9 ชั่วโมง
9 ชั่วโมง คือระยะเวลาการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
2,632,935 คน
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า (ข้อมูลสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. – 19 ก.พ. 2562 ) โดยมีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขตเลือกตั้ง ทั้งประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 2,632,935 คน โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจำนวน 2,318,548 คน และสำนักทะเบียนท้องถิ่นจำนวน 314,387 คน
ผู้ลงทะเบียนสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 928,789 คน ชลบุรี 221,541 คน สมุทรปราการ 164,575 คน ปทุมธานี 134,783 คน และนนทบุรี 97,321 คน
1 ใบ
การเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เพราะใช้ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘ระบบจัดสรรปันส่วนผสม’ (Mixed Member Apportionment System: MMA) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกผู้สมัครที่ประจำเขตเลือกตั้ง หรือ ส.ส. แบบแบ่งเขตเท่านั้น คะแนนเสียงที่เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตจะถูกนำไปใช้คำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อหรือ ‘ปาร์ตี้ลิสต์’ ของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครคนนั้นสังกัดอีกต่อหนึ่ง
การกานอกเขต
การเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ ส.ส. จะมาจากพรรคเดียวกัน แต่อยู่คนละเขต ทำให้หมายเลขต่างกัน เมื่อถึงเวลากาลงคะแนนเสียง ประชาชนจะต้องจำให้ได้ว่าผู้สมัครในเขตที่ตนเองหมายตาไว้นั้นใช้หมายเลขใด แต่ถ้าเอาชัวร์ให้จำชื่อและโลโก้ของพรรคที่ตั้งใจจะเลือก
หลักฐานแสดงตัวตน (เป็นประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็ใช้หลักฐานเหมือนกัน)
บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุก็สามารถใช้ยืนยันตัวตนได้ หรือหลักฐานแสดงตัวตนอื่นที่รัฐออกให้ โดยมีภาพถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนระบุ
Do
– ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ป้ายประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง
– ยื่นบัตรประชาชนและลงลายมือชื่อในรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
– ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาด้านบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง พร้อมรับบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ คือ บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต
– เข้าคูหาตรวจสอบหมายเลขผู้สมัคร โลโก้พรรค และชื่อพรรคของผู้สมัครที่ต้องการเลือก แล้วลงคะแนนโดยการทำเครื่องหมายกากบาท X ในช่องว่างสำหรับทำเครื่องหมาย ไม่เกินหนึ่งหมายเลข หรือ ทำเครื่องหมาย X ใน “ช่องไม่เลือกผู้สมัครใด” ที่มุมด้านขวาล่าง หากไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครใด
– เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วพับบัตรเลือกตั้งให้เรียบร้อยและหย่อนบัตรลงในหีบบัตรเลือกตั้ง
Don’t
– ห้ามส่งเสียงและห้ามขายหรือจัดเลี้ยงสุรา ตั้งแต่ 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
– ห้ามนายจ้างขัดขวางการไปใช้สิทธิของลูกจ้าง
– ห้ามขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง
– ห้ามจัดยานพาหนะ (ยกเว้นหน่วยงานรัฐ) ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกตั้ง โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสาร
– ห้ามทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดอย่างจงใจ
– ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ลงคะแนนแล้วด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดๆ
วิธีนับคะแนน
หลังจากเสร็จสิ้นการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว กรรมการประจำหน่วยจะจัดส่งบัตรลงคะแนนไปรวมไว้ที่ไปรษณีย์ และจะมีเจ้าหน้าที่ของ กกต. ไปคัดแยกเพื่อให้ไปรษณีย์นำไปส่งยังเขตต่างๆ ของผู้ใช้สิทธิ โดยเขตจะทำการเก็บรักษาบัตรลงคะแนนไว้ในสถานที่ปลอดภัย มีการจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแล รวมถึงผู้แทนของพรรคการเมืองก็สามารถยื่นความจำนงขอติดตามการเก็บรักษาบัตรได้ โดยบัตรจะถูกนำออกมานับหลังการลงคะแนนในวันที่ 24 มี.ค.
อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลว่า การเก็บรักษาบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าจะมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน เพราะจำนวนบัตรที่มีมากถึงเกือบ 3 ล้านใบ ย่อมหมายถึงคะแนนเสียงเกือบ 3 ล้านเสียง