23 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดขอนแก่น ได้ประกาศผลการเลือกตั้งซ่อม สส. ขอนแก่นเขต 7 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2562 อย่างเป็นทางการว่า สมศักดิ์ คุณเงิน ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชนะ ธนิก มาสีพิทักษ์ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ด้วยคะแนน 40,252 คะแนน ต่อ เพื่อไทย 38,010 คะแนน ท่ามกลางผู้ออกมาใช้สิทธิประมาณ 61.38 เปอร์เซ็นต์
ด้วยผลลัพธ์เช่นนี้เอง เกิดคำถามตามมาไม่น้อยต่อพื้นที่หัวใจของพรรคเพื่อไทยว่า สาเหตุของความพ่ายแพ้มาจากอะไร ทั้งที่พื้นที่เดียวกันนี้เคยยืนหยัดปฏิเสธอำนาจจากคณะรัฐประหารมาได้หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิเสธไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คสช. เมื่อปี 2559 หรือกระทั่งการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ภาพสะท้อนจากการเลือกตั้งซ่อมครั้งล่าสุดนี้เป็นสัญญาณบอกทิศทางของการเมืองอีสานได้อย่างไรบ้าง
ผืนดินอีสานนับว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่มีนักการเมืองในฐานะตัวบุคคลผูกขาดชัดเจนมาอย่างน้อยที่สุดคือหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 การแข่งขันในยุคพรรคการเมืองหลายพรรคระหว่างปี 2535-2540 ล้วนสับเปลี่ยนแข่งขันไปมาจนภาคอีสานกลายเป็นฐานสนับสนุนรัฐบาลนับตั้งแต่ ชาติไทย ความหวังใหม่ ไทยรักไทย พลังประชาชน มาจนถึงเพื่อไทย พร้อมๆ กับสั่งสอนผู้แทนที่ ‘แปรพรรค’ มาหลายต่อหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในปี 2550 และปี 2554
กระนั้นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ซึ่งเกิดขึ้นที่หนองเรือ-มัญจาคีรี ก็อาจจะแง้มให้เห็นรางๆ แล้วว่าภูมิทัศน์การเลือกตั้งในยุครวมศูนย์อำนาจหลังรัฐประหาร 2557 และอิทธิพลของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เริ่มเคลื่อนไปจากภาพเดิมที่คุ้นชินตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผล 3 ประการถัดจากนี้
1. ไม่ใช่ส่งเสาไฟฟ้าลงจะได้เป็นผู้แทนฯ
“แม้ว่าความนิยมที่มีต่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในหมู่ผู้เลือกตั้งของภาคอีสานจะเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่เราจะต้องระมัดระวังที่จะไม่พูดเกินไปเกี่ยวกับอิทธิพลของพรรคที่มีต่อผู้เลือกตั้ง มีหลายกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยซึ่งชนะเลือกตั้งในปี 2544 แต่แพ้ในปี 2548 อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งเหล่านี้เสียที่นั่งของตัวเอง อันเนื่องมาจากพวกเขาไม่มีผลงาน”1
คำเตือนมาจากอดีตอันใกล้ของ สมชัย ภัทรธนานันท์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองอีสานจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยในการชนะการเลือกตั้งของผู้แทนจากพรรคไทยรักไทย แม้กระทั่งในช่วงที่พีคที่สุดคือ 2546-2548 นั้นมิได้มีปัจจัยใดโดดเด่นชี้ขาด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของพรรคหรือความนิยมส่วนบุคคล เพราะหากนักการเมืองของพรรค ‘ไม่มีผลงาน’ ซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยหลายประการ อาทิ ความสามารถส่วนบุคคล นโยบายพรรคการเมือง เครือข่ายทางการเมือง อำนาจทางการเมือง เป็นต้น ก็ล้วนต้องเผชิญความยากลำบากบนสังเวียนเลือกตั้ง กรณีนี้ต้องตระหนักว่าเกิดขึ้นใต้กติกาการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งสะท้อนเสียงของประชาชนได้ชัดเจนกว่ากติกาในรัฐธรรมนูญ 2560
