จังหวะและทางรอดของพรรคที่กำลังตัดสินใจ

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ภายหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้คะแนนของ 7 พรรคการเมืองฝ่ายคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. นำโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ถูกเล่ห์กลการคำนวณ สส. ระบบบัญชีรายชื่อ ทำให้จำนวน สส. ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 255 เหลือ 245 ที่นั่ง ทำให้กระแสการเมืองตีกลับจนเลยเถิดว่า พรรคพลังประชารัฐที่ได้คะแนนจากพรรคเล็กมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลด้วยคะแนนเสียง 255 ที่นั่ง

เพราะจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า พรรคอื่นๆ นอกเหนือจาก 7 พรรคการเมืองข้างต้น จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐทั้งหมด พรรคเหล่านี้จึงควรถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘พรรคที่ยังไม่ตัดสินใจ’

อีกทั้ง หากเรา ‘อ่าน’ ผลการเลือกตั้งให้แตก ก็จะเห็นได้ชัดว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ได้สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. กล่าวคือ 7 พรรคการเมืองที่ประกาศตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งว่า คัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ยังคง ได้คะแนนเสียงรวมกันถึง 245 เสียง หรือคิดเป็น 49 เปอร์เซ็นต์ของจำนวน สส. ที่ กกต. รับรองผล

ส่วนพรรคการเมืองที่ประกาศชัดเจนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่าสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) และพรรคประชาชนปฏิรูป (นายไพบูลย์ นิติตะวัน) ได้จำนวน สส. รวมกันเพียง 121 คน หรือคิดเป็น  24 เปอร์เซ็นต์ของจำนวน สส. ที่ กกต. รับรองผล เรียกว่า น้อยกว่าฝั่งประชาธิปไตยถึงหนึ่งเท่าตัว

อีกทั้งพรรคการเมืองที่ได้จำนวน สส. สูงสุดคือพรรคเพื่อไทยในฝั่งประชาธิปไตยก็ได้ถึง 136 ที่นั่ง สูงกว่า พรรคพลังประชารัฐที่ได้เพียง 115 ที่นั่ง ห่างกันถึง 21 ที่นั่ง

ส่วนพรรคที่เหลืออย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ฯลฯ ไม่มีพรรคไหนกล่าวชัดๆ ก่อนเลือกตั้งว่า จะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป จึงสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ลึกๆ แล้ว พรรคเหล่านี้ก็รู้ดีว่า หากประกาศสนับสนุนลุงตู่อาจเสียคะแนนนิยมได้ จึงเลี่ยงไม่พูดประเด็นนี้ เราจึงไม่อาจตีความได้ว่า ประชาชนที่เลือกพรรคเหล่านี้เพราะอยากสนับสนุนฝั่งพลังประชารัฐ

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า พรรคที่เลี่ยงประเด็นนี้มาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งและยัง ‘แทงกั๊ก’ มาจนถึงทุกวันนี้ จะตัดสินใจอย่างไร เมื่อสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจมาถึงแล้ว โดยเฉพาะสองพรรคขนาดกลางอย่างพรรคประชาธิปัตย์ (52 ที่นั่ง) และภูมิใจไทย (51 ที่นั่ง)

สำหรับผู้เขียนแล้ว จังหวะสถานการณ์ขณะนี้เหมาะสมอย่างยิ่งที่พรรคซึ่งยังไม่ได้ตัดสินใจ จะต้องหันมาเทคะแนนให้ฝั่งประชาธิปไตย

ประการแรก หากพรรคการเมืองอยากจะมีอนาคตยืนยาว พรรคการเมืองต้องไม่ฝืนกระแสประชาชน  ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาบอกแนวโน้ม (trend) ได้เป็นอย่างดีว่า ฝ่ายประชาธิปไตยได้ สส. เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์  (ถ้าไม่ถูกเล่ห์จากคะแนนระบบบัญชีรายชื่อก็เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ แน่นอน) โดยเฉพาะคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่ที่เทให้พรรคอนาคตใหม่อย่างเหนือความคาดหมาย พวกเขาจะเป็นอนาคตของสังคม ดังนั้น พรรคที่ยังไม่ตัดสินใจน่าจะเลือกได้ไม่ยากว่า จะเดินไปกับอนาคต หรือจะจมปลักอยู่ฝ่ายที่กำลังตายซาก

