่มักสะสมความปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาช้านาน เพราะเมื่อพ่อแม่ย้ายถิ่นฐานตามสภาวะทางเศรษฐกิจก็จะกระทบกับเด็กๆ ด้วยเสมอ หากมองเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ จะพบว่า ทั้งโรงเรียนที่มีคุณภาพสูงมากไปจนถึงโรงเรียนในชุมชนที่ขาดแคลนทรัพยากร ซ้ำเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีกลุ่มเด็กยากจนพิเศษเพิ่มสูงขึ้นถึง 300,000 คน จากภาพรวมรายได้ต่อครัวเรือนประมาณ 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน เหลือเพียง 1,000 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้น

“ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เราอาจคิดว่าเด็กจะเข้าถึงเครื่องมืออุปกรณ์ทางการศึกษาได้ง่าย แต่จากการลงพื้นที่สำรวจเด็กยากจนพิเศษ 1,408 คน มีร้อยละ 4 ที่ยังใช้น้ำบาดาล ร้อยละ 59 ไม่มีโทรทัศน์ และมีเด็กยากจนพิเศษแค่ 7 คนที่มีคอมพิวเตอร์สำหรับเรียนออนไลน์ ตลอดจนเด็กร้อยละ 1.7 ที่ไม่มีแม้กระทั่งไฟฟ้าใช้”

ดร.ภูมิศรัณย์ เสนอว่า กทม. สามารถใช้กฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นแนวทางได้ แต่ที่สุดต้องออกแบบการเรียนการสอนได้เอง โดยทำตามสิ่งที่คนในพื้นที่เห็นสมควร และต้องไม่ลืมเด็กยากจนในชุมชนแออัดหรือเด็กชายขอบ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของความยั่งยืนในกรุงเทพฯ ดังนั้นการขับเคลื่อนการศึกษาจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อเด็กในกระแสหลักเท่านั้น แต่ต้องทำให้ทุกองคาพยพสามารถเดินไปในเมืองหลวงพร้อมกันได้

ภาพ: ศรุตยา ทองขะโชค

เด็กชายขอบของเมืองหลวง

ศิริพร พรมวงศ์ ผู้ซึ่งทำงานอยู่ในชุมชนคลองเตยมานาน ปัจจุบันเป็นผู้จัดการโครงการ “คลองเตยดีจัง” โจทย์สำคัญคือการทำให้เด็กได้เติบโตในชุมชนที่ดีแม้จะมีชีวิตอยู่ในพื้นที่คับแคบก็ตาม แต่เป้าหมายเล็กน้อยเช่นนี้กลับไม่เคยเป็นเรื่องง่ายเลยที่จะไปถึง

“เด็กอยากเป็นโจร เด็กทำบทบาทสมมุติเล่นขายประเวณี มีแม่เล้าเป็นเด็ก 6 ขวบ เด็กไม่รู้ว่าคือการเล่นอะไร แต่เขารับรู้จากวิถีชุมชนจากการเล่าของครอบครัวที่เด็กซึมซับโดยไม่รู้ตัว อย่างตอนที่เรากำลังทำกิจกรรมวาดรูปกับเด็ก เขาเห็นพ่อถูกตำรวจจับขึ้นรถมอเตอร์ไซค์ แต่เด็กกลับเฉยๆ และระบายสีต่อ เพราะเป็นเรื่องเคยชินของพวกเขา”

อธิบายเพียงเท่านี้ก็น่าจะสัมผัสได้ว่าหากต้องระบายสีตามระดับความรุนแรงของปัญหาในคลองเตย – สีนั้นควรจะเป็นสีใด

ศิริพร ยกตัวอย่างปัญหาครอบครัวในคลองเตยว่า มีตั้งแต่ยายเป็นผู้ป่วยติดเตียง แม่ติดยา พอเด็กอายุ 15 ปี ก็บอกลาห้องเรียน จากการที่ตนเข้าไปคลุกคลีตีโมงผ่านการทำกิจกรรมกับเด็กราว 100 คน มีเพียง 1 คน ที่เรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย แม้จะอยากเรียนต่อเพียงใด แต่ความยากจนมักจะบีบให้พวกเขาทนอยู่ในห้องเรียนไม่ได้ทั้งนั้น