มาถึงในส่วนการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (mixed member apportionment system-MMA) กำหนดให้เหลือบัตรเลือกตั้งมีเพียงใบเดียว อันเป็นการเลือก สส. ในระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อไปพร้อมกัน และยังมีการคำนวณแบบใหม่เข้ามาใช้ ด้วยการนำผลรวมของคะแนนการเลือกตั้งในระดับเขตของแต่ละพรรคการเมืองมารวมเป็นผลรวมของทั้งประเทศ เพื่อหาสัดส่วนที่นั่งทั้งหมดที่แต่ละพรรคควรได้ ส่งผลให้พรรคการเมืองใหญ่อ่อนแอหรือพูดให้ชัดกว่านั้นตาม อัลเลน ฮิคเคน (Allen Hicken) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน วิเคราะห์ไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อลดทอนอำนาจของพรรคเพื่อไทย”2
ลักษณะที่สำคัญของการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 จึงเป็นการทำลายการเมืองแบบอุดมการณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้คือการเมืองสีเสื้อ (เหลือง-แดง) คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร 2519 เมื่อพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายถูกยุบ พร้อมๆ กับการแบ่งปันอำนาจบางส่วนจากรัฐบาลเผด็จการมาสู่นักการเมืองท้องถิ่น เจ้าพ่อภูธร และนายทุนท้องถิ่น3 การแข่งขันเช่นนี้เองจึงทำให้การเลือกตั้งเสียงของประชาชนไม่ถูกสะท้อนออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา ขณะที่ปัจจัยหลายตัวที่เคยเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นผู้แทนฯ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายพรรคหรือความสามารถของผู้สมัคร ก็ไม่ได้โดดเด่นชัดเจนฉีกจากกัน สิ่งที่เข้ามาแทนที่คือกลไกของรัฐและตำแหน่งแห่งที่ของผู้สมัครที่เอื้อต่อการได้มาซึ่งผลประโยชน์ในพื้นที่
2. นักการเมืองภูธรในอุปถัมภ์ของทุนผูกขาด
ในแง่นี้ ความเปลี่ยนแปลงของการเลือกตั้งระดับชาติ ซึ่ง ‘ธนกิจการเมือง’ (money politics) ที่ไม่ได้มีความหมายตื้นๆ เพียงแค่การซื้อเสียง หากแต่รวมถึงการตอบแทนผลประโยชน์ทั่วไประหว่าง ผู้สมัคร หัวคะแนน และผู้ออกเสียง ก็กลับมาอีกครั้ง ลักษณะเช่นนี้เคยมีบทบาทสำคัญและหายไปหลังการมาถึงของนโยบายพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจลงคะแนนของประชาชนแทน ผลการเลือกตั้งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ยืนยันให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงตรงนี้อย่างชัดเจน
ก่อนหน้านั้นนโยบายของพรรคการเมือง ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ อำนาจของรัฐบาลขึ้นอยู่กับการต่อรองของมุ้ง-นักการเมือง-เจ้าพ่อ-ข้าราชการ-กองทัพ และขาดซึ่งเอกภาพที่จะสะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง
ระบบการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2540 (รวมถึง 2550) เข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าวทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ การเลือกตั้งเปลี่ยนมาสู่การคิดค้นนโยบายใหม่ๆ นำเสนอให้กับประชาชนตัดสินใจ ข้าราชการ และมาเฟียท้องถิ่นถูกลดความสำคัญลงไป ผลประโยชน์เฉพาะหน้าไม่ใช่ปัจจัยหลักในการได้มาซึ่งผู้แทนฯ อีกต่อไป เห็นได้จากการเลือกตั้งอย่างน้อย 3 ครั้งหลังสุด พรรคการเมืองที่ใช้งบประมาณหาเสียงสูงสุดกว่าพรรคอันดับสองเกือบเท่าตัว ไม่สามารถคว้าชัยชนะเลือกตั้งได้เลย
รัฐธรรมนูญ 2560 ได้พาการเมืองไทยกลับไปสู่สภาวะที่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าเข้ามามีบทบาทนำในการได้มาซึ่งผู้แทนฯ อีกครั้ง