การเลือกไปสมทบให้ฝั่งประชาธิปไตยชนะเด็ดขาด และเดินหน้าต่อไปด้วยการยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคตจะได้เป็นการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม นี่คือทางที่ควรเลือกเดินอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่เคยบอกว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องให้ สส. เป็นคนโหวตเลือกให้ได้ 376 เสียง โดยไม่ต้องอาศัยเสียง สว. ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า การเลือกฝ่ายนี้เป็นทางเดียวที่เป็นไปได้มากที่สุด

ตรงกันข้ามหากพรรคที่ยัง ‘กั๊ก’ เลือกฝ่ายหนุนลุงตู่ที่ได้ สส. รวมกันเพียง 1 ใน 4  (หรือเสี้ยวหนึ่งของทั้งหมดเท่านั้น) เพื่อให้ได้คะแนน สส. รวมเกินกึ่งหนึ่งมาเล็กน้อย ก็จะได้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่ขาดเสถียรภาพ ขาดความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจที่ไม่ดีอยู่แล้ว แย่ลงไปอีก เป็นการผลักประเทศให้ยืนอยู่บนความง่อนแง่น

ประการที่สอง พรรคการเมืองจะเป็นพรรคไร้อนาคต หากฉ้อฉลเจตนารมณ์ของประชาชน พรรคการเมืองหลายพรรคตั้งแต่พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา มักจะเล่นบทปลอดภัยไม่ยอมผูกมัดว่า ตนอยู่กับขั้วการเมืองใด โดยบอกว่าต้องดูผลการเลือกตั้งหรือฟังเสียงประชาชนนั้น เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ได้ สส. มากที่สุดแสดงว่า เสียงประชาชนบอกแล้วว่า อยากให้พรรคใดเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หากรับฟังเสียงประชาชนจริง มากกว่ากลัวอำนาจของ คสช. ก็น่าจะตัดสินใจเลือกฝั่งประชาธิปไตยได้ไม่ยาก

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีท่าทีที่ต่างจากพรรคอื่นๆ เพราะก่อนการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประกาศตัวเป็นขั้วที่สาม ไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจของ คสช. และไม่ยอมรับระบอบทักษิณ คะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกพรรคประชาธิปัตย์มาเกือบ 4 ล้านเสียง (51 สส.) ย่อมคำนึงถึงแล้วว่า เพราะหัวหน้าพรรคประกาศไม่สนับสนุน คสช. จึงเป็นคะแนนเสียงที่ต้องได้รับการเคารพ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์กลับไปหนุนพรรคพลังประชารัฐ ก็เท่ากับหักหลังคะแนนเสียงเกือบ 4 ล้านเสียงของตนเอง

ส่วนที่มีการวิเคราะห์ว่า การประกาศไม่หนุนพลเอกประยุทธ์ ของนายอภิสิทธิ์ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงน้อย เพราะคนหันไปเทให้พรรคพลังประชารัฐ และทำให้ สส. บางส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ อยากจะเข้าร่วมกับฝ่ายคสช. นั้น ผู้เขียนขอให้ทบทวนทางเลือกนี้ให้ดี เพราะจะส่งผลเสียต่อพรรคทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว เฉพาะหน้าก็คือ ทรยศคะแนนเสียง 4 ล้านเสียง ดังที่กล่าวไปแล้ว