“ตอนแรกเราแก้ปัญหาด้วยการผลักเด็กให้กลับเข้าไปในระบบ แต่สุดท้ายเด็กก็ออกมาอีกเพราะเขาไม่มีความสุข เราเลยจดทะเบียนโรงเรียนเอง เพราะฉะนั้นรัฐน่าจะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถจัดการศึกษาได้เองและสนับสนุนงบประมาณ แต่กลับพบว่าแม้กฎหมายจะอนุญาตให้เปิดศูนย์การเรียนได้มานานแล้ว แต่รัฐก็ไม่มีเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาเหล่านี้

“เราตอบคำถามเด็กไม่ได้ว่า ทำไมสนามบาสของเขาถึงสำคัญน้อยกว่าเสาโฆษณา”

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ทำงานเกาะติดทั้งประเด็นคนจนเมือง ชุมชนแออัด และคนไร้บ้าน ปัจจุบันรับอีกบทบาทคือ ผู้ดูแลโครงการเด็กนอกระบบในกรุงเทพมหานคร ภายใต้การสนับสนุนของ กสศ.

อนรรฆ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความเปราะบางหรือความด้อยโอกาสของเด็กเยาวชนในกรุงเทพฯ ยังเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงน้อยในเชิงนโยบายการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะนโยบายเชิงสังคม ทั้งที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีศักยภาพสูง พร้อมด้วยทรัพยากรหลายด้าน หากจะกล่าวถึงโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร งบประมาณ หน่วยงาน รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ในการทำงานเกี่ยวกับเด็กเปราะบางด้อยโอกาส หรือเด็กบนท้องถนนที่ส่วนหนึ่งคือเด็กนอกระบบการศึกษา ซึ่ง กทม. สามารถดำเนินการได้ทันที โดยเชื่อมต่อเข้ากับหน่วยงานหรือองค์กรที่ทำงานด้านนี้อยู่แล้ว 

“สิ่งที่ผู้บริหาร กทม. สามารถทำได้อย่างรวดเร็วคือ ประกอบรวมการทำงานที่มีอยู่แล้วมาบริหารจัดการใหม่ สร้างเครือข่ายเชื่อมโยง และดูแลสนับสนุนคณะทำงานแต่ละกลุ่มให้ทำงานได้เต็มที่ยิ่งขึ้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องทำเป็นนโยบายใหม่เลย

“ที่สำคัญคือต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของครูนอกระบบ หรือกลุ่มเอ็นจีโอต่างๆ ให้มีความพร้อม มีสภาพแวดล้อมที่ดี เข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นในการทำงาน โดย กทม. เองต้องร่วมทำงานในลักษณะพาร์ทเนอร์ชิพ คอยประสานและสนับสนุนภาคประชาสังคมและชุมชนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดระบบการค้นหาและดูแลช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษา เด็กบนท้องถนน และเด็กด้อยโอกาสทุกกลุ่มในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

“ทั้งนี้เพื่อเป็นการอุดช่องโหว่ไม่ให้เด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19”

ทั้งหมดนี้คือภาพบางเสี้ยวที่เราต้องทบทวนไปพร้อมๆ กับเกาะกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเราได้เห็นทั้งปัญหา งบประมาณ และโอกาส ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้มหานครแห่งนี้กลายเป็นเมืองที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน 

เพื่อให้เดินทางไปถึงจุดนั้น บางทีเราอาจต้องวกกลับไปทบทวนความเห็นของ ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่กล่าวไว้ในตอนต้นอีกสักเล็กน้อยว่า กรุงเทพฯ ต้องการผู้ว่าราชการจังหวัดที่มี “วิสัยทัศน์” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในมหานครทั้งระบบ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาของเด็กชายขอบในเมืองกรุง

อ้างอิง

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า