‘ผลงาน’ ที่จับต้องได้จึงสัมพันธ์กับการได้เป็นผู้แทนฯ ฝ่ายรัฐบาลอย่างแนบแน่น เพราะพรรคการเมืองที่อย่างน้อยคนอีสานเลือกไม่สามารถสร้างสรรค์นโยบายออกมาตอบสนองต่อประชาชนได้ พรรคที่ชื่นชอบถูกสกัดด้วยกลไกต่างๆ ประชาชนจะต้องจำใจเลือกนักการเมืองไปตามผลประโยชน์เฉพาะหน้า ด้วยเหตุที่ว่าอำนาจที่แท้จริงยังไม่ได้อยู่ที่ผู้แทนฯ ที่เขาเลือก การเลือกตั้งไม่มีความหมาย แต่กลับไปสู่ยุคข้าราชการ-กองทัพ-เอ็นจีโออำมาตย์ ต่อรองกันเองเงียบๆ โดยไร้การตรวจสอบ
ขณะเดียวกันทุนผูกขาดขนาดใหญ่ก็มีแนวโน้มสูงที่จะชื่นชอบ รธน. ฉบับนี้ อันเนื่องมาจากแนวโน้มใน 2 มิติต่อไปนี้ ในด้านหนึ่ง รัฐธรรมนูญนี้สร้างระบอบการเมืองที่ทุนใหญ่กับขุนนางสามารถต่อรองได้ง่ายขึ้น (เพราะคนแบ่งเค้กมีจำนวนน้อย) และสองระบบเศรษฐกิจจะเอื้อต่อสัมปทานผูกขาดได้มากกว่าระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีที่เคยมีมาตลอด 20 ปี
3. กลไกการเลือกตั้งที่เอื้อให้เสียงประชาชนถูกบิดเบือน
หลังการรัฐประหาร 2557 รัฐบาลทหารเป็นฝ่ายทำงานในพื้นที่ฝ่ายเดียวมาตลอด 5-6 ปี มีการรวมศูนย์อำนาจและสืบทอดอำนาจออกมาเป็นพรรคพลังประชารัฐ เล่นในเกมส์รัฐธรรมนูญที่กำหนดองค์กรทางการเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการแพ้-ชนะการเมืองอย่างมหาศาล
ในแง่นี้แล้วผู้เชี่ยวชาญบางคนจึงเสนอว่ากรณีของพรรคพลังประชารัฐ มีลักษณะคล้ายกับพรรคสามัคคีธรรม (พรรคสามัคคีธรรม-พรรคการเมืองที่ทำหน้าที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร รสช. ในปี 2535) เราอาจจะถือว่ามีส่วนที่ถูกครึ่งหนึ่ง แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือพลังอำนาจของทุนผูกขาดซึ่งได้ดึง สส. จากพรรคเพื่อไทยไปจำนวนมาก ยังไม่รวมถึงอดีตสมาชิกขบวนการคนเสื้อแดงซึ่งเคยเป็นแนวหน้าในการต่อต้านอำนาจนอกระบบอีกด้วย
นอกจากนั้นพรรคพลังประชารัฐยังได้พยายามดึงอดีตผู้แทนฯ ในพื้นที่ที่มีฐานเสียงแน่นหนาให้เข้ามาอยู่ชายคา ซึ่งล้วนเป็น สส. ที่เคยได้รับการเลือกตั้งหรือบางคนเคยเป็นระดับรัฐมนตรี ซึ่งการมาของพวกเขายังทำให้ระบบหัวคะแนนที่ยังคงแน่นหนาได้รวมกับกลไกของรัฐบาลในพื้นที่ โดยกลไกรัฐบาลได้ถูกรวมศูนย์ไปพร้อมๆ กับการยุติการเลือกตั้งท้องถิ่นตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา ทำให้เป็นลักษณะของเครือข่ายหนึ่งของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ที่สามารถโน้มน้าวคะแนนเสียงได้
ภายใต้กติกาเช่นนี้แล้ว ‘การเปลี่ยนค่าย’ ของผู้แทนเดิมจึงต่างออกไปจาก การเลือกตั้ง 2550 และ 2554 เพราะขณะที่การเลือกตั้งปี 2550 เป็นการรัฐประหารเพียง 1 ปี ก็กลับมามีการเลือกตั้ง ขณะที่ระบอบเผด็จการทหารยังไม่ได้ทำงานพื้นที่ยาวนานเพียงพอ หรือเข้าไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ อีกทั้งคณะรัฐประหารก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเล่นการเมืองเอง
ขณะที่การเลือกตั้ง 2554 พรรคเพื่อไทยไม่ได้ถูกทำลายรุนแรงเช่นหลังรัฐประหาร 2557 ซึ่งคณะรัฐประหารมีการใช้คดี ‘นิติยุทธ์’ (lawfare) เข้ามาเล่นงานฝ่ายตรงข้ามอย่างหนักหน่วง การทุบด้วยระยะเวลานานและแรงก็เพียงพอให้เกิดพรรคการเมืองที่ยืนหยัดยาวนานอ่อนแรงลงในปัจจุบัน ภาพที่ว่าใครย้ายออกจากพรรคทักษิณสอบตกหมด จึงอาจจะเป็นภาพที่ไม่เข้มขลังเช่นเดิม ส่วนผลการเลือกตั้งถือว่าเป็นชัยชนะถาวรของฝ่ายสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารแล้วหรือไม่นั้น คำถามนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตอบ
เชิงอรรถ
|