ส่วนผลเสียในระยะยาวก็คือ จะทำให้พรรคถูกตราหน้าว่าเป็นพรรคสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารตลอดไป น่าแปลกใจว่า คนในพรรคประชาธิปัตย์บางคนที่วิเคราะห์ว่า หากประกาศสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ให้เต็มตัวแล้วจะได้คะแนนเสียงดี ทำไมเขาเหล่านั้นจึงไม่ไปลงสมัครพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำเสียเลย นั่นก็เพราะว่า พวกเขาก็รู้อยู่แก่ใจว่า การชูพลเอกประยุทธ์ หรือทำตัวเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมสุดขั้วนั้นจะเป็นผลเสีย

ผลการเลือกตั้ง ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ฝ่ายที่ประกาศชัดว่าสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ได้จำนวน สส. รวมเพียง 24 เปอร์เซ็นต์ หากพรรคประชาธิปัตย์เลือกทางนี้ อาจจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนที่คิดว่าตัวเองสูญเสียให้พรรคพลังประชารัฐกลับคืนมาได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ดุลในฝ่ายนี้เพิ่มมากขึ้นนัก เพราะเป็นการดึงคะแนนในฝ่ายเดียวกันเท่านั้น ตรงกันข้าม จะทำให้เสียคะแนนโหวต 4 ล้านเสียง ที่โหวตให้ในครั้งนี้ไม่มากก็น้อย

ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ จึงควรกลับมายืนในหลักการที่เคยเป็นมาก่อนปี 2550 คือเป็นพรรคที่ ‘เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา’ ตามคำของนายชวน หลีกภัย บุคลากรคนสำคัญของพรรค ไม่ใช่การหวังพึ่งอำนาจนอกระบบ จากนั้นก็ปรับปรุงพรรคให้ทันกับยุคสมัย จะรักษาภาพลักษณ์ว่าเป็นพรรคซื่อสัตย์สุจริตตามภาพลักษณ์ของนายชวนก็ไม่ว่า แต่ต้องบวกด้วยความฉับไวและมีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้ แต่อย่าเลือกทางผิดสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยเด็ดขาด เพราะนั่นคือการขุดหลุมฝังตัวเอง

แต่โจทย์ของพรรคประชาธิปัตย์ ต่างจากพรรคอื่นๆ ก็คือ เป็นพรรคที่ตั้งเงื่อนไขว่า ไม่ร่วมกับระบอบทักษิณ ผู้เขียนเห็นว่า การยึดติดกับวาทกรรมต่อต้านระบอบทักษิณ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์อับจนทางเลือก ขณะนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไปมากแล้ว โดยเฉพาะการถูกถอดยศถอดตำแหน่งของนายทักษิณ ชินวัตร ทำให้เขากลับมามีบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองได้ยากมาก (ผู้เขียนเองก็อยากจะเรียกร้องพรรคเพื่อไทยให้แสดงออกอย่างชัดเจนให้ฝ่ายอื่นๆ หมดข้อกังขาเช่นกันว่า เป็นพรรคที่เป็นอิสระจากตระกูลชินวัตร การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยไทยจะเดินหน้าไปได้ดีกว่าที่เป็นอยู่)

ดังนั้น ทางเลือกของสถานการณ์ปัจจุบัน ที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องตัดสินใจจึงอยู่ที่ว่า จะทำให้ระบบสภาผู้แทนฯ เข้มแข็ง หรือจะทำให้อำนาจนอกระบบอยู่เหนือผู้แทนประชาชนต่อไป หากเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาจริงก็ต้องถือโอกาสนี้นำพาตัวเองกลับมาในฝั่งประชาธิปไตย แถลงว่า เงื่อนไขสถานการณ์ต่างไปจากอดีตแล้ว นายทักษิณ  ชินวัตรถูกปลดยศ ปลดตำแหน่ง จนครอบงำพรรคเพื่อไทยไม่ได้แล้ว จึงยินดีสนับสนุนซีกประชาธิปไตย ปลดอำนาจ คสช. ก็จะพลิกโฉมหน้าใหม่ของการเมืองไทยไปอีกยุคหนึ่งทันที

ประการที่สาม ไม่มีเหตุผลอะไรที่พรรคอื่นๆ จะต้องไปกินน้ำใต้ศอกของ คสช. และพรรคพลังประชารัฐ ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาสะท้อนว่า คะแนนนิยมในตัวพลเอกประยุทธ์และผลงานรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ได้มากจนทำให้พรรคพลังประชารัฐชนะเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่กลไกต่างๆ ช่วยสนับสนุน ก็ยังได้แค่นี้ แล้วทำไมในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคอื่นๆ จะต้องยอมให้พลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐได้ตำแหน่งมากมาย ดังกระแสข่าวที่ว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รมว.มหาดไทย รมว.กลาโหม กระทรวงหลักทางด้านเศรษฐกิจ อย่างกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ เป็นโควตาของพรรคพลังประชารัฐหมด

ความนิยมในตัวพลเอกประยุทธ์ น้อยมาก ต่างจากสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 2523-2531 และพรรคการเมืองต้องยอมให้พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมโควตากระทรวงหลัก แต่สถานการณ์ปัจจุบันพรรคการเมืองต่างเข้มแข็งขึ้นมาก การเลือกตั้งเป็นการแข่งขันทางนโยบาย เพื่อหาคะแนนเสียงจากประชาชน ทำไมพรรคอื่นๆ จะต้องมาร่วมรัฐบาลกับพรรคที่แสดงให้เห็นแล้วว่า ประชาชนไม่ได้ชื่นชอบ

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเห็นใจพรรคที่ยังกำลังตัดสินใจ และเข้าใจว่า หาก คสช. ไม่มีอำนาจพิเศษอย่างองค์กรอิสระที่ตั้งมากับมือและสมาชิกวุฒิสภาอีก 250 คน ที่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคอื่นๆ คงตัดสินใจเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับฝ่ายประชาธิปไตยแล้ว

แต่ถึงกระนั้น เมื่อผลการเลือกตั้งแสดงออกอย่างชัดแจ้งว่า ฝ่ายสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ได้เพียง 24 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น พรรคที่เหลือ ควรใช้โอกาสนี้พลิกมาสนับสนุนให้ฝ่ายประชาธิปไตยที่มีต้นทุนอยู่แล้ว 49 เปอร์เซ็นต์ ให้ช่วยชนะเด็ดขาด ปิดฉาก คสช. และปลดแอกพรรคการเมืองจาก คสช. ลองคิดภาพว่า หากฝ่ายประชาธิปไตยเดิม 245 เสียง รวมกับพรรคที่ยังไม่ตัดสินใจอีก 132 เสียง รวมเป็น 377 เสียง จะเป็นภาพที่งดงามขนาดไหน ประชาชนย่อมโห่ร้องยินดีกับการส่ง คสช. กลับบ้าน

หรือต่อให้ ไม่ได้คะแนนเสียงจากพรรคที่ยังไม่ตัดสินใจทั้งหมด 132 เสียง แต่อย่างน้อยหากรวมพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และ พรรคชาติพัฒนา ได้อีก 86 เสียง ผู้เขียนเชื่อว่าจะกดดัน สส. พรรคเล็ก ให้รีบเปลี่ยนฝั่งมาอยู่ซีกประชาธิปไตยได้ รวมถึงกดดัน สว. บางคน ที่แม้จะถูกแต่งตั้งจาก คสช. ให้รีบสละเรือ คสช. โหวตไล่ คสช. กลับบ้าน

จังหวะและทางรอดที่เสนอมานี้ จึงไม่ใช่แค่ทางรอดของพรรคที่ยังไม่ตัดสินใจเท่านั้น แต่ควรนับว่า เป็นทางจำเป็นสำหรับสังคมไทย ให้หลุดพ้นจากระบอบ คสช. และวาทกรรม ‘ระบอบทักษิณ’ และนี่จะเป็นการพาสังคมการเมืองไทยไปอีกขั้นหนึ่ง ไม่ใช่ย่ำอยู่กับวังวนเดิม

